บทความ บทความวิชาการ

เกาะติดการจับกุมรอชิด ฆอนนูชีย์ แกนนำกลุ่มอิสลามในตูนีเซีย [Ep.4]

รู้จักรอชิด ฆอนนูชีย์  ผู้เป็นทั้งอุลามาอ์นักคิดและนักปกครอง 

รอชิด ฆอนนูชีย์  เป็นนักคิดและนักการเมืองอิสลามชาวตูนิเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนอิสลาม ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ขบวนการเอนนาห์ดา” ถูกจับกุมมากกว่าหนึ่งครั้งเนื่องจากการสนับสนุนและทำกิจกรรมทางการเมืองในสมัยของประธานาธิบดีฮาบีบ บูรกีบา และซัยนุนอาบิดีน บินอาลี 

รอชิด ฆอนนูชีย์ ใช้ชีวิตเกือบสองทศวรรษในการลี้ภัยในลอนดอน จากนั้นกลับมาตูนิเซียหลังจากการล่มสลายของรัฐบาลบินอาลี ในเหตุการณ์อาหรับสปริง ในปี 2011 และมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อเอาชนะอุปสรรคของช่วงเปลี่ยนผ่านหลังจากชนะการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ขบวนการเอนนาห์ดา ภายใต้การนำของฆอนนูชีย์ มีส่วนในการสร้างฉากการเมืองตูนิเซียใหม่หลังการปฏิวัติในปี 2011 และเข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภาตูนิเซียในปี 2019 อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของประธานาธิบดีไกส์  สะอีดที่สั่งพักงานรัฐสภา ในปี 2021 เนื่องจากรัฐธรรมนูญห้ามยุบสภา แต่หลังจากนั้นก็สั่งยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญโดยวิธีการขัดกับรัฐธรรมนูญ  ทำให้ฆอนนูชีย์กลับไปยังสถานะฝ่ายค้าน ซึ่งส่งผลให้เขาถูกสอบสวนและถูกจับกุมในวันที่ 17 เมษายน 2023 ในความผิดหลายข้อหาที่รัฐบาลฟ้องร้องต่อศาล

โนอาห์ เฟลด์แมน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อเมริกา กล่าวสรุปเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือพิมพ์ washington post ว่า “ในปีที่ผ่านมา สะอีดพยายามฟื้นฟูตูนิเซียให้กลับคืนสู่สถานะก่อนอาหรับสปริงในฐานะรัฐพรรคเดียว หลังจากประกาศภาวะฉุกเฉินและยุบสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจของประธานาธิบดีด้วยการลดลงของอำนาจอื่น โดยได้รับความเห็นชอบในการลงประชามติ ที่มีชาวตูนิเซียเพียง 30% เท่านั้นที่เข้าร่วม โดยฝ่ายค้านส่วนใหญ่คว่ำบาตร ”

การเกิดและการเลี้ยงดู

รอชิด  ฆอนนูชีย์  เกิดในปี 1941 ในหมู่บ้านอัลฮัมมา ในจังหวัดกอบิส  ทางตอนใต้ของตูนิเซีย ในครอบครัวที่อนุรักษ์นิยมและเรียบง่าย  ฆอนนูชีย์มีส่วนร่วมกับครอบครัวในการทำงานในไร่นาและขายพืชผลนอกเหนือจากการเรียน

เนื่องจากธรรมชาติที่ยากลำบากของชีวิตครอบครัว ฆอนนูชีย์จึงลาออกจากโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากบิดาไม่สามารถจัดหาค่าเล่าเรียนได้

ฆอนนูชีย์  แต่งงานกับฟาติมะฮ์ อัลจูไวนี ชาวตูนิเซีย มีลูกชายสองคนและลูกสาวสี่คน

– การศึกษาและการก่อตัว

  • รอชิด ฆอนนูชีย์  สำเร็จการศึกษาด้านหลักการศาสนา(อุศูลุดดีน)ที่มหาวิทยาลัยซัยตูนะฮ์ ตูนีเซีย ต่อมาในปี 1964 เขาเดินทางไปอียิปต์เพื่อศึกษาด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยไคโร แต่จะต้องออกกลางคันเพราะความขัดแย้งทางการเมือง จึงย้ายไปดามัสกัสและสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาปรัชญา เมื่อปี  1968
  • จากนั้นก็ไปยุโรปเป็นเวลา 6 เดือน เยือนตุรกี บัลแกเรีย ยูโกสลาเวีย ออสเตรีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้พบกับฟร็องซัวส์ บูร์กา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับอาหรับและ โลกอิสลาม แต่ไม่สามารถที่จะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ได้ ดังนั้นจึงกลับไปตูนิเซีย

-การวางแนวทางปัญญา

  • ในช่วงทศวรรษ 60 ฆอนนูชีย์รู้สึกประทับใจกับ ประสบการณ์ชาตินิยมของประธานาธิบดีนัซเซอร์แห่งอียิปต์ และเริ่มทำกิจกรรมอิสลามในฝรั่งเศสท่ามกลางนักศึกษาอาหรับและมุสลิม
  • ฆอนนูชีย์ อ่านงานเขียนของ  ซัยยิด กุตบฺ,  มุฮัมมัด กุตบฺ, อบุลอะลา อัลเมาดูดี, มูฮัมหมัด อิกบัล , มาลิก บินนาบี , อบูฮามิด อัลฆอซาลี และอิบนุตัยมียะห์ และทำความรู้จักและมีส่วนร่วมกับญะมาอัต อัลดะวะห์ วัตตับลีฆพร้อมกับแรงงานจากแอฟริกาเหนือ
  • ฆอนนูชีย์ กลับมาที่ตูนิเซียในปลายทศวรรษ 60 เริ่มกิจกรรมการเรียกร้องสู่อิสลามในหมู่นักเรียนมัธยมศึกษา และก่อตั้ง “หะรอกะฮ์ อัลอิตติจาห์ อิสลามีย์- ขบวนการนิยมอิสลาม” ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ขบวนการอัลนะฮ์เฎาะฮ์” หรือที่รู้จักกันในนาม “ขบวนการเอนนาห์ดา”
  • ฆอนนูชีย์ มีส่วนร่วมในการเทศนา บทเรียน บทความ หนังสือ และการบรรยายเพื่อสนับสนุนแนวสายกลางในขบวนการอิสลามทั้งในและนอกตูนิเซีย และมีส่วนในการแก้ไขความเชื่อดั้งเดิมในประเด็นทางศาสนา ปัญญา และการเมือง เช่น ความเป็นพลเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาธิปไตย ฆราวาสนิยม และอื่นๆ
  • ฆอนนูชีย์เขียนบทความทางความคิดและการเมืองหลายสิบเรื่อง และเขียนหนังสือหลายเล่มที่สนับสนุนแนวทางสายกลางและการเปิดกว้างในกลุ่มขบวนการอิสลาม และสร้างความชัดเจนในประเด็นที่ซับซ้อนจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิการเป็นพลเมือง และอื่น ๆ หนังสือบางเล่มของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส

หนังสือบางส่วนของฆอนนูชีย์  เช่น

– สิทธิความเป็นพลเมืองในรัฐอิสลาม

– เสรีภาพสาธารณะในรัฐอิสลาม

– ผู้หญิง ระหว่างอัลกุรอานกับความเป็นจริงของชาวมุสลิม

– เข้าใจเซคคิวลาร์และประชาสังคม

– ขบวนการอิสลามกับคำถามแห่งการเปลี่ยนแปลง

-งานและความรับผิดชอบ

  • ฆอนนูชีย์ทำงานด้านการสอนอยู่ช่วงหนึ่ง และมีส่วนร่วมในการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เช่น  Circle of Authenticity and Progress ที่เกี่ยวข้องกับบทสนทนาอิสลาม-คริสเตียน และเป็นอดีตรองประธานสหพันธ์อุลามะอิสลามนานาชาติ International Union of Muslim Scholars

