สัญญาณผู้มีโรคทางใจ

บรรดาผู้มีโรคทางใจมักจะไม่สนใจเรื่องสุขภาพของผู้เจ็บป่วย ยกเว้นในช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

พวกเขาไม่เคยใส่ใจเรื่องการคุ้มครองชีวิตสัตว์ ยกเว้นช่วงอิดิลอัฎฮา

พวกเขาไม่เคยแตะต้องเรื่องสิทธิสตรียกเว้นเรื่องฮิญาบและการรับมรดกของสตรี

พวกเขาไม่เคยให้ความสำคัญกับการสร้างโรงพยาบาล ยกเว้นเมื่อมีการสร้างมัสยิด

พวกเขาไม่เคยพูดประเด็นการฟุ่มเฟือยและค่าใช้จ่าย ยกเว้นช่วงเทศกาลทำฮัจญ์และอุมเราะฮ์


แหล่งที่มา Twitter : @M-Durmaz-Ar

โดย Mazlan Muhammad

ตัวชี้วัดของการอดทนยามเจ็บป่วยหรือประสบภัยพิบัติ

อิสลามสอนให้ผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยพิบัติให้ใช้ความอดทนอย่างแรงกล้า นบีได้แจ้งข่าวดีว่า อัลลอฮ์จะทรงยกโทษและลบล้างบาปของผู้เจ็บป่วยหรือผู้ประสบภัยพิบัติ ถึงแม้เขาจะโดนตอกหนามเพียงน้อยนิดก็ตาม ยกระดับของเขาและเพิ่มพูนผลบุญมากมาย และหากเสียชีวิตด้วยโรคบางชนิดเช่นโรคติดต่อ หรือโรคภายในท้อง(ตับ ไต หัวใจ ฯลฯ) เขาจะได้รับฐานะชะฮีด ณ อัลลอฮ์ทีเดียว

แต่ทั้งนี้ มีข้อแม้ว่า เขาจะต้องอดทน อดกลั้นกับบททดสอบนี้ด้วยหัวใจที่น้อมรับ และมองบวก ซึ่งสัญญานที่คนๆหนึ่งมีความอดทนยามเจ็บป่วยหรือประสบภัยพิบัติ มีดังนี้

                1.            บังคับความรู้สึกไม่ให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนทางใจ เช่น เครียดจนเกินเหตุ สับสนกระวนกระวาย ซึมเศร้าวิตกกังวล น้อยเนื้อต่ำใจ อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย

                2.            บังคับลิ้นและวาจา ไม่ให้ดุด่า จู้จี้ขี้บ่น โวยวาย เล่าความเจ็บปวดของตนซ้ำซาก ชอบตัดพ้อจนกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย

3.            บังคับร่างกายไม่ให้แสดงกิริยาที่แสดงตัวตนว่าไม่มีน้ำอดน้ำทน อยู่ไม่สุข หงุดหงิดง่ายทั้งสายตา ใบหน้า และอวัยวะอื่นๆ

ความอดทนของผู้ป่วยมีระดับชั้นที่มากมาย และมีฐานะที่ลดหลั่นกันไป ซึ่งสามารถประเมินได้จาก 3 ตัวชี้วัดที่ได้กล่าวข้างต้น

บางคนได้คะแนนเต็มร้อย บางคนอยู่ในระดับดี บางคนผ่านแค่เฉียดฉิว บางคนคะแนนตกต้องแก้ใหม่ และบางคนไม่มีโอกาสแก้ตัวได้เลย

ผู้ป่วยที่มีความอดทนที่สุดยอดที่สุดคือนบีอัยยูบ عليه السلام ที่ป่วยด้วยโรคผิวหนังนานเกือบ 20 ปี  ท่านไม่เคยปริปากบ่นแม้แต่น้อย และเมื่อโรคร้ายลุกลามจนเกินทน ท่านจึงกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ แท้จริงฉันประสบกับความเดือดร้อน และพระองค์เป็นผู้เหนือยิ่งในบรรดาผู้กรุณา “ (ดูอัลกุรอานซูเราะห์อันบิยาอฺ/83)

เช่นเดียวกันกับนบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ที่ท่านเคยพลาดทานเนื้อแพะอาบยาพิษที่สตรียิวนำมามอบให้ ความรุนแรงของพิษทำให้ท่านต้องทนความเจ็บปวด จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ท่านไม่เคยบอกให้ใครทราบ นอกจากช่วงเวลาที่ท่านจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่วันเท่านั้น اللهم صل على محمد وعلى آله وصحبه ومن تبعه إلى يوم الدين

ดังนั้น พึงรู้ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมชีวิตที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ผลบุญของ เกิด แก่ เจ็บ ตายของแต่ละคนนั้น มีไม่เท่ากัน

บางคน ใช้สัจธรรมดังกล่าว มาประยุกต์เป็นผลบุญมหาศาล

แต่บางคนกลับใช้เป็นยอดสะสมบาปที่มากมาย

ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ ความมอดทนนั่นเอง

إِنَّمَا يُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُم بِغَيْرِ حِسَابٍۗ

(الزمر /١٠)

ความว่า : แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ


โดย Mazlan Muhammad

เรื่องเล่าชายแดนใต้ (2)

นายซูเฟียน อาแว (19 ปี) ภูมิลำเนาที่หมู่บ้านกระเสาะ ต. กระเสาะ อ. มายอ จ. ปัตตานี กำลังศึกษาชั้นม. 5 โรงเรียนส่งเสริมศาสน์ ตันหยงดาลอ อ. ยะหริ่ง จ.  ปัตตานี ขณะอายุประมาณ 3 ขวบ มีคนร้ายบุกเข้าบ้านกลางคืนจ่อยิงคุณพ่อเสียชีวิตจมกองเลือดต่อหน้าต่อตาของหนูน้อยซูเฟียน จากการพูดคุย นายซูเฟียน เล่าว่าตนยังจำเหตุการณ์เมื่อ 16 ปีในอดีตได้อย่างดี มันคือฝันร้ายที่เป็นจริงที่คอยหลอกหลอนในความทรงจำจนถึงทุกวันนี้ ขณะนี้ตนอาศัยอยู่กับตายาย ซึ่งมีฐานะยากลำบากมาก แต่ทั้งสองยังจุนเจืออุปการะตนให้ได้รับการศึกษา ตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งปัจจุบัน ตนจึงใช้เวลาว่างรับจ้างทั่วไปทั้งถางป่า กวาดขยะ ช่วยงานที่โรงเรียนและอื่นๆ เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณยาย ในอนาคตนายซูเฟียนตั้งใจจะเรียนสายอาขีวะ เพื่อเป็นหลักประกันการใช้ชีวิตที่ดีและสามารถทดแทนบุญคุณของคุณตาคุณยายต่อไป

จากการสอบถามผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนส่งเสริมศาสน์  อุสต้าซมะห์มูด วามุ ทราบว่า นายซูเฟียน อาแว ได้เข้าเรียนที่นี่ตั้งแต่ระดับอนุบาล เป็นเด็กตั้งใจเรียน นิสัยดีเรียบร้อย มีจิตอาสาและชอบช่วยเหลืองานโรงเรียนมาโดยตลอด จึงเป็นที่รักของบรรดาเพื่อนๆ คุณครูและอุสต้าซ ทางโรงเรียนได้มอบซะกาตให้น้องซูเฟียนมาโดยตลอด

16 ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่งเริ่มปะทุ และได้ยืดเยื้อจนกระทั่งปัจจุบัน ช่วงนั้น หน่วยงานภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาอาจอยู่ในช่วงการเริ่มต้นและความสับสน จึงอาจตกสำรวจคดีที่เกิดขึ้นกับครอบครัวหนึ่งที่หมู่บ้านกระเสาะในอดีต เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวของมันอาจถูกกลบด้วยคดีรายวันต่างๆมากมาย จนทำให้เคสของหนูน้อยซูเฟียนถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

แต่หนูน้อยซูเฟียน อาแว ที่คลานอยู่ในกองเลือดของคุณพ่อ ก็ได้เติบใหญ่พร้อมลุกขึ้นใช้ชีวิตบนโลกนี้ต่อไปด้วยความอดทนและเข้มแข็ง

16 ปีที่ต้องสู้ชีวิตพร้อมตายายที่มีฐานะยากจน สภาพแวดล้อม มีความเสี่ยงที่จะฉุดคร่าหนูน้อยซูเฟียนให้ตกในวังวนของปัญหาเยาวชนอันมืดมิด แต่เขาลุกขึ้นสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ตัวเองพร้อมตั้งใจเรียนอย่างขยันขันแข็ง ท่ามกลางข้อจำกัดมากมาย – ด้วยเตาฟิกจากอัลลอฮ์

นายซูเฟียน อาแว จึงเป็นอีก 1 เสียงของเหยื่อความรุนแรงที่ไม่ค่อยมีใครได้ยิน อีก 1 เรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครเล่าขาน

นับจากนี้

# อย่าปล่อยให้น้องซูเฟียน อาแว เดินอย่างเดียวดายเลยครับ


พี่น้องสามารถสมทบทุนการศึกษาให้น้องซูเฟียนผ่านหมายเลขบัญชี

ชื่อ นายซูเฟียน อาแว

หมายเลขบัญชี

929-300-267-1

ธนาคารกรุงไทย

บัญชีออมทรัพย์

สาขาเจริญประดิษฐ์

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 4 ]

ความเดิมจากตอนที่แล้วคือผมได้เล่าเรื่อง ‘แผนที่’ ถึงช่วงที่มีชาวยิวอพยพลั่งไหลเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์มากมายจนกลายเป็นปัญหา แต่องค์การสหประชาชาติก็เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยวิธีแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ผ่านการลงมติในที่ประชุม

ก่อนที่มติอันนี้จะถูกนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกเสียก่อน อันเป็นสงครามที่ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนเองเป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกปะทุขึ้นทันทีหลังจากที่มีการประกาศจัดตั้งรัฐยิวขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 กองทัพทหารของทรานซ์จอร์แดน อียิปต์และซีเรีย โดยมีพลรบจำนวนหนึ่งของเลบานอนและอิรักเข้าเสริม ได้เข้าไปยังดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 15 พฤษภาคม

ความจริงการปะทะกันได้เริ่มขึ้นก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1947 แล้ว แต่ทันทีหลังจากที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้ผ่านมติ “แผนแบ่งแยกดินแดน” (Partition Plan) ในปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 การปะทะต่อสู้ในลักษณะสงครามกลางเมืองระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวจึงเริ่มขึ้น

ฝ่ายปาเลสไตน์นั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกดินแดนและการจัดตั้งรัฐยิวขึ้น แต่สำหรับฝ่ายยิว หากแผนของสหประชาชาติได้รับการยอมรับก็มีความเชื่อกันว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลที่อาจขยายการยึดครองทั้งหมดหรือบางส่วนของรัฐอาหรับในภายภาคหน้า

การต่อสู้ในระยะแรกปรากฏว่าชาวปาเลสไตน์เป็นฝ่ายได้เปรียบและได้รับการเสริมกำลังจากกองทัพอาหรับเพื่อนบ้าน พวกเขาสามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสาร โอบล้อมที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ตลอดจนปิดกั้นทางเข้า-ออกของเมืองใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงกรุงเยรูซาเล็มเอาไว้ได้

แต่สถานการณ์เริ่มพลิกผันในช่วงปลายเดือนมีนาคม 1948 เมื่อเชคโกสโลวาเกียได้เข้าช่วยเหลือกองกำลังชาวยิว ทำให้กองทัพอิสราเอลเริ่มเป็นฝ่ายรุก

นับจากนั้นการฆ่าหมู่ (massacres) จึงเริ่มขึ้น และที่ฉาวโฉ่มากที่สุดคือ เหตุการณ์ในหมู่บ้าน ดีร ยาซีน (Dir Yassin) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1948 อันเป็นเหตุการณ์ที่นายทหารยิวของเมนาชิม เบกินส์ (Menachem Begin) สังหารชาวบ้านปาเลสไตน์ 250 คน ยังผลให้ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วประชาคมปาเลสไตน์ทั้งหมด

กองทัพอาหรับได้เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ก็ล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแนวโน้มของสงครามที่อิสราเอลกำลังได้เปรียบ ถึงแม้การต่อสู้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งก็สงบลงจากการทำข้อตกลงหยุดยิง

