บทความ บทความวิชาการ

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 3 ]

ได้ข่าวมาว่าวันนี้ทั้ง Google Map และ Apple Map ได้ลบคำว่า “ปาเลสไตน์” ออกจากแผนที่ แล้วใช้คำว่า “อิสราเอล” เข้ามาแทนที่ ผมเลยลองเสิร์ชเข้าไปในทั้ง 2 เสิร์ชเอนจิน ปรากฏว่าไม่มีคำว่าปาเลสไตน์จริง ๆ มีแต่คำว่าอิสราเอล

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้จะมีคำว่าปาเลสไตน์อยู่หรือไม่ เพราะไม่เคยเข้าไปเสิร์ชดูมาก่อน ถึงอย่างนั้น ผมก็ค่อนข้างแน่ใจอย่างหนึ่งว่าความพยายามในการลบแผนที่ปาเลสไตน์ออกไปจากการรับรู้ของประชาคมโลกมันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ การเล่าเรื่องปาเลสไตน์ผ่านแผนที่ที่ผมกำลังทำอยู่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนที่ถูกกดขี่ได้รับความยุติธรรม หรืออย่างน้อยก็เป็นการรณรงค์ให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้และเข้าใจในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

แผนที่อันที่ 3 นี้ขอเล่าถึงแผนการแยกแผ่นดินปาเลสไตน์ขององค์การสหประชาชาติในปี 1947 ครับ

อย่างที่ผมได้เล่าไปแล้ว หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวเริ่มเคลื่อนย้ายจากยุโรปเข้ามาอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์จำนวนมาก ตามสถิติที่ทางการอังกฤษเองได้บันทึกเอาไว้ มีการไหลทะลักเข้ามาของชาวยิวอพยพระว่างปี 1920 ถึง 1946 มากถึง 376,415 คน (ดูข้อมูลจาก Stanford BJPA หน้า 185 ได้ครับ) จนทำให้ชาวอาหรับปาเลสไตน์ไม่พอใจ

ความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การปะทะต่อสู้กันเป็นระลอกๆ และนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เมื่อไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้ อังกฤษจึงนำประเด็นปัญหานี้มอบให้แก่สถาบันระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ขณะนั้นคือ องค์การสหประชาชาติ

ในการณ์นี้สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติจึงได้ส่งคณะกรรมการพิเศษ (United Nations Special Commission on Palestine: UNSCOP) เข้าไปในปาเลสไตน์เพื่อศึกษาและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

รายงานของ UNSCOP ได้ออกมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1947 โดยได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา 2 ทาง ทางแรกเป็นแผนของคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 รัฐ คือ รัฐยิวและรัฐอาหรับโดยมีสหภาพเศรษฐกิจ (economic Union) ร่วมกัน

ทางที่สองคือ การจัดตั้งสหพันธรัฐขึ้นในปาเลสไตน์

นอกจากนั้น รายงานยังเสนอให้กรุงเยรูซาเล็มเป็น “เขตระหว่างประเทศ” (international zone) ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสหประชาชาติโดยตรง เพราะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้งชาวยิว คริสเตียน และมุสลิม

ชาวอาหรับนั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกประเทศ แต่แผนนี้กลับได้รับความเห็นชอบและได้ออกเป็นมติของสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947

อังกฤษได้ยกเลิกระบบอาณัติที่ใช้กับดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 1948 หลังจากนั้นรัฐอิสราเอลจึงถูกประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดยคณะปกครองชาวยิวในปาเลสไตน์เมื่อวันที่

14 พฤษภาคม 1948 ซึ่งเป็นการประกาศที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักทั้งจากอาหรับและชาติต่าง ๆ จำนวนมากในเอเชียและแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจ 2 ชาติทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตกลับให้การยอมรับรัฐอิสราเอลที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การกำเนิดของรัฐอิสราเอลจึงนำไปสู่ความตึงเครียดภายในภูมิภาคตลอดมานับจากนั้น

อย่างที่ผมเรียนรับใช้ไป ในเวลานั้นประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน

ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ซึ่งครอบครองดินแดนมากกว่าร้อยละ 90

ที่เหลืออีกร้อยละ 6 เป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว ซึ่งมีประชากรอยู่ไม่ถึง 70,000 คน

พอมาถึงปี ค.ศ. 1948 ที่รัฐยิวถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าประชากรยิวเพิ่มขึ้นถึง 600,000 คน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด หรือมีการเพิ่มขึ้นของประชากรยิวถึงร้อยละ 725 เลยทีเดียว

สัดส่วนของการครอบครองที่ดินก็เปลี่ยนไปมาก

อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนปาเลสไตน์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายขององค์กรยิวไซออนิสต์ที่ปฏิเสธการจ้างงานชาวปาเลสไตน์

อย่างไรก็ดี แม้ถึงปี 1947 ประชากรชาวยิวจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ แต่แผนการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ของสหประชาชาติก็ยังมอบดินแดนส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ให้เป็นรัฐยิว ที่เหลืออีกร้อยละ 45 เป็นของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นเจ้าของเดิม

แผนแบ่งแยกดินแดนนี้ยังไม่ทันถูกนำไปปฏิบัติใช้หรอกครับ เพราะมันเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลเสียก่อน


โดย Srawut Aree