ข่าว ข่าวต่างประเทศ

รัฐลึกตุรกี ความจริงหรืออิงนิยาย

หลังจากเกิดการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลตุรกี เมื่อค่ำ 15/8/2016 ผ่านไปไม่นานนัก แกนนำรัฐบาลได้พากันปรากฏตัวตามสื่อพร้อมยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้คือ กลุ่มรัฐลึก ที่มีกลุ่มทหารที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฟัตหุลลอฮฺ กุเลน นักการศาสนาที่พำนักในรัฐแพนซิลวิเนีย สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จนกระทั่งปัจจุบัน กล่าวกันว่า กลุ่มนี้มีเครือข่ายโยงใยในระบบและกลไกรัฐตุรกีอย่างลึกลับยิ่งกว่านวนิยาย

กลุ่มคิดมัต (Khidmat)

รัฐลึกเป็นศัพท์ทางการเมืองที่ถูกใช้ในตุรกี โดยมี กลุ่มคิดมัต ซึ่งเป็นองค์กรเปิดที่ก่อตั้งโดยบรรดาสานุศิษย์ของท่านสะอีด อันนูรซีย์ (มีชีวิตระหว่าง 1877-1960) แต่เนื่องจากบุคลิกและผลงานอันโดดเด่นของกุเลน ทำให้คิดมัตกลายเป็นที่รู้จักควบคู่กับกุเลน โดยเฉพาะหลังปี 1980

กุเลนที่ยึดปรัชญาวลีเด็ดของท่านสะอีด อันนูร์ซีย์ ที่เคยกล่าวว่า “ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้รอดพ้นจากชัยฏอนและการเมือง” เขาไม่เคยก่อตั้งพรรคการเมือง และมองว่าภาวะการไร้การศึกษา ความแตกแยกและความโง่เขลาคือโรคร้าย 3 เส้าที่กัดกร่อนสังคมมุสลิม ที่จำเป็นต้องเยียวยาอย่างเร่งด่วน เขาจึงใช้กลุ่มคิดมัต เป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับทางการศึกษา โดยเน้นการบริการด้านการศึกษาและพัฒนาสังคม มีการสานเสวนาระหว่างศาสนาจนกลายเป็นต้นแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระดับโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มนี้ได้เปลี่ยนโฉมกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของตุรกี มีธนาคารในเครือหลายแห่ง มีสำนักข่าวและสำนักพิมพ์หลายแห่ง ในจำนวนนี้ คือนสพ.Zaman ทั้งภาษาตุรกี อาหรับและอังกฤษ เฉพาะภาคภาษาตุรกีนสพ.ฉบับนี้มียอดจำหน่ายรายวันมากกว่า 1 ล้านฉบับ

นอกจากนี้กลุ่มคิดมัต ได้สร้างมหาวิทยาลัยในตุรกีจำนวน 17 แห่ง เปิดสถาบันวากัฟ 96 แห่ง เปิดสาขาองค์กรทั่วตุรกีกว่า 900 สาขา เปิดโรงเรียนทั่วตุรกีนับร้อย ตลอดจนเปิดสาขาทั่วโลกกว่า 145 ประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา เอเชียกลางและแอฟริกา นสพ.Yeni Safak ของตุรกีได้ประเมินทรัพย์สินของกลุ่มนี้ว่ามีมูลค่ามหาศาลถึง 1.5 พันล้านดอลล่าร์ทีเดียว

นี่คือเรื่องจริงที่ไม่อิงนิยาย ของกลุ่มคิดมัต

อาศัยปีกอันกล้าแข็งอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านสังคมการศึกษาและเศรษฐกิจ ชนิดที่องค์กรของรัฐ ก็ยังไม่สามารถทำดีได้เท่า กลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในกลไกรัฐอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคง วงการตำรวจ การศึกษา ศาลยุติธรรม องค์กรสายลับข้ามชาติ และล่าสุดคือวงการทหาร

