ข่าว ข่าวต่างประเทศ

ปรากฏการณ์กงล้อทางอารยธรรม

ภาพจาก turnleftthai.wordpress.com

ช่วง 2008- 2011 (5ปี) มี 2 ปรากฏการณ์ใหญ่สนั่นโลก ได้แก่
1) วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 โดยเฉพาะยุโรปและอเมริกา และ
2) ปรากฏการณ์ปฏิวัติดอกมะลิ (Arab spring) ที่เริ่มในต้นปี 2011 และได้บานปลายจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเหตุการณ์สั่นสะเทือน “ภาพมายาคติ (Myth)” ความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯที่ถูกท้าทายจาก “ขบวนการก่อการร้าย” (Terrorism) ตามหลักหมุดของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นวาทกรรม (Discourse) ในสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่ผ่านการผลิตและผลิตซ้ำ (Reproduce) โดยสหรัฐฯ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรุกรานชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติอาหรับและอิสลาม ภายใต้นโยบายชิงโจมตีก่อน (Preemtion) ตลอดจนความพยายามที่จะสถาปนา “ระเบียบโลกใหม่” (New World Order) ให้หมุนตามความต้องการของวอชิงตัน

วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ได้สร้างบทเรียนมากมายที่สะท้อนถึงการล่มสลายของวิถีชีวิตขั้นพื้นฐานของยุโรป เป็นภาวะการชะงักงันการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตที่เป็นศูนย์ (Zero Growth) ที่มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากเกิดช่องว่างระหว่างวัยที่สูงมาก กล่าวคือประชากรยุโรปมีวัยที่เลยเกษียณเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้ไม่มีบทบาทในการกระตุ้นหรือขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยุโรปจึงไม่มีวัยทำงานที่มีจำนวนเพียงพอในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เนื่องจากยุโรปล้มเหลวในการผลิตชนรุ่นใหม่ที่มีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่นทำงาน ทั้งนี้เพราะโครงการคุมกำเนิดที่ดำเนินโดยยุโรป ช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำลายโครงสร้างของสถาบันครอบครัว ที่แต่ละคนมุ่งแต่ใช้สถาบันนี้เป็นเพียงแหล่งบันเทิงทางกามารมณ์ ภายใต้แนวคิดเซ็กส์เสรีเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นแหล่งผลิตอนุชนที่ดีและมีคุณภาพตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพราะยุโรปใช้น้ำ(อสุจิ)ที่ไม่ก่อประโยชน์ อันใดเลย เป็นการปล่อยน้ำฟุ่มเฟือย ไร้การควบคุม ยุโรปจึงไม่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์จากน้ำที่อัลลอฮฺประทานให้ เนื่องจากจมปลักในแนวคิดเซ็กส์เสรี ทั้งๆที่อัลลอฮฺได้สร้างทุกสิ่งที่มีชีวิตมาจากน้ำทั้งสิ้น วิกฤตินี้จึงไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น มันเป็นปรากฏการณ์ฟองสบู่แตก จากฐานรากในสังคมที่ถูกหมักหมมมานาน และเป็นอุบายประการหนึ่งของอัลลอฮฺที่ต้องการทำลายประชาชาติที่อหังการจากแกนของมัน
ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวในอัลกุรอานความว่า

“ผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และบนความโปรดปรานนั้นดีกว่าหรือว่าผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนริมขอบเหวที่จะพังทลายลง แล้วมันก็พัง นำเขาลงไปในนรกและอัลลอฮ์นั้นจะไม่ชี้แนะทางแก่กลุ่มชนที่อธรรม” (อัตเตาบะฮฺ /109)

สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักยุโรปเข้าไปในวังวนวิกฤติเศรษฐกิจคือ วิถีแห่งความฟุ่มเฟือยที่ซึมลึกเข้าไปในวัฒนธรรมบริโภคนิยมของชาวยุโรป ในอัลกุรอานใช้คำว่า الترف หมายถึงฟุ่มเฟือยหลายที่ด้วยกัน และแต่ละครั้งก็จะเกี่ยวโยงกับความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งเป็นต้นตอของความล่มสลายของประชาชาติในที่สุด จนกระทั่งมีคนกล่าวว่า “ฉันไม่เห็นความฟุ่มเฟือยในสังคมใด นอกจากว่าในสังคมนั้นมีความอยุติธรรมควบคู่อยู่เสมอ” ما رايت اسرافا الا وبجانبه ظلم พฤติกรรมบริโภคนิยมของยุโรป เป็นสิ่งที่ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะมันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ยุโรปจึงต้องการสะสมทรัพยากรมหาศาลมาจุนเจืออยู่ตลอดเวลา เนื่องจากทรัพยากรในประเทศมีจำนวนจำกัด พวกเขาจึงต้องไปปล้นสะดมทั่วโลกตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน สงครามอ่าวที่ผ่านมาน่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ดี วัฒนธรรมบริโภคนิยมได้ซึมลึกเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวยุโรป ประเทศไม่มีวัยทำงานที่เพียงพอกับความต้องการทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง พวกเขาบริโภคเกินความต้องการที่จำเป็นในชีวิต และเกินกว่าฐานะรายได้หรือความสามารถในการผลิตของคนหรือของประเทศ ทำให้ประเทศต้องแบกภาระหนี้มหาศาล ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคนิยมได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือเป็นการทำลายอารยธรรมจากรากฐาน และทำให้อารยธรรมนี้พังครืนไปในที่สุด