อย่างไรก็ตาม นับจากเดือนกรกฎาคม 1949 เป็นต้นมา อิสราเอลกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดตั้ง “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “Israeli Defence Force” (IDF) ขึ้น กองกำลังชาวยิวมีผู้บัญชาการที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก มีการเกณฑ์กำลังพลได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ได้รับการช่วยเหลือด้านอาวุธจากการลำเลียงขนส่งทางอากาศ (airlift) จากเชคโกสโลวาเกียจากฐานกำลังที่เมืองซาเทค (Zatec)

ความช่วยเหลือจากเชคโกสโลวาเกีย หมายความว่า สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เห็นชอบกับ “แผนแบ่งดินแดน” และยอมรับอิสราเอลในฐานะรัฐใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1948 มีส่วนช่วยอย่างมากต่อชัยชนะของอิสราเอลในสงครามครั้งแรกนี้

อย่าลืมว่าในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตสนใจเพียงเรื่องเดียวคือ การขจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไปจากตะวันออกกลางทั้งหมด

แผนการของสหภาพโซเวียตนับว่าบรรลุผล ความอับอายจากการพ่ายแพ้ทำให้โลกอาหรับเกิดความปั่นป่วนอย่างลุ่มลึก และอังกฤษก็ต้องจ่ายราคาค่าวิกฤตที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะมติมหาชนอาหรับเชื่อว่าอังกฤษเป็นต้นเหตุที่ผลักดันให้เกิดสงคราม

กระแสต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว นุกราชิ ปาห์ชา (Nokrashi Pasha) หนึ่งในผู้นำอียิปต์ที่นิยมอังกฤษถูกลอบสังหารในเดือนธันวาคม 1948 กลุ่มชาตินิยมวักฟ์ (Wafd) ของอียิปต์ กลับมาสู่เวทีการเมืองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1950 และต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1952 กลุ่มนายทหารอิสระ (Free Officers) จึงได้ยึดอำนาจโค่นล้มราชวงศ์กษัตริย์ลงในอียิปต์

ในอิรักเกิดความวุ่นวายที่เพิ่มขึ้น มีการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในซีเรีย แม้แต่ทรานซ์จอร์แดน ซึ่งได้รับความสำเร็จในการผนวกเวสต์แบงก์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรจอร์แดน ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นจากการที่กษัตริย์ อับดุลลอฮ์ โอรสของชารีฟ ฮุสเซนและเป็นปู่ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์องค์ปัจจุบัน ก็ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1951 ที่มัสยิดอัล-อักศอ ณ กรุงเยรูซาเล็ม

เหตุการณ์ทั้งหมดยังผลให้อิทธิพลของอังกฤษค่อยๆ หมดไป

แม้อังกฤษได้รับความเสียหายจากผลลัพธ์ของสงคราม แต่เหยื่อที่แท้จริงก็คือ ชาวปาเลสไตน์ ข้อตกลงหยุดยิงที่ลงนามระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับคู่อริต่างๆ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 20 กรกฎาคม 1949 ยังผลให้ดินแดนอิสราเอลขยายครอบคลุมร้อยละ 78 ของดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด

ส่วนของดินแดนปาเลสไตน์จากเดิมที่สหประชาชาติเคยแบ่งเขตดินแดนให้ กล่าวคือ จากเดิมที่อิสราเอลได้แค่ 14,000 ตารางกิโลเมตรก็กลายเป็น 21,000 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนที่ได้เพิ่มมาคือ ดินแดนกาลิลีตะวันตก (Western Galilee) ส่วนที่เป็นดินแดนของกรุงเยรูซาเล็มสมัยใหม่ และเมืองเนเกฟ (Negev) ตลอดรวมถึงท่าเรืออิลัต (Eilat) บนทะเลแดง (Red Sea)

นอกจากนั้น อิสราเอลและทรานซ์จอร์แดนยังได้แบ่งสรรดินแดนเวสต์แบงก์ระหว่างกัน ส่วนดินแดนกาซ่านั้นตกอยู่ภายใต้การอารักขาของอียิปต์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 750,000 คน ต้องถูกขับออกจากบ้านเรือนของตนเอง

งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อิสราเอลสมัยใหม่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอพยพเคลื่อนย้ายเป็นผลมาจากนโยบายการขับไล่ประชากรชาวปาเลสไตน์ นโยบายนี้ดำเนินเรื่อยไปหลังสงคราม โดยการทำลายหมู่บ้านอาหรับหรือการตั้งนิคมขึ้นใหม่เพื่อรองรับยิวอพยพในถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หรือโดยวิธีแบ่งที่ดินของชาวปาเลสไตน์ให้แก่ประชาคมชาวยิว โดยที่กฎหมายว่าด้วยเรื่อง “ทรัพย์สินที่ถูกละทิ้ง” (abandoned property) ของอิสราเอลได้ทำให้วิธีการนั้นมีความชอบธรรม

ในกรณีของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์นั้นสหประชาชาติ (ในเดือนเมษายน 1950) ได้บันทึกไว้ว่ามีเกือบ 1 ล้านคนที่อยู่ในจอร์แดน กาซ่า เลบานอนและซีเรีย

ในเดือนธันวาคม 1948 สหประชาชาติได้ผ่านมติ “สิทธิในการกลับคืนถิ่น” ของชาวปาเลสไตน์อพยพ แต่ผู้นำอิสราเอล นายเดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) กลับปฏิเสธพร้อมทั้งประกาศเมื่อวันที่16 มิถุนายน 1948 ว่า “เราจะต้องป้องกันไม่ให้พวกเขาได้กลับคืนถิ่นในทุกวิถีทาง”

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะที่อิสราเอลสามารถขยายดินแดนออกไป รัฐอาหรับเพื่อนบ้านทั้งหลายตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน และชาวปาเลสไตน์ถ้าไม่ถูกยึดครองก็ถูกขับไล่ออกไปจากดินแดน ทำให้สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ตามมาภายหลัง

จากตรงนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นดินแดนที่เกิดการนองเลือดนับจากนั้นเป็นต้นมา


โดย Srawut Aree

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 3 ]