ถึงแม้ในช่วงแรกๆ กลุ่มคิดมัตจะเป็นหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกับแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา แต่ก็เป็นไปในลักษณะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน โดยแลกกับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลและวงการราชการ ในขณะที่พรรคน้องใหม่อย่างพรรคยุติธรรมและพัฒนา ก็ยังมีความจำเป็นต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยพึ่งพาฐานคะแนนของกลุ่มคิดมัต เพื่อประกันถึงชัยชนะในการเลือกตั้ง จนกระทั่งในระยะหลังๆ ก็เริ่มเห็นรอยร้าวที่รัฐบาลมักโอดครวญว่ากลุ่มคิดมัต ได้ก้าวก่ายกิจการภายในของรัฐบาลมากเกินไป โดยเฉพาะหลังโดนจับได้ว่า กลุ่มนี้พยายามลอบสังหารบุคคลสำคัญอย่างนายฮากาน ฟีดาน ผอ.ฝ่ายข่าวกรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ความขัดแย้งเรื่องคาราวานเรือมาวี มาร์มาร่า การประท้วงสวนเกซีที่ลงเอยด้วยการประท้วงเรื่องเหล้าเมื่อมีนาคม 2013 เหตุการณ์ปราบปรามคอร์รัปชั่นเมื่อปลายปี 2013 ที่รัฐบาลถือเป็น ความพยายามก่อปฏิวัติโดยใช้ผู้พิพากษาเป็นเครื่องมือ และท้ายสุดเป็นการรัฐประหารเมื่อ 15/8/2016 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลรู้ดีว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ หาใช่ใครอื่น นอกจากกลุ่มคิดมัตของนายกุเลน

องค์กรคิดมัต ลับ ลวง พราง

ผลจาก “การปฏิวัติโดยผู้พิพากษา” ล้มเหลวเมื่อปลายปี 2013 และไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ตามแผน รัฐบาลจึงเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวองค์กรนี้อย่างเข้มงวด มีการจับกุมและโยกย้ายเจ้าหน้าที่ราชการหลายตำแหน่ง ถึงขนาดกุเลนต้องออกมาอ่านดุอากุนูต พร้อมสาปแช่งรัฐบาลตุรกีให้พังพินาศ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะในวงการทหารและศาลยุติธรรม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถกวาดล้างกลุ่มคิดมัตได้อย่างสะดวก หนำซ้ำ ต้องมาสะดุดที่กระบวนยุติธรรม ที่มักผ่อนปรนและช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ให้ยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานอ่อน บางคนก็ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ

แต่หลังจากรัฐประหารล้มเหลวที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้โอกาสครั้งใหญ่ในการสะสางเสี้ยนหนามทางการเมือง ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมจับกุมเจ้าหน้าที่ราชการระดับสูง ทั้งในวงการทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ บุคคลทางการศึกษาและนักวิชาการ ตลอดจนบรรดาผู้นำศาสนา ที่มีส่วนพัวพันกับกลุ่มคิดมัต กว่า 80,000 คนที่ถูกควบคุมตัว รวมทั้งแม่ทัพภาค 2,3,4 ผบ.ทหารอากาศและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ถือเป็นการจัด 5 ส.ครั้งยิ่งใหญ่ระดับประเทศในประวัติศาสตร์ตุรกี

นอกจากเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศแล้ว เหตุผลประการหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินการปราบปรามกลุ่มคิดมัตอย่างไม่เกรงใจ คือ กระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อกลุ่มคิดมัต ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ จากการที่เคยเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ที่สุดให้แก่พรรคยุติธรรมและพัฒนา ในการเลือกตั้งช่วงหลังนี้ พรรคคิดมัตสามารถสนับสนุนเพียง 500,000-1,000,000 เสียงเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยมของกลุ่มคิดมัตได้เป็นอย่างดี

การเติบโตอันน่าพิศดารในระยะเวลาสั้นๆของกลุ่มคิดมัตนี้ มาจากนโยบายและมาตรการลับ ลวง พรางสุดยอดดังนี้

1. การทุจริตข้อสอบเข้าวิทยาลัยเตรียมทหารและสอบบรรจุข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา ที่สมาชิกกลุ่มมักสอบติดเกือบ 100% ชนิดได้คะแนนเต็มอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ถึงแม้อาจมีคดีร้องเรียนถึงขั้นขึ้นศาล สุดท้ายก็ต้องยกฟ้อง เข้าตำราเรียบร้อยโรงเรียนกุเลนไปทุกราย

