ตุรกีกับการกลับสู่อ้อมกอดอิสลาม

เหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายระเบิดพลีชีพไนท์คลับที่นครอิสตันบูล เมื่อกลางดึกในคืนต้อนรับปีใหม่ปี 2017 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลแอร์โดอานที่เป็นรัฐแซคิวล่าร์ เป็นรัฐบาลนอกรีต นิยมชื่นชอบ(วะลาอฺ)ศัตรูอิสลาม ส่วนพรรคยุติธรรมและพัฒนา(AK) เป็นพรรคที่ไม่มีส่วนใดๆกับอิสลาม อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการเปิดโสเภณีอย่างกว้างขวาง อนุญาตให้ชายหาดเป็นที่เปลือยกายอย่างเสรี ลดภาษีเหล้าและสถานอบายมุข โดยที่พวกเขาไม่เคยนำหลักฐานการใส่ร้ายเหล่านี้มาแสดงต่อสาธารณชนแม้แต่ชิ้นเดียว

ผู้คนที่เสพข่าวลวงประเภทนี้ จะคล้อยตามการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้จรรยาบรรณนี้อย่างหัวปักหัวปำ โดยเฉพาะข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อโชเชี่ยลที่มีเทคนิกการหลอกลวงแพรวพราว หลายคนจึงตกกับดักของแนวคิดตักฟีรีย์(ตัดสินมุสลิมตกเป็นกาฟิร)ชนิดกู่ไม่กลับ هدانا الله جميعا

ตุรกียุคแอร์โดอานและพรรค AK ได้รับมรดกบาปที่สืบทอดจากรัฐบาลเซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในสังคมตุรกีเกือบ 1 ศตวรรษ พวกเขาได้วางกฎเหล็กและรัฐธรรมนูญเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อปราบปรามอิสลามโดยเฉพาะ ในขณะที่ฝ่ายทหารก็ใช้อำนาจก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า

ลองพลิกดูประวัติศาสตร์ของรัฐบาลตุรกีช่วง 1950-1960 ที่นายอัดนาน แมนดรีสเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้พยายามฟื้นฟูและเรียกคืนตัวตนแห่งอิสลามของตุรกีด้วยการอนุญาตอะซานเป็นภาษาอาหรับอีกครั้ง อนุญาตเปิดโรงเรียสอนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ สร้างมัสยิดจำนวน 10,000 หลัง สร้างโรงเรียนท่องจำอัลกุรอาน 20,000 แห่ง สร้างวิทยาลัยผลิตนักเผยแพร่อิสลาม 22 แห่ง ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโลกอาหรับ ตลอดจนขับไล่ทูตอิสราเอลเมื่อปี 1957 แต่เขาถูกทหารยึดอำนาจในปี 1960 และถูกตัดสินชีวิตด้วยการแขวนคอพร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 2 ท่าน ด้วยข้อหาเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและบริหารแผ่นดินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเคมาลิสต์

เราไม่เคยลืมโศกนาฏกรรมทางการเมืองของ ศ.ดร.นัจมุดดีน อัรบะกาน บิดาแห่งการเมืองตุรกี ที่ถูกอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญครอบงำและเฝ้าระวังทุกจังหวะก้าว ตลอดระยะเวลาของการโลดเล่นบนถนนทางการเมืองของท่าน

คนฉลาดมักจะใช้คนอื่นเป็นบทเรียน แต่คนโง่มักจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนอื่นเสมอ

แอร์โดอานจึงใช้บทเรียนในอดีตเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่พยายามเพาะหน่อไม้ต่างพันธุ์ท่ามกลางกอไผ่ที่หนาทึบ การที่มันจะชูช่อแข่งขันกับดงหนามที่คอยทิ่มแทงและสกัดกั้น ย่อมต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ชาญฉลาด ผ่อนปรน ใจกว้างและมองการณ์ไกล ไม่บุ่มบ่ามใจร้อนหรือสร้างปราสาททราย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอผลงานเชิงประจักษ์ในมิติทางศาสนาและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสู่กลิ่นไอแห่งอิสลามอย่างชัาๆแต่มั่นคงภายใต้การบริหารประเทศของพรรค AK โดยไม่พูดถึงความสำเร็จด้านต่างๆทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ระหว่างปี 2002-2013 รัฐบาลตุรกีสร้างมัสยิด 17,000 หลัง และบูรณะซ่อมแซมสถานอิบาดะฮ์ยุคอุษมานียะฮ์หลายพันแห่ง

2. ยกเลิกกฎหมายห้ามมุสลิมะห์แต่งฮิญาบตามสถานราชการและสถานศึกษา โดยกรณีนางมัรวะห์ (Merve Safa Kavakci) สส. หญิงคนแรกที่ใส่ฮิญาบสังกัดพรรคคุณธรรมอิสลามที่ชนะเลือกตั้งเป็น สส. ในปี 1999 สุดท้ายนางถูกขับไล่ออกจากสภาฯในสภาพที่น่าหดหู่ท่ามกลางเสียงโห่ไล่ของสมาชิกสภาฯผู้ทรงเกียรติ ต่อมานางถูกถอนสัญชาติและเนรเทศจนต้องลี้ภัยที่สหรัฐฯ แต่ยุคแอร์โดอาน นางได้รับคืนสัญชาติตุรกีอีกครั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัวลาลัมเปอร์ ปัจจุบันในสภาตุรกีมีสส. มุสลิมะฮ์ที่ใส่ฮิญาบกว่า 20 ท่าน มีรัฐมนตรีมุสลิมะฮ์ใส่ฮิญาบ 1 ท่าน และผู้พิพากษามุสลิมะฮ์สวมฮิญาบอีก 1 ท่าน

3. จำนวนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนสอนศาสนา (อิมามคอเต็บ) เพิ่มจาก 65,000 คน เมื่อปี 2002 เป็น 658,000 คนในปี 2013 และปัจจุบันมีนักเรียนที่เรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ทั่วโลก 1 ล้านคน

4. บรรจุหลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัดรัฐบาลตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งที่ผ่านมาหลักสูตรนี้กลายเป็นหลักสูตรต้องห้าม

5. ในปีการศึกษา 2014 กระทรวงศึกษาธิการตุรกีได้บรรจุวิขา ภาษาอุษมานีย์ (ภาษาตุรกีเขียนด้วยอักขระอาหรับ) เป็นวิชาบังคับ อนูญาตให้นักเรียนที่จบ ป. 4 ขึ้นไปสามารถลาเรียน 2 ปี เพื่อเข้าหลักสูตรท่องจำกุรอาน และยกเลิกหลักสูตรภาคปฏิบัติวิธีการเสิร์ฟเหล้าในวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรการท่องเที่ยว

6. ยกเลิกการกำหนดอายุ 12 ปี สำหรับนักเรียนที่ต้องการท่องจำอัลกุรอาน โดยที่รัฐบาลประกาศในปี 2013 ให้โอกาสเด็กก่อนวัยเรียนสามารถเรียนอัลกุรอานในโครงการ Qur’an Courses for Preschoolers

7. ปี 2013 รัฐบาลตุรกีออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเหล้าและธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 ทุกวัน โดยไม่จำกัดวันและสถานที่ พร้อมห้ามโฆษณาเหล้าตามสื่อต่างๆทั่วประเทศ จนทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ที่อิสตันบูล

8. รัฐบาลพรรค AK ได้มีมาตรการเปลี่ยนผับบาร์จำนวนหลายแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดเหล้า

9. แอร์โดอานถูกสื่อฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีว่าต้องการทำให้อิสตันบูลกลายเป็นเมืองอิสลามและละทิ้งเซคิวล่าร์ หลังจากที่ท่านพูดคุยแก้ปัญหาโสเภณีในระยะยาว ท่านยังถูกกล่าวหาเป็นคนล้าหลัง คร่ำครึเนื่องจากจัดโครงการละหมาดขอฝน แต่ภายหลังไม่กี่ชั่วโมง ฝนได้เทลงมาอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายต่อต้านต้องปิดปากเงียบ

10. ภายในปี 2018 ตุรกีกำหนดเปิดสถาบันทางการเงินอิสลามจำนวน 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้สถาบันในลักษณะนี้เป็นสถาบันผิดกฎหมาย

11. ปี 2013 รัฐบาลประกาศจัดระเบียบหอพัก ด้วยการห้ามนักศึกษาที่เรียนในสังกัดรัฐบาล เข้าพักรวมกันระหว่างหญิงชาย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2014 จะไม่มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ห้องพักปนกันระหว่างชายหญิง

12. ปี 2016 แอร์โดอานเรียกร้องให้มีผู้แทนของประเทศมุสลิมเข้าเป็นสมาชิกในประเทศสมาชิกถาวรสหประชาขาติ เพราะทั้ง 5 ประเทศในปัจจุบันถือเป็นผู้แทนของกลุ่มประเทศคริสเตียนและคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้อำนาจวีโต้อย่างอิสระเสรี

13. แอร์โดอานเคยถูกจับเข้าคุกในปี 1997 ฐานอ่านกลอนต้องห้ามที่ถูกตัดสินว่าสร้างความขัดแย้งในสังคม ทั้งๆที่กลอนดังกล่าวปรากฏในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาแอร์โดอานได้อ่านกลอนดังกล่าวในรัฐสภาอีกครั้ง ข้อความส่วนหนึ่งได้แก่
– มัสยิดคือค่ายทหารของเรา
– โดมคือหมวกของนักรบ
– หออะซานคือหอกทวน
– ศรัทธาชนคือพลทหารกล้า
– นี่คือทหารอันบริสุทธิ์ที่จะปกป้องศาสนาของเรา

14. รัฐบาลตุรกีจัดขบวนยุวชนที่มีอายุ 7 ขวบ นับหมื่นคน เดินถือป้ายตามท้องถนนอิสตันบูล พร้อมข้อความว่า “เรามีอายุ 7 ขวบแล้ว เราพร้อมจะรักษาละหมาดและท่องจำอัลกุรอาน” พร้อมจัดรางวัลทั่วประเทศสำหรับยุวชนที่ปฏิบัติตามโครงการนี้ โดยเฉพาะละหมาดศุบฮิโดยญะมาอะฮ์ที่มัสยิด


นี่คือส่วนหนึ่งของผลงานรัฐบาลแอร์โดอานที่บางกลุ่มได้ฟัตวาท่านว่าเป็นมุนาฟิก นอกรีต ฏอฆูตและใฝ่เซคิวล่าร์
ถามว่า
เราเคยมีผู้นำเซคิวล่าร์คลั่งประชาธิปไตยคนไหนบ้างในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำสิ่งดังกล่าว แม้เพียงข้อเดียวก็ตาม

ในเวลาเที่ยงวันอันสดใส ไร้เมฆหมอก
ยังมีบางคน ที่กระวนกระวายท่ามกลางความมืดมน
เราจะโทษดวงอาทิตย์
หรือดวงตาอันมืดบอดกันแน่


บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 07-01-2017 http://www.turkpress.co/node/29821

