บทความ บทความวิชาการ

เบื้องลึกความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิควาน

เปิดตำนานรักซ่อนแค้น เบื้องลึกความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและกลุ่มอิควาน

● สัมพันธภาพระหว่างซาอุดีอาระเบียและกลุ่มอิควานเริ่มต้นจากการเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นในช่วงทศวรรษ 1930 จนมาสู่การเผชิญหน้าเต็มรูปแบบในปัจจุบัน

คำฟัตวาขององค์กรอุลามาอ์อาวุโสล่าสุด เกี่ยวกับกลุ่มอิควาน ไม่ใช่เป็นครั้งแรก และคาดว่าจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ดี

จุดเริ่มต้น กษัตริย์อับดุลอาซิซ ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซะอูด ได้พบปะเจรจากับหะซัน อัลบันนา ผู้สถาปนากลุ่มอิควานมุสลิมีนเป็นครั้งแรก ในปี 1936 และความใกล้ชิดก็ได้งอกเงยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในระยะนี้กลุ่มอิควานได้พึ่งพาอาศัยซาอุดิอาระเบียในการหลบหนีจากความโหดร้ายของนัสเซอร์  ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกได้อาศัยอิควานเป็นตัวหลักของกลุ่มอัฟกันอาหรับในการเผชิญหน้ากับการยึดครองอัฟกานิสถานของโซเวียต รวมถึงลัทธิชาตินิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอียิปต์ ที่ได้แรงสนับสนุนจากโซเวียต

ในระยะนี้ สื่อหลักพาดหัวข้อข่าว “เจ้าชายฟัยศอล(ยศก่อนเป็นกษัตริย์) กล่าวว่า “กลุ่มอิควานมุสลิมีน เป็นวีรบุรุษ ที่ต่อสู้แบบถวายชีวิตและทรัพย์สินเพื่ออัลลอฮ์…”

การสถาปนาอาณาจักรใหม่ของราชวงศ์ซาอูดบนกองเงินกองทองในระยะนี้ ต้องอาศัยแรงงานและวิสัยทัศน์ในการเผชิญหน้ากับโลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์การศึกษา และการปฏิรูปคำสอนทางศาสนา กลุ่มอิควานจากประเทศต่างๆในช่วงนี้ได้เข้าไปมีบทบาทในหน่วยงานต่างๆของซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างในด้านการศึกษา ที่จุดยืนของกลุ่มอิควานสอดรับกับแนวคิดของสะละฟีย์  ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมมือกันอย่างลงตัว ตลอดช่วงการปกครองของนัสเซอร์และซาดัตที่อิยิปต์

หลังสิ้นสุดยุคนัสเซอร์ ซาอุดิอาระเบียมีส่วนทำให้ผู้นำกลุ่มอิควานพ้นคุกอียิปต์และให้แกนนำบางคนได้เข้ามาอาศัยในประเทศอย่างมีเกียรติเป็นอย่างสูง

ในช่วงสงครามอัฟกัน ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกาได้ร่วมก่อตั้งอัฟกันอาหรับ ด้วยเป้าหมายที่สอดคล้องกันในการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม กลุ่มอิควานจึงเข้าไปมีบทบาทที่โดดเด่นในการจัดกองกำลัง การจัดองค์กร การฝึกทางการทหาร และการรวบรวมเงินบริจาค

ปัจจัยความขัดแย้งเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล [ รวมถึงสถานการณ์การต่อสู้การยึดครองอัฟกานิสถานที่ความสำคัญของกลุ่มอิควานเริ่มลดลง – ผู้แปล ] ภายหลังการเสียชีวิตของกษัตริย์ฟัยศอล  ผู้ปกครองคนต่อมา ได้ตั้งข้อสงสัยต่อเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนที่จัดทำโดยกลุ่มอิควาน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มของฝ่ายค้านรัฐที่เข้มแข็งขึ้นในประเทศที่แนวการเมืองต้องจงรักภักดีต่อราชวงศ์โดยดุษณี รวมถึงรูปแบบความขัดแย้งในลักษณะอื่นๆ เช่น  ท่าทีที่สวนทางกันในกรณีสงครามอ่าวครั้งแรก ระหว่างอิรัก-อิหร่าน รวมทั้งอิควานปฏิเสธแนวทางการพึ่งพากองทัพตะวันตกในการกอบกู้เอกราชของคูเวตจากการยึดครองของอิรัก

วิกฤติความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายถึงขีดสุด ได้ก่อตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อมีคณะหนึ่งเรียกกันว่า มะชายีคเศาะฮ์วะฮ์ (คณะชัยค์ฝ่ายฟื้นฟู) นำโดย ชัยค์สะฟัร หะวาลีย์ ซึ่งได้ส่งเอกสารเรียกว่า  مذكرة النصيحة  (เอกสารให้คำแนะนำ)แก่กษัตริย์  ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากจารีตทางการเมืองในซาอุดิอาระเบียที่ต้องภักดีต่อราโชบายโดยดุษณีแบบเดิมๆ และเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอิทธิพลของกลุ่มอิควานในซาอุดิอาระเบีย

รวมถึงปัจจัยการกลับคืนมาตุภูมิของกลุ่มอาหรับอัฟกัน ที่พกพาอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแนวทางที่คุ้นเคยในอัฟกานิสถาน นั่นคือการจัดตั้งกลุ่มคนและการใช้กำลังอาวุธ  รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ที่นำโดยอุซามะฮ์ บินลาเด็น ชาวซาอุดีอาระเบีย ตามมาด้วยเหตุการณ์วางระเบิด  และการจับกุมเครือข่ายญิฮาดในเมืองต่างๆของซาอุดิอาระเบีย  ปัจจัยต่างๆดังกล่าวมีส่วนในการสร้างความบาดหมางระหว่างรัฐบาลซาอุดิอาระเบียกับกลุ่มอิสลามการเมืองที่นำโดยอิควานมุสลิมีน

