การสร้างจิตสำนึกต่อสังคม

قال رجلٌ: يا رَسولَ اللهِ، إنَّ فُلانةَ يُذكَرُ مِن كَثرةِ صَلاتِها وصَدقَتِها وصيامِها، غيرَ أنَّها تُؤذي جيرانَها بِلِسانِها؟ قال: هيَ في النَّارِ، قال: يا رَسولَ اللهِ، فإنَّ فُلانةَ يُذكَرُ مِن قِلَّةِ صيامِها وصَدقَتِها وصَلاتِها، وإنَّها تَتَصدَّقُ بالأَثوارِ مِن الأَقِطِ، وَلا تُؤذي جيرانَها بِلسانِها؟ قال: هيَ في الجنَّةِ.

الراوي : أبو هريرة | المحدث : الألباني | المصدر : صحيح الترغيب

الصفحة أو الرقم: 2560 | خلاصة حكم المحدث : صحيح |

ความว่า :

ชายคนหนึ่งถามเราะซูลุลลอฮ์ว่า สตรีนางหนึ่งได้รับการกล่าวขานว่านางละหมาด ถือศีลอดและบริจาคทานเป็นจำนวนมาก เพียงแต่นางชอบทำร้ายเพื่อนบ้านของนางด้วยวาจา นบีจึงตอบว่า นางอยู่ในนรก ชายคนนั้นถามเราะซูลุลลอฮ์อีกว่า สตรีอีกนางหนึ่งได้รับการกล่าวขานว่านางละหมาด ถือศีลอดและบริจาคทานเป็นจำนวนน้อยนิด แต่นางไม่เคยทำร้ายเพื่อนบ้านของนางด้วยวาจาเลย นบีจึงตอบว่า นางอยู่ในสวรรค์

ข้อคิดจากหะดีษ

          1.       อันตรายของการสร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นด้วยวาจา

          2.       การที่คนๆหนึ่งชอบละหมาด ถือศีลอดและบริจาคทานเป็นสรณะ ไม่สามารถการันตีได้ว่า คนๆนั้นมีมารยาทดีเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องการใช้วาจา ตราบใดที่เขาไม่สามารถซึมซับและประยุกต์ใช้ปรัชญาความดีเหล่านั้นในภาคปฏิบัติ

          3.       ภาพรวมของสตรีต่อการใช้ลิ้นและการปฏิบัติต่อเพื่อนบ้าน

          4.       การรู้จักรักษาความดีงาม มิให้ถูกทำลายด้วยพฤติกรรมเชิงลบของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่ง การทำความดีเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการรู้จักทะนุถนอมความดีมิให้สูญเปล่า

          5.       ความสัมพันธ์ระหว่างการทำอิบาดะฮ์ส่วนตัวกับจิตสาธารณะ

          6.       ความสำคัญของการปลูกฝังจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม การไม่สร้างความเดือดร้อนแก่สังคมรอบข้าง ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการละหมาดสุนัต การถือศีลอดสุนัต และการบริจาคทานสุนัตด้วยซ้ำ

          7.       ความสมบูรณ์ของอิสลามระหว่างความดีในระดับปัจเจกบุคคล กับผลกระทบระดับสาธารณะ

          8.       อิสลามปฏิเสธการสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่ม ต้นเหตุหรือการตอบโต้


โดย Mazlan Muhammad

เส้นทางสองเส้น

ผิดแล้วเตาบัตที่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ประการคือตัดใจ เสียใจและตั้งใจไม่หวนทำอีก อันนี้คือปกติวิสัยของศรัทธาชน แม้กระทั่งนบีอาดัม ก็เคยประสบกับตนเองมาแล้ว ท่านและภรรยา จึงกล่าวประโยคทองที่เป็นอุทาหรณ์แก่ลูกหลานกล่าวเป็นแบบอย่าง ซึ่งถูกจารึกในอัลกุรอาน ว่า

