บทความ บทความวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 3]

2 . หลักการปฏิบัติศาสนกิจ (อัรกานุลอิสลาม)

หลักปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึง หลักศาสนกิจที่อิสลามได้บัญญัติ เป็นพื้นฐานแรกสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องนำมาปฏิบัติเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของอิสลาม ซึ่งเราเรียกว่า “อัรกานุลอิสลาม” ประกอบด้วยหลัก 5 ประการ คือ

2.1 การปฏิญาณตน (ชะฮาดะฮฺ)

ผู้ประสงค์จะเข้าสู่อิสลาม มีประตูทางเข้าเพียงประตูเดียว คือจะต้องกล่าวคำปฏิญาณตน อย่างเปิดเผยและชัดเจน พร้อมทั้งเลื่อมใสศรัทธาตามที่ตนปฏิญาณและจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างจริงใจ การเป็นมุสลิม มิใช่เพียงการกล่าวคำปฏิญาณเท่านั้น หากจะต้องประกอบด้วย ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงด้วย องค์ประกอบแห่งการปฏิญาณจะต้องมีพร้อมทั้ง 3 ประการ คือ 

1) กล่าวปฏิญาณด้วยวาจา 

2) เลื่อมใสด้วยจิตใจและ 

3) ปฏิบัติด้วยร่างกาย

คำปฏิญาณของอิสลาม มิใช่การสบถสาบานให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา มิใช่คำสวดภาวนา หากเป็นประโยคที่กล่าวแสดงถึงความศรัทธามั่นในพระเจ้า และในศาสนทูตมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดี  นอกจากอัลลอฮ์ และข้าพเจ้าปฏิญาณว่า มูฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์

أَشْهَدُ أَلاَّ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ اللهِ

ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับอิสลาม จึงต้องเริ่มด้วยจิตใจที่มีศรัทธา จากนั้นจึงกล่าวประโยคปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งทุกคนกล่าวได้ เพราะไม่ใช่เป็นประโยคต้องห้ามแต่อย่างใด การสอนประโยคปฏิญาณ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกเอาบุคคลที่มีความรู้ศาสนาสูงหรือผู้มีตำแหน่งทางสังคมมากล่าวนำ ทุกคนสามารถกล่าวนำประโยคปฏิญาณได้ หรือผู้ที่สมัครใจรับอิสลาม ก็สามารถกล่าวประโยคนี้ตามลำพังได้เช่นเดียวกัน หากเขาศรัทธา

2.2 การละหมาด

การละหมาด เป็นการเข้าเฝ้าและการแสดงความเคารพนมัสการต่ออัลลอฮ์ตะอาลา ประกอบด้วย จิตใจ วาจา และร่างกายพร้อมกัน มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติละหมาดวันละ 5 ครั้ง คือ ละหมาดซุฮ์ริในช่วงบ่าย ละหมาดอัศริในช่วงเย็น ละหมาดมัฆริบ ในช่วงตะวันลับขอบฟ้า ละหมาด   อิชาอ์ในช่วงหัวค่ำ และละหมาดศุบฮิในช่วงแสงอรุณขึ้น ผู้ทำละหมาดโดยสม่ำเสมอ จะก่อประโยชน์แก่ตัวเขาเองอย่างอเนกอนันต์ ทำให้จิตใจของเขาสะอาดบริสุทธิ์ ขจัดความหมองหม่นทางอารมณ์ ทำลายความตึงเครียด ทำให้เป็นคนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์สุจริต อดทนและจิตใจสำรวมระลึกอยู่กับพระเจ้าตลอดเวลา เมื่อจิตใจสำรวมอยู่กับพระเจ้า และระลึกถึงแต่พระองค์ก็ไม่มีโอกาสที่จะคิดทำความชั่วต่าง ๆ คิดแต่จะปฏิบัติตามคำบัญชาและบทบัญญัติของพระองค์ ไม่กล้าทำความผิด และฝืนบทบัญญัติของพระองค์