● การปะทะแบบไม่โจ่งแจ้ง

เหตุการณ์ 11 กันยาฝุ่นยังไม่ทันจาง  แต่ในซาอุดิอาระเบียได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อกลุ่มอิควานแล้ว ด้วยการกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลซาอุดิอาระเบียงดสนับสนุนการเงินต่อองค์กรอิสลามต่างๆที่ถูกจัดเป็นเครือข่ายกลุ่มอิควาน รวมถึงการเปิดฉากสงครามสื่ออย่างรุนแรง

นายิบ บินอับดุลอาซิซ รมต.มหาดไทยกล่าวกับวารสารการเมืองของคูเวต  ในปี 2002 ว่า อิควานถือเป็นต้นตอของความวุ่นวายต่างๆ ในโลกอาหรับและโลกมุสลิม

● การปะทะเต็มรูปแบบ

หนึ่งทศวรรษกับความอึมครึมผ่านไป ก้าวสู่ยุคอาหรับสปริงที่เปลวไฟยิ่งเพิ่มดีกรีองศาเดือด ที่ซาอุดิอาระเบียแสดงจุดยืนชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอาหรับสปริง ตลอดจนความพยายามช่วยเหลือยับยั้งการล้มของรัฐบาลอียิปต์และเยเมน  รวมทั้งการแสดงจุดยืนเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากยุคปฏิวัติอาหรับ รวมถึงการสนับสนุนการโค่นรัฐบาลมุรซีย์ในอียิปต์ และสถานการณ์ได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนพัฒนาไปสู่การขึ้นบัญชีกลุ่มอิควานเป็นกลุ่มก่อการร้ายพร้อมๆกับอีกบางกลุ่มในที่สุด

ความจริงก่อนหน้านี้ซาอุดิอาระเบีย ไม่ค่อยปลื้มกับการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มเครือข่ายอิควานในซูดาน ตุรกีและปาเลสไตน์มาแล้ว

ภายหลังการขึ้นครองบัลลังก์ใหม่ๆ ของกษัตริย์ซัลมาน ทั้งสองฝ่ายเริ่มมีท่าทีที่ดีต่อกัน  สะอูด อัลฟัยซอล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียไม่มีปัญหากับกลุ่มอิควาน เพียงแต่มีปัญหากับบางส่วนของสมาชิกกลุ่มเท่านั้น  และรัฐบาลซาอุดิอาระเบียก็ได้ต้อนรับการมาเยือนของบุคคลสำคัญที่รู้กันว่าเป็นสมาชิกกลุ่ม ได้แก่ ดร.ยูซุฟ  อัลเกาะเราะฎอวีย์ ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์ และคอลิด  มิชอัล

นอกจากนั้น องค์การอุลามาอ์อาวุโสแห่งซาอุดิอาระเบียหรือฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์ ก็กล่าวถึงกลุ่มอิควานไปในทางบวก โดยกล่าวว่า กลุ่มอิควานเป็นนักกิจกรรม

รัฐบาลซาอุดิอาระเบียยังมีความสัมพันธ์ไมตรีอันแน่นแฟ้นกับพรรคอิศลาห์ของเยเมน อันเป็นกลุ่มอิควานสาขาเยเมน แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์พิเศษที่ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ก็ตาม

● อิควานกับองค์การอุลามาอ์อาวุโส – ฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์- ของซาอุดิอาระเบีย

องค์การอุลามาอ์อาวุโส – ฮัยอะฮ์กิบารอุลามาอ์-  เป็นหน่วยงานศาสนาอย่างเป็นทางการของซาอุดิอาระเบีย เคยมีคำฟัตวาจัดให้กลุ่มอิควานเป็นกลุ่มหนึ่งที่ใกล้ชิดกับกลุ่มที่ถูกต้อง แต่ยามเมื่อสายลมการเมืองเปลี่ยนทิศ องค์การอุลามาอ์อาวุโส ก็มีคำฟัตวาใหม่ ระบุว่า อิควานไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง แต่เป็นกลุ่มที่ใช้แนวทางก่อกบฏต่อผู้นำ แม้ว่าจะไม่ทำในตอนแรกเริ่ม แต่ก็ทำในตอนหลังๆ


อ้างอิง

[http://www.aljazeera.net/news/reportsandinterviews/2018/4/4/الإخوان-والسعودية-احتضنهم-الأجداد-وانقلب-عليهم-ابن-سلمان](http://www.aljazeera.net/news/reportsandinterviews/2018/4/4/%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%AE%D9%88%D8%A7%D9%86-%D9%88%D8%A7%D9%84%D8%B3%D8%B9%D9%88%D8%AF%D9%8A%D8%A9-%D8%A7%D8%AD%D8%AA%D8%B6%D9%86%D9%87%D9%85-%D8%A7%D9%84%D8%A3%D8%AC%D8%AF%D8%A7%D8%AF-%D9%88%D8%A7%D9%86%D9%82%D9%84%D8%A8-%D8%B9%D9%84%D9%8A%D9%87%D9%85-%D8%A7%D8%A8%D9%86-%D8%B3%D9%84%D9%85%D8%A7%D9%86?fbclid=IwAR36iwOgCmpPJcqbER9IVIltXBwfy13KjHoUX7NAoYwgehEPKJhuzYPeoNw)

แปลสรุปโดย Ghazali benmad