ได้ข่าวมาว่าวันนี้ทั้ง Google Map และ Apple Map ได้ลบคำว่า “ปาเลสไตน์” ออกจากแผนที่ แล้วใช้คำว่า “อิสราเอล” เข้ามาแทนที่ ผมเลยลองเสิร์ชเข้าไปในทั้ง 2 เสิร์ชเอนจิน ปรากฏว่าไม่มีคำว่าปาเลสไตน์จริง ๆ มีแต่คำว่าอิสราเอล

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้จะมีคำว่าปาเลสไตน์อยู่หรือไม่ เพราะไม่เคยเข้าไปเสิร์ชดูมาก่อน ถึงอย่างนั้น ผมก็ค่อนข้างแน่ใจอย่างหนึ่งว่าความพยายามในการลบแผนที่ปาเลสไตน์ออกไปจากการรับรู้ของประชาคมโลกมันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ การเล่าเรื่องปาเลสไตน์ผ่านแผนที่ที่ผมกำลังทำอยู่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนที่ถูกกดขี่ได้รับความยุติธรรม หรืออย่างน้อยก็เป็นการรณรงค์ให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้และเข้าใจในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

แผนที่อันที่ 3 นี้ขอเล่าถึงแผนการแยกแผ่นดินปาเลสไตน์ขององค์การสหประชาชาติในปี 1947 ครับ

อย่างที่ผมได้เล่าไปแล้ว หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวเริ่มเคลื่อนย้ายจากยุโรปเข้ามาอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์จำนวนมาก ตามสถิติที่ทางการอังกฤษเองได้บันทึกเอาไว้ มีการไหลทะลักเข้ามาของชาวยิวอพยพระว่างปี 1920 ถึง 1946 มากถึง 376,415 คน (ดูข้อมูลจาก Stanford BJPA หน้า 185 ได้ครับ) จนทำให้ชาวอาหรับปาเลสไตน์ไม่พอใจ

ความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การปะทะต่อสู้กันเป็นระลอกๆ และนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เมื่อไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้ อังกฤษจึงนำประเด็นปัญหานี้มอบให้แก่สถาบันระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ขณะนั้นคือ องค์การสหประชาชาติ

ในการณ์นี้สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติจึงได้ส่งคณะกรรมการพิเศษ (United Nations Special Commission on Palestine: UNSCOP) เข้าไปในปาเลสไตน์เพื่อศึกษาและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

รายงานของ UNSCOP ได้ออกมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1947 โดยได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา 2 ทาง ทางแรกเป็นแผนของคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 รัฐ คือ รัฐยิวและรัฐอาหรับโดยมีสหภาพเศรษฐกิจ (economic Union) ร่วมกัน

ทางที่สองคือ การจัดตั้งสหพันธรัฐขึ้นในปาเลสไตน์

นอกจากนั้น รายงานยังเสนอให้กรุงเยรูซาเล็มเป็น “เขตระหว่างประเทศ” (international zone) ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสหประชาชาติโดยตรง เพราะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้งชาวยิว คริสเตียน และมุสลิม

ชาวอาหรับนั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกประเทศ แต่แผนนี้กลับได้รับความเห็นชอบและได้ออกเป็นมติของสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947

อังกฤษได้ยกเลิกระบบอาณัติที่ใช้กับดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 1948 หลังจากนั้นรัฐอิสราเอลจึงถูกประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดยคณะปกครองชาวยิวในปาเลสไตน์เมื่อวันที่

14 พฤษภาคม 1948 ซึ่งเป็นการประกาศที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักทั้งจากอาหรับและชาติต่าง ๆ จำนวนมากในเอเชียและแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจ 2 ชาติทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตกลับให้การยอมรับรัฐอิสราเอลที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การกำเนิดของรัฐอิสราเอลจึงนำไปสู่ความตึงเครียดภายในภูมิภาคตลอดมานับจากนั้น

อย่างที่ผมเรียนรับใช้ไป ในเวลานั้นประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน

ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ซึ่งครอบครองดินแดนมากกว่าร้อยละ 90

ที่เหลืออีกร้อยละ 6 เป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว ซึ่งมีประชากรอยู่ไม่ถึง 70,000 คน

พอมาถึงปี ค.ศ. 1948 ที่รัฐยิวถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าประชากรยิวเพิ่มขึ้นถึง 600,000 คน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด หรือมีการเพิ่มขึ้นของประชากรยิวถึงร้อยละ 725 เลยทีเดียว

สัดส่วนของการครอบครองที่ดินก็เปลี่ยนไปมาก

อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนปาเลสไตน์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายขององค์กรยิวไซออนิสต์ที่ปฏิเสธการจ้างงานชาวปาเลสไตน์

อย่างไรก็ดี แม้ถึงปี 1947 ประชากรชาวยิวจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ แต่แผนการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ของสหประชาชาติก็ยังมอบดินแดนส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ให้เป็นรัฐยิว ที่เหลืออีกร้อยละ 45 เป็นของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นเจ้าของเดิม

แผนแบ่งแยกดินแดนนี้ยังไม่ทันถูกนำไปปฏิบัติใช้หรอกครับ เพราะมันเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลเสียก่อน


โดย Srawut Aree

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 2 ]

หากดูตามเนื้อหาภาษาอังกฤษที่ปรากฏในแผนที่ข้างใต้บทความนี้ เพื่อน ๆ ก็คงเห็นเหมือนผมว่ามันมี 2 เรื่องสำคัญที่เราควรต้องทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือคำว่า British Mandate หรือ “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘ปาเลสไตน์’ อีกเรื่องก็คือคำว่า “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

ขออธิบายเรื่อง “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ก่อนครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงและสัญญาเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันกับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าทุกข้อตกลงจะมีจุดร่วมคือการแบ่งแยกดินแดนภายในของอาณาจักรออตโตมันเดิม ทว่าแต่ละชาติต่างไม่ลงรอยกันในเรื่องรูปแบบการปกครองของพื้นที่ดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากกรณีการตัดสินเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ว่าจะให้ฝ่ายใดครอบครอง สนธิสัญญาที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษที่ทำกับชารีฟ ฮุสเซน เจ้าผู้ครองดินแดนฮิยาซ ระบุว่า อังกฤษจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในดินแดนหลายส่วนซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามรบกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในขณะเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.1917 ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้น ก็เป็นผู้ลงนามใน “คำประกาศบัลโฟร์” มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว

แต่ในข้อตกลงไซคส์ – พิโกต์ (Sykes – Picot Agreement) อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงกันว่าจะให้ดินแดนปาเลสไตน์เป็น “ดินแดนสากล” (international zone)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งรัฐอิสราเอล เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่าในปัจจุบัน ดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจถกเถียงกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดน โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวอาหรับไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปดังกล่าว

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรักษาดินแดนอาณานิคมของตน สหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1917 กลับสนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ตามหลักการ 14 ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรล์ วิลสัน

แนวคิดที่ขัดแย้งกันของชาติมหาอำนาจได้คลี่คลายลงหลังการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันบริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาตชาติ เรียกว่า “ดินแดนใต้อาณัติ” (mandate) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล

ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญาแซฟร์ (Treaty of Sèvres) ขึ้น โดยกำหนดให้อังกฤษได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมียให้ไปอยู่ใต้อาณัติ ส่วนฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรีย (ซึ่งรวมเลบานอนด้วย) มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนตามมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติและมติในที่ประชุมซาน รีโม (San Remo Conference) ของปี ค.ศ. 1920

อันที่จริงแล้ว ดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติก็คือข้อตกลงระหว่างประเทศในการบริหารดินแดนหนึ่งในฐานะตัวแทนของสันนิบาตชาติก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะมีความพร้อมในการเป็นรัฐเอกราช ดังนั้นอังกฤษจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะยกดินแดนปาเลสไตน์ (ซึ่งอยู่ในอาณัติของอังกฤษขณะนั้น) ไปให้ใคร

หน้าที่อังกฤษตามมาตรา 22 ของสันนิบาตชาติคือการส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้กับเจ้าของดินแดนเมื่อเขาพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ ดังนั้น การที่อังกฤษยกดินแดนปาเลสไตน์ให้ชาวยิวผ่านคำประกาศบัลโพร์จึงเป็นเรื่องผิดกฏหมายมาตั้งแต่ต้น

เรื่องที่ 2 คือ “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไปก่อนหน้านี้ ปาเลสไตน์ไม่ใช่ดินแดนที่ว่างเปล่า แต่เป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับปาเลสไตน์อาศัยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก พวกเขามีพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีตลาดร้านค้า มีเมือง มีหมู่บ้าน มีถนนหนทาง มีการค้าขายและการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลก

ตามสถิติที่มีการศึกษาไว้ ในปี 1878 ชาวปาเลสไตน์มีจำนวนประชากรมากถึง 462,465 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 96.8 คือชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมและคริสเตียน มีชาวยิวอาศัยอยู่เพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้น

แต่ระหว่างปี ค.ศ. 1882-1914 ชาวยิวจากยุโรปจำนวน 65,000 คนเริ่มอพยพเข้ามา ชาวยิวเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมาอังกฤษได้ออกคำประกาศบัลฟอร์ซึ่งให้สัญญาจะจัดตั้งดินแดนของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์

มาตรการดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำสัญญาก่อนหน้านั้นของอังกฤษที่ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1915 ซึ่งอังกฤษสัญญาว่าจะมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้ชาวอาหรับที่อยู่ในภูมิภาคนั้นทั้งหมดหากอาหรับให้ความร่วมมือกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในปี 1922 ประชากรอาหรับมุสลิมและคริสเตียนมีจำนวน 757,182 หรือคิดเป็นร้อยละ 87.6 ของประชากรทั้งหมด ส่วนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ชาวปาเลสไตน์เริ่มเห็นว่าแผ่นดินของพวกเขาถูกฉกชิงไปโดยชาวยุโรป การปะทะกันครั้งแรกระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวจึงเริ่มต้นขึ้นและยังเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

ระหว่างปี ค.ศ. 1920-1931 ชาวยิวจำนวน 108,825 คนได้อพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ จนกระทั่งช่วงต้นของทศวรรษ 1930 จำนวนประชากรยิวในปาเลสไตน์ยังอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 17 (จำนวนประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ในปี 1930 อยู่ที่ 1,035,154 คน คิดเป็นชาวอาหรับมุสลิมและคริสเตียนจำนวนร้อยละ 81.6 และชาวยิวจำนวนร้อยละ 16.9)

แต่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมันได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ในเวลาเพียง 5 ปี ระหว่างปี 1932-1936 ชาวยิวจำนวน 174,000 คนได้หลั่งไหลกันเข้ามาในปาเลสไตน์ ทำให้จำนวนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ระหว่างปี ค.ศ. 1937-1945 ชาวยิวอพยพเข้ามาอีก 119,800 คน ในขณะที่ชาวโลกพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างชาวยิวของนาซีเยอรมัน ความพยายามที่จะทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนของชาวยิวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในปี 1947 ก่อนที่รัฐอิสราเอลจะถูกสถาปนาขึ้น โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ได้เปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนตอนปี 1918 ชาวยิวมีจำนวนเพียงแค่ร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด แต่ถัดมาอีกเพียงแค่ 29 ปี หรือในปี 1947 ประชากรชาวยิวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 (ดูแผนที่ข้างใต้)

นี่แหละครับผลจากการที่ดินแดนปาเลสไตน์ตกเป็นดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษอยู่นานหลายปี

ติดตามตอนต่อไป


โดย Srawut Aree

12 กุมภาพันธ์ รำลึกวันเสียชีวิตอิหม่ามหะซัน อัลบันนา : เหตุผลของคนรังเกียจหะซัน บันนา

ชัยค์มูฮัมหมัด ฆอซาลี กล่าวในหนังสือ ”  دستور الوحدة الثقافية بين المسلمين   ธรรมนูญแห่งเอกภาพทางวิชาการของสังคมมุสลิม” ว่า

“อิหม่ามหะซัน  บันนา ผู้ซึ่งข้าพเจ้าและใครต่อใครอีกจำนวนมาก เห็นว่า ท่านเป็น “มุจัดดิด-นักปฏิรูป” ในฮิจเราะฮ์ศักราชศตวรรษที่ 14″

“ท่านวางหลักการจำนวนหนึ่ง ที่จะทำให้ความแตกแยกจะกลายเป็นความสามัคคี ทำให้เป้าหมายแจ่มชัดในความขมุกขมัว และนำมุสลิมหวนคืนสู่คัมภีร์ของพระเจ้าและซุนนะฮ์ของท่านศาสดาของพวกเขา”

