รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกมาตรการเกณฑ์อนุญาตให้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้อย่างจำกัด

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี : ซาอุดิอาระเบียไม่เคยลดละความพยายามในการเอื้ออำนวยบรรยากาศแห่งศรัทธาและแรงบันดาลใจตามเจตนารมณ์อิสลาม

ริยาด 08 ซุลเกาะดะฮ์ 1441(29/6/2020)

สำนักข่าวซาอุดิอาระเบีย WAS ระบุอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและประธานมูลนิธิมะดีนะตุสสลาม รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ยืนยันว่า มาตรการของซาอุดิอาระเบียที่อนุญาตให้ผู้ถือสัญชาติต่างๆที่พำนักในซาอุดิอาระเบียสามารถประกอบพิธีฮัจญ์ตามจำนวนที่จำกัด ถือเป็นมติที่มีความรอบคอบ และสุขุมคัมภีรภาพที่สุดที่คำนึงถึงความปลอดภัยของอาคันตุกะของพระผู้แห่งความเมตตา

ทั้งนี้เนื่องจากการทำฮัจญ์มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือความสามารถในการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์หลักของอิสลามที่คำนึงถึงความปลอดภัยของบรรดาผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ช่วงเวลาที่พวกเขาใช้ชีวิตในแผ่นดินหะรอม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียไม่เคยลดละความพยายามที่จะเอื้ออำนวยบรรยากาศแห่งการศรัทธาและสันติสุข พร้อมร่วมขอพรให้ซาอุดิอาระเบียยืนหยัดบนหลักดุลยภาพแห่งอิสลามในการผดุงไว้ซึ่งสันติภาพสากลตลอดไป

รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประกาศปิดการทำอุมเราะฮ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และกระทรวงฮัจญ์ได้ประกาศกำหนดจำนวนผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ตามจำนวนที่จำกัดเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเป็นวิกฤตโลกในปัจจุบัน

อ้างอิงจาก
https://www.spa.gov.sa/viewfullstory.php?lang=ar&newsid=2103462#2103462

ตุรกีจัดอบรมครูสอนอัลกุรอาน 132 คน ที่ซีเรีย

อย่ามองแค่สงคราม แต่จงมองให้ไกลว่า ผลของสงคราม เกิดอะไรขึ้น

องค์กรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตุรกี (IHH) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรครูสอนอัลกุอานจำนวน 132 คน ด้วยความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดชานลี โอร์ฟาแห่งตุรกี และการประสานงานจากสภาเทศบาลเมืองเราะสุลอัยน์ ซีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำยูเฟรทีส

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ผลิตครูสอนอันกุรอาน เพื่อสอนเยาวชนซีเรียตามสถาบันการสอนอัลกุรอานที่เปิดในเมืองเราะสุลอัยน์ ซีเรีย

แหล่งข่าวระบุว่า โครงการนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นตามคำดำริของประธานาธิบดีตุรกี นายแอร์โดอาน โดยที่องค์กร IHH ตุรกี ได้เปิดสถาบันสอนอัลกุรอานนำร่องในเมืองนี้แล้วจำนวน 2 แห่ง ทั้งนี้สภาเทศบาลเมืองเราะสุลอัยน์ได้สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารและองค์กร IHH ได้สนับสนุนค่าอุปกรณ์และการบริหารจัดการ

ก่อนหน้านี้เมืองเราะสุลอัยน์ ถูกปกครองโดยกลุ่มก่อการร้าย PKK/PYD ซึ่งได้ปิดสถานเรียนอัลกุรอานและสั่งปิดโรงเรียนสอนศาสนาอีกหลายแห่ง แต่หลังจากแผนปฏิบัติการ “ต้นน้ำสันติภาพ” ที่นำโดยกองกำลังตุรกี ซึ่งได้ขับไล่กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่แห่งนี้กลับสู่สันติภาพอีกครั้ง