คล้อยหลังวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์สถานการณ์โลกทุกสำนักในโลกนี้ แม้กระทั่งนักทำงานอิสลามนานาชาติก็ไม่เคยวิเคราะห์มาก่อนเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงขนาดเคยมีคำกล่าวว่า เราไม่เชื่อกับวิธีการปฏิวัติ และไม่เชื่อว่าการปฏิวัติจะเกิดผลประโยชน์อันใดเลย Arab Spring จึงเป็นปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองที่กำลังลุกลามอยู่ในโลกเวลานี้ มีชื่อเรียกว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ” หรือ The Jasmine Revolution เนื่องจากการปฏิวัติดังกล่าวเริ่มต้นที่ประเทศตูนิเซีย ซึ่งมีดอกมะลิเป็นดอกไม้ประจำชาติ ต่อมาลุกลามไปที่อิยิปต์ ลิเบีย เยเมน และขณะนี้กำลังคุกรุ่นอยู่ที่ซีเรีย ซึ่งถือเป็นโฉมใหม่ของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอิสลามในไม่ช้านี้ เพราะการปฏิวัติประชาชนก่อนหน้านี้ถือเป็นการปฏิวัติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่ซีเรียเป็นการกระชากหน้ากากของผู้อยู่เบื้องหลังของผู้แอบอ้างอิสลาม เพื่อทำลายอิสลามจากภายใน
ชัยค์อะลีย์ อัศศอบูนีย์ได้กล่าวระหว่างทัวร์ความรู้ในประเทศมาเลเชียและอินโดนีเซียช่วงปลายปี 2012 ว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ซีเรียเป็นสงครามเพื่อความอยู่รอดระหว่างขั้ว لا اله الا الله และ لا اله الا بشار เลยทีเดียว
ซึ่งขั้วแรกจะต้องได้รับชัยชนะอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่สะเทือนโลกนี้ เป็นการยืนยันทฤษฎี กงล้อทางอารยธรรม التدوال الحضاري เพราะหากความเจริญของสังคมทุกสังคมย่อมมีที่มาที่ไปของมัน การล่มสลายของแต่ละสังคมย่อมมีเหตุผลของมันเช่นกัน ดังนั้นทฤษฎีกงล้อทางอารยธรรม จึงเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มีภาวะขึ้นลงตามวิถีของมัน ถือเป็นอายุขัยของแต่ละประชาชาติและอารยธรรมในทุกยุคทุกสมัย เป็นการขึ้นลงที่มีความสมดุลตามวิถีของอัลลอฮฺ (สุนนะตุลลอฮฺ) ล้อเกวียนจะหมุนเร็วเท่าไหร่ ส่วนอื่นก็จะหมุนตามจังหวะนั้นไปด้วย อารยธรรมใดที่เคยอยู่ส่วนบนได้ล่มสลายไปอย่างรวดเร็วฉันใด อารยธรรมอื่นก็จะขึ้นมาแทนที่อย่างรวดเร็วฉันนั้น

وتلك الايام نداولها بين الناس وليعلم الله الذين امنوا ويتخذ منكم شهداء والله لا يحب الظالمين
และบรรดาวันเหล่านั้นเราได้ให้มันหมุนเวียนไประหว่างมนุษย์ และเพื่ออัลลอฮ์จะได้ทรงรับรู้บรรดาผู้ที่ศรัทธา และเพื่อเอาบรรดาผู้เสียชีวิตในสงคราม จากพวกเจ้าและอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงรักใคร่ผู้อธรรมทั้งหลาย (อาละอิมรอน / 140)

หลายฝ่าย ฟันธงว่า อารยธรรมอิสลามเป็นอารยธรรมใหม่ที่จะมาแทนที่อารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว คำถามก็คือ แล้วประชาชาติมุสลิมมีความพร้อมที่จะอยู่ด้านบนสุดของล้อเกวียนมากน้อยแค่ไหน

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