บทความ บทความวิชาการ

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 4 ]

ความเดิมจากตอนที่แล้วคือผมได้เล่าเรื่อง ‘แผนที่’ ถึงช่วงที่มีชาวยิวอพยพลั่งไหลเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์มากมายจนกลายเป็นปัญหา แต่องค์การสหประชาชาติก็เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยวิธีแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ผ่านการลงมติในที่ประชุม

ก่อนที่มติอันนี้จะถูกนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกเสียก่อน อันเป็นสงครามที่ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนเองเป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกปะทุขึ้นทันทีหลังจากที่มีการประกาศจัดตั้งรัฐยิวขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 กองทัพทหารของทรานซ์จอร์แดน อียิปต์และซีเรีย โดยมีพลรบจำนวนหนึ่งของเลบานอนและอิรักเข้าเสริม ได้เข้าไปยังดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 15 พฤษภาคม

ความจริงการปะทะกันได้เริ่มขึ้นก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1947 แล้ว แต่ทันทีหลังจากที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้ผ่านมติ “แผนแบ่งแยกดินแดน” (Partition Plan) ในปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 การปะทะต่อสู้ในลักษณะสงครามกลางเมืองระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวจึงเริ่มขึ้น

ฝ่ายปาเลสไตน์นั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกดินแดนและการจัดตั้งรัฐยิวขึ้น แต่สำหรับฝ่ายยิว หากแผนของสหประชาชาติได้รับการยอมรับก็มีความเชื่อกันว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลที่อาจขยายการยึดครองทั้งหมดหรือบางส่วนของรัฐอาหรับในภายภาคหน้า

การต่อสู้ในระยะแรกปรากฏว่าชาวปาเลสไตน์เป็นฝ่ายได้เปรียบและได้รับการเสริมกำลังจากกองทัพอาหรับเพื่อนบ้าน พวกเขาสามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสาร โอบล้อมที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ตลอดจนปิดกั้นทางเข้า-ออกของเมืองใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงกรุงเยรูซาเล็มเอาไว้ได้

แต่สถานการณ์เริ่มพลิกผันในช่วงปลายเดือนมีนาคม 1948 เมื่อเชคโกสโลวาเกียได้เข้าช่วยเหลือกองกำลังชาวยิว ทำให้กองทัพอิสราเอลเริ่มเป็นฝ่ายรุก

นับจากนั้นการฆ่าหมู่ (massacres) จึงเริ่มขึ้น และที่ฉาวโฉ่มากที่สุดคือ เหตุการณ์ในหมู่บ้าน ดีร ยาซีน (Dir Yassin) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1948 อันเป็นเหตุการณ์ที่นายทหารยิวของเมนาชิม เบกินส์ (Menachem Begin) สังหารชาวบ้านปาเลสไตน์ 250 คน ยังผลให้ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วประชาคมปาเลสไตน์ทั้งหมด

กองทัพอาหรับได้เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ก็ล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแนวโน้มของสงครามที่อิสราเอลกำลังได้เปรียบ ถึงแม้การต่อสู้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งก็สงบลงจากการทำข้อตกลงหยุดยิง

อย่างไรก็ตาม นับจากเดือนกรกฎาคม 1949 เป็นต้นมา อิสราเอลกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดตั้ง “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “Israeli Defence Force” (IDF) ขึ้น กองกำลังชาวยิวมีผู้บัญชาการที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก มีการเกณฑ์กำลังพลได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ได้รับการช่วยเหลือด้านอาวุธจากการลำเลียงขนส่งทางอากาศ (airlift) จากเชคโกสโลวาเกียจากฐานกำลังที่เมืองซาเทค (Zatec)

ความช่วยเหลือจากเชคโกสโลวาเกีย หมายความว่า สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เห็นชอบกับ “แผนแบ่งดินแดน” และยอมรับอิสราเอลในฐานะรัฐใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1948 มีส่วนช่วยอย่างมากต่อชัยชนะของอิสราเอลในสงครามครั้งแรกนี้

อย่าลืมว่าในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตสนใจเพียงเรื่องเดียวคือ การขจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไปจากตะวันออกกลางทั้งหมด

แผนการของสหภาพโซเวียตนับว่าบรรลุผล ความอับอายจากการพ่ายแพ้ทำให้โลกอาหรับเกิดความปั่นป่วนอย่างลุ่มลึก และอังกฤษก็ต้องจ่ายราคาค่าวิกฤตที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะมติมหาชนอาหรับเชื่อว่าอังกฤษเป็นต้นเหตุที่ผลักดันให้เกิดสงคราม