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

ทำไมชาติตะวันตกชิงชังแอร์โดอาน

Eric S.Margolis (77ปี) นักเขียนและนักข่าวชาวอเมริกันได้อธิบายเหตุผลที่ทำให้ชาติตะวันตกเกลียดชังประธานาธิปดีแอร์โดอาน นอกเหนือจากการเป็นคู่อริทางการเมืองในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตระหว่างชาติตะวันตกกับชาวเซลจุกและเตอร์กออตโตมาน

Margolis เล่าว่า ตุรกีเป็น 1 ในกลุ่มสมาชิกนาโต้มาตั้งแต่ปีค.ศ.1952 โดยที่สหรัฐอเมริกาได้สยายปีกคุมอำนาจเหนือตะวันออกกลาง กองกำลังตุรกีที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มนาโต้รองจากสหรัฐอเมริกา บรรดานายพลตุรกีจับมือกับทหารอเมริกันบังคับพวงมาลัยกำหนดทิศทางของตุรกีมาโดยตลอด กลุ่มแกนนำตุรกีจำนวนหนึ่งที่ได้กลายพันธุ์ คอยรับคำสั่งจากวอชิงตันอย่างว่านอนสอนง่ายเสมอมา พร้อมคอยคุมกำเนิดการขยายตัวของอิสลามอย่างเข้มงวดและปล่อยให้อิสลามแคระแกร็นอยู่ในพื้นที่ชนบทอันทุระกันดารเท่านั้น

Margolis วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1994 เมื่อมีชายตุรกีอายุ 40 ปีชื่อเราะญับ ฏอยยิบ แอร์โดอาน ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีกรุงอิสตันบูลพร้อมจัดการทำ5 ส. ในการบริหารบ้านเมือง แต่เขาถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากไปอ่านบทกลอนอิสลามท่อนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นกลอนที่ปรากฏในตำราเรียนตามโรงเรียนต่างๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากพ้นโทษ เขาได้ก่อตั้งพรรคยุติธรรมและพัฒนาที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยและภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ตุรกี บริหารประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริการประชาชน ให้สิทธิ์แก่คนยากจนและผู้สูงอายุ จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ช่วยเหลือชาวมุสลิมทั่วโลกและปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตที่ดำรงไว้บนหลักการยุติธรรม

ไม่มีอะไรที่สามารถสกัดกั้นดาวจรัสแสงของอดีตนักฟุตบอลคนนี้ได้ ในปี 2003 เขาได้รับการคัดเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากชาวตุรกีที่มีประชากรมากถึง 81 ล้านคน เขากลายเป็นขวัญใจชาวตุรกีอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีชาวเตอร์กกลายพันธุ์ที่มองเขาเเละพรรคพวกด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังเสมอ

Margolis วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้คิดร้ายต่อแอร์โดอานคือยุคก่อนแอร์โดอาน กลุ่มเตอร์กกลายพันธุ์และกลุ่มทหารต่างมีบทบาทและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือแผ่นดินตุรกีในทุกด้าน ไม่ว่าด้านการสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา ด้านการพิพากษา วงการทูตและการต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ใต้โอวาทของสหรัฐอเมริกา

ก่อนยุคแอร์โดอานระบบรัฐสภาตุรกีและการบริหารทางการเงินของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำสุดขีด

การเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเเอร์โดอานบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังทลาย สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ยุติปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังกับชาวเคิร์ด สร้างสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดแถวนายทหารจำนวน 600,000 นาย ให้กลับสู่กรมกองตามภารกิจเดิม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เตอร์กกลายพันธุ์และชาวเซคิวล่าร์เกลียดชังแอร์โดอาน ซึ่งพวกเขาอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารตุรกีจำนวน 16 ครั้งนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

จึงไม่ใช่เป็นเหตุการณ์บังเอิญที่พวกเขาได้ก่อรัฐประหารล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา พวกเขาเกือบสังหารแอร์โดอานสำเร็จแล้ว แต่ด้วยพลังประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้อย่างกล้าหาญ ทำให้แผนการต้องพังทลาย

หลังรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ เเอร์โดอานได้จับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการและนักข่าวกว่า 10,000 คนที่มีหลักฐานผูกมัดว่าพัวพันกับคดีประวัติศาสตร์นี้ และยังมีหลักฐานมัดตัวว่าฐานทัพอากาศ Incirlink ที่เป็นฐานทัพร่วมสหรัฐอเมริกาและตุรกีคือศูนย์บัญชาการของรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้

เเอร์โดอานจึงเป็นเด็กดื้อในสายตาสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะกรณีวิกฤตซีเรียและปาเลสไตน์ ที่สหรัฐอเมริการู้สึกว่าเเอร์โดอานอยู่เหนือการควบคุมในขณะที่อิสราเอลก็ไม่พอใจแอร์โดอานที่แสดงจุดยืนเข้าข้างการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และแสดงอาการล้ำเส้นมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจึงเกลียดชังแอร์โดอาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนิทชิดเชื้อกับรัสเซียมากเกินเหตุ ก็เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่พอใจแอร์โดอาน สื่อสหรัฐได้ทีโหมโรงใส่ร้ายแอร์โดอานอย่างบ้าคลั่ง ในขณะเดียวกัน กลับเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ต่อหน้าผลงานเถื่อนถ่อยของจอมเผด็จการอย่างซีซีย์ ผู้นำกระหายเลือดแห่งอียิปต์เพราะซีซีย์เป็นเด็กในคาถาของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

Margolis อธิบายเพิ่มเติมว่าดีกรีความเกลียดชังของชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเเอร์โดอานได้ถึงจุดเดือด เมื่อแอร์โดอานได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นประธานาธิบดี พร้อมอำนาจล้นฟ้าภายใต้ระบอบประธานาธิบดี ที่กล่าวได้ว่าเเอร์โดอานกลายเป็นผู้นำตุรกีที่มีความโดดเด่นที่สุดหลังยุคอะตาร์เตอร์ก