 قَالَا رَبّنَا ظَلَمْنَا أَنْفُسنَا وَإِنْ لَمْ تَغْفِر لَنَا وَتَرْحَمنَا لَنَكُونَنَّ مِنْ الْخَاسِرِينَ

-الأعراف/٢٣

ทั้งนบีอาดัมและนางฮาวา จึงกลับไปสู่สวรรค์อันสุขสถาพรนิรันดร์กาล

แต่หากกระทำผิดด้วยความดื้อดึง ขัดขืน ไม่เชื่อฟัง แถมภูมิใจกับการกระทำของตน ไม่สำนึกผิด กล่าวโทษคนอื่น แค้นเคือง ไฟสุมอก มองโลกในแง่ร้าย หมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์ พร้อมเผยแพร่ความผิดของตนไปยังผู้อื่น อันนี้คือมรดกบาปของอิบลีสที่ถูกสาปแช่งและโดนขับไล่ไสส่งออกจากสวรรค์พร้อมๆกับความโกรธกริ้วของพระองค์มาแล้ว

อิบลีสและพลพรรค จึงถูกทรมานในนรกชั่วกัลป์

จะนำบทเรียนของนบีอาดัมและนางฮาวา

หรือจะสานต่อมรดกบาปของอิบลีสที่ถูกสาปแช่ง

#เลือกเอาเองครับ


โดย Mazlan Muhammad

บุคคล 3 ประเภทที่เข้านรกก่อนเพื่อน

เราควรให้ความสำคัญกับการทำงานของหัวใจมากกว่าอวัยวะภายนอก

การทำงานของหัวใจ ณ ที่นี้หมายถึงการรักษาความรู้สึกให้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่ออัลลอฮฺเท่านั้น มีความบริสุทธิ์ใจ ไม่โอ้อวด หรือต้องการเสียงชื่นชมเยินยอ

การทำงานของคนๆหนึ่งที่ปราศจากความบริสุทธิ์ใจ นอกจากไม่มีคุณค่าใดๆ ณ อัลลอฮฺแล้ว ยังเป็นสาเหตุของการทรมานในนรกอีกด้วย ถึงแม้เขาจะฝากผลงานที่ยิ่งใหญ่สักปานใดก็ตาม

พี่น้องลองศึกษาหะดีษนี้ดูครับ

(คณะบุคคลชุดแรกที่เข้านรก (นะอูซุบิลลิฮฺมินซาลิก

นักกอรีอ่านอัลกุรอาน –

 ผู้บริจาคทาน –

ผู้เสียชีวิตเนื่องจากต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ –

إن الله إذا كان يوم القيامة ينزل إلى العباد ليقضي بينهم , وكل أمة جاثية , فأول من يدعو به رجل جمع القرآن , ورجل قتل في سبيل الله , ورجل كثير المال,فيقول الله للقارىء : ألم أعلمك ما أنزلت على رسولي قال : بلى يا رب قال : فماذا عملت فيما علمت ؟ قال : كنت أقوم به آناء الليل وآناء النهار , فيقول الله له : كذبت , وتقول له الملائكة : كذبت , ويقول الله له : بل أردت أن يقال فلان قارىء , فقد قيل ذلك . ويؤتى بصاحب المال فيقول الله له : ألم أوسع عليك حتى لم أدعك تحتاج إلى أحد ؟ قال : بلى يا رب , قال : فماذا عملت فيما آتيتك ؟ قال : كنت أصل الرحم , وأتصدق , فيقول الله له : كذبت , وتقول الملائكة : كذبت , ويقول الله : بل أردت أن يقال : فلان جواد , فقد قيل ذلك , ويؤتى بالذي قتل في سبيل الله فيقول الله : فيماذا قتلت ؟ فيقول : أمرت بالجهاد في سبيلك فقاتلت حتى قتلت , فيقول الله له : كذبت , وتقول الملائكة : كذبت , ويقول الله : بل أردت أن يقال فلان جريء , فقد قيل ذلك . يا أبا هريرة أولئك الثلاثة أول خلق الله تسعر بهم النار يوم القيامة .

الراوي: أبو هريرة المحدث: الألباني  – المصدر: صحيح الجامع – الصفحة أو الرقم: 1713

خلاصة حكم المحدث: صحيح

เมื่อถึงวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺจะลงมายังมวลมนุษย์เพื่อตัดสินความ และกลุ่มชนทุกชาติอยู่ในสภาพคุกเข่า คนแรกที่ถูกเรียกคือ1) คนที่รวบรวมศึกษาอัลกุรอาน 2) คนที่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ 3) คนที่มีทรัพย์สินมากมาย อัลลอฮฺกล่าวแก่คนอ่านอัลกุรอานว่า ข้าได้สอนเจ้าเกี่ยวกับอัลกุรอานที่ข้าได้ประทานแก่เราะซูลของข้าใช่ไหม ชายคนนั้นตอบว่าใช่ อัลลอฮฺถามต่อว่า แล้วเจ้าปฏิบัติตามที่เจ้าได้เรียนรู้อย่างไรบ้าง ชายคนนั้นตอบว่า ฉันอ่านอัลกุรอานในละหมาดทั้งกลางวันและกลางคืน อัลลอฮฺกล่าวว่า เจ้าโกหก มะลาอิกะฮฺก็กล่าวแก่ชายคนนั้นเช่นกันว่า เจ้าโกหก อัลลอฮฺกล่าวว่าความจริงแล้วเจ้าอยากให้คนอื่นชื่นชมเจ้าว่าเป็นบุคคลที่อ่านอัลกุรอานได้ไพเราะดี และเจ้าก็ถูกกล่าวแล้ว  จากนั้นชายที่มีทรัพย์สินมากมายก็ถูกเรียก อัลลอฮฺถามเขาว่า ข้าได้ทำให้เจ้าอยู่กินอย่างสบายและเจ้าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใดทั้งสิ้นใช่หรือไม่ ชายคนนั้นตอบว่าใช่ อัลลอฮฺถามว่าแล้วเจ้าไปทำอะไรกับทรัพย์สมบัติเหล่านั้น ชายคนนั้นตอบว่าฉันได้สานสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติและบริจาคทาน อัลลอฮฺกล่าวว่า เจ้าโกหก บรรดามะลาอิกะฮฺก็กล่าวว่า เจ้าโกหก อัลลอฮฺกล่าวว่าความจริงแล้วเจ้าประสงค์ให้คนอื่นชื่นชมเจ้าว่าเป็นคนใจบุญ ชอบทำกุศลทาน และเจ้าได้ถูกเรียกเช่นนั้นแล้ว  จากนั้นชายที่เสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺก็ถูกเรียก และอัลลอฮฺถามเขาว่าเจ้าเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร ชายคนนั้นตอบว่า ฉันได้รับคำสั่งให้ต่อสู้ในหนทางของพระองค์ ฉันจึงได้ต่อสู้จนกระทั่งฉันถูกฆ่าเสียชีวิต อัลลอฮฺกล่าวว่า เจ้าโกหก บรรดามะลาอิกะฮฺกล่าวว่า เจ้าโกหก อัลลอฮฺกล่าวว่า ความจริงแล้วเจ้าประสงค์ให้ผู้คนกล่าวชื่นชมเจ้าว่าเป็นคนกล้าหาญ และเจ้าถูกเรียกเช่นนั้นแล้ว (นบีกล่าวว่า)โอ้อะบูฮูร็อยเราะฮฺ บุคคลสามประเภทนี้คือกลุ่มคนชุดแรกที่ถูกไฟนรกเผาผลาญในวันกิยามะฮฺ


โดย Mazlan Muhammad

อิสลามบูรณาการ

บางคนระวังตัวว่าจะบังเอิญกลืนกินน้ำลงไปในลำคอหยดสองหยด กลัวจะทำให้เสียศีลอด 

แต่กลับไม่กลัวการกลืนกินสิทธิประโยชน์ของผู้อื่น  ที่จะทำให้โลกหน้าของตนเองเสียหาย”

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี


แปลโดย Ghazali Benmad

ปรัชญามะพร้าว

1.มะพร้าว ตกจากที่สูง ไม่เเตก เพราะมีเปลือกหนาห่อหุ้มไว้ ดุจคนดีมีศีลธรรม เเม้คราวตกต่ำก็ไม่ทิ้งความดี มีเกราะหนาคอยคุ้มครองนั่นคือความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์

   

2. มะพร้าวมีน้ำได้ด้วยตนเอง ไม่มีใครตักน้ำใส่ ดุจคนผู้ใฝ่ดี แสวงหาความดี ทำดีได้ด้วยตนเอง เเต่ก็น้อมรับคำชี้เเนะของคนอื่นเสมอ

   

3. มะพร้าวตกน้ำไม่จมน้ำ ลอยน้ำได้ ดุจคนดีเเม้พลาดพลั้งในชีวิต ก็สามารถประคองชีวิตได้ ไม่จมอยู่กับความผิดพลาด นำพาตัวเองจากวิกฤตสู่โอกาสเสมอ

  

4.มะพร้าว จมดินโคลนที่สกปรกสามารถเติบโตงอกเงยได้ ดั่งคนดีเเม้เกิดในตระกูลต่ำ ยากลำบาก ก็ยังสามารถเติบโตก้าวหน้าเป็นคนดีในสังคม ยกฐานะทางสังคมของตนได้

         

5.      ทุกส่วนของต้นมะพร้าว ล้วนมีประโยชน์ ทั้งลำต้น ผล ใบ ก้าน กาบ ทาง น้ำ กะทิ เนื้อแม้กระทั่งกากมะพร้าว ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์เรืองปัญญาให้ยึดปรัชญามะพร้าวในการดำเนินชีวิตให้เป็นคนที่สร้างประโยชน์แก่สังคมในทุกภาคส่วนทั้งความรู้ ประสบการณ์ ทรัพย์สิน ลาภยศ ชื่อเสียง และมิตรสหายเป็นต้น


โดย Mazlan Muhammad

ทักษะการใช้ความนิ่งในอิสลาม

หากการนิ่งเงียบหรือไม่ตอบโต้ ถือเป็นการพ่ายแพ้หรือจนตรอก การดะวะฮฺของนบีก็คงพ่ายแพ้หรือประสบภาวะจนตรอก نعوذ بالله من ذلك   เพราะอัลกุรอานสอนเราหันหลังให้กับคนโง่เขลา และหะดีษสอนเราให้พูดแต่ความดี หรือไม่ก็นิ่งเสีย ดังนั้นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานอิสลามคือนิ่งกับบททดสอบหรือเรื่องที่ไร้สาระ แต่ต้องเคลื่อนไหวทำงานดะอฺวะฮฺอย่างต่อเนื่อง อย่าแสดงกริยาก้าวร้าว ใช้วาจาสามหาว

เพราะปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่หากมนุษย์พูดกับก้อนหินว่า : จงเป็นมนุษย์เถอะ

ก้อนหินคงตอบว่า : ขอโทษ ฉันยังไม่แข็ง(กร้าว)พอเท่าคุณ


โดย Mazlan Muhammad

เป้าหมายของนาศีฮัต

นะศีฮัต มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับว่า نصح ซึ่งมีความหมายว่าความบริสุทธิ์ ความใสสะอาด ไร้สิ่งเจือปนใดๆ เหมือนคนที่กรองน้ำผึ้งให้ใสสะอาดอย่างหมดจดพร้อมทานได้ไร้กังวล

ดังนั้น นะศีฮัต จึงต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือความบริสุทธิ์ทั้งเป้าหมายและวิธีการ ใสสะอาดทั้งกาย ใจ วาจาและกริยาท่าทาง ผู้ที่ให้นะศีฮัตจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่า เขาเพียงทำหน้าที่นำเสนอสิ่งดีๆเท่านั้น ส่วนผลจะเป็นประการใด ก็เป็นการตัดสินของอัลลอฮ์ ผู้ให้นะศีฮัตจึงไม่มีวันที่จะรู้สึกเครียดหรือว้าวุ่นใจ จะไม่คล้อยตามอารมณ์อันแปรปรวนของผู้ถูกนะศีฮัตและคนรอบข้าง เพราะเขารู้ดีว่า เขาไม่มีอำนาจใดๆที่จะไปบีบบังคับให้ผู้คนทำตามคำพูดของเขา นอกจากด้วยเตาฟิกจากพระองค์เท่านั้น ดังที่พระองค์กล่าวว่า

لَّسْتَ عَلَيْهِم بِمُصَيْطِرٍ (الغاشية/٢٢)

“เจ้าไม่ได้มีหน้าที่บังคับพวกเขา(ให้ทำตามและเชื่อศรัทธาตามคำสอนของเจ้า)”

نَّحْنُ أَعْلَمُ بِمَا يَقُولُونَ ۖ وَمَا أَنتَ عَلَيْهِم بِجَبَّارٍ ۖ فَذَكِّرْ بِالْقُرْآنِ مَن يَخَافُ وَعِيدِ (ق /٤٥)

“เรารู้ดียิ่งถึงสิ่งที่พวกเขากล่าว และเจ้ามิได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา ดังนั้นเจ้าจงตักเตือนด้วยอัลกุรอ่านนี้แก่ผู้กลัวต่อสัญญาร้ายของข้า”

หากองค์ประกอบที่สำคัญนี้มีความบกพร่องหรือมีสิ่งอื่นเจือปน มันจะแปรเปลี่ยนจากนะศีฮัตเป็นการโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง ต้องการเอาชนะคะคานไม่จบสิ้น แถมด้วยการด่าทอ เสียดสี การดูถูก จาบจ้วง ตั้งฉายาที่มีเจตนาดูหมิ่นดูแคลน

ผู้ให้คำนะศีฮัต มักจะอ้างว่าทำเพื่ออัลลอฮ์และรอซูล แต่เขาพึงสังวรณ์ว่า อัลลอฮ์ ไม่ได้สั่งใช้ในสิ่งที่เป็นความยุติธรรมและเอี้ยะห์ซาน(ทำดี)เท่านั้น แต่พระองค์ยังห้ามปรามสิ่งลามกและมุนกัร(ความชั่วร้าย)อีกด้วย

ในขณะที่นบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้กล่าวว่า

إنِّي لَمْ أُبْعَثْ لَعَّانًا، وإنَّما بُعِثْتُ رَحْمَةً (صحيح مسلم/٢٥٩٩)

“แท้จริงฉันไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อสาปแช่งทว่าเพื่อประทานความปรานี”

إِنَّ اللَّعَّانِين لا يَكُونُونَ شُفَعَاءَ وَلا شُهَداءَ يَوْمَ القِيَامةِ ( صحيح مسلم/٢٥٩٨)

แท้จริงผู้ด่าทอไม่สามารถเป็นผู้ประกันตนให้ผู้อื่นและไม่สามารถเป็นสักขีพยานในวันกิยามะฮ์

سِبَابُ المُسْلِمِ فُسُوقٌ، وقِتَالُهُ كُفْرٌ ( صحيح البخاري/٤٨ ومسلم/٦٤)

การด่าทอมุสลิมด้วยกันถือเป็นการทำบาป (ฟาสิก)และการสังหารมุสลิมเป็นการกระทำของผู้ปฏิเสธ(กุฟุร์)

ผู้นาศีฮัตทุกท่าน ลองเอาวิธีการ แนวทาง คำพูดคำจา การโต้ตอบและการถกเถียงของเขา แล้วนำไปเทียบเคียงกับคำสอนของอัลลอฮ์ว่า นาศีฮัตของเขาเป็นที่พอใจของอัลลอฮ์มากน้อยแค่ไหน

หรือให้เขาลองจินตนาการดูว่า หากนบี صلى الله عليه وسلم ได้ยิน ได้อ่านเนื้อหาคำนาศีฮัตของเขา ถามว่านบีจะภูมิใจและดีใจหรือไม่

หากบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ชาวสะลัฟศอลิห์และบรรดาอิมามมัซฮับต่างๆได้ยินการแลกเปลี่ยนและการสนทนาของผู้ให้นะศีฮัต พวกเขาจะยกนิ้วโป้งพร้อมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละใช่เลย บ้างหรือเปล่า

หรือแม้กระทั่งบรรดาผู้รู้ในปัจจุบัน มีใครบ้างที่เห็นดีเห็นงามกับวิธีการของผู้นะศีฮัต ถามว่าผู้นะศีฮัตเคยไปขอคำแนะนำวิธีนะศีฮัตจากผู้รู้จริงมากน้อยแค่ไหน และได้รับคำแนะนำอย่างไรบ้าง

หาไม่แล้ว ผู้ให้นะศีฮัตนั่นแหละ คือบุคคลที่จะต้องรับนะศีฮัตแทน

#หาใช่ใครอื่น

أُبَلِّغُكُمْ رِسَالَاتِ رَبِّي وَأَنَا لَكُمْ نَاصِحٌ أَمِينٌ ( الأعراف / 68)


โดย Mazlan Muhammad

กลลวงแก๊งมิจฉาชน

1 ในยุทธวิธีแก๊งแชร์ลูกโซ่คือ เกาะกระแสผู้มีชื่อเสียงด้านต่างๆ เพื่อสร้างราคาให้แก๊งตัวเองมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น บางครั้งตั้งเป็นที่ปรึกษา บางครั้งเชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิดตัว บางครั้งถ่ายรูปคู่เพื่อแสดงความสนิทสนม บางครั้งหลงกลถูกดึงเข้าลงทุนด้วยการรับส่วนแบ่งผลกำไรอย่างงาม

 และ 1 ในกลุ่มผู้มีชื่อเสียงที่มักถูกเทียบเชิญเพื่อฟอกตัวแก๊งนี้คือบรรดาอุสต้าซ โต๊ะครู โต๊ะอิมาม โต๊ะฮัจญี บาบอหรือมามาทั้งหลาย

จึงขอเตือนไปยังอุสต้าซ โต๊ะครู โต๊ะอิมาม บาบอหรือมามาทั้งหลายว่า หากมีคนมาชี้ชวนลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจบาปนี้ ขอให้ท่านดูตาม้าตาเรือบ้าง รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของแก๊งหลอกลวงบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน อย่าเป็นคนตื้นเขิน เบาปัญญา ไร้เดียงสา ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาว รับทรัพย์โดยไม่รู้ที่มาที่ไปเข้าตำรา 5 D ( Duduk Diam-Diam Dapat Duit)

ในวันแห่งการไต่สวน ท่านจะตอบว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ผมแค่รับเงินอย่างเดียวเท่านั้น

แค่เหตุผลตื้นๆ แค่นี้ อัลลอฮ์จะให้อภัยหรือ


โดย Mazlan Muhammad

สัญญาณผู้มีโรคทางใจ

บรรดาผู้มีโรคทางใจมักจะไม่สนใจเรื่องสุขภาพของผู้เจ็บป่วย ยกเว้นในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

พวกเขาไม่เคยใส่ใจเรื่องการคุ้มครองชีวิตสัตว์ ยกเว้นช่วงอิดิลอัฎฮา

พวกเขาไม่เคยแตะต้องเรื่องสิทธิสตรียกเว้นเรื่องฮิญาบและการรับมรดกของสตรี

พวกเขาไม่เคยให้ความสำคัญกับการสร้างโรงพยาบาล ยกเว้นเมื่อมีการสร้างมัสยิด

พวกเขาไม่เคยพูดประเด็นการฟุ่มเฟือยและค่าใช้จ่าย ยกเว้นช่วงเทศกาลทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์


