บทความ บทความวิชาการ

เกาะติดการจับกุมรอชิด ฆอนนูชีย์ แกนนำกลุ่มอิสลามในตูนีเซีย [Ep.2]

สรุปสาระสำคัญจากบทความของชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์   รองประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International  Union of  Muslim  Scholars ) และหัวหน้ากลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์  ตูนีเซีย ***

——————————-

การที่พรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์  ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกอาหรับ และเป็นกลุ่มหลักในการทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในตูนีเซีย  ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสลาม ที่จัดตั้งขึ้นในปี  1980  ทำงานด้านสังคม การศึกษา ขัดขืนคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นที่กดขี่ทางศาสนาอย่างรุนแรง   กลายเป็นพรรคการเมืองที่ตัดขาด งดเว้นจากกิจกรรมอื่นๆทั้งหมดยกเว้นการเมือง

ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ปี 2014 ของตูนีเซียที่สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมในการร่างด้วย ได้ประกันเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมอาหรับ จึงไม่มีเซคคิวลาร์ที่จะมาขัดขวางและกดขี่ศาสนาอิสลาม ทางกลุ่มจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อการนี้อีก

ทั้งนี้ ในเมื่อความเป็นมุสลิมได้กำหนดกรอบการทำงานของเราไว้ การที่จะชี้ชัดว่าตูนีเซียใช้ปรัชญาเซคคิวลาร์หรืออิสลาม  เป็นสังคมมุสลิมหรือสังคมเซคคิวลาร์จึงไม่มีความจำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทของศาสนาอิสลามไว้ชัดเจนแล้ว  ความคาดหวังของชาวตูนีเซียในยุคประชาธิปไตยจึงเกี่ยวข้องกับการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งพรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์  -พรรคที่มีส่วนร่วมเล็กๆในรัฐบาลผสม- ตระหนักและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆที่ชาวตูนีเซียปัจจุบันเผชิญอยู่

ผลจากการระดมสมองประเมินตนเองอยู่เสมอ นับตั้งแต่ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อ 35 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นสมาชิกกลุ่ม สมาชิกส่วนใหญ่มากกว่า 80 % เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามบริบทตูนีเซียที่เปลี่ยนแปลงจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย บริบทความขัดแย้งและความรุนแรงในภูมิภาคอาหรับ  ซึ่งหลายครั้ง มีความซับซ้อนยุ่งยาก อันเนื่องจากการตีความถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างศาสนาและการเมือง  รวมถึงการพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสลามสามารถไปด้วยกันได้กับประชาธิปไตย กลุ่มอิสลามสามารถมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้

กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์เดิมชื่อว่า กลุ่มอิตติญาฮ์อิสลามีย์ ใช้แนวคิดของหะซัน  บันนา ผู้นำอิควานอียิปต์ และมุศตอฟา  สิบาอีย์  ผู้นำอิควานสาขาซีเรีย  ต่อมาได้รับแนวคิดของ มาลิก  บินนบี  นักคิดจากมหาวิทยาลัยซัยตูนะฮ์  ตูนีเซีย และมุฮัมมัดตอเฮร์  บินอาชูร บิดาแห่งศาสตร์ด้านเจตนารมณ์กฎหมายอิสลาม โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อนะฮ์เฎาะฮ์ในคราวจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในยุคบินอาลี

จากการทำงานเพื่อศาสนาและสังคม ทำให้กลุ่มถูกกดขี่บีฑาโดยรัฐบาลเผด็จการ ทั้งโดนฆ่าและจำคุกมากมาย ทั้งในยุคของบูรกีบะฮ์ และบินอาลี

ในปี 2010 เกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่จนสามารถโค่นอำนาจเผด็จการบินอาลี ลงไปได้  ทางกลุ่มก็ได้เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้กับชาวตูนีเซียทั่วไป และไม่ได้ใช้นามของสมาชิกกลุ่ม

หลังจากนั้น ในปี 2011 มีการเลือกตั้ง กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จึงได้ร่วมกับพรรคเซคคิวลาร์ 2 พรรค ในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นับเป็นครั้งแรกในโลกอาหรับที่กลุ่มอิสลามกับกลุ่มเซคคิวลาร์สามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกันได้ 

แต่การเกิดความวุ่นวายและการลอบสังหารหลายๆ ครั้งประชาธิปไตยที่กำลังตั้งไข่ในตูนีเซีย จึงมีโอกาสถูกโค่นล้มได้ตลอดเวลา  ท่ามกลางความวุ่นวายดังกล่าว พรรคหะรอกะฮ์ ฯ ได้เลือกแนวทางการประนีประนอม แม้ว่าพรรคจะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่เพื่อความสงบของบ้านเมืองและเพื่อให้ฝ่ายปฏิวัติประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้ พรรคจึงยินดีเสียสละอำนาจปกครองให้แก่กลุ่มแทคโนแครตที่เป็นคนกลาง ยอมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครอง แทนการหันหลังไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหรือการต่อสู้ด้วยความรุนแรง

พรรคเสียสละยอมให้ตัดถ้อยคำ “หลักชะรีอะฮ์เป็นที่มาหนึ่งของกฎหมาย” ในร่างรัฐธรรมนูญ  แต่ยืนยันในเรื่องการเป็นนิติรัฐ สิทธิทางแพ่ง สิทธิทางการเมือง สังคม  เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  และยังยอมให้ใช้ระบบประธานาธิบดีผสมระบบรัฐสภา ทั้งๆที่พรรคเห็นด้วยกับระบบรัฐสภามากกว่า