“หะซัน อัลบันนา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของบรรดาผู้นำอิสลามในอดีต อัลลอฮ์ได้ให้พรสวรรค์ที่หลายคนมีมารวมกันในตัวท่านคนเดียว ท่านอ่านอัลกุรอานเป็นกิจวัตรด้วยสำเนียงไพเราะเสนาะโสต ทั้งยังสามารถอรรถาธิบายได้ช่ำชองประดุจดั่งอัตตอบารีย์ หรือกุรตุบีย์ และโดดเด่นเป็นพิเศษในการทำความเข้าใจความหมายที่ยากที่สุดและจากนั้นนำเสนอแก่ผู้คนในลักษณะที่ง่ายและเข้าใจได้ทั่วกัน”

“ในขณะเดียวกัน วิธีการอบรมสั่งสอนศิษย์ผู้ติดตามท่าน และการจุดไฟรักต่ออัลลอฮ์ของท่าน ทำให้นึกถึงหาริษ อัลมุหาซิบีย์ หรืออบูฮามิด อัลฆอซาลี”

“อิหม่ามอัลบันนา เข้าใจประวัติศาสตร์อิสลามอย่างครอบคลุมทะลุปรุโปร่ง สามารถเข้าใจปัจจัยความรุ่งเรืองและความตกต่ำ น้ำขึ้นน้ำลง ในยุคต่างๆของอิสลาม และมีความรู้ที่ลึกอย่างที่สุดเกี่ยวกับโลกอิสลามในปัจจุบัน และการสมคบคิดของต่างชาติในการยึดครองโลกมุสลิม”

“ท่านได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อกระทุ้งทำลายอาณานิคมทางวัฒนธรรมและทางทหาร และใส่วิญญาณแห่งชีวิตเข้าสู่เรือนร่างที่ไม่ไหวติง ทำให้อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ส่งเอกอัครราชทูตไปยังรัฐบาลของกษัตริย์ฟารุกเรียกร้องให้ยุบกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในที่สุดกลุ่มก็ถูกยุบ และอิหม่ามหนุ่มก็ถูกสังหาร”

“หะซัน บันนา เริ่มต้นทำงานจากศูนย์  ไร้เสียงโหวกเหวก เพื่อปลุกอิสลามที่หลับใหลอยู่ในหัวใจได้ตื่นฟื้นคืนมา รวมถึงการกำกับทิศทางการทำงาน”

“เกียรติศักดิ์ของท่านเพียงพอแค่เพียงผลงานการสร้างกลุ่มคนหนุ่มที่ทำลายค่ายทหารอังกฤษที่ตั้งอยู่ในแนวคลองสุเอซ และคอยติดตามโจมตีจนกระทั่งอังกฤษถอนตัวออกไปจากอียิปต์”

“เกียรติศักดิ์ของท่านเพียงพอแค่เพียงผลงานการสร้างคนหนุ่มที่รบปะทะกับยิวในทุกสมรภูมิ สามารถยัดเหยียดความปราชัยและทำให้ยิวต้องล่าถอยทุกครั้งไป”

“นี่คือเหตุผลที่ทำให้ลัทธิล่าอาณานิคมยืนยันที่จะต่อต้านสำนักนี้ไม่ว่า ณ ที่ใดๆ ในโลก”


โดย Ghazali Benmad

มหัศจรรย์​แห่งผู้​สร้าง : อูฐ.. สุดยอดพาหนะ​แห่งทะเลทราย

ทะเลทรายดินแดนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 55 องศาเซลเซียส ไม่ต่างจากเตาอบขนาดใหญ่บนโลกใบนี้ พื้นทรายที่แผ่กว้างสุดลูกหูลูกตา นอกจากจะบรรจุความร้อนไว้เต็มที่แล้ว ก็ยังอาจมีพายุทรายที่พัดอย่างรุนแรง จนสามารถทำอันตรายต่อดวงตาได้ นอกจากนี้ พายุทรายยังอาจพัดทรายเข้าจมูกจนถึงหายใจไม่ได้อีกด้วย บางคนจึงเรียกทะเลทรายว่าแดนมรณะ ซึ่งก็น่าจะจริง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการเดินทางฝ่าทะเลทราย

พาหนะที่ใช้ในทะเลทรายจำเป็นต้องถูกออกแบบมาอย่างเฉพาะเจาะจง มีการป้องกันเป็นอย่างดี ถึงจะใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมอันหฤโหดเช่นนี้ มันจะต้องถูกออกแบบมาให้ใช้ได้ในสภาพอากาศที่ร้อนจัดและมีการป้องกันไม่ให้ทรายเข้าไปสร้างความเสียหายได้เมื่อเกิดพายุทราย

นอกจากนี้ ผู้ที่คิดจะสร้างพาหนะที่เดินทางฝ่าทะเลทรายไปได้โดยลำพัง จะต้องทำให้มันเดินทางได้ไกลๆโดยใช้พลังงานเพียงน้อยนิดและไม่ต้องเติมน้ำมันบ่อยๆ สิ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเหมาะสมดังกล่าวไม่ใช่ยานยนต์ชนิดใดๆเลย แต่เป็นสัตว์ที่เรียกว่า”อูฐ” นั่นเอง

อูฐรับใช้ชาวทะเลทรายมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายศตวรรษและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของทะเลทราย

ความร้อนในทะเลทรายเปรียบเสมือนเพชฌฆาตที่คร่าทุกชีวิตได้อย่างง่ายดาย นอกจากกิ้งก่าและแมลงตัวเล็กๆแล้ว ก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดที่จะมีชีวิตอยู่รอดกลางทะเลทรายได้อีกนอกจาก​อูฐ

อูฐเป็นสัตว์ใหญ่ชนิดเดียวที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความหฤโหดของสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ อัลเลาะห์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสร้างอูฐให้มีคุณสมบัติพิเศษในการที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายสุดขีดแบบนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงสร้างมันขึ้นมาเพื่อประดับประดาทะเลทรายเท่านั้น แต่จะอำนวยให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างมากมาย ดังที่ทรงยกสิ่งถูกสร้างต่างๆมากล่าวไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอานให้มนุษย์ได้คิดใคร่ครวญพิจารณาถึงการมีอยู่ของพระผู้ทรงสร้าง  หนึ่งในนี้คืออูฐ