แหล่งที่มา Twitter : @M-Durmaz-Ar

โดย Mazlan Muhammad

ตัวชี้วัดของการอดทนยามเจ็บป่วยหรือประสบภัยพิบัติ

อิสลามสอนให้ผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยพิบัติให้ใช้ความอดทนอย่างแรงกล้า นบีได้แจ้งข่าวดีว่า อัลลอฮ์จะทรงยกโทษและลบล้างบาปของผู้เจ็บป่วยหรือผู้ประสบภัยพิบัติ ถึงแม้เขาจะโดนตอกหนามเพียงน้อยนิดก็ตาม ยกระดับของเขาและเพิ่มพูนผลบุญมากมาย และหากเสียชีวิตด้วยโรคบางชนิดเช่นโรคติดต่อ หรือโรคภายในท้อง(ตับ ไต หัวใจ ฯลฯ) เขาจะได้รับฐานะชะฮีด ณ อัลลอฮ์ทีเดียว

แต่ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่า เขาจะต้องอดทน อดกลั้นกับบททดสอบนี้ด้วยหัวใจที่น้อมรับ และมองบวก ซึ่งสัญญานที่คนๆหนึ่งมีความอดทนยามเจ็บป่วยหรือประสบภัยพิบัติ มีดังนี้

                1.            บังคับความรู้สึกไม่ให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนทางใจ เช่น เครียดจนเกินเหตุ สับสนกระวนกระวาย ซึมเศร้าวิตกกังวล น้อยเนื้อต่ำใจ อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย

                2.            บังคับลิ้นและวาจา ไม่ให้ดุด่า จู้จี้ขี้บ่น โวยวาย เล่าความเจ็บปวดของตนซ้ำซาก ชอบตัดพ้อจนกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

3.            บังคับร่างกายไม่ให้แสดงกิริยาที่แสดงตัวตนว่าไม่มีน้ำอดน้ำทน อยู่ไม่สุข หงุดหงิดง่ายทั้งสายตา ใบหน้า และอวัยวะอื่นๆ

ความอดทนของผู้ป่วยมีระดับชั้นที่มากมาย และมีฐานะที่ลดหลั่นกันไป ซึ่งสามารถประเมินได้จาก 3 ตัวชี้วัดที่ได้กล่าวข้างต้น

บางคนได้คะแนนเต็มร้อย บางคนอยู่ในระดับดี บางคนผ่านแค่เฉียดฉิว บางคนคะแนนตกต้องแก้ใหม่ และบางคนไม่มีโอกาสแก้ตัวได้เลย

ผู้ป่วยที่มีความอดทนที่สุดยอดที่สุดคือนบีอัยยูบ عليه السلام ที่ป่วยด้วยโรคผิวหนังนานเกือบ 20 ปี  ท่านไม่เคยปริปากบ่นแม้แต่น้อย และเมื่อโรคร้ายลุกลามจนเกินทน ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงฉันประสบกับความเดือดร้อน และพระองค์เป็นผู้เหนือยิ่งในบรรดาผู้กรุณา “ (ดูอัลกุรอานซูเราะห์อันบิยาอฺ/83)

เช่นเดียวกันกับนบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ที่ท่านเคยพลาดทานเนื้อแพะอาบยาพิษที่สตรียิวนำมามอบให้ ความรุนแรงของพิษทำให้ท่านต้องทนความเจ็บปวด จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ท่านไม่เคยบอกให้ใครทราบ นอกจากช่วงเวลาที่ท่านจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่วันเท่านั้น اللهم صل على محمد وعلى آله وصحبه ومن تبعه إلى يوم الدين

ดังนั้น พึงรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ผลบุญของ เกิด แก่ เจ็บ ตายของแต่ละคนนั้น มีไม่เท่ากัน

บางคน ใช้สัจธรรมดังกล่าว มาประยุกต์เป็นผลบุญมหาศาล

แต่บางคนกลับใช้เป็นยอดสะสมบาปที่มากมาย

ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ ความมอดทนนั่นเอง

إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُم بِغَيْرِ حِسَابٍۗ

(الزمر /١٠)

ความว่า : แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ


โดย Mazlan Muhammad