Margolis กล่าวทิ้งท้ายบทวิเคราะห์ของเขาว่า “หากตุรกีสามารถครอบครองแหล่งน้ำมันดังเช่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตุรกีจะกลายเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความสำคัญยิ่ง”


บทความนี้เผยแพร่ในภาษาอาหรับเมื่อวันที่ 04-07-2018

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

อ่านต้นฉบับภาษาอาหรับ https://www.turkpress.co/node/50839

รัฐลึกตุรกี ความจริงหรืออิงนิยาย

หลังจากเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลตุรกี เมื่อค่ำ 15/8/2016 ผ่านไปไม่นานนัก แกนนำรัฐบาลได้พากันปรากฏตัวตามสื่อพร้อมยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้คือ กลุ่มรัฐลึก ที่มีกลุ่มทหารที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฟัตหุลลอฮฺ กุเลน นักการศาสนาที่พำนักในรัฐแพนซิลวิเนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จนกระทั่งปัจจุบัน กล่าวกันว่า กลุ่มนี้มีเครือข่ายโยงใยในระบบและกลไกรัฐตุรกีอย่างลึกลับยิ่งกว่านวนิยาย

กลุ่มคิดมัต (Khidmat)

รัฐลึกเป็นศัพท์ทางการเมืองที่ถูกใช้ในตุรกี โดยมี กลุ่มคิดมัต ซึ่งเป็นองค์กรเปิดที่ก่อตั้งโดยบรรดาสานุศิษย์ของท่านสะอีด อันนูรซีย์ (มีชีวิตระหว่าง 1877-1960) แต่เนื่องจากบุคลิกและผลงานอันโดดเด่นของกุเลน ทำให้คิดมัตกลายเป็นที่รู้จักควบคู่กับกุเลน โดยเฉพาะหลังปี 1980

กุเลนที่ยึดปรัชญาวลีเด็ดของท่านสะอีด อันนูร์ซีย์ ที่เคยกล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากชัยฏอนและการเมือง” เขาไม่เคยก่อตั้งพรรคการเมือง และมองว่าภาวะการไร้การศึกษา ความแตกแยกและความโง่เขลาคือโรคร้าย 3 เส้าที่กัดกร่อนสังคมมุสลิม ที่จำเป็นต้องเยียวยาอย่างเร่งด่วน เขาจึงใช้กลุ่มคิดมัต เป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับทางการศึกษา โดยเน้นการบริการด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาจนกลายเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระดับโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของตุรกี มีธนาคารในเครือหลายแห่ง มีสำนักข่าวและสำนักพิมพ์หลายแห่ง ในจำนวนนี้ คือนสพ.Zaman ทั้งภาษาตุรกี อาหรับและอังกฤษ เฉพาะภาคภาษาตุรกีนสพ.ฉบับนี้มียอดจำหน่ายรายวันมากกว่า 1 ล้านฉบับ

นอกจากนี้กลุ่มคิดมัต ได้สร้างมหาวิทยาลัยในตุรกีจำนวน 17 แห่ง เปิดสถาบันวากัฟ 96 แห่ง เปิดสาขาองค์กรทั่วตุรกีกว่า 900 สาขา เปิดโรงเรียนทั่วตุรกีนับร้อย ตลอดจนเปิดสาขาทั่วโลกกว่า 145 ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา เอเชียกลางและแอฟริกา นสพ.Yeni Safak ของตุรกีได้ประเมินทรัพย์สินของกลุ่มนี้ว่ามีมูลค่ามหาศาลถึง 1.5 พันล้านดอลล่าร์ทีเดียว

นี่คือเรื่องจริงที่ไม่อิงนิยาย ของกลุ่มคิดมัต

อาศัยปีกอันกล้าแข็งอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคมการศึกษาและเศรษฐกิจ ชนิดที่องค์กรของรัฐ ก็ยังไม่สามารถทำดีได้เท่า กลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในกลไกรัฐอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง วงการตำรวจ การศึกษา ศาลยุติธรรม องค์กรสายลับข้ามชาติ และล่าสุดคือวงการทหาร

ถึงแม้ในช่วงแรกๆ กลุ่มคิดมัตจะเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา แต่ก็เป็นไปในลักษณะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยแลกกับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลและวงการราชการ ในขณะที่พรรคน้องใหม่อย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา ก็ยังมีความจำเป็นต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพาฐานคะแนนของกลุ่มคิดมัต เพื่อประกันถึงชัยชนะในการเลือกตั้ง จนกระทั่งในระยะหลังๆ ก็เริ่มเห็นรอยร้าวที่รัฐบาลมักโอดครวญว่ากลุ่มคิดมัต ได้ก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐบาลมากเกินไป โดยเฉพาะหลังโดนจับได้ว่า กลุ่มนี้พยายามลอบสังหารบุคคลสำคัญอย่างนายฮากาน ฟีดาน ผอ.ฝ่ายข่าวกรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ความขัดแย้งเรื่องคาราวานเรือมาวี มาร์มาร่า การประท้วงสวนเกซีที่ลงเอยด้วยการประท้วงเรื่องเหล้าเมื่อมีนาคม 2013 เหตุการณ์ปราบปรามคอร์รัปชั่นเมื่อปลายปี 2013 ที่รัฐบาลถือเป็น ความพยายามก่อปฏิวัติโดยใช้ผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือ และท้ายสุดเป็นการรัฐประหารเมื่อ 15/8/2016 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลรู้ดีว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ หาใช่ใครอื่น นอกจากกลุ่มคิดมัตของนายกุเลน

