บทความ ประวัติศาสตร์

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่4]

เหตุการณ์ความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูล

“อย่างกับในหนัง คนแน่นสนามบินคาบูล หวังขึ้นเครื่องบินหนีหลัง ฏอลิบาน ยึดประเทศ”(Sanook)

“นาทีสลด คลิปเหตุการณ์ชาวอัฟกันหนีร่วงมาจากเครื่องบิน”(Spring News)

“ชาวอัฟกันดับแล้ว 12 รายจากเหตุวุ่นวายที่สนามบินคาบูล”(TNN)

“คลิปชาวอัฟกันวิ่งตามเครื่องบิน บางคนโดดเกาะเครื่อง หวังออกจากประเทศ”

นี่คือบางส่วนของการพาดหัวข้อข่าวทั่วโลกหลังจาก ฏอลิบาน ยึดกรุงคาบูลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งชวนให้ชาวโลกปักใจเชื่อว่า ฏอลิบาน มีความอำมหิตโหดเหี้ยมถึงขั้นที่ประชาชนหวาดผวาหนีตายกันอย่างอลหม่านยิ่งกว่าหนังสยองขวัญ

ลืมไปว่า เหตุการณ์นี้คือบทสรุปและผลพวงของ 20 ปีที่มหาอำนาจบุกยึดและปกครองอัฟกานิสถาน พร้อมๆกับสัญญาอันสวยหรูว่า จะพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปากสูดดมบรรยากาศสันติภาพและสันติสุขที่ยั่งยืน

ลืมไปว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงคาบูลโดยการแตกฮือของประชาชนจำนวนไม่กี่พันคน เมื่อเทียบกับชาวอัฟกันทั้งประเทศเกือบ 40 ล้านคน

ลืมไปว่า รัฐบาล ฏอลิบาน ประกาศนิรโทษกรรมทั่วประเทศ ไม่มีการล้างแค้น ไม่มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิด และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีข่าวว่า ฏอลิบาน เข้าไปจับกุมทรมาน หรือสังหารฝ่ายตรงกันข้ามแม้แต่คนเดียว ซึ่งต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่หลังถล่มประเทศนาน 40 วันจนแหลกลาญ ก็ไล่ล่าจับกุมคู่อริ แม้กระทั่งจะหนีกบดานเข้าไปในรูหนู แถมยังจับไปทรมานในคุกเถื่อนกวนตานาโม สัญลักษณ์แห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งรุนแรงที่สุดของลัทธิล่าอาณานิคม ที่บริษัทเอ็นจีโอทำได้แค่ถ่ายทำสารคดี เพื่อแสดงความมีน้ำใจของชาติที่ไร้มนุษยธรรม

ความจริงเราสามารถแยกกลุ่มที่สร้างความโกลาหลที่สนามบินกรุงคาบูลออกเป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

1.กลุ่มที่หวาดผวากับ ฏอลิบาน จริง เพราะได้สร้างวีรกรรมมากมาย ด้วยการเป็นสุนัขรับใช้ของชาติผู้บุกรุกตั้งแต่แรก ยอมแลกกับเนื้อก้อนเล็กๆที่ถูกโยนให้เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ จึงเกิดอาการร้อนท้อง เพราะทานปูนไปเยอะ แต่ก็เป็นระดับปลาซิวปลาสร้อยเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น เพราะระดับบิ๊กๆ จริงๆ ก็ถูกขนย้ายอย่างปลอดภัยพร้อมสุนัขตัวจริงไปแล้ว

2.กลุ่มฉวยโอกาสที่พร้อมอพยพออกนอกประเทศทุกยามเมื่ออยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด กลุ่มนี้ไม่เกี่ยวกับฝ่ายสนับสนุนหรือเห็นต่างกับ ฏอลิบาน แต่อย่างใด เป็นกลุ่มที่อยู่ใน 40% ของจำนวนประชากรที่ว่างงานทั้งประเทศ และจำนวน 53% ที่ตกอยู่ในกลุ่มประชาชนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน เป็นผลพวงของประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามยืดเยื้อยาวนาน 40 ปีซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีครอบครัวและยังไม่รู้ชะตากรรมชีวิตของตัวเองในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาหวังใช้ชีวิตที่ดีกว่าด้วยการหนีตายเอาดาบหน้า ถึงแม้จะต้องเสี่ยงตายมากมายแค่ไหน พวกเขาพร้อมเผชิญหน้า เพื่อหนีจากวงจรอุบาทว์ของชีวิตที่มืดมนในประเทศของตนเอง

ชาวอัฟกัน จึงเป็นชาวอพยพที่อยู่กระจัดกระจายไปทั่วทวีปจำนวนอันดับต้นๆของโลกด้วยประการฉะนี้แล

เรื่องนี้ใครไม่ประสบด้วยตนเอง ไม่มีวันเข้าใจได้ ไม่เห็นโลงศพ ไม่มีวันหลั่งน้ำตา

3.กลุ่ม”ปาทานมุง” ที่เป็นธรรมเนียมของชาวปาทานที่มีความเข้มข้นยิ่งกว่า”ไทยมุง” หลายเท่า และบางกระแสข่าว ระบุว่ามาจากกลุ่มสนับสนุน ฏอลิบาน ที่ต้องการสกัดการอพยพคนครั้งนี้ด้วยซ้ำ

แต่สื่อกระแสหลักกลับไปชี้นำที่กลุ่มแรกเพียงกลุ่มเดียว พยายามซูมกลุ่มนี้ให้เป็นที่น่าสนใจและตัดภาพกลุ่ม 2 และ 3 ออกจากจอ โดยเฉพาะหลังข่าวการเสียชีวิตของบุคคลระดับนักฟุตบอลทีมชาติที่ร่วงตกจากเครื่องบินเสียชีวิตอย่างสุดอนาถ ทำให้กลุ่ม 2 และ 3 ถูกลืมและไม่ได้รับความสนใจไปโดยปริยาย

วงกลมมี 360 องศา การภูมิใจที่จะอยู่ ณ องศาแรกที่พบเจอ คือธรรมเนียมของคนสิ้นคิดและด้อยอารยธรรมครับ


โดย Mazlan Muhammad