ก่อนละหมาด มุสลิมต้องอาบน้ำละหมาด และทำความสะอาดทั้งร่างกายและสถานที่  อิสลามส่งเสริมอย่างหนักแน่นให้ผู้ชายละหมาด 5 เวลาที่มัสยิดโดยพร้อมเพรียงกันร่วมกับอิมามนำละหมาด ซึ่งนอกจากได้รับผลบุญอันมากมายและลบล้างบาปแล้ว ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึง สามารถถามไถ่สารทุกข์สุกดิบระหว่างเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด นอกจากการละหมาดในมัสยิดแล้ว มุสลิมยังสามารถละหมาดที่บ้านได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละหมาดหลังเที่ยงคืนเป็นต้น เพื่อสอนว่า มุสลิมมีโอกาสเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ในทุกที่ ทุกเวลาและทุกโอกาส ตราบที่เขาต้องการ มุสลิมจึงเป็นทั้งผู้ครองตน ผู้ครองธรรม และผู้ครองเรือนในคนเดียวกัน 

มุสลิมถือว่าการละหมาดและกิจกรรมการภักดีอื่น ๆ เช่นการถือศีลอด และการทำฮัจย์ เป็นต้น เป็นโอกาสสำหรับการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ภาระงานที่จำเป็นต้องสะสางให้แล้วเสร็จไปวัน ๆ ดังนั้นทุกครั้งที่ถึงเวลาละหมาดมุสลิมจะเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกระตือรือร้น และจิตใจที่ถวิลหา 

2.3 การจ่ายซะกาต

ซะกาต คือ ทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วนจากจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มาจนครบพิกัดที่ศาสนาได้บัญญัติไว้และนำทรัพย์จำนวนนั้นจ่ายออกไปแก่ผู้มีสิทธิ

คำว่า “ซะกาต” แปลว่า การงอกเงย เพิ่มพูน และการขัดเกลา ให้สะอาดเนื่องเพราะเมื่อเจ้าของทรัพย์ได้จ่ายซะกาตออกไป เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากกิเลสนานาประการ โดยเฉพาะความตระหนี่ความใจแคบ ซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แน่นอนสังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่นานวิกฤติการณ์ก็จะต้องเกิดแก่สังคมนั้น การแก่งแย่งฉกชิง กดขี่ ขูดรีด ทำลายกัน และอาชญากรรมต่าง ๆ จะต้องอุบัติขึ้น การจ่ายซะกาตจะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า คนยากจนมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือ การสังคมสงเคราะห์จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง สถาบันทางสังคมได้รับการพัฒนา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่หมดทุนในการประกอบอาชีพ หรือไม่มีทุนศึกษาต่อ ก็มีโอกาสที่จะใช้ซะกาตเจือจุนสร้างชีวิตใหม่แก่ผู้ขาดแคลนและผู้ยากไร้เหล่านั้น ระบบซะกาต เป็นสวัสดิการภาคประชาสังคม หากนำมาจัดดำเนินการอย่างเต็มระบบแล้วจะมีผลในทางพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านการเมืองและด้านสังคม ตลอดจนด้านอื่น ๆ ที่ขาดแคลนทุนโดยตรง

ซะกาตมี 2 ประเภทได้แก่

  1. ซะกาตตนหรือซะกาตอาหาร ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซะกาต     ฟิตเราะห์ ซึ่งเป็นบริจาคทานภาคบังคับให้มุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ยากดีมีจน โดยใช้อาหารหลักของท้องถิ่นบริจาคตามพิกัดที่ถูกกำหนด สำหรับประเทศไทยซึ่งรับประทานข้าว ให้บริจาคข้าวสาร จำนวน 2.75 ลิตร หรือ 4 ทะนาน หรือบริจาคเงินโดยคิดตามราคาข้าวสารในท้องถิ่นนั้น โดยผู้ที่ต้องจ่ายซะกาต คือ มุสลิมทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อนำไปมอบแก่มุสลิมที่มีความเหมาะสมที่จะรับซะกาตต่อไป โดยที่ทุกคนต้องจ่ายเท่ากัน ซะกาตประเภทนี้จะสิ้นสุดเวลา เมื่ออิมามนำละหมาดกล่าวตักบีรละหมาดอิดิลฟิตร์
  2. ซะกาตทรัพย์สิน  เป็นซะกาตที่มีการกำหนดเวลาและมีเงื่อนไขของจำนวน เป็นทานบังคับเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังต่อไปนี้
    1.  โลหะ เงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท  เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
    1. ผลผลิตจากการเกษตร ต้องจ่ายซะกาตของธัญพืชและผลไม้ทันทีเมื่อครบตามพิกัด
    1. ปศุสัตว์ ได้แก่ อูฐ วัว แพะหรือแกะ การจ่ายซะกาตของสัตว์เหล่านี้ มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้หากินเองตามที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่
    1. ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน ได้แก่สินแร่และทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้

การจ่ายซะกาตทั้ง 4 ชนิดนี้ มีรายละเอียดและข้อกำหนดที่มีการพูดถึงในตำราทางวิชาการ ซึ่งมุสลิมทุกคนต้องศึกษา เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป

ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 60 ซึ่งมีจำนวน 8 ประเภท ดังนี้

1. คนยากจน หมายถึง คนที่ยากไร้ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวันและไม่มีอาชีพทำ ให้จ่ายซะกาตให้เพียงพอที่พวกเขาจะได้นำไปเป็นทุนดำเนินอาชีพต่อไป

2. คนขัดสน หมายถึง บุคคลที่มีอาชีพทำ แต่รายได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ให้บริจาคซะกาตเพื่อช่วยเพิ่มทุนอาชีพ หรือเสริมในส่วนที่ขาด

3. ผู้ที่ควรให้ขวัญและกำลังใจ หมายถึง บุคคลที่นับถือศาสนาอื่นและเข้ามารับอิสลามหรือมีแนวโน้มว่าจะรับอิสลาม ให้จ่ายซะกาตแก่เขา แม้เขาจะมีฐานะดีก็ตาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เขา

4. เจ้าหน้าที่จัดการเกี่ยวกับซะกาต หมายถึง เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ หรือ องค์การที่มีอำนาจจัดตั้งโดยไม่มีค่าตอบแทนในการจัดเก็บ รวบรวมและจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์ ให้จ่ายซะกาตเป็นค่าตอบแทนแก่เขา และหากเขามีค่าตอบแทนจากรัฐหรือองค์การแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะรับซะกาตเป็นค่าตอบแทนซ้ำซ้อนอีก

5. ทาสที่จะไถ่ตัวเอง หมายถึง ทาสที่ต้องการค่าไถ่ตัวจากนาย เพื่อเป็นเสรีชน โดยนายทาสได้อนุญาตให้หาค่าไถ่ตัว ให้รับซะกาตได้เฉพาะเท่าจำนวนที่จะนำไปไถ่ตัวเท่านั้น

6. ผู้มีหนี้สิน หมายถึง บุคคลที่เป็นหนี้ในทางที่ไม่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา เช่น เป็นหนี้เพราะความจำเป็นเฉาะหน้า เป็นหนี้เพราะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนี้เพราะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกรณีพิพาท เป็นต้น ให้รับซะกาตตามจำนวนหนี้สินที่เขามีอยู่เท่านั้น

7. ผู้พลัดถิ่น หมายถึง ผู้เดินทางที่ขาดปัจจัยการเดินทาง ให้เขารับซะกาตได้เฉพาะที่จะจ่ายในการเดินทางเท่านั้น

8. ในทางของอัลลอฮฺ หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่สละชีวิตของตนเองในทางของอัลลอฮฺ เพื่อปกป้องอธิปไตยของศาสนา และเชิดชูศาสนาให้สูงส่ง ให้เขารับซะกาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเขา

2.4 การถือศีลอด

การถือศีลอดหรือการถือบวช ภาษาอาหรับใช้คำว่า “อัศเซาม์” หรือ “อัศศิยาม” ความหมายเดิมหมายถึง การงดเว้น การระงับ การหักห้ามตัวเอง ในนิยามศาสนบัญญัติหมายถึง “การงดเว้นสิ่งที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ตามศาสนบัญญัติ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาแสงอรุณขึ้นจวบถึงตะวันตกดิน”