(أَفلا يَنظُرُونَ إِلى الإِبِلِ كَيْفَ خُلِقَتْ)

พวกเขาไม่พิจารณาดูอูฐดอกหรือว่ามันถูกวันเกิดมาอย่างไร (อัล-ฆอซียะห์ : 17)

หากเราได้พิจารณาดูอูฐดังที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสไว้ จะพบว่าคุณสมบัติที่พระผู้สร้างมอบให้แก่มันนั้น มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทรายอย่างน่าอัศจรรย์ เราจะเห็นถึงรายละเอียดต่างๆของความมหัศจรรย์แห่งการสร้างที่สำคัญที่สุดเพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางความร้อนระอุก็คือการดื่มน้ำเพื่อดับกระหาย ซึ่งน้ำและอาหารคือสิ่งที่หาได้ยากยิ่งท่ามกลางทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ฉะนั้นสัตว์ชนิดใดก็ตามที่จะมีชีวิตอยู่ได้ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบนี้ จะต้องมีความทนทานต่อความหิวความกระหายได้อย่างทรหดอดทนที่สุด และแน่นอนอูฐถูกสร้างให้เป็นสัตว์ที่มีความทรหดที่สุดชนิดหนึ่งในโลก

อูฐสามารถมีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุโดยไม่ต้องกินและดื่มเลยติดต่อกันเป็นเวลา 8 วัน และเมื่อใดก็ตามที่มันไปเจอแหล่งน้ำอันแสนจะหายากกลางทะเลทราย มันก็มีความสามารถในการดื่มกินเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพื่อสำรองไว้เป็นเสบียง อูฐสามารถกินน้ำได้มากมายคิดเป็นน้ำหนักถึง 1 ใน 3 ของน้ำหนักตัวของมันภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้นนั่นหมายถึงว่ามันกินน้ำได้มากถึง 130 ลิตรภายในครั้งเดียว อวัยวะส่วนที่อูฐใช้เก็บน้ำก็คือโหนกซึ่งมีไขมันสะสมอยู่มากถึง 40 กิโลกรัม และโหนกนี้แหละที่ทำให้อูฐอยู่ในทะเลทรายได้เป็นวันๆโดยที่ไม่ต้องกินหรือดื่มอะไรเลย

อาหารกลางทะเลทรายส่วนใหญ่จะแห้งและมีหนามแหลมคม แต่พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงสร้างกระเพาะอาหารและระบบการย่อยอาหารของอูฐให้รองรับกับสภาพอาหารที่โหดร้ายต่ออวัยวะภายในเช่นนี้ได้ ฟันและปากของมันถูกสร้างมาให้เคี้ยวหนามที่แหลมคม กระเพาะก็ถูกออกแบบมาให้ทนทานและย่อยกิ่งไม้ได้แทบทุกชนิดที่มีในทะเลทราย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ความอันตรายอีกประการหนึ่งของทะเลทรายก็คือพายุทราย เมื่อต้องเผชิญกับพายุทะเลทรายที่มีทรายเม็ดเล็กๆนับล้าน ซึ่งอาจทำให้ดวงตาบอดได้ แต่อัลเลาะห์ผู้​ทรงเมตตาได้สร้างระบบป้องกันดวงตาจากเม็ดทรายให้กับอูฐ โดยให้อูฐมีเปลือกตาที่พิเศษกว่าสัตว์อื่นคือ ให้เปลือกตาที่ปิดลงมากั้นทรายจำนวนมากจากพายุนั้นทนทานและปกป้องดวงตาของมันอย่างปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นเปลือกตาของมันยังมีลักษณะโปร่งใส เพื่อให้มันสามารถมองเห็นได้ แม้ในขณะที่ปิดเปลือกตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันเม็ดทรายมิให้เข้ามาทำลายดวงตา นอกจากนี้ยังให้มันมีขนตาที่ยาวและหนาเป็นตัวช่วยอีกทางหนึ่งด้วย

จมูกของอูฐก็ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษแบบที่สัตว์ชนิดอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้อีกเช่นกัน โดยเมื่อมีความจำเป็นต้องเผชิญกับพายุทะเลทราย จมูกของมันจะสามารถยื่นมาปิดรูจมูกได้สนิทจนเม็ดทรายจากพายุไม่สามารถเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้

สิ่งที่เป็นอันตรายที่สุดของพาหนะที่เดินทางในทะเลทรายก็คือการติดหล่ม ซึ่งทำให้เคลื่อนตัวไปไหนไม่ได้อีกต่อไปแต่อูฐปลอดจากความเสี่ยงนี้ ถึงแม้ว่าในบางครั้งมันต้องบรรทุกสัมภาระหนัก 100 กิโลกรัม

ทั้งนี้เพราะเท้าของอูฐได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อใช้เดินบนทรายโดยเฉพาะ โดยให้มีนิ้วเท้าที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้งานได้เหมือนกับรองเท้าที่ใช้ใส่เดินบนหิมะ ทำให้เท้าของอูฐไม่จมลงในพื้นทราย ขาที่ยาวทำให้ลำตัวของอูฐอยู่ห่างจากพื้นทรายที่ร้อนระอุ ลำตัวของอูฐมีขนที่แข็งและดกหนาเพื่อป้องกันจากแสงแดดที่แผดเผา แล้วเมื่อตกค่ำก็ช่วยป้องกันมันจะอากาศที่หนาวเย็นลง บางส่วนบนผิวหนังของอูฐถูกสร้างให้มีความหนาเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้มันสามารถนั่งอยู่บนผืนทรายที่ร้อนได้ จุดที่เป็นหนังหนาอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการนั่งหลายๆครั้ง จนเกิดเป็นหนังหนาด้านขึ้น แต่มันมีอยู่แล้วตั้งแต่มันคลอดออกมา การสร้างที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเฉพาะเจาะจงเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันถึงความสมบูรณ์ของการสร้างของพระผู้สร้าง เมื่อเราพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะของอูฐด้านต่างๆ เช่น ระบบพิเศษที่ถูกสร้างให้กับอูฐให้ทนต่อความกระหายน้ำ

