บทความ บทความวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 5]

ศาสนทูตมูฮัมมัดคือใคร

ท่านมีนามว่า นบีมูฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ มีเชื้อสายสืบไปถึงนบี    อิสมาอีล บุตรชายของนบีอิบรอฮีม ลูกหลานของนบีอิสมาอีล ไม่มีใครได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี จนเวลาล่วงเลยกว่า 2,500 ปี ผิดกับนบีอิสห้าก ลูกชายอีกคนของนบีอิบรอฮีม ซึ่งลูกหลานของท่านในแต่ละรุ่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีและรอซูล หนึ่งในนี้คือนบีดาวูด นบีสุไลมาน นบีมูซาและนบีอีซา

ท่านรอซูลเกิดในวันจันทร์ เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (เดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม) ปีช้าง ปีที่ท่านนบีเกิด เป็นปีที่เรียกว่า ปีช้าง เพราะว่าอับรอหะฮ์ ทหารเอกของประเทศเอธิโอเปีย ได้ยกกองทัพทหารอันเกรียงไกรเพื่อทำลายกะอฺบะห์ แต่ขณะที่เขาได้เข้าใกล้อัลกะอฺบะฮ์ อัลลอฮ์ได้ส่งนกที่เท้าของมันมีหินก้อนเล็ก ๆ ถล่มจนกระทั่งทหารล้มตายทั้งกองทัพ รวมทั้งอับรอหะฮ์   จอมอหังการ

         บิดาของท่านเสียชีวิต ขณะที่อามีนะฮ์ตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 เดือน และเมื่อมูฮัมมัดมีอายุประมาณ 6 ขวบ มารดาของท่านได้เสียชีวิต ท่านจึงอยู่ในอุปการะของปู่ของท่านชื่ออับดุลมุฏฏอลิบเป็นเวลานาน 2 ปี จนกระทั่งปู่ของท่านเสียชีวิต ลุงของท่านชื่ออะบูฏอลิบ ให้อุปการะแทน 

ขณะที่ท่านนบีอายุ 20 ปี ท่านทำการค้าขาย จนเป็นที่รู้จักในเรื่องความสัจจริง ท่านหญิงคอดียะห์ได้ยินเรื่องดังกล่าว ดังนั้นนางจึงได้เสนอตัวต่อท่าน นบีที่จะให้ท่านนบีเข้ามาในการค้าขายของนาง ท่านรอซูลตกลง ทำให้นาง      คอดียะฮ์ประทับใจในบุคลิกของนบี จึงเสนอตัวรับนบีเป็นสามี ท่านแต่งงานกับนางคอดียะฮ์ขณะอายุ 25 ปี ในขณะที่นางคอดียะฮ์ซึ่งเป็นหญิงหม้ายมีอายุ 40 ปี จากการแต่งงานนี้ทั้งสองได้ให้กำเนิดลูกชาย 2 คน คือกอซิมและอับดุลลอฮ์ ลูกสาว 4 คนคือ ซัยนับ รุก็อยยะฮ์ อุมมิกัลซูมและฟาฏิมะฮ์ ส่วนลูกชายอีกคนชื่ออิบรอฮีม เกิดจากภรรยาชื่อ มารียะฮ์จากอิยิปต์

ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับวะฮ์ยู (วะฮียฺ) คือ การติดต่อสื่อสารจากอัลลอฮ์ โดยผ่านสื่อคือเทวทูตญิบรีล และยังไม่มีบัญชาให้ออกเผยแพร่ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า อิกเราะอ์ ที่มีความหมายว่า “เจ้าจงอ่านเถิด”

หลังจากนั้น อัลลอฮ์ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ก่อน คือ ประกาศแก่ญาติผู้ใกล้ชิดและผู้หญิงคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่านหญิงคอดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน ส่วนชายหนุ่มคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอบูบักร์และเยาวชนคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอาลี ทาสคนแรก คือ ท่านเซด บุตรฮาริซะฮ์ และต่อมาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ การประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ได้กระทำมาเป็นเวลา 3  ปี จนกระทั่งนบีได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ให้ประกาศอิสลามอย่างเปิดเผย ทำให้ชาวมักกะฮ์ ซึ่งส่วนใหญ่บูชาเจว็ดและติดยึดกับประเพณีของปู่ย่าตายายได้ลุกขึ้นต่อต้านทุกรูปแบบ นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมอพยพลี้ภัยไปยังอะบิสสิเนีย (เอธิโอเปีย) โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของนางคอดีญะฮ์และอบูฏอลิบในปีที่ 10 ของการเป็นนบี ซึ่งทั้งสองเป็นผู้สนับสนุนและให้การคุ้มครองหลักของนบี ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก มีบางราย โดนทรมานถึงเสียชีวิต นบีจึงวางแผนอพยพครั้งใหญ่ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ เนื่องจากชาวมะดีนะฮ์จำนวนหนึ่งได้ให้คำสัตยาบันให้ความคุ้มครองท่าน เหมือนพวกเขาคุ้มครองสมาชิกในครอบครัว นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมที่อยู่มักกะฮ์อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยพวกเขาเสียสละยอมละทิ้งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง แม้กระทั่งคนรัก เพื่อไปปักหลักที่เมืองมะดีนะฮ์ โดยมีนบีและอบูบักร์เป็นคณะสุดท้ายที่ไปถึงเมือง    มะดีนะฮ์ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างดีใจสุดชีวิตของชาวมุสลิมที่มะดีนะฮ์ 