อ้างอิงจาก https://tr.agency/news-102865


สรุปโดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ลิเบีย : จากสงครามกลางเมืองถึงสงครามตัวแทน

การลุกฮือของประชาชนในลิเบียจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ตามมาด้วยการแทรกแซงทางทหารของกองกำลังนาโต้ ได้ทำให้ระบอบกัดดาฟีที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษต้องจบสิ้นลง

แต่ผลที่ตามมาประการหนึ่งหลังจากนั้นคือการถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมายของกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์เป้าหมายแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่สังกัดกลุ่มชนเผ่าและวงศ์ตระกูลต่างๆ

นับรวม ๆ กันแล้วกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 100 ถึง 300 กลุ่ม โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ มากถึง 125,000 คน

ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนกลุ่มติดอาวุธก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลปี 2014 ปรากฏว่ามีกลุ่มติดอาวุธในลิเบียอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,600 กลุ่ม ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาและเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมแนวทางศาสนา

แต่กลุ่มติดอาวุธสำคัญ ๆ นั้นเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดซินตาน มิสราต้า เบงกาซี และตริโปลี

นับตั้งแต่ปี 2012 กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ (ที่บางครั้งก็ผนวกรวมหลายกลุ่มเข้าเป็นพันธมิตรกัน) ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยการสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองสำคัญฝ่ายต่าง ๆ การเข้าร่วมสังกัดพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะใช้ความสัมพันธ์ทางสายตระกูล ชนเผ่า ความรู้สึกภูมิภาคนิยม อุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์การเมืองเป็นเครื่องมือยึดโยงระหว่างกัน

ถึงอย่างนั้นกลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่หลังยุคกัดดาฟีก็ได้หลอมรวมเป็นพันธมิตรที่เข้าไปสังกัดกองทัพลิเบีย 2 หน่วยงานคือ กองกำลังป้องกันลิเบีย (Libya Shield Force) และกรรมาธิการความมั่นคงสูงสุด (Supreme Security Committee)

ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยงานความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยที่หน่วยงานแรกสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ขณะที่หน่วยงานหลังอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย

แม้จะสังกัดกระทรวง แต่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอำนาจที่เป็นอิสระและเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก บางกลุ่มมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ บางกลุ่มเคลื่อนไหวให้ตนเองมีอำนาจทางการเมือง บางกลุ่มมีเป้าหมายระดับท้องถิ่น และบางกลุ่มก็มีเป้าหมายก่ออาชญากรรม

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่กองทัพลิเบียอ่อนแอไร้เอกภาพจึงทำให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอำนาจมากขึ้น อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบียเลวร้ายลง

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กลุ่มติดอาวุธแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนสภาแห่งชาติลิเบีย (General National Congress: GNC) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตริโปลี โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางอิสลาม (ตอนหลังพัฒนาไปเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก)

ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองตับลู๊ก (Tobluk) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางเซคิวล่าร์ (พัฒนาไปเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภายหลัง)

สถานการณ์ความรุนแรงยิ่งเลวร้ายลงเมื่อแต่ละฝ่ายพยายามขอความช่วยเหลือจากตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวแสดงในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค เกิดเป็นสงครามตัวแทนในลิเบียที่ยากจะแก้ไขได้

ส่วนใครเป็นใครในสงครามตัวแทนนี้ ค่อยมาอธิบายขยายความกันอีกทีครับ

เครดิตภาพจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/01/eyes-berlin-world-powers-set-libya-talks-200118052038464.html

เขียนโดย Srawut Aree

ไฟแค้นที่ไม่มีวันดับมอด

ตุรกีประณามการก่อวินาศกรรมของระบอบการปกครองของซีเรียต่อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ

ยาวูซ ซาลิม กีรอน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศตุรกี แถลงผ่านทาง Twitter ประนามการก่อวินาศกรรมและขุดรื้อสุสานของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ตั้งอยู่ในเขต มะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของจังหวัดอิดลิบ พร้อมกับภาพสุสานที่ถูกทำลาย