กระแสต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว นุกราชิ ปาห์ชา (Nokrashi Pasha) หนึ่งในผู้นำอียิปต์ที่นิยมอังกฤษถูกลอบสังหารในเดือนธันวาคม 1948 กลุ่มชาตินิยมวักฟ์ (Wafd) ของอียิปต์ กลับมาสู่เวทีการเมืองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1950 และต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1952 กลุ่มนายทหารอิสระ (Free Officers) จึงได้ยึดอำนาจโค่นล้มราชวงศ์กษัตริย์ลงในอียิปต์

ในอิรักเกิดความวุ่นวายที่เพิ่มขึ้น มีการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในซีเรีย แม้แต่ทรานซ์จอร์แดน ซึ่งได้รับความสำเร็จในการผนวกเวสต์แบงก์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรจอร์แดน ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นจากการที่กษัตริย์ อับดุลลอฮ์ โอรสของชารีฟ ฮุสเซนและเป็นปู่ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์องค์ปัจจุบัน ก็ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1951 ที่มัสยิดอัล-อักศอ ณ กรุงเยรูซาเล็ม

เหตุการณ์ทั้งหมดยังผลให้อิทธิพลของอังกฤษค่อยๆ หมดไป

แม้อังกฤษได้รับความเสียหายจากผลลัพธ์ของสงคราม แต่เหยื่อที่แท้จริงก็คือ ชาวปาเลสไตน์ ข้อตกลงหยุดยิงที่ลงนามระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับคู่อริต่างๆ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 20 กรกฎาคม 1949 ยังผลให้ดินแดนอิสราเอลขยายครอบคลุมร้อยละ 78 ของดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด

ส่วนของดินแดนปาเลสไตน์จากเดิมที่สหประชาชาติเคยแบ่งเขตดินแดนให้ กล่าวคือ จากเดิมที่อิสราเอลได้แค่ 14,000 ตารางกิโลเมตรก็กลายเป็น 21,000 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนที่ได้เพิ่มมาคือ ดินแดนกาลิลีตะวันตก (Western Galilee) ส่วนที่เป็นดินแดนของกรุงเยรูซาเล็มสมัยใหม่ และเมืองเนเกฟ (Negev) ตลอดรวมถึงท่าเรืออิลัต (Eilat) บนทะเลแดง (Red Sea)

นอกจากนั้น อิสราเอลและทรานซ์จอร์แดนยังได้แบ่งสรรดินแดนเวสต์แบงก์ระหว่างกัน ส่วนดินแดนกาซ่านั้นตกอยู่ภายใต้การอารักขาของอียิปต์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 750,000 คน ต้องถูกขับออกจากบ้านเรือนของตนเอง

งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อิสราเอลสมัยใหม่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอพยพเคลื่อนย้ายเป็นผลมาจากนโยบายการขับไล่ประชากรชาวปาเลสไตน์ นโยบายนี้ดำเนินเรื่อยไปหลังสงคราม โดยการทำลายหมู่บ้านอาหรับหรือการตั้งนิคมขึ้นใหม่เพื่อรองรับยิวอพยพในถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หรือโดยวิธีแบ่งที่ดินของชาวปาเลสไตน์ให้แก่ประชาคมชาวยิว โดยที่กฎหมายว่าด้วยเรื่อง “ทรัพย์สินที่ถูกละทิ้ง” (abandoned property) ของอิสราเอลได้ทำให้วิธีการนั้นมีความชอบธรรม

ในกรณีของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์นั้นสหประชาชาติ (ในเดือนเมษายน 1950) ได้บันทึกไว้ว่ามีเกือบ 1 ล้านคนที่อยู่ในจอร์แดน กาซ่า เลบานอนและซีเรีย

ในเดือนธันวาคม 1948 สหประชาชาติได้ผ่านมติ “สิทธิในการกลับคืนถิ่น” ของชาวปาเลสไตน์อพยพ แต่ผู้นำอิสราเอล นายเดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) กลับปฏิเสธพร้อมทั้งประกาศเมื่อวันที่16 มิถุนายน 1948 ว่า “เราจะต้องป้องกันไม่ให้พวกเขาได้กลับคืนถิ่นในทุกวิถีทาง”

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะที่อิสราเอลสามารถขยายดินแดนออกไป รัฐอาหรับเพื่อนบ้านทั้งหลายตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน และชาวปาเลสไตน์ถ้าไม่ถูกยึดครองก็ถูกขับไล่ออกไปจากดินแดน ทำให้สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ตามมาภายหลัง

จากตรงนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นดินแดนที่เกิดการนองเลือดนับจากนั้นเป็นต้นมา


โดย Srawut Aree