องค์กรคิดมัต ลับ ลวง พราง

ผลจาก “การปฏิวัติโดยผู้พิพากษา” ล้มเหลวเมื่อปลายปี 2013 และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ตามแผน รัฐบาลจึงเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวองค์กรนี้อย่างเข้มงวด มีการจับกุมและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ราชการหลายตำแหน่ง ถึงขนาดกุเลนต้องออกมาอ่านดุอากุนูต พร้อมสาปแช่งรัฐบาลตุรกีให้พังพินาศ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะในวงการทหารและศาลยุติธรรม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกวาดล้างกลุ่มคิดมัตได้อย่างสะดวก หนำซ้ำ ต้องมาสะดุดที่กระบวนยุติธรรม ที่มักผ่อนปรนและช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ให้ยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานอ่อน บางคนก็ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

แต่หลังจากรัฐประหารล้มเหลวที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้โอกาสครั้งใหญ่ในการสะสางเสี้ยนหนามทางการเมือง ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมจับกุมเจ้าหน้าที่ราชการระดับสูง ทั้งในวงการทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ บุคคลทางการศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนบรรดาผู้นำศาสนา ที่มีส่วนพัวพันกับกลุ่มคิดมัต กว่า 80,000 คนที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งแม่ทัพภาค 2,3,4 ผบ.ทหารอากาศและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ถือเป็นการจัด 5 ส.ครั้งยิ่งใหญ่ระดับประเทศในประวัติศาสตร์ตุรกี

นอกจากเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศแล้ว เหตุผลประการหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินการปราบปรามกลุ่มคิดมัตอย่างไม่เกรงใจ คือ กระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อกลุ่มคิดมัต ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ จากการที่เคยเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ที่สุดให้แก่พรรคยุติธรรมและพัฒนา ในการเลือกตั้งช่วงหลังนี้ พรรคคิดมัตสามารถสนับสนุนเพียง 500,000-1,000,000 เสียงเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมของกลุ่มคิดมัตได้เป็นอย่างดี

การเติบโตอันน่าพิศดารในระยะเวลาสั้นๆของกลุ่มคิดมัตนี้ มาจากนโยบายและมาตรการลับ ลวง พรางสุดยอดดังนี้

1. การทุจริตข้อสอบเข้าวิทยาลัยเตรียมทหารและสอบบรรจุข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ที่สมาชิกกลุ่มมักสอบติดเกือบ 100% ชนิดได้คะแนนเต็มอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงแม้อาจมีคดีร้องเรียนถึงขั้นขึ้นศาล สุดท้ายก็ต้องยกฟ้อง เข้าตำราเรียบร้อยโรงเรียนกุเลนไปทุกราย

2. สมาชิกกลุ่มคิดมัตสามารถไต่เต้ารับตำแหน่งระดับสูงในวงการทหาร ตำรวจ สันติบาล ผู้พิากษาและการศึกษา สมาชิกกลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในระบบราชการอย่างลับๆ ตลอดจนใช้ระบบบำเหน็จความดีความชอบโดยใช้หลัก ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร

3. ระบบการรักษาความลับสุดยอด ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับองค์กรลับมาโซนีหรือมอสส้าดของยิว รวมทั้งการเชื่อฟังผู้นำชนิดไม่อนุญาตต้องคิดต่อ หรือแม้กระทั่งสงสัย มาตรการลับ ลวง พรางถึงขั้นสามารถละหมาดได้เพียงใช้สัญลักษณ์ “กระพริบตา” และได้รับอนุญาตให้ดื่มเหล้าได้เพื่ออำพรางตัวตนที่แท้จริง จนกระทั่งในระหว่างนายทหารด้วยกัน ก็ยังไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าใครเป็นใคร ยกเว้นผู้นำระดับสูงที่คอยเป็นพี่เลี้ยงประจำตัวเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับผู้นำ เป็นไปในลักษณะ “รอยถักของเส้นด้าย ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนเดียว ไม่ใช่ระบบเครือข่ายตามธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรทั่วไป

ด้วยมาตรการเหล่านี้ กลุ่มคิดมัตจึงค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในหน่วยงานรัฐบาล พร้อมสถาปนารัฐลึกที่คอยบงการรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง

พวกเขาใช้วิธีการทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ การแบล็คเมล์ หักหลัง ลวงล่อหรือแม้กระทั่งลอบสังหาร ก็เป็นมาตรการที่จำเป็น หากสามารถบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ดังเหตุการณ์กลุ่ม Ergenakon ปี 2007 และ 2010 (กลุ่มทหารอำนาจมืดที่คอยปกป้องอุดมการณ์ของเคมาลิสต์) ที่โดนกลุ่มคิดมัตตลบหลังให้ก่อปฏิวัติ เมื่อความลับถูกเปิดเผย ทำให้ทหารชั้นผู้ใหญ่กลุ่มนี้ถูกขับออกจากราชการหลายตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสของทหารสายคิดมัตเข้ามาเสียบแทน

ประธาราธิบดีแอร์โดอาน ยังออกมา ยอมรับว่า ก่อนการปฏิวัติล้มเหลวครั้งล่าสุด ตนเองมีความยากลำบากมากที่จะโน้มน้าวแกนนำรัฐบาลบางคน ให้เขื่อว่ากลุ่มคิดมัตอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร และอะไรคือเหตุผลที่ตุรกี สามารถยืนยันว่ากลุ่มคิดมัตคือกลุ่มก่อการร้ายระดับสากล แต่เมื่อทุกอย่างปรากฎตัวอย่างเปิดเผย ทุกคนก็รู้ว่าอะไรคือความจริง

อัลลัยซ์ บินสะอัด กล่าวว่า

‎إذا رأيتم الرجل يمشي على الماء ويطير في الهواء فلا تغتروا به حتى تعرضوا أمره على الكتاب والسنة

เมื่อใดที่ท่านเห็นคนๆหนึ่งสามารถเดินเหินเหนือน้ำ และโบยบินกลางเวหา ท่านอย่างเพิ่งพิศวงกับคนๆ นั้น จนกว่าท่านจะนำพฤติกรรมและการปฏิบัติของเขา มาเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺก่อน

ตามทัศนะของคนบางคน กุเลนอาจเป็นคนวิเศษที่สามารถโบยบินและเดินย่ำบนผิวน้ำอย่างองอาจ ด้วยผลงานทั่วโลกราวปาฏิหารย์ พร้อมเสียงสรรเสริญยกย่องดุจผู้วิเศษที่ลงมาจากฟากฟ้า แต่เมื่อเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺแล้ว ผลงานล้นฟ้าทั้งมวล อาจกลายเป็นเศษธุลีที่ปลิวว่อนในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺเท่านั้น คือผู้ทรงรอบรู้

ที่มา
http://www.aljazeera.net/knowledgegate/opinions/2016/7/28/التنظيم-الموازي-في-تركيا-بين-الحقائق-والأساطير


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ตุรกี คือ หนึ่งในชาติผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน

“ประเทศที่ไร้ซึ่งพลังงาน จะมาอ้างว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมไม่ได้”

ประธานาธิบดีแอร์โดอาน แห่งประเทศตุรกี กล่าวปราศรัยผ่านการประชุมทางไกล (Video conference) ในโอกาสพิธีเปิดโรงไฟฟ้าระบบ hydroelectric แห่งใหม่ โดยท่านได้กล่าวว่า “ส่วนแบ่งที่ใหญ่ที่สุดของการลงทุนด้านพลังงานของเรา ปัจจุบันกำลังมุ่งสู่ภาคพลังงานทดแทน เรามองเห็นการใช้พลังงานทดแทนในทุกย่างก้าวของเรา และเราเป็นหนึ่งในชาติผู้นำด้านการใช้พลังงานทดแทน เรามีขีดความสามารถของการติดตั้งพลังงานทดแทนอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก และอันดับที่ 6 ของยุโรป”

ประธานาธิบดีแอร์โดอาน ยังได้กล่าวย้ำว่า สภาพแวดล้อมของความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่เกิดขึ้นจากการดิ้นรนต่อสู้และความเพียรพยายามที่ยิ่งใหญ่ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนด้านพลังงานเชิงบวก ท่านชวนให้นึกถึงการขุดเจาะในทะเลที่ตุรกีใช้เรือขุดเจาะที่ชื่อ Fatih และ Yavuz

ท่านกล่าวว่า “เราได้ขัดขวางเกมและกับดักที่ตั้งกับประเทศของเรา โดยเฉพาะในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก หลังจากเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เราได้ดำเนินการสำรวจและขุดเจาะในทะเลดำ หากไม่มีการเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากกฎหมายระหว่างประเทศ เราจะดำเนินงานของเราต่อไป”

“ประเทศที่ไร้ซึ่งพลังงาน จะมาอ้างว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมไม่ได้” ประธานาธิบดีแอร์โดอานกล่าวย้ำทิ้งท้าย


สรุปโดย ทีมงานต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิง
https://www.tccb.gov.tr/en/news/542/120576/-turkey-is-one-of-the-leading-countries-in-renewable-energy-

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกมาตรการเกณฑ์อนุญาตให้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้อย่างจำกัด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี : ซาอุดิอาระเบียไม่เคยลดละความพยายามในการเอื้ออำนวยบรรยากาศแห่งศรัทธาและแรงบันดาลใจตามเจตนารมณ์อิสลาม

ริยาด 08 ซุลเกาะดะฮ์ 1441(29/6/2020)

สำนักข่าวซาอุดิอาระเบีย WAS ระบุอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและประธานมูลนิธิมะดีนะตุสสลาม รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ยืนยันว่า มาตรการของซาอุดิอาระเบียที่อนุญาตให้ผู้ถือสัญชาติต่างๆที่พำนักในซาอุดิอาระเบียสามารถประกอบพิธีฮัจญ์ตามจำนวนที่จำกัด ถือเป็นมติที่มีความรอบคอบ และสุขุมคัมภีรภาพที่สุดที่คำนึงถึงความปลอดภัยของอาคันตุกะของพระผู้แห่งความเมตตา

ทั้งนี้เนื่องจากการทำฮัจญ์มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือความสามารถในการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์หลักของอิสลามที่คำนึงถึงความปลอดภัยของบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ช่วงเวลาที่พวกเขาใช้ชีวิตในแผ่นดินหะรอม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียไม่เคยลดละความพยายามที่จะเอื้ออำนวยบรรยากาศแห่งการศรัทธาและสันติสุข พร้อมร่วมขอพรให้ซาอุดิอาระเบียยืนหยัดบนหลักดุลยภาพแห่งอิสลามในการผดุงไว้ซึ่งสันติภาพสากลตลอดไป

รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประกาศปิดการทำอุมเราะฮ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และกระทรวงฮัจญ์ได้ประกาศกำหนดจำนวนผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ตามจำนวนที่จำกัดเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตโลกในปัจจุบัน

อ้างอิงจาก
https://www.spa.gov.sa/viewfullstory.php?lang=ar&newsid=2103462#2103462