โหนกที่ทำให้มันเดินทางได้โดยไม่ต้องกินอาหารและน้ำ

โครงสร้างของเท้าที่ทำให้เท้าไม่จมลงในทราย หนังตาที่ใสและขนตาที่ปกป้องดวงตาของอูฐจากเม็ดทราย

จมูกที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ทรายที่พัดมากับพายุเข้าไปได้

โครงสร้างของริมฝีปากและฟันที่ทำให้อูฐกินกิ่งไม้ที่แข็งและแหลมคมได้ ระบบการย่อยที่สามารถย่อยได้ทุกอย่าง

หนังหนาที่เป็นเหมือนฉนวนกันผิวหนังจากความร้อนระอุของผืนทราย

ขนที่ถูกออกแบบสร้างมาอย่างพิเศษที่ช่วยป้องกันทั้งอากาศร้อนและหนาว

สิ่งต่างๆที่เป็นปรากฏการณ์เหล่านี้ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่สิ่งเหล่านี้คือความจริงที่เป็นหลักฐานอันชัดเจนที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถอันล้ำเลิศเหนือคำบรรยายใดๆ อัลลอฮ ซุบหานะฮูวะตะอาลา ผู้ทรงสร้างอูฐเพื่อให้มันเป็นสุดยอดพาหนะกลางทะเลทราย เพื่ออำนวยให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากมันด้วยความเมตตาของพระองค์และเพื่อเป็นหลักฐานอันแจ้งชัดถึงการมีอยู่และความยิ่งใหญ่ของพระองค์


อ้างอิง

http://midad.com/article/219378/%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%B9%D8%AC%D8%A7%D8%B2-%D8%A7%D9%84%D8%B9%D9%84%D9%85%D9%8A-%D9%81%D9%8A-%D9%82%D9%88%D9%84%D9%87-%D8%AA%D8%B9%D8%A7%D9%84%D9%89-%D8%A3%D9%81%D9%84%D8%A7-%D9%8A%D9%86%D8%B8%D8%B1%D9%88%D9%86-%D8%A5%D9%84%D9%89-%D8%A7%D9%84%D8%A5%D8%A8%D9%84-%D9%83%D9%8A%D9%81-%D8%AE%D9%84%D9%82%D8%AA?fbclid=IwAR1AysW1O51NBnRj-X-cYKKMfYKLn3JO_7A4agmEAJG5-FfOsrPYoHHQYRU

แปลโดย Ismail Rao

ความลับที่ประเสริฐสุด

อิมามชาฟิอีย์ رحمه الله กล่าวว่า

 คุณภาพของคน พิสูจน์ได้จาก 3 ประการ       

1.             ปกปิดความยากจน จนกระทั่งผู้คนนึกว่า เขารวย          

2.             ปกปิดความโกรธเคือง จนกระทั่งผู้คนเข้าใจว่า เขาพอใจ           

3.             ปกปิดความลำบาก จนกระทั่งผู้คนเข้าใจว่าเขาสุขสบาย

*‏قال الإمام الشافعي :

[جوهر المرء في ثلاث :

كتمان الفقر؛ حتى يظن الناس من عفتك، أنك غني –

وكتمان الغضب؛ حتى يظن الناس أنك راض –

[ وكتمان الشدة؛ حتى يظن الناس أنك متنعم –

اللهم أنعم علينا برضاك


ที่มา fb : Dr. Tareq AlSuwaidan

วิธีเลี้ยงลูกของท่านนบี และการประยุกต์ใช้ของบรรพชนสะลัฟซอและห์ และข้อคิดของอุลามาอ์ผู้ทรงธรรม [ตอนที่ 2]

การเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี

จะรอให้ลูกเติบใหญ่ก่อนไม่ได้

หรือแม้แต่จะรอให้ลูกอยู่ในครรภ์ก็ไม่ได้

แต่จะต้องเริ่มตั้งแค่การหาคู่ครอง

อิสลามสอนว่า การเลี้ยงดูลูกให้เป็นคนดี จะต้องเริ่มตั้งแต่การแสวงหาคู่ครองที่เป็นคนดี มีคุณธรรมประจำใจ

รอให้มีลูกก่อน… ก็อาจจะสายเกินไป

ทุกฝ่าย ทั้งชายหญิง ควรพิจารณาคุณสมบัติของคู่ชีวิตตรงที่”ความเป็นคนดีมีคุณธรรม” มากกว่าเหตุผลอื่นๆ

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«إِذَا خَطَبَ إِلَيْكُمْ مَنْ تَرْضَوْنَ دِينَهُ وَخُلُقَهُ فَزَوِّجُوهُ، إِلَّا تَفْعَلُوا تَكُنْ فِتْنَةٌ فِي الْأَرْضِ وَفَسَادٌ عَرِيضٌ».  رواه الترمذي

 “เมื่อมีผู้ที่พวกท่านพอใจในศาสนาและมารยาทของเขามาสู่ขอบุตรสาวของท่าน พึงแต่งงานแก่เขาเถิด มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดฟิตนะฮฺบนหน้าแผ่นดินและเป็นการบ่อนทำลายอย่างถ้วนหน้า”  (หะดีษรายงานโดยอัตติรมิซีย์ )

تُنْكَحُ الْمَرْأَةُ لِأَرْبَعٍ : لِمَالِهَا ، وَلِحَسَبِهَا ، وَلِجَمَالِهَا ، وَلِدِينِهَا ، فَاظْفَرْ بِذَاتِ الدِّينِ تَرِبَتْ يَدَاكَ  . رواه البخاري

“สตรีจะถูกแต่งงาน ด้วยเหตุ 4 ประการ  เพราะทรัพย์ของนาง เพราะความดีของนาง เพราะความงามของนาง และเพราะศาสนาของนาง ดังนั้น ท่านจงเลือกสตรีที่มีศาสนาเถิด ท่านจะได้ดี ” (รายงานบุคอรีย์และมุสลิม)


ย่อยหนังสือ

منهج التربية النبوية للطفل مع نماذج تطبيقية من حياة السلف الصالح وأقوال العلماء العاملين

“ว่าด้วยวิธีเลี้ยงลูกของท่านนบี และการประยุกต์ใช้ของบรรพชนสะลัฟซอและห์และข้อคิดของอุลามาอ์ผู้ทรงธรรม”

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad