บทความ ประวัติศาสตร์

อัฟกานิสถาน ฎอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่ 3]

ฏอลิบาน & ไอเอส ความเหมือนที่ต่างกันราวฟ้ากับก้นเหว

หลายคนยังแยกไม่ออกระหว่างฏอลิบานและไอเอส มีเพียงสิ่งเดียวที่เป็นที่จดจำในมโนคติของพวกเขาคือก่อการร้าย สุดโต่ง ลิดรอนสิทธิสตรี กระหายเลือด หรือทัศนคติเชิงลบต่างๆ ตามที่ได้ถูกเล่าขานกันมา ซึ่งอาจมีส่วนจริงส่วนเท็จปะปนกันไป

ความจริง ทั้งสองกลุ่มนี้มีความเหมือนที่ต่างกันมากมาย สรุปได้ดังนี้

ทั้งสองอาจมีจุดเหมือนตรงที่เป็นผลของปฏิกิริยาโต้กลับของประชาขาติมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธการใช้อำนาจเผด็จการและอธรรมของชาติตะวันตก ที่สถาปนาตนเองเป็นตำรวจโลกภายใต้การจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) พร้อมด้วยต้องการสานเจตนารมณ์สร้างรัฐในอุดมคติให้สามารถนำหลัก   ชะรีอะฮ์อิสลามมาปฏิบัติใช้ในการบริหารและการปกครอง ซึ่งมีรายละเอียดสลับซับซ้อนที่จะไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้

แต่ทั้งสองมีจุดต่างกันมากมาย ที่นำไปสู่การแยกทางเดินชนิดทางใครทางมันทีเดียว

#ฏอลิบานคือใคร

ในภาษาบัชตุน ฏอลิบานหมายถึงกลุ่มนักศึกษาศาสนา ต่อมาได้พัฒนาการเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวอิสลามและกลุ่มการเมืองที่ก่อตั้งโดยมุลลา โอมาร์ ในปี 1994 ที่เมืองกันดาฮาร์ อดีตเมืองหลวงอัฟกานิสถาน ติดพรมแดนปากีสถานทางภาคใต้ของประเทศ ฏอลิบานสามารถปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศอัฟกานิสถานและเมืองหลวงกรุงคาบูลในฐานะ “รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน” ในปี 1996 แต่ได้รับการรับรองทางการทูตจาก 3 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ ประเทศปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จนกระทั่งกองทัพสหรัฐอเมริกายกทัพถล่มอัฟกานิสถานในปี 2001  พร้อมประกาศยุคอวสานของฏอลิบาน

ผู้นำฏอลิบาน ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากรากฐานนิยม”เดียวบัน” (Deobandi fundamentalism) ที่มีอุละมาอฺนามอุโฆษอย่าง อะบูหะซัน อันนัดวีย์ และเชคหะบีบุรเราะห์มาน อัลอะอฺศอมีย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของสถาบันศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในชมพูทวีปแห่งนี้  สมาชิกหลายคนปฏิบัติตามบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “พัชตุนวาลี” (Pashtunwali) มีสมัชชาใหญ่ ( General Assambly) ที่ตัดสินเรื่องสำคัญของบรรดาเผ่าต่างๆ ที่เรียกว่า Loya Jirga (ที่ประชุมใหญ่แห่งเผ่า) ขบวนการฏอลีบานส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากสมาชิกชาวปาทาน (Pashtun) ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน ปัจจุบันมี Moulawi Hibatullah Akhundzada (60 ปี) เป็นอะมีร

ด้วยพื้นเพทางสังคมนี้ ฏอลิบานจึงมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากไอเอส สรุปสาระสำคัญดังนี้

1. ด้านสำนักคิด ปรัชญาและแนวทางขัดเกลาจิตใจ

กลุ่มฏอลิบานยึดอะกีดะฮ์แนวมาตูริดียะฮ์ที่ใกล้เคียงกับแนวอะชาอิเราะฮ์ ซึ่งแพร่หลายในอัฟกานิสถาน อินเดีย จีน บังคลาเทศ ปากีสถาน ตุรกี อิหร่านและประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นมัซฮับอะกีดะฮ์ทางการยุคอาณาจักรอุษมานียะฮ์ ส่วนสำนักคิดด้านฟิกฮ์ก็ยึดมั่นตามสำนักหะนะฟี และถือเป็นแม่บทในการตีความหลักศาสนบัญญัติ ที่ผสมผสานกับความเคร่งครัดในจารีตประเพณีของชาวปัชตุน ในขณะที่แนวทางด้านศูฟีย์ ฏอลิบานยึดถือแนวตะรีกัตศูฟีนักชะบันดีย์เป็นหลัก ซึ่งจะสวนทางกับแนวทัศนะของกลุ่มไอเอสที่ยึดมั่นกับแนวสะลัฟสายแป๊บซี่ ที่มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับแนวนี้มาโดยตลอด

2.ด้านความสัมพันธ์ในชุมชน

ฏอลิบานเป็นกลุ่มชนที่รวมตัวจากเผ่าพันธุ์เดียวกันคือบัชตุน ( ปาทาน) มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติและเผ่าพันธุ์อย่างแนบแน่น พวกเขาจึงไม่มีระบบ “การส่งออกและการนำเข้า” ของประชาชน เพื่ออพยพผู้คนที่สมัครใจพำนักในดินแดนญิฮาดตามแนวทางของกลุ่มไอเอส ดังนั้นพวกเขาจึงไม่มีปัญหาด้านการซึมตัวเข้าไปในชุมชนเพราะทั้งแกนนำและสมาชิกต่างก็เป็นคนกันเอง ซึ่งเป็นลูกหลานในชุมชนอยู่แล้ว มีความรู้จักมักคุ้นกันดี ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่มีการอพยพคนต่างถิ่นเข้ามาสร้างอิทธิพลในชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดกระแสต้านคนนอกหรืออาจสร้างปัญหากระทบกระทั่งและความหวาดระแวงกับคนในพื้นที่ ดังที่เกิดขึ้นในซีเรียและอิรัก

3. ด้านโครงสร้างการบริหาร

กลุ่มฏอลิบานไม่มีระบบโครงสร้างการบริหารที่สลับซับซ้อน มีเพียงระบบการเชื่อฟังผู้นำทางจิตวิญญาณที่ได้รับการสืบทอดและเป็นที่ยอมรับในเผ่าพันธุ์ของตนเอง ซึ่งต่างจากระบบบริหารของไอเอสที่เน้นโครงสร้างองค์กรระบบพีระมิด ที่ค่อนข้างลึกลับ ที่แม้แต่สมาชิกที่เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันเอง ก็แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีชื่อจริงอะไร เป็นใคร มาจากไหน

4. ด้านการกำหนดสนามการต่อสู้

กลุ่มฏอลิบานได้กำหนดสนามการต่อสู้(ญิฮาด)ในสนามที่จำกัด นั่นคือในดินแดนอัฟกานิสถานเท่านั้น พวกเขากำหนดยุทธศาสตร์ญิฮาดอย่างชัดเจนว่า ต้องการขับไล่กองกำลังต่างชาติและสร้างรัฐในอุดมคติตามหลักชะรีอะฮ์อิสลามในบริเวณพื้นที่ของประเทศของตนเอง ซึ่งต่างจากแนวปฏิบัติของไอเอสที่ขยายวงการญิฮาดไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างไร้พรมแดน แถมยังกล่าวหากลุ่มฏอลิบานว่า เป็นกลุ่มที่เรียกร้องและคลั่งไคล้ชาตินิยม เหมือนสาวกชาตินิยมทั่วไปในโลกนี้ ที่หนักไปกว่านั้น ไอเอสได้ตัดสินว่ากลุ่มฏอลิบานเป็นกลุ่มนอกรีต ตกศาสนาหรือมุรตัดด้วยซ้ำ

5. ด้านการสถาปนาตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์

ผู้นำฏอลิบานไม่เคยประกาศตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีน และไม่เคยประกาศให้ประชาชาติมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำอิสลามทั่วโลกให้การบัยอะฮ์ พร้อมลงดาบว่าผู้ใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะเป็นคนตกศาสนา(ตกมุรตัด) และจะประกาศสงครามทันที เหมือนผู้นำไอเอสที่ได้ประกาศที่โมซุล อิรักเมื่อปี 2013 ซึ่งหลังจากสถาปนาตัวเองเป็นเคาะลีฟะฮ์มุสลิมีนแล้ว ก็ส่งสารไปยังผู้นำประเทศอิสลามให้สัตยาบันและสวามิภักดิ์ต่อตนเอง ผู้ใดฝ่าฝืนก็จะถูกตัดสินเป็นคนนอกรีต ตกมุรตัดทันที

6. จุดยืนต่อกลุ่มหรือองค์กรอิสลามทั่วโลก

ฏอลิบานมีท่าทีเป็นมิตรกับองค์กรอิสลามทั่วโลก หลังจากฏอลิบานยุค1.0 มีจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อองค์กรอิสลามโดยเฉพาะกลุ่มอิควานมุสลิมีน ซึ่งฏอลิบานมองว่า อันตรายยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์และเป็นศัตรูที่แยกระหว่างอิสลามและการปฎิเสธทีเดียว แต่ฏอลิบานยุค 2.0 ในปัจจุบัน ทัศนะเชิงลบในลักษณะนี้ได้หมดไปแล้ว แกนนำฏอลิบานได้เยี่ยมเยียนเชคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ และอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ ผู้นำหะมาสเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตามด้วยถ้อยแถลงของทั้งสองฝ่ายที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความเป็นพี่น้องในอิสลาม ซึ่งต่างจากกลุ่มไอเอสที่ยังมีจุดยืนอันแข็งกร้าวและดุดันอย่างเสมอต้นเสมอปลายต่อองค์กรมุสลิมทั่วโลก ยกเว้นกลุ่มที่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา

7. ด้านกระแสการตอบรับของประชาขาติอิสลาม

โลกอิสลามมีจุดยืนที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อการกลับมาของฏอลิบาน นักวิชาการและอุละมาอฺทั้งในนามบุคคล องค์กร ต่างออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อชัยชนะครั้งนี้ โดยเฉพาะ การที่พวกเขาสามารถขับไล่กองกำลังต่างชาติที่ปล้นทรัพยากรธรรมชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอัฟกานิสถานกว่า 20 ปี พร้อมคาดหวังให้ฏอลิบานสามารถนำพาอัฟกานิสถานไปตลอดรอดฝั่ง ตลอดจนสร้างสันติภาพในดินแดนแห่งนี้ที่กลายเป็นสนามรบมายาวนานเกือบ 40 ปี

ผิดกับไอเอสที่บรรดาอุละมาอฺทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ความขัดแย้งทั้งที่อิรักและซีเรีย ต่างออกแถลงการณ์ปฏิเสธทั้งแนวทาง และแนวปฏิบัติของกลุ่มนี้ในวันแรกของการประกาศรัฐอิสลามด้วยซ้ำ พร้อมตั้งข้อสงสัยถึงที่มาและการปรากฏตัวอย่างน่าอัศจรรย์และแปลกประหลาดของกลุ่มนี้

8. การปรับตัวในท่าทีและการยึดมั่นในหลักการ

การปรากฏตัวของฏอลิบานยุค2.0 นี้ มาพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนท่าที ที่ถือว่าน่าจะเป็นการถอดบทเรียนของความผิดพลาดในอดีตได้อย่างชาญฉลาด มีความยืดหยุ่นและใจกว้างที่มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน 3 ประการ ได้แก่ 1) ต้องการสันติภาพและความปรองดองของชาติเป็นหลัก ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม ไม่มีการล้างแค้นใดๆ และพร้อมเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อความสมานฉันท์ แม้กระทั่งท่าทีต่อกลุ่มชีอะฮ์ทางภาคเหนือของประเทศที่ฏอลิบานมีความผ่อนปรนมากขึ้น  2) ต้องการสร้างรัฐอิสลาม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่มีความยืดหยุ่น ไม่ติดยึดกับทัศนะทางศาสนาที่คับแคบ และพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าภายในกรอบของหลักการอิสลาม 3) ต้องการการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ ด้วยการอ้าแขนตอบรับการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะท่าทีที่มีต่อจีน รัสเซีย ตุรกี หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา 

ตรงกันข้ามกับไอเอสที่ยังสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลกและคำชี้ขาดสุดท้ายของความถูกต้องอย่างไม่มีวันแปรเปลี่ยน

ท่ามกลางความดีใจของประชาชาติมุสลิมต่อชัยชนะเหนือความคาดหมายของกลุ่มฏอลิบานครั้งนี้ สิ่งที่ยังเป็นความกังวลของผู้เขียนคือ ฏอลิบานจะไปอย่างไรต่อ อะไรคือขวากหนามที่พวกเขาต้องเผชิญ พวกเขาจะรับมือกับชาติที่มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ (Multiethnic States)ด้วยวิธีไหน พวกเขาจะปรับตัวในสังคมดิจิตอลได้อย่างไร เพราะในชีวิตจริงการได้ครอบครองเจ้าสาวในดวงใจถือเป็นสิ่งที่บุรุษทุกคนเฝ้าฝันอยู่แล้ว แต่ตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิตการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ ไม่ใช่วัดกันที่บรรยากาศดื่มด่ำช่วงฮันนี่มูนเท่านั้น แต่ความท้าทายในชีวิตคู่ที่พร้อมเผชิญหน้ากับพายุที่โหมกระหน่ำและถนนที่อุดมด้วยขวากหนามต่างหาก คือตัวชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง

ประสบการณ์ที่ผ่านมา สอนให้เรารู้ว่า ประชาชาติอิสลามมีสิทธิ์แค่สนุกสนานรื่นเริงในวันจัดพิธีแต่งงานและดื่มด่ำกับความสุขช่วงฮันนี่มูนในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น หลังจากนั้น คู่บ่าวสาวก็จะถูกปองร้ายจนเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา


โดย Mazlan Muhammad