2. สมาชิกกลุ่มคิดมัตสามารถไต่เต้ารับตำแหน่งระดับสูงในวงการทหาร ตำรวจ สันติบาล ผู้พิากษาและการศึกษา สมาชิกกลุ่มคิดมัตจึงแทรกซึมเข้าไปในระบบราชการอย่างลับๆ ตลอดจนใช้ระบบบำเหน็จความดีความชอบโดยใช้หลัก ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร

3. ระบบการรักษาความลับสุดยอด ที่ละม้ายคล้ายคลึงกับองค์กรลับมาโซนีหรือมอสส้าดของยิว รวมทั้งการเชื่อฟังผู้นำชนิดไม่อนุญาตต้องคิดต่อ หรือแม้กระทั่งสงสัย มาตรการลับ ลวง พรางถึงขั้นสามารถละหมาดได้เพียงใช้สัญลักษณ์ “กระพริบตา” และได้รับอนุญาตให้ดื่มเหล้าได้เพื่ออำพรางตัวตนที่แท้จริง จนกระทั่งในระหว่างนายทหารด้วยกัน ก็ยังไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าใครเป็นใคร ยกเว้นผู้นำระดับสูงที่คอยเป็นพี่เลี้ยงประจำตัวเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับผู้นำ เป็นไปในลักษณะ “รอยถักของเส้นด้าย ที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนเดียว ไม่ใช่ระบบเครือข่ายตามธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กรทั่วไป

ด้วยมาตรการเหล่านี้ กลุ่มคิดมัตจึงค่อยๆแทรกซึมเข้าไปในหน่วยงานรัฐบาล พร้อมสถาปนารัฐลึกที่คอยบงการรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง

พวกเขาใช้วิธีการทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ การแบล็คเมล์ หักหลัง ลวงล่อหรือแม้กระทั่งลอบสังหาร ก็เป็นมาตรการที่จำเป็น หากสามารถบรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ดังเหตุการณ์กลุ่ม Ergenakon ปี 2007 และ 2010 (กลุ่มทหารอำนาจมืดที่คอยปกป้องอุดมการณ์ของเคมาลิสต์) ที่โดนกลุ่มคิดมัตตลบหลังให้ก่อปฏิวัติ เมื่อความลับถูกเปิดเผย ทำให้ทหารชั้นผู้ใหญ่กลุ่มนี้ถูกขับออกจากราชการหลายตำแหน่ง จึงเป็นโอกาสของทหารสายคิดมัตเข้ามาเสียบแทน

ประธาราธิบดีแอร์โดอาน ยังออกมา ยอมรับว่า ก่อนการปฏิวัติล้มเหลวครั้งล่าสุด ตนเองมีความยากลำบากมากที่จะโน้มน้าวแกนนำรัฐบาลบางคน ให้เขื่อว่ากลุ่มคิดมัตอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร และอะไรคือเหตุผลที่ตุรกี สามารถยืนยันว่ากลุ่มคิดมัตคือกลุ่มก่อการร้ายระดับสากล แต่เมื่อทุกอย่างปรากฎตัวอย่างเปิดเผย ทุกคนก็รู้ว่าอะไรคือความจริง

อัลลัยซ์ บินสะอัด กล่าวว่า

‎إذا رأيتم الرجل يمشي على الماء ويطير في الهواء فلا تغتروا به حتى تعرضوا أمره على الكتاب والسنة

เมื่อใดที่ท่านเห็นคนๆหนึ่งสามารถเดินเหินเหนือน้ำ และโบยบินกลางเวหา ท่านอย่างเพิ่งพิศวงกับคนๆ นั้น จนกว่าท่านจะนำพฤติกรรมและการปฏิบัติของเขา มาเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺก่อน

ตามทัศนะของคนบางคน กุเลนอาจเป็นคนวิเศษที่สามารถโบยบินและเดินย่ำบนผิวน้ำอย่างองอาจ ด้วยผลงานทั่วโลกราวปาฏิหารย์ พร้อมเสียงสรรเสริญยกย่องดุจผู้วิเศษที่ลงมาจากฟากฟ้า แต่เมื่อเทียบเคียงกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺแล้ว ผลงานล้นฟ้าทั้งมวล อาจกลายเป็นเศษธุลีที่ปลิวว่อนในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺเท่านั้น คือผู้ทรงรอบรู้

ที่มา
http://www.aljazeera.net/knowledgegate/opinions/2016/7/28/التنظيم-الموازي-في-تركيا-بين-الحقائق-والأساطير


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