-ประสบการณ์ทางการเมือง

  • ฆอนนูชีย์ กลับไปยังตูนิเซียเมื่อปลายปี 1960 และพบว่าประธานาธิบดีบูรกีบาใช้มาตรการต่างๆ เพื่อทำให้สังคมตูนิเซียเป็นเซคคิวลาร์
  • ฆอนนูชีย์เข้าร่วม “สมาคมเพื่อการอนุรักษ์อัลกุรอาน” กับชัยค์อับดุลฟัตตาห์ โมโร  ,อะหมัยดา อัลไนฟิร , หะบีบ อัลมักนี  และซอและห์ กัรกัร  ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งกลุ่ม”จามาอะอ์อิสลามียะฮ์” ขึ้นในเดือนเมษายน 1972 ในเมือง Mornag ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตูนิเซีย
  • กลุ่มที่กล่าวมาแล้วคือแกนของขบวนการนิยมอิสลาม (หะรอกะฮ์ อัลอิตติจาห์ อิสลามีย์ ) และเริ่มสื่อสารกับสังคมและชนชั้นนำผ่านหนังสือพิมพ์ Al-Ma’rifah (ตีพิมพ์ในปี 1974) ซึ่ง ฆอนนูชีย์กล่าวหาประธานาธิบดีบูรกีบาว่า เน้นเซคคิวลาร์และทำลายอิสลาม
  • ฆอนนูชีย์ถูกจับกุมหลายครั้ง และถูกตัดสินจำคุกครั้งแรกเป็นเวลา 11 ปี และได้ถูกจำคุกจริง 3 ปี (พ.ศ. 2524-2527) และได้รับการปล่อยตัวจากการนิรโทษกรรมทั่วไป จากนั้นก็กลับไปประท้วงและทำกิจกรรมทางการเมืองอีก จึงถูกตัดสินจำคุกครั้งที่ 2 ในปี 1987 ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิตพร้อมให้ทำงานหนัก ซึ่ง บูรกีบาเห็นว่าโทษต่ำเกินไปและขอให้ประหารชีวิต
  • แต่เนื่องด้วยบินอาลี ก่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 1987 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามคำพิพากษาได้ และฆอนนูชีย์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1988
  • เมื่อต้นปี 1989 ฆอนนูชีย์ยื่นคำร้อง เพื่อขออนุญาตตั้งขบวนการนิยมอิสลาม (หะรอกะฮ์ อัลอิตติจาห์ อิสลามีย์ ) แต่ถูกปฏิเสธ ความสัมพันธ์กับรัฐบาลใหม่แย่ลง  ฆอนนูชีย์จึงออกจากตูนิเซียในวันที่ 11 เมษายน 1989 ไปยังแอลจีเรียหลังจากที่ศาลทหารตูนีเซียพิพากษาตัดสินจำคุกตลอดชีวิตฆอนนูชีย์และผู้นำคนอื่น ๆ ในข้อหา “สมรู้ร่วมคิดประทุษร้ายต่อประมุขแห่งรัฐ” จากนั้นก็ย้ายไปซูดาน  ซึ่งเขาได้รับหนังสือเดินทางทางการฑูตของซูดาน
  • ฆอนนูชีย์ได้เป็นหัวหน้าขบวนการเอนนาห์ดาในปี 1991 หลังจากย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมืองแอกตัน ชานเมืองลอนดอนของอังกฤษ และในเดือนสิงหาคม 1993 ฆอนนูชีย์ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยทางการเมือง
  • หลังจากการลี้ภัยการเมือง 21 ปี ฆอนนูชีย์ก็กลับมายังตูนีเซียในวันที่ 30 มกราคม 2011 โดยมีสมาชิกขบวนการเอนนาห์ดาไปต้อนรับนับหมื่นคนที่สนามบิน
  • หลังจากเอ็นนาห์ดาชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคที่ได้จำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมากที่สุด  ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2011 โดยได้ที่นั่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 90 ที่นั่งจากทั้งหมด 217 ที่นั่ง ฆอนนูชีย์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งหรือชิงตำแหน่งใดๆ และเสนอชื่อฮัมมาดี เจบาลีให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลตูนิเซียชุดใหม่
  • ด้วยความสัมพันธ์และการเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ ของตูนิเซีย ฆอนนูชีย์มีส่วนในการแก้ปัญหาทางการเมืองและทางปัญญาที่ซับซ้อน ซึ่งเกือบจะสร้างความสับสนให้กับช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น ประเด็นการใช้กฎหมายชารีอะห์และการเป็นที่มาของกฎหมายอิสลามในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญใหม่และอื่น ๆ
  • ในปี 2012 ฝ่ายตรงข้ามของฆอนนูชีย์ถือว่าเขามีส่วนรับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นของกลุ่มสะละฟีย์หัวรุนแรงในตูนิเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เขาแถลงข่าวโดยกล่าวว่า “ชาวสะละฟีย์ส่วนใหญ่สั่งสอนเรื่องวัฒนธรรมและไม่คุกคามความมั่นคง” ก่อนที่จะประกาศในเวลาต่อมาว่า “กลุ่มสะละฟีย์หัวรุนแรง เป็นภัยอันตรายไม่เพียงแต่ต่อขบวนการเอนนาห์ดาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสรีภาพสาธารณะด้วย”
  • แม้ว่าจะไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีตูนิเซียในปี 2014 แต่กลุ่มเอนนาห์ดา ก็ ได้อันดับสองในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2014 รองจากพรรคนิดาตูเนส ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมือง
  • ในเดือนพฤษภาคม 2016 ฆอนนูชีย์ประกาศว่าการเคลื่อนไหวของเขา “กำลังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนเป็นพรรคที่อุทิศตนเพื่องานการเมือง เพื่อทำงานในการปฏิรูปภาคส่วนของรัฐ ปล่อยให้ภาคประชาสังคมจัดการส่วนที่เหลือ ผ่านสมาคมและระบบสมาคมที่เป็นอิสระจากฝ่ายต่าง ๆ รวมทั้งเอ็นนาห์ดา”
  • เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2016 การประชุมครั้งที่ 10 ของ ขบวนการเอนนาห์ดา ได้เลือกฆอนนูชีย์  เป็นหัวหน้าขบวนการอีกครั้ง
  • ในเดือนมกราคม 2019 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีตูนิเซีย ฆอนนูชีย์ประกาศว่าเขาไม่สนใจลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึง และไม่มีความตั้งใจที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตูนิเซีย
  • เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2019 หลังจากอับดุลฟัตตาห์ โมโร  ผู้สมัครรับเลือกตั้งของเอนนาห์ดา ถอนตัวหลังจากการเลือกตั้งรอบแรก  ฆอนนูชีย์ได้ประกาศสนับสนุนไกส์  สะอีด ผู้สมัครอิสระ  ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สอง โดยให้เหตุผลว่า “สะอีดเป็นตัวแทนคุณค่าและหลักการของการปฏิวัติ” ซึ่งฝ่ายปฏิวัติอาหรับสปริงก็ร่วมสนับสนุนสะอีดเช่นกัน
  • พฤศจิกายน 2019 จากการเลือกตั้งก่อนเวลาอันควรหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีเบจิ คาอิด เอสเซบซีของตูนิเซีย รัฐสภาตูนิเซียได้เลือกหัวหน้าพรรคเอ็นนาห์ดา  เป็นประธานรัฐสภาในวาระการประชุมเต็มคณะครั้งแรก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสาบานตนตามรัฐธรรมนูญ
  • นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภาหลังการเลือกตั้งในปี 2019 ฆอนนูชีย์ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากหลายพรรคที่ต่อต้านเขา ตลอดจนผู้นำในพรรคของเขาที่เรียกร้องให้ฆอนนูชีย์ก้าวลงจากการเมืองและหลีกทางให้กับผู้นำรุ่นใหม่ในพรรค แต่ฆอนนูชีย์ปฏิเสธข้อเสนอเหล่านี้

หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานรัฐสภาได้ไม่นาน กลุ่มรัฐสภาบางกลุ่มกล่าวหาว่าฆอนนูชีย์ล้มเหลวในการบริหารรัฐสภานอกจากนี้ ยังเข้าสู่ความขัดแย้งเรื่องอำนาจกับประธานาธิบดีไกส์ สะอีด ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในประเทศ

ข้อกล่าวหาเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจและถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2020 และครั้งที่สองในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 แต่รัฐสภาได้ยกคำร้องทั้งสองคำร้องด้วยการลงมติของสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่

ความสัมพันธ์ระหว่างฆอนนูชีย์กับประธานาธิบดีสะอีดของตูนิเซียเกิดช่วงเวลาที่ซบเซา ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นการทะเลาะวิวาทและผลัดกันกล่าวหา

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีสะอีดประกาศเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2021 ใช้มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญตูนิเซีย ในสุนทรพจน์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ของรัฐถึงการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหิชาม อัลมะชีชี  การพักงานรัฐสภาและยกเลิกการคุ้มครองสมาชิกรัฐสภา

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศของประธานาธิบดี  ฆอนนูชีย์ไม่ลังเลที่จะประกาศปฏิเสธการตัดสินใจนี้ซึ่งถือว่าเป็นการรัฐประหารต่อต้านการปฏิวัติและรัฐธรรมนูญ ฆอนนูชีย์ไปที่รัฐสภา แต่กองกำลังทหารปิดประตูทำให้เขาไม่สามารถเข้าไปได้ จึงนั่งประท้วงหน้ารัฐสภาต่อไป แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สนับสนุนประธานาธิบดีและฝ่ายต่อต้านทำให้ฆอนนูชีย์ตัดสินใจยกเลิกการประท้วง

หลังจากที่รัฐสภาถูกพักงาน เสียงต่างๆ ก็ดังขึ้นจากภายในขบวนการเอ็นนาห์ดา กล่าวโทษฆอนนูชีย์ว่าเป็นต้นเหตุสำหรับวิกฤตการเมืองที่นำพาประเทศไปสู่มาตรา 80 และสถานการณ์ที่บานปลายเพราะนโยบายของเขา

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2021 ผู้นำขบวนการเอ็นนาห์ดากว่า 131 คนและสมาชิกที่โดดเด่นของขบวนการ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่และรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากพรรคเพื่อประท้วงการปฏิบัติงานของฆอนนูชีย์ ท่ามกลางกระแสความแตกแยกที่ทำลายขบวนการเอ็นนาห์ดาที่รุนแรงที่สุด

ในวันที่ 1 เมษายน 2022  ฆอนนูชีย์ปรากฏตัวเป็นครั้งแรกไปใต้อารักขาของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายโดยมีฉากหลังเป็นการประชุมใหญ่ทางไกลของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกพักงานเพื่อพิจารณาการยกเลิกคำสั่งประธานาธิบดีและกฤษฎีกาต่างๆที่ออกโดยประธานาธิบดีตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2021

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ฆอนนูชีย์ก็ถูกข้อกล่าวหามากมายที่อัยการตูนิเซียฟ้องร้อง เช่น ข้อหา “การฟอกเงินภายใต้กรอบของความสามัคคี” และ”ใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับอนุญาตตามลักษณะของงานกิจกรรมทางวิชาชีพและทางสังคม และการโจมตี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงกายภาพของรัฐและบังคับให้ประชากรเผชิญหน้ากัน ก่อความปั่นป่วนและการฆาตกรรม ปล้นสะดมประเทศตูนิเซีย กระทำการอันน่ารังเกียจต่อประมุขของรัฐ และโจมตีความมั่นคงภายนอกของรัฐ โดยพยายามทำลายบูรณภาพแห่งดินแดนตูนิเซีย”

จนในที่สุดวันนี้สถานการณ์ก็แตกหัก เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2023 ตำรวจตูนิเซียได้จับกุม ฆอนนูชีย์ ซึ่งมีอายุ 81 ปี หลังจากบุกค้นบ้านของเขาหลังจากการออกหมายจับจากสำนักงานอัยการของศูนย์ตุลาการเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย และควบคุมตัวไว้ระหว่างการสอบสวน ในคดีที่เกี่ยวข้องกับถ้อยแถลงที่ทำขณะเข้าร่วมการประชุมที่เรียกร้องโดย “แนวร่วมเพื่อการปลดปล่อย” ต่อต้านประธานาธิบดีไกส์ สะอีด โดยถือว่าเป็นการยุยง

#เกาะติดการจับกุมรอชิด_ฆอนนูชีย์


โดย Ghazali Benmad