ณ เมืองมะดีนะฮฺ นบีได้สร้างเมืองใหม่ด้วยการจัดระเบียบทั้งระบบการปกครอง การบริหารบ้านเมือง การฟื้นฟูและการเยียวยา การป้องกันประเทศ การพัฒนาสังคมในทุกมิติทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสงเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนกลายเป็นสังคมต้นแบบของมนุษยชาติ โดยใช้คำสอนแห่งพระเจ้าแห่งสากลจักรวาล “และเรามิได้ส่งเจ้า โอ้มูฮัมมัดเป็นการอื่นใด เว้นแต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเมตตาแห่งสากลจักรวาล” (อัลอันบิยาอฺ / 107)

นบีมูฮัมมัดเสียชีวิตขณะอายุ 63 ปี หลังจากประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ 13 ปี และที่มะดีนะฮ์ 10 ปี ท่านเสียชีวิตและถูกฝังที่บ้านของนางอาอิชะฮ์ติดกับมัสยิดนบี และต่อมาสหายคนสนิทของท่าน 2 คนคืออบูบักร์และอุมัร์ก็ถูกฝังศพ ณ บริเวณนี้เช่นกัน 

อัตชีวประวัติของนบีมูฮัมมัด ได้รับการบันทึกอย่างละเอียดที่สุดเหมือนจดหมายเหตุรายวัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 13 ปีที่ท่านประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ และ 10 ปีที่ท่านสร้างรัฐอิสลามที่มะดีนะฮ์ กล่าวได้ว่าทุกเหตุการณ์สำคัญ ทุกสถานที่และสภาพแวดล้อม ทุกอิริยาบถและกิจวัตรรายวัน แม้กระทั่งคำพูดของท่าน ได้รับการถ่ายทอดจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์อย่างละเอียด มีระบบการบันทึกอย่างพิถีพิถันและรอบคอบ มีระบบการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวอย่างเข้มงวด จนสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติต่อไป

อัลกุรอานคืออะไร

อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มนุษย์จะต้องยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ตราบถึงวันอวสานของโลกนี้ เป็นคัมภีร์ฉบับสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่นบีมูฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำแก่มนุษยชาติ จึงเป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาสาระและรูปแบบการใช้ภาษา อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความไพเราะ ในการออกเสียง และภาษาที่ใช้ความหมายอันลึกซึ้ง ถ้อยคำ เท่าที่ถ่ายทอดมาจากท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อ 1,400 ปีกว่า ยังได้รับการรักษาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อักษรเดียว

มุสลิมทั้งโลกจะอ่านอัลกุรอานในพิธีละหมาด ในวาระอันต้องการความดีและอ่านเพื่อนำความหมายมาปฏิบัติอัลกุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุด ความประพฤติอันถูกต้องจะต้องสืบหรือปรับเข้าหาอัลกุรอาน กฎหมายอิสลามจะต้องยึดถืออัลกุรอานเป็นหลักในด้านนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายอันแย้งต่อบัญญัติของอัลกุรอานไม่ได้อย่างเด็ดขาด

อัลกุรอานถูกประทานลงมาครั้งแรก ณ ถ้ำฮิรออ์ ที่นครมักกะฮ์ เมื่อ นบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีอายุ 40 ปี โองการที่ถูกประทานลงมานั้น จะทยอยกันลงมาตามแต่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโองการดังกล่าว ระยะเวลาการประทานตามโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่โองการแรกจนถึงโองการสุดท้ายนานถึง 23 ปี เมื่อได้รับโองการแล้ว ท่านศาสดาก็จะนำมาประกาศแก่ผู้อื่น แล้วทุกคนก็จะท่องจำจนขึ้นใจ มีการทบทวนกันอยู่เสมอ และมีการบันทึกลงบนหนังสัตว์แห้งบ้าง บนกาบอินทผาลัมบ้าง บนแผ่นหินบ้าง ต่อมาในสมัยปกครองของท่านอบูบักร์ เคาะลีฟะฮ์ท่านแรก ท่านได้ดำริให้มีการจัดรวบรวมขึ้นเป็นเล่มจากส่วนที่กระจัดกระจายกันในบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ จากนั้นในสมัยการปกครองของท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน เคาะลีฟะห์ท่านที่ 3 ได้สั่งให้มีการรวบรวมและปรับปรุงในด้านการเขียน มีจำนวนถึง 6 เล่ม และส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อให้อ่านเป็นสำนวนเดียวกัน และป้องกันการปลอมแปลงอันอาจจะเกิดขึ้นได้