“เราขอประณามการโจมตีอย่างร้ายกาจโดยระบอบการปกครองของซีเรียและผู้สนับสนุนต่ออนุสรณ์สุหนี่และออตโตมันในภูมิภาค”

“ระบอบการปกครองของซีเรียแสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพในคุณค่าทางจิตวิญญาณ”

การบันทึกวิดีโอของผู้สนับสนุนระบอบการปกครองซีเรียบนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากอิหร่านได้ขุดสุสานคอลีฟะฮ์ที่ตั้งในหมู่บ้านเดรชัรกีย์ เมืองมะอัรเราะฮ์นุมาน ทางใต้ของอิดลิบ

ทั้งนี้ กองกำลังของรัฐบาลซีเรียได้จุดไฟเผาพื้นที่รอบสุสานเมื่อพวกเขาได้เข้าควบคุมหมู่บ้านเดรชัรกีย์ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ซึ่งได้ทำให้สุสานประสบความเสียหาย

คอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ เป็นคอลีฟะฮ์ลำดับที่แปดในราชวงศ์อุมัยยะฮ์ แม่ของท่านเป็นหลานของท่านอุมัร บินค๊อตตอบคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคุลาฟารอชีดีนลำดับที่ 5 จากการปกครองโดยยุติธรรมในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี และ 5 เดือน

● คลิปสุสานคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอาซิซ ที่ถูกขุดทำลาย
https://twitter.com/i/status/1265357310475501568

https://www.aa.com.tr/ar/1867052/علماء-المسلمين-يدين-نبش-ضريح-الخليفة-عمر-بن-عبدالعزيز/الدول-العربية

เขียนโดย Ghazali Benmad

เบื้องหลังเปิดเกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ ตุรกี

60 ปี ในอดีต ในวันที่ 27 พค. 1960 ทายาทเคมาลิสต์ได้ก่อรัฐประหารครั้งแรก และโค่นรัฐบาลอัดนาน มันเดรส ที่ชนะเลือกตั้ง 2 วาระซ้อน(10 ปี) ด้วยเหตุผลนำพาประเทศที่ปฏิปักษ์กับปรัชญาเคมาลิสต์และพยายามสร้างตุรกีเป็นรัฐศาสนา มันเดรสและรัฐมนตรีอีก 2 คน ถูกจับตัวและถูกขังที่เกาะ Yassiada เพื่อให้ห่างไกลจากผู้คน ต่อมา ในเดือนกันยายน 1961 พวกเขาถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ

หนึ่งในความผิดพลาดอันร้ายแรงของมันเดรส ที่กลุ่มก่อรัฐประหารยัดเยียดคือ รัฐบาลแมนดาริสอนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถอะซานด้วยภาษาอาหรับ อนุญาตให้ชาวตุรกีสามารถทำหัจญ์และประกอบพิธีทางศาสนาตามความเขื่อของตน

เกาะ Yassiada ถูกปล่อยร้างตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งปธน. แอร์โดอานดำริที่จะฟื้นฟูเกาะนี้อีกครั้ง โดยเริ่มพัฒนาจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะประชาธิปไตยและอิสรภาพ การก่อสร้างตามแผนพัฒนาเริ่มต้นในปี 2013

เมื่อวันที่ 27 พค. 2020 ซึ่งเป็นวันคล้าย 60 ปีแห่งรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตุรกียุคใหม่ ปธน. ตุรกี ได้เป็นประธานเปิดเกาะภายใต้ชื่อใหม่นี้อย่างเป็นทางการ

เกาะที่มีขนาดเพียง 0.05 ตร.กม. นี้ มีทั้งโรงแรมที่พัก อาคารประชุมสัมมนา ภัตตาคาร พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อว่าพิพิธภัณฑ์อัดนาน มันเดรส รวมทั้งมัสยิดขนาดความจุ 1,200 คน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตลอด 24 ชม. และกลายเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งใหม่หลังถูกทิ้งร้างนานถึง 26 ปี

บางตอนของคำกล่าวประธานาธิบดีแอร์โดอานในพิธีเปิด

– เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารที่เป็นเหตุการณ์อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ และบนเกาะแห่งนี้ได้เกิดอาชญากรรมครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกีเช่นกัน
– สัญลักษณ์เดียวที่สำคัญที่สุดของผู้ก่อปฏิวัติในประเทศเราคือ ความเกลียดชังต่อประชาชนและประวัติศาสตร์ของเรา
– พวกเขาไม่ได้หวังทำลายบุคคลใดเป็นการเฉพาะ แต่เป้าหมายเดียวของพวกเขาคือประชาชนชาวตุรกี ประวัติศาสตร์ อารยธรรมและการศรัทธาของชาวตุรกีต่างหาก
– อาชญากรที่ประหารท่านแมนดาริสและสหายของท่าน พวกเขาใช้ชีวิตด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังและโกรธแค้นจากประชาชนตลอดเวลา


ทั้งมันเดรสและคณะผู้ประหารได้ตายจากไปแล้ว แต่ที่ยังคงอยู่ตราบจนวันกิยามะฮ์คือความจริงและความเท็จ ความดีและความชั่วที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติไว

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

มนุษยธรรมต้องมาก่อน

รัฐบาลตุรกีส่งความช่วยเหลือครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 แก่สหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบินประจำกองทัพอากาศตุรกีได้ลำเลียงความช่วยเหลือที่สนามบินกรุงวอชิงตัน

นายแอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า เราได้มอบความข่วยเหลือด้านการแพทย์ไปยัง 54 ประเทศทั่วโลก จากประเทศบอลข่านไปถึงแอฟริกา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 และถือเป็นหน้าที่ของตุรกีที่จะต้องปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมครั้งนี้

สหรัฐอเมริกาโดนวิกฤตโควิด-19 อย่างหนักหน่วง ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1.1 ล้าน คนตายดุจใบไม้ร่วงเกือบ 2 พันรายต่อวัน

การคะนึงคิดของผมคือให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลาม

Omandaily.om ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ฉบับวันที่ 29 /4/2020 ในคราวสัมมนานานาชาติว่าด้วยการพัฒนาศาสตร์กฎหมายอิสลามที่กรุงมัสคัต ประเทศโอมานระหว่างวันที่ 1-3/12/2019 โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายอิสลามทั่วโลกกว่า 50 คนเข้าร่วม

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยประโยคว่า “ทุกเสี้ยวนาทีในคะนึงคิดของผม คืออยากให้โลกใบนี้ได้รับความดีงามของอิสลามพร้อมยืนยันว่าความแตกแยกในหมู่มนุษย์ หาใช่มีสาเหตุอื่นใดนอกจากผลพวงการทำงานของมารร้าย(ชัยฏอน)

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้กล่าวถึงอิสลามว่า เป็นศาสนาแห่งความโปรดปรานและสันติ และความขัดแย้งในประเด็นข้อปลีกย่อยทางอะกีดะฮ์เนื่องจากความไม่เข้าใจในองค์รวมศาสนา และไม่สมควรทำเป็นสาเหตุแห่งความแตกแยก

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยฟาฏอนีว่าในฐานะอธิการบดี เราได้ตั้งเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการนำสารอิสลามแห่งสันติไปยังสังคมในทุกระดับ ทุกคนสามารถเข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้โดยไม่เลือกเพศ ศาสนาและอายุ ในขณะที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนกิจการของชาวมุสลิมด้วยดีมาโดยตลอดและให้อิสระแก่ชาวมุสลิมปฏิบัติตามความเชื่ออย่างอิสระเสรี http://www.ftu.ac.th/

พร้อมนี้ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนียังได้กล่าวถึงหนังสือที่ท่านเพิ่งเขียนเสร็จล่าสุดคือประชาชาติหนึ่งเดียววิถีชีวิตของชาวสุนนะฮ์ วัลญะมาอะฮ์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยกล่าวย้ำอันตรายแผนการของมารร้าย (ชัยฏอน) ที่คอยยุแหย่ผู้คนให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชัง พร้อมระบุว่าการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของมารร้ายเป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม https://www.omandaily.om/?p=786386

โรงพยาบาลศูนย์แห่งที่ 4 ในตุรกี

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน 2020 ประธานาธิบดีตุรกีนายแอร์โดอาน ได้เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลศูนย์แห่งใหม่ที่เมือง Basaksehir เมืองทางทิศตะวันตกของอิสตันบูลฝั่งยุโรป เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในนครอิสตันบูลและอันดับ 3 ของประเทศ ถือเป็นการเปิดตัวในเฟสแรก ส่วนเฟส 2 คาดว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2020 นี้

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2016 ใช้คนงานที่ครอบคลุมฝ่ายต่างๆจำนวน 6,000 คน โดยสร้างขึ้นบนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ที่เมือง Basaksehir โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยจำนวน 32,700 รายต่อวัน พร้อมด้วย 2,640 เตียง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นผลความร่วมมือการลงทุนระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนโดยมีวัตถุประสงค์ให้บริการและสวัสดิการทางการแพทย์แก่ประชาชนในนครอิสตันบูลและพื้นที่ใกล้เคียง

โรงพยาบาลศูนย์แห่งนี้ ได้ถูกออกแบบที่เชื่อมโยงกับระบบจราจรและการคมนาคมอย่างครบวงจร ทั้งทางบก ทางทะเลและอากาศ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาระบบจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ตัวอาคารได้ถูกออกแบบตามมาตรฐานต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว มีเจ้าหน้าที่และบุคลากรประจำการกว่า 10,000 คนในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 4,300 คน เจ้าหน้าที่แผนกบริการจำนวน 4,050 คน บุคลากรสายบริหารสำนักงานทั่วไป 810 คนและอื่นๆ

ปัจจุบันทั่วประเทศตุรกีมีโรงพยาบาลจำนวน 1,518 แห่ง ประกอบด้วย 240,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยทั่วไปและ 40,000 เตียงสำหรับผู้ป่วยเฉพาะ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ที่มา : https://www.aljazeera.net/news/healthmedicine/2020/4/19/%D9%85%D8%AF%D9%8A%D9%86%D8%A9-%D8%B7%D8%A8%D9%8A%D8%A9-%D8%AC%D8%AF%D9%8A%D8%AF%D8%A9-%D9%81%D9%8A-%D8%AA%D8%B1%D9%83%D9%8A%D8%A7

มองต่างมุมทีวีอัลจาซีร่าห์

Faisal Qasim นักจัดรายการทีวีอัลจาซีร่าห์ในรายการ มองต่างมุม ได้ตั้งประเด็นการพูดคุย เรื่อง จีนยุโรปและสหรัฐอเมริกา ระหว่างเผด็จการคอมมิวนิสต์จีนกับประเทศประชาธิปไตยแบบยุโรปและสหรัฐอเมริกา ฝ่ายไหนสามารถรับมือวิกฤติโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านมาตอบประเด็น สรุปสาระหลักดังนี้

Majdi Khalil (รูปซ้ายมือ) นักสิทธิมนุษยชนชาวอียิปต์ นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ พำนักที่สหรัฐอเมริกา ผู้เกลียดชังอิสลามและชื่นชมยกย่องตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวโจมตีจีนว่า เป็นต้นเหตุของวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และการที่จีนประกาศเปิดประเทศอีกครั้ง หลังมั่นใจว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น เป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของจีนตามนโยบายของระบบคอมมิวนิสต์ที่พยายามปกปิดสถานการณ์ที่เป็นจริงมาโดยตลอด เขายังเรียกร้องให้ยุโรปและสหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการลงโทษและให้บทเรียนอย่างสาสมแก่จีนในฐานะผู้รับผิดชอบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้

Anis Naqqash (รูปขวามือ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองตะวันออกกลางชาวเลบานอนแกนนำองค์กรฟาตะห์ของอดีตผู้นำยัสเซอร์ อาราฟัต สนับสนุนกลุ่มหิสบุลลอฮ์ เลบานอนและอีหร่าน มีทัศนะว่าจีนประสบผลสำเร็จในการรับมือวิกฤติโควิด-19 และยังได้มอบความช่วยเหลือมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป ถึงขนาดนายกรัฐมนตรีอิตาลี ได้ประกาศลดธงสหภาพยุโรปและยกธงชาติจีนแทน เพื่อแสดงความขอบคุณในมิตรไมตรีของจีนที่ให้ความช่วยเหลือแก่อิตาลีในการรับมือวิกฤติหนักของชาติขณะนี้ ในขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ ล้มเหลวที่จะแสดงจุดยืนที่ดีต่อประเทศสมาชิก เขามีทัศนะว่า หลังวิกฤตโควิด-19 นี้ โลกจะพบความเปลี่ยนแปลงภาวะการนำครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้สหรัฐฯต้องยอมรับสภาพที่แท้จริงของตนเอง

โดย ทีมงานต่างประเทศ

เปิดตัวหนังสือคู่มือโควิด-19 ภาษามลายู-รูมี ผ่านประชุมทางไกล

เปิดตัวทางการหนังสือคู่มือเผชิญโรคระบาดโควิด 19 ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video conference)

เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. ตามเวลาในเมืองไทย รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เปิดตัวหนังสือคู่มือเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ผ่านระบบประชุมทางไกล (Video conference) โดยมี ฯพณฯ YB. Dato’ Seri Dr. Zulkifli AL-Bakri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย Dato’ Syeikh Haji Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอชุโกร์ต่ออัลลอฮ์ ท่ามกลางโลกกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงขณะนี้ ด้วยความร่วมมือจากสภาอุละมาอฺมาเลเซีย (Persatuan Ulama Malaysia-PUM) ได้เปิดตัวหนังสือ “คู่มือเผชิญโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) “ ภาคภาษามลายู อักษรรูมี ซึ่งได้รับเกียรติอย่างสูงจาก ฯพณฯ YB.Dato’ Seri Dr. Zulkifli AL-Bakri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนา ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เพิ่มความบารอกะฮ์และมีคุณค่ายิ่งขึ้น ขอขอบคุณ ฯพณฯ เป็นอย่างยิ่ง ขอขอบคูน Dato’ Syeikh Haji Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย และพี่น้องทุกท่านจากมาเลเซียที่ให้เกียรติร่วมเปิดตัวหนังสือเล่มนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนามาเลเซียกล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยียุคใหม่ เปิดตัวหนังสือผ่าน Video conference ในวันนี้ ขอบคุณ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่ได้เขียนหนังสือที่มีคุณค่ายิ่ง พร้อมนำเสนอหลักคำสอนและแนวปฏิบัติที่สามารถเป็นคู่มือสำหรับมุสลิมและชนต่างศาสนิกทุกคน ในการเผชิญกับวิกฤตเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ ขอบคุณสภาอุละมาอฺมาเลเซียที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้

“ด้วยนามของอัลลอฮ์ ข้าพเจ้าขอเปิดตัวหนังสือ “คู่มือเผชิญโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” เขียนโดย รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ตั้งแต่บัดนี้ จงมุ่งหน้าต่อไป ด้วยความบารอกัตของอัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงตอบแทนด้วยความดีงามแก่ทุกท่าน “ รมว. กิจการศาสนามาเลเซียกล่าวทิ้งท้าย