ต่อมา ในการเลือกตั้งปี 2014 พรรคแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคเสียงตูนีเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายขวากลาง ที่ตั้งขึ้นในปี 2012 พรรคได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมในฐานะหุ้นส่วนเล็กๆ  เพื่อการส่วนในการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มั่นคง  แม้ว่าจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันทุกเรื่องไป แต่ความเป็นพันธมิตรก็ยังอยู่  เป็นบริบททางการเมืองของพรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์ สำหรับการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยอิสลามของตูนีเซีย

การแยกระหว่างศาสนากับรัฐ

ในการประชุมพรรคครั้งที่ 10  เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา  หลังจากที่พิจารณาแล้วว่าตูนิเซียผ่านพ้นยุคเผด็จการสู่ยุคประชาธิปไตยและเสรีภาพทางศาสนาได้รับการประกัน พรรคมีมติยกเลิกงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสังคม  การศึกษา  วัฒนธรรมหรืออื่นๆ  ยกเว้นงานด้านการเมือง  พรรคเห็นว่าควรแบ่งพันธกิจของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน  ไม่ควรมีพรรคการเมืองที่อ้างตนว่าเป็นตัวแทนทางศาสนา  เพราะพรรคเชื่อว่า นักการเมืองไม่เหมาะที่จะไปดำรงตำแหน่งในองค์กรทางศาสนาหรือองค์กรการกุศล  องค์กรทางศาสนาควรเป็นองค์กรอิสระและเป็นกลาง ไม่ควรที่จะมีมัสยิดหรือผู้นำศาสนาที่สังกัดพรรคการเมือง  พรรคเชื่อว่ามัสยิดควรเป็นสถานที่สร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ไม่ใช่สถานที่แบ่งแยกสร้างความห่างเหิน

การแยกระหว่างศาสนากับการเมืองในลักษณะดังกล่าว  จะทำให้บุคลากรด้านศาสนาที่ทำงานเต็มเวลามีโอกาสพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถทันต่อเหตุการณ์และตอบโจทย์สังคมร่วมสมัยได้  เนื่องจากสภาพการขาดบุคลากรดังกล่าว ในยุคกดขี่ข่มเหงทางศาสนาในอดีต ไม่มีองค์กรใดที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามสายกลาง ไม่สุดโต่ง กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ในยุคนั้นจึงต้องทำงานอย่างหนัก

การประชุมพรรคครั้งนั้นมีมติด้านยุทธศาสตร์ที่มีเป้าประสงค์เพื่อเอาชนะอุปสรรคปัญหาระดับชาติของตูนีเซีย โดยเน้นการร่างรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน  การปฏิรูปหน่วยงานของรัฐ  การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ  การผนึกกำลังหลายมิติและหลายฝ่ายเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย  และธรรมาภิบาลองค์กรศาสนาอิสลาม

ปัจจุบันพรรคไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพรรคศาสนาอิสลาม  แต่เป็นพรรคของมุสลิมที่เป็นนักประชาธิปไตย ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาของชาวตูนีเซียด้วยหลักการอิสลาม

ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  พรรคฯจะเน้นการสานเสวนาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนหลักการ “ทุนนิยมที่มีมนุษยธรรม” ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจเสรี ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันทางสังคมและโอกาส รวมถึงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม  การให้สถาบันการเงินเปิดโอกาสทางการลงทุนแก่ผู้ประกอบการใหม่  การลงทุนขนาดเล็ก  การส่งเสริมผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาว  และปฏิรูปการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของตลาด

นอกจากนั้น พรรคยังเชื่อว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในตูนีเซียยังขึ้นอยู่กับการกำจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางบทบาทสตรีในทุกๆด้าน  ตลอดจนการส่งเสริมความเสมอภาคและรักษาสิทธิของสตรี  ในการนี้พรรคได้เรียกร้องให้แต่ละพรรคเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครชายและหญิงจำนวนเท่ากัน   และให้เพิ่มวันลาหยุดงานแก่แม่ที่คลอดบุตรมากขึ้น

การที่ไอสิสมีผู้เข้าร่วมมากมายก็เพราะสังคมมุสลิมทั่วไปในโลกอาหรับถูกกีดกันและตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง  เมื่อไอสิสมาพร้อมกับความหวัง  กลุ่มเยาวชนจึงตอบรับกันอย่างกว้างขวาง

ฉะนั้น  การกวาดล้างกลุ่มไอสิสให้สิ้น  จึงไม่ใช่การใช้ความรุนแรง  แต่เป็นการสถาปนาประชาธิปไตยอิสลามที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล   ความเสมอภาคในด้านสังคมและเศรษกิจ  รวมถึงการทำนุบำรุงวัฒนธรรมและค่านิยมอาหรับและอิสลาม

#เกาะติดการจับกุมรอชิด_ฆอนนูชีย์

*** อ่านบทความต้นฉบับ

ภาษาอาหรับ

https://www.noonpost.com/content/13567

อังกฤษ

https://www.foreignaffairs.com/…/political-islam-muslim…


โดย Ghazali Benmad