อัลกุรอาน ถือเป็นหนังสือที่มีคนอ่านและศึกษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในโลก สอดคล้องกับชื่อ อัลกุรอาน ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งถูกอ่านเป็นประจำมากที่สุด อัลกุรอานยังท้าทายมนุษย์และอมนุษย์ หากยังมีความสงสัยหรือคลางแคลงใจว่า มันมาจากพระเจ้าแห่งสากลจักรวาลหรือไม่ ก็ให้แต่งเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมือนกับอัลกุรอาน ทั้งด้านภาษา เนื้อหา และอื่น ๆ ซึ่งยังไม่มีใครรับคำท้านี้ อัลกุรอานถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน และจะยังคงอยู่ในสภาพนี้จวบจนโลกอวสาน

อัลกุรอานไม่ใช่เป็นตำราทางประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมนุษย์จะถูกบันทึกในนั้น อัลกุรอานไม่ใช่หนังสือเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน จริยศาสตร์ หรือโลกอันเร้นลับ แต่ทุกศาสตร์ดังกล่าว ได้รับการพูดถึงในอัลกุรอานอย่างชัดเจนและถูกต้องที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อัลกุรอานเปรียบเสมือนสายเชือกของอัลลอฮ์ ที่ต้องการให้มนุษย์ถือมั่นกับสายเชือกเส้นนี้ จนกว่าจะนำพาเขาสู่สวรรค์ของพระองค์

ซุนนะฮ์คืออะไร

ซุนนะฮ์แปลว่า แนวทาง ในที่นี้หมายถึง แนวทางของท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อันหมายถึง แนวทางของอัลลอฮฺ ดังนั้น คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” จึงหมายถึงศาสนาอิสลาม มิใช่นิกายหรือกลุ่มชน หรือแนวทางอันประหลาด หรือทฤษฎีส่วนตัว หรือทรรศนะของนักปราชญ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ซุนนะฮฺจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อนุรักษ์หลักการของอิสลามให้คงอยู่ เหมือนดั้งเดิม โดยไม่ยอมให้อุตริกรรม ประเพณี วัฒนธรรม แนวคิด หรือการปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม มาทำลายความสมบูรณ์ของคำสั่งสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม ดังนั้นมุสลิมต้องยึดมั่นในแนวทางซุนนะฮฺ จะไม่ยอมกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถือว่าเป็นศาสนกิจ เว้นแต่ต้องมีบทบัญญัติระบุไว้ในอัลกุรอาน หรือบทฮะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้น ซุนนะฮ์จึงเป็นแนวทางของนบีมูฮัมมัดอันเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายให้มนุษย์นำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างหลักประกันการใช้ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จทั้งบนโลกนี้และชีวิตหลังความตาย 

เนื่องจากอิสลามคือวิถีชีวิตที่ออกแบบโดยอัลลอฮ์ ผู้ทรงบริหารสากลจักรวาล ดังนั้นพระองค์ได้ส่งนบีมูฮัมมัด ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นกับต้นแบบนี้ โดยแยกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนแรกคือ ต้นแบบการดำเนินชีวิตบนโลก โดยนบี  มูฮัมมัดได้วางหลักการโดยรวม ที่เกี่ยวข้องหลักการใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การบริหารและการจัดการ และด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ และมอบหมายให้มนุษย์รู้จักประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้สติปัญญาและพลังศรัทธาในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม เช่นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนที่สองได้แก่ ต้นแบบที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการละหมาด การถือศีลอด การกำหนดบาปบุญและความประเสริฐของวัน เวลา โอกาสและสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งนบีได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว มุสลิมไม่มีสิทธิ์สร้างอุตริกรรม เพิ่มเติมหรือตัดตอนในเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม ผู้ใดที่อุตริกรรมในเรื่องนี้ เขาจะถูกปฏิเสธโดยปริยายและสิ่งอุตริกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง


โดยทีมวิชาการ