ตุรกีจัดอบรมครูสอนอัลกุรอาน 132 คน ที่ซีเรีย

อย่ามองแค่สงคราม แต่จงมองให้ไกลว่า ผลของสงคราม เกิดอะไรขึ้น

องค์กรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตุรกี (IHH) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรครูสอนอัลกุอานจำนวน 132 คน ด้วยความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดชานลี โอร์ฟาแห่งตุรกี และการประสานงานจากสภาเทศบาลเมืองเราะสุลอัยน์ ซีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำยูเฟรทีส

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ผลิตครูสอนอันกุรอาน เพื่อสอนเยาวชนซีเรียตามสถาบันการสอนอัลกุรอานที่เปิดในเมืองเราะสุลอัยน์ ซีเรีย

แหล่งข่าวระบุว่า โครงการนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นตามคำดำริของประธานาธิบดีตุรกี นายแอร์โดอาน โดยที่องค์กร IHH ตุรกี ได้เปิดสถาบันสอนอัลกุรอานนำร่องในเมืองนี้แล้วจำนวน 2 แห่ง ทั้งนี้สภาเทศบาลเมืองเราะสุลอัยน์ได้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารและองค์กร IHH ได้สนับสนุนค่าอุปกรณ์และการบริหารจัดการ

ก่อนหน้านี้เมืองเราะสุลอัยน์ ถูกปกครองโดยกลุ่มก่อการร้าย PKK/PYD ซึ่งได้ปิดสถานเรียนอัลกุรอานและสั่งปิดโรงเรียนสอนศาสนาอีกหลายแห่ง แต่หลังจากแผนปฏิบัติการ “ต้นน้ำสันติภาพ” ที่นำโดยกองกำลังตุรกี ซึ่งได้ขับไล่กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับสู่สันติภาพอีกครั้ง


อ้างอิงจาก https://tr.agency/news-102865


สรุปโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ลิเบีย : จากสงครามกลางเมืองถึงสงครามตัวแทน

การลุกฮือของประชาชนในลิเบียจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ตามมาด้วยการแทรกแซงทางทหารของกองกำลังนาโต้ ได้ทำให้ระบอบกัดดาฟีที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษต้องจบสิ้นลง

แต่ผลที่ตามมาประการหนึ่งหลังจากนั้นคือการถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมายของกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์เป้าหมายแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่สังกัดกลุ่มชนเผ่าและวงศ์ตระกูลต่างๆ

นับรวม ๆ กันแล้วกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 100 ถึง 300 กลุ่ม โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ มากถึง 125,000 คน

ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนกลุ่มติดอาวุธก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลปี 2014 ปรากฏว่ามีกลุ่มติดอาวุธในลิเบียอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,600 กลุ่ม ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาและเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมแนวทางศาสนา

แต่กลุ่มติดอาวุธสำคัญ ๆ นั้นเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดซินตาน มิสราต้า เบงกาซี และตริโปลี

นับตั้งแต่ปี 2012 กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ (ที่บางครั้งก็ผนวกรวมหลายกลุ่มเข้าเป็นพันธมิตรกัน) ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยการสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองสำคัญฝ่ายต่าง ๆ การเข้าร่วมสังกัดพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะใช้ความสัมพันธ์ทางสายตระกูล ชนเผ่า ความรู้สึกภูมิภาคนิยม อุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์การเมืองเป็นเครื่องมือยึดโยงระหว่างกัน

ถึงอย่างนั้นกลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่หลังยุคกัดดาฟีก็ได้หลอมรวมเป็นพันธมิตรที่เข้าไปสังกัดกองทัพลิเบีย 2 หน่วยงานคือ กองกำลังป้องกันลิเบีย (Libya Shield Force) และกรรมาธิการความมั่นคงสูงสุด (Supreme Security Committee)

ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยงานความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยที่หน่วยงานแรกสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ขณะที่หน่วยงานหลังอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

แม้จะสังกัดกระทรวง แต่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอำนาจที่เป็นอิสระและเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก บางกลุ่มมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ บางกลุ่มเคลื่อนไหวให้ตนเองมีอำนาจทางการเมือง บางกลุ่มมีเป้าหมายระดับท้องถิ่น และบางกลุ่มก็มีเป้าหมายก่ออาชญากรรม

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่กองทัพลิเบียอ่อนแอไร้เอกภาพจึงทำให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอำนาจมากขึ้น อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบียเลวร้ายลง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กลุ่มติดอาวุธแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนสภาแห่งชาติลิเบีย (General National Congress: GNC) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตริโปลี โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางอิสลาม (ตอนหลังพัฒนาไปเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก)

ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองตับลู๊ก (Tobluk) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางเซคิวล่าร์ (พัฒนาไปเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภายหลัง)

สถานการณ์ความรุนแรงยิ่งเลวร้ายลงเมื่อแต่ละฝ่ายพยายามขอความช่วยเหลือจากตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวแสดงในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค เกิดเป็นสงครามตัวแทนในลิเบียที่ยากจะแก้ไขได้

ส่วนใครเป็นใครในสงครามตัวแทนนี้ ค่อยมาอธิบายขยายความกันอีกทีครับ

เครดิตภาพจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/01/eyes-berlin-world-powers-set-libya-talks-200118052038464.html

เขียนโดย Srawut Aree

ไฟแค้นที่ไม่มีวันดับมอด

ตุรกีประณามการก่อวินาศกรรมของระบอบการปกครองของซีเรียต่อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ

ยาวูซ ซาลิม กีรอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี แถลงผ่านทาง Twitter ประนามการก่อวินาศกรรมและขุดรื้อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ตั้งอยู่ในเขต มะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของจังหวัดอิดลิบ พร้อมกับภาพสุสานที่ถูกทำลาย

“เราขอประณามการโจมตีอย่างร้ายกาจโดยระบอบการปกครองของซีเรียและผู้สนับสนุนต่ออนุสรณ์สุหนี่และออตโตมันในภูมิภาค”

“ระบอบการปกครองของซีเรียแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพในคุณค่าทางจิตวิญญาณ”

การบันทึกวิดีโอของผู้สนับสนุนระบอบการปกครองซีเรียบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากอิหร่านได้ขุดสุสานคอลีฟะฮ์ที่ตั้งในหมู่บ้านเดรชัรกีย์ เมืองมะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของอิดลิบ

ทั้งนี้ กองกำลังของรัฐบาลซีเรียได้จุดไฟเผาพื้นที่รอบสุสานเมื่อพวกเขาได้เข้าควบคุมหมู่บ้านเดรชัรกีย์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งได้ทำให้สุสานประสบความเสียหาย

คอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ เป็นคอลีฟะฮ์ลำดับที่แปดในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ แม่ของท่านเป็นหลานของท่านอุมัร บินค๊อตตอบคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคุลาฟารอชีดีนลำดับที่ 5 จากการปกครองโดยยุติธรรมในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และ 5 เดือน

● คลิปสุสานคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ถูกขุดทำลาย
https://twitter.com/i/status/1265357310475501568

https://www.aa.com.tr/ar/1867052/علماء-المسلمين-يدين-نبش-ضريح-الخليفة-عمر-بن-عبدالعزيز/الدول-العربية

เขียนโดย Ghazali Benmad

เบื้องหลังเปิดเกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ ตุรกี

60 ปี ในอดีต ในวันที่ 27 พค. 1960 ทายาทเคมาลิสต์ได้ก่อรัฐประหารครั้งแรก และโค่นรัฐบาลอัดนาน มันเดรส ที่ชนะเลือกตั้ง 2 วาระซ้อน(10 ปี) ด้วยเหตุผลนำพาประเทศที่ปฏิปักษ์กับปรัชญาเคมาลิสต์และพยายามสร้างตุรกีเป็นรัฐศาสนา มันเดรสและรัฐมนตรีอีก 2 คน ถูกจับตัวและถูกขังที่เกาะ Yassiada เพื่อให้ห่างไกลจากผู้คน ต่อมา ในเดือนกันยายน 1961 พวกเขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

หนึ่งในความผิดพลาดอันร้ายแรงของมันเดรส ที่กลุ่มก่อรัฐประหารยัดเยียดคือ รัฐบาลแมนดาริสอนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถอะซานด้วยภาษาอาหรับ อนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถทำหัจญ์และประกอบพิธีทางศาสนาตามความเขื่อของตน

เกาะ Yassiada ถูกปล่อยร้างตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งปธน. แอร์โดอานดำริที่จะฟื้นฟูเกาะนี้อีกครั้ง โดยเริ่มพัฒนาจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ การก่อสร้างตามแผนพัฒนาเริ่มต้นในปี 2013

เมื่อวันที่ 27 พค. 2020 ซึ่งเป็นวันคล้าย 60 ปีแห่งรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตุรกียุคใหม่ ปธน. ตุรกี ได้เป็นประธานเปิดเกาะภายใต้ชื่อใหม่นี้อย่างเป็นทางการ

เกาะที่มีขนาดเพียง 0.05 ตร.กม. นี้ มีทั้งโรงแรมที่พัก อาคารประชุมสัมมนา ภัตตาคาร พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อัดนาน มันเดรส รวมทั้งมัสยิดขนาดความจุ 1,200 คน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชม. และกลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่หลังถูกทิ้งร้างนานถึง 26 ปี

บางตอนของคำกล่าวประธานาธิบดีแอร์โดอานในพิธีเปิด

– เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่เป็นเหตุการณ์อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ และบนเกาะแห่งนี้ได้เกิดอาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกีเช่นกัน
– สัญลักษณ์เดียวที่สำคัญที่สุดของผู้ก่อปฏิวัติในประเทศเราคือ ความเกลียดชังต่อประชาชนและประวัติศาสตร์ของเรา
– พวกเขาไม่ได้หวังทำลายบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่เป้าหมายเดียวของพวกเขาคือประชาชนชาวตุรกี ประวัติศาสตร์ อารยธรรมและการศรัทธาของชาวตุรกีต่างหาก
– อาชญากรที่ประหารท่านแมนดาริสและสหายของท่าน พวกเขาใช้ชีวิตด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังและโกรธแค้นจากประชาชนตลอดเวลา


ทั้งมันเดรสและคณะผู้ประหารได้ตายจากไปแล้ว แต่ที่ยังคงอยู่ตราบจนวันกิยามะฮ์คือความจริงและความเท็จ ความดีและความชั่วที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติไว

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

มนุษยธรรมต้องมาก่อน

รัฐบาลตุรกีส่งความช่วยเหลือครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่สหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบินประจำกองทัพอากาศตุรกีได้ลำเลียงความช่วยเหลือที่สนามบินกรุงวอชิงตัน

นายแอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า เราได้มอบความข่วยเหลือด้านการแพทย์ไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก จากประเทศบอลข่านไปถึงแอฟริกา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็นหน้าที่ของตุรกีที่จะต้องปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมครั้งนี้

สหรัฐอเมริกาโดนวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1.1 ล้าน คนตายดุจใบไม้ร่วงเกือบ 2 พันรายต่อวัน