การถือศีลอดที่บังคับให้กระทำนั้นมีเฉพาะในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม) เท่านั้น ส่วนในวาระอื่น ๆ ไม่ได้บังคับแต่ประการใด นอกจากจะมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาบังคับ เช่น การบนบานไว้ว่าจะถือศีลอดอันมิใช่ในเดือนรอมฎอน อย่างนี้ถือว่าการถือศีลอดตามที่บนบานไว้นั้นถูกบังคับให้กระทำ เป็นต้น

ผลจากการถือศีลอด นำไปสู่คุณธรรมนานาประการ เช่นแสดงให้ประจักษ์ชัดถึงความเสมอภาคทางสังคม สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้ มีความอดทน อดกลั้น มีคุณธรรม มีความสำรวมตนเองและยำเกรงพระเจ้า ไม่ประพฤติผิดในขณะถือศีลอด มีจิตเมตตาสงสาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น มีความสำนึกในเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้า มีระเบียบวินัยและฝึกให้ตรงต่อเวลาเพราะการถือศีลอดมีเงื่อนไขให้ทุกคนปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งความประพฤติอันดีงามมากมาย จะรับประทานก็ต้องตรงต่อเวลาจะพูดจาหรือจะเคลื่อนไหวก็ต้องระมัดระวังกลัวกุศลแห่งการถือศีลอดจะบกพร่องไป

การถือศีลอดถือเป็นการภักดีแบบลับ ที่ไม่มีใครรู้เห็นนอกจากตัวเองและพระเจ้าเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอด คือผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยำเกรงต่ออัลลอฮ์อันแท้จริง เขาจะไดรับผลบุญอันมหาศาลที่อัลลอฮ์ได้เตรียมไว้ สำหรับผู้ยำเกรง

2.5 การประกอบพิธีฮัจย์

การประกอบพิธีฮัจย์ครั้งหนึ่งในชีวิตของมุสลิมที่มีความสามารถพร้อมทั้งทางร่างกายและทางการเงินที่จะเดินทางไปทำพิธีที่บัยตุ้ลลอฮ์ได้ พิธีฮัจย์เป็นศาสนกิจที่สรุปไว้ซึ่งอุดมการณ์ทางสังคมอย่างครบบริบูรณ์

การที่มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางออกไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยของตนไปสู่พิธีฮัจย์เป็นประจำติดต่อกันมาถึง 1,400 กว่าปี นับเป็นกิจกรรมที่มีความมหัศจรรย์และมีพลังอันแกร่งกล้าทางศรัทธายิ่งนัก สำนึกของผู้เดินทางไปสู่พิธีฮัจย์เป็นสำนึกเดียวกัน จากวิญญาณจิตที่ผนึกเป็นดวงเดียวกัน แม้จะมาจากถิ่นฐานอันแตกต่างกัน มีภาษาผิดแผกกันมีสีผิวไม่เหมือนกัน มีฐานะต่างกัน มีตำแหน่งทางสังคมไม่เท่ากัน แต่เมื่อทุกคนเดินทางมาสู่ศาสนกิจข้อนี้สิ่งเหล่านั้นถูกสลัดทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ทุกคนซึ่งมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ร่วมกิจกรรมเดียวกันโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีความโกรธเกลียดซึ่งกันและกัน คนเป็นจำนวนล้านไปรวมกันอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน ทุกคนมีใบหน้าอันยิ้มแย้ม ทักทายซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันอย่างไม่ถือเขาถือเรา ผิดพลาดล่วงเกินกันบ้างก็พร้อมที่จะให้อภัยแก่กันและกัน

ฮัจย์ถือเป็นสมัชชาระดับสากล ที่รวบรวมผู้คนทุกหมู่เหล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในการออกแบบของผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ที่ต้องการให้มนุษยชาติประยุกต์ใช้หลักสันติภาพและหลักภราดรภาพ ที่เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักอันเป็นสะพานสร้างความร่วมมือระดับโลก เพื่อสร้างสังคมที่มีความสมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สันติภาพและสันติสุขตลอดไป


โดยทีมวิชาการ