คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี พิมพ์และเผยแพร่โดย สภาอุละมาอฺมาเลเซีย คำนิยมโดย Dato’ AL-Syeikh Hj. Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย

คู่มือมุสลิมในการเผชิญหน้าโรคระบาด คำแนะนำเนื่องในวิกฤตโคโรน่า (โควิด-19) ฉบับภาษามลายู อักษรรูมี พิมพ์และเผยแพร่โดย สภาอุละมาอฺมาเลเซีย คำนิยมโดย Dato’ AL-Syeikh Hj. Abdul Halim Abdul Kadir ประธานสภาอุละมาอฺมาเลเซีย
เป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สุดที่มุสลิมทุกคนต้องรีบหาเป็นเจ้าของพร้อมอ่านและศึกษา ท่ามกลางสังคมมนุษย์กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ทั่วโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี
หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือฉบับกระทัดรัดที่ได้สรุปเนื้อหาและประเด็นความรู้พร้อมทั้งเสนอวิธีปฏิบัติในการเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายครั้งนี้ตามคำสอนของอิสลามได้อย่างสร้างสรรค์และมีจินตนาการเห็นภาพได้ชัดเจน ใช้ภาษาที่เรียบง่ายด้วยฝีมือการแปลของทีมงานคุณภาพที่ได้แปลจากต้นฉบับเดิมในภาษามลายูอักขระยาวีตามความถนัดของผู้เขียน
ผู้เขียนและทีมงานได้เสียสละใช้เวลาอย่างคุ้มค่าช่วงกักตัวในบ้านผลิตผลงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ชิ้นนี้ ขออัลลอฮ์ตอบแทนด้วยความดีงามแก่ผู้เขียนและทีมงานทุกท่าน
وجزاكم الله خيرا وعافانا الله وإياكم من كل بلاء الدنيا وعذاب الآخرة سائلين المولى عز وجل أن يرفع عنا وباء كوويد ١٩ ويجعلنا جميعا سالمين معافين برحمتك يا أرحم الراحمين
ขอสื่อสารไปยังนักวิชาการมุสลิม(บางคน) กรณีวิกฤตโควิด 19
“ต้องเกาะติดคาราวานองค์ความรู้ให้ได้”
วิกฤตโควิด19 ครั้งนี้ เป็นเสมือนระฆังเตือนจากอัลลอฮ์ที่ต้องการตักเตือนบ่าวของพระองค์บางอย่าง แต่ ณ ตรงนี้ผู้เขียนขอเน้นบทบาทและหน้าที่ของนักวิชาการต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้ บางส่วนดังนี้
1. วิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้ ทุกคนทราบดีว่าเป็นวิกฤตโลกที่สร้างผลกระทบระดับโลกที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ดังนั้นการที่จะทำความเข้าใจระดับของปัญหา พร้อมคำตอบและทางออก เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องเกาะติดคาราวานแห่งความรู้ระดับโลกให้เท่าทัน โดยเฉพาะการรู้จักใช้ประโยชน์กับการค้นคว้าศึกษาจากสื่อโซเชียลยุคปัจจุบัน ที่องค์ความรู้ใหม่ๆที่มีประโยชน์อเนกอนันต์ได้ไหลทะลักและแพร่กระจายไปทั่วมุมโลก จะเป็นนักวิชาการ ห้ามตกขบวนคาวารานความรู้ชุดนี้เป็นอันขาด
2. หน้าที่ของนักวิชาการและผู้รู้ในบ้านเราคือพยายามรวบรวมและเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง แล้วนำมาเล่าต่อให้ชาวบ้านฟังด้วยจรรยาบรรณและเต็มด้วยความรับผิดชอบ อย่าทะลึ่งทำความเข้าใจด้วยความรู้อันตื้นเขินและคับแคบของเรามาอธิบายปรากฏการณ์ระดับโลก เพราะวิกฤตระดับโลกต้องมีคณะผู้รู้ระดับโลกมาคลี่คลายและเสนอทางออก นักวิชาการบ้านเรามีหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้เท่านั้น เพราะบทบัญญัติทางศาสนามีความถูกต้องเสมอ แต่ในบางครั้งความเข้าใจของนักวิชาการ ที่มีต่อตัวบทและบริบทอาจคลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง
3. การวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรอบรู้ในภาพรวมของสิ่งนั้น “الحكم على الشيء فرع عن تصوره ” อัลลอฮฺได้กล่าวว่า فاسألوا أهل الذكر إن كنتم لا تعلمون ความว่า จงถามผู้รู้ หากเจ้าไม่รู้ (อันนะห์ลุ/43) ถึงแม้ผู้รู้ที่ประเสริฐที่สุดคือผู้รู้อัลกุรอาน แต่โองการนี้ยังหมายรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกด้วย ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์ใช้คำว่า أهل الذكر แต่ไม่ใช้คำว่า العلماء เพื่อสอนให้เราทราบว่า แต่ละแขนงวิชามีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง พวกเขาเท่านั้นที่ควรให้คำตอบในแขนงวิชาที่พวกเขารอบรู้
โควิด19 เป็นวิกฤตใหม่ที่โลกใบนี้ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นผู้ที่จะมาตัดสินชี้ชัดในรายละเอียด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เท่านั้น ซึ่งวงการแพทย์เรียกว่า ภาควิชาระบาดวิทยา หรือวิทยาการระบาด ในขณะที่นักวิชาการมุสลิมหลังจากที่ได้เรียนรู้สภาพปัญหาอย่างครอบคลุมแล้ว เขาจะต้องนำมาเทียบเคียงและประยุกต์ใช้กับหลักชะรีอะฮ์ อาทิ หลักเจตนารมณ์พื้นฐานของชะรีอะฮ์ (مقاصد الشريعة )หลักเกาะวาอิดฟิกฮียะฮ์ (القواعد الفقهية )ที่มีรายละเอียดและข้อปลีกย่อยมากมาย นอกเหนือจากการทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อบทบัญญัติในอัลกุรอาน หะดีษ และตำรับตำราของอุละมาอฺในทุกยุคทุกสมัย เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณากรณีวิกฤตโควิด 19 นี้ เพราะคำสอนของอิสลามที่ถูกต้อง ไม่เคยขัดแย้งกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ถูกต้อง อย่าอาศัยแค่หะดีษเพียงต้นเดียวหรือใช้หลักไวยากรณ์อาหรับมาพิจารณาแค่คำเดียว แล้วนำมาวินิจฉัยปรากฏการณ์วิกฤตระดับโลกในขณะนี้ (แถมยังอ่านหะดีษแบบผิดๆถูกๆ ด้วย แล้วดันทะลึ่งให้คำฟัตวา) ขอย้ำว่า อย่าใช้ตรรกะร้านน้ำชามาชี้ชัดประเด็นวิกฤตระดับโลกนี้
4. สำนักฟัตวา(ศาสนวินิจฉัย)ทั่วโลกอิสลามและโลกอาหรับ รวมทั้งสำนักจุฬาราชมนตรีของประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์แนวปฏิบัติของมุสลิมในวิกฤตโควิด 19 นี้อย่างชัดเจนและครอบคลุม การฟัตวาในแต่ละเรื่อง ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้เกี่ยวข้องจะต้องระดมสมองจากหลายฝ่าย มีการรวบรวมทัศนะต่างๆแล้วนำมาตกผลึกอย่างรอบคอบ เพราะพวกเขารู้ดีว่า การฟัตวาในสภาพวิกฤตินี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการปฎิบัติใช้ในสภาพปกติ ซึ่งหากดูผิวเผินแล้วอาจเป็นการย้อนแย้งและสวนทางกับคำสอนของอัลลอฮ์และรอซูลเลยทีเดียว ทั้งๆที่ในความเป็นจริง นี่คือความสวยงามของอิสลาม ที่มีทั้งความยืดหยุ่นและความหนักแน่น การผ่อนปรนและการบังคับใช้ ความง่ายดายและสลับซับซ้อนในตัวของมันเอง
5. ผู้เขียนสนับสนุน ชื่นชมและขอบคุณนักวิชาการมุสลิมทั้งระดับโลกและท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการวางตัวในสถานการณ์วิกฤตโควิด 19 นี้ และระมัดระวังการชี้นำทางศาสนาโดยปราศจากความรอบรู้และความรอบคอบ ขอให้ทุกท่านทำหน้าที่นี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจและหวังในความโปรดปรานของอัลลอฮ์ พร้อมร่วมดุอาให้โลกผ่านวิกฤตินี้ ให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
وما أريد إلا الإصلاح ما استطعت وما توفيقي إلا بالله عليه توكلت و إليه أنيب
اللهم يا رب أعنا على أن نتوب إليك توبة نصوحا وأن نكسب أفضل أسباب الوقاية الموفقة لمنع انتشار هذا الوباء القاتل وأن يلتزم مرضانا بأفضل العلاج ليتم الشفاء من عندك يا شافي ويا كافي اللهم بلغنا رمضان سالمين معافين مباركين صائمين قائمين وقد أذهبت عنا وعن العباد والبلاد هذا الوباء ذهابا لن يرجع أبدا وأنت على كل شيء قدير لا إله الا أنت سبحانك إني كنت من الظالمين وصلى الله على محمد وعلى آله وصحبه أجمعين والحمدلله رب العالمين
ในขณะที่โลกตกในอาการภวังค์จากโรคระบาดไวรัส COVID-19 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ระดมสรรพกำลังและความสามารถเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้
ก่อนหน้านี้ โลกโดยเฉพาะชาวตะวันตกและบรรดาผู้เสพสื่อตะวันตกทั้งหลาย พากันเกิดอาการอิสลาโมโฟเบียกันทั่วหน้า ถึงขนาดนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษเคยกล่าวว่า อิสลามคือต้นตอของปัญหา ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐเคยกล่าวว่าอิสลามเกลียดชังพวกเรา
แต่จากวิกฤต COVID-19 นี้โลกได้รู้จักคุณูปการบางส่วนของมุสลิม ที่ยืนยันได้ว่าหากมุสลิมเข้าใจและปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนาอย่างถูกต้องแล้ว เขาไม่เพียงแต่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมุสลิมเท่านั้น แต่จะขยายผลไปยังสังคมอื่นทั่วโลกด้วย
เราลองมาดูผลงานเล็กๆน้อยๆของมุสลิมในระดับโลกที่มีส่วนแก้ปัญหาวิกฤติ COVID-19 นี้บ้าง
1. Omar Ishrak (64ปี) มุสลิมชาวบังคลาเทศ ได้รับสัญชาติอเมริกัน ดีกรีด็อกเตอร์วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัท Medtronic บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีบริษัทลูกกระจายกว่า 150 ประเทศทั่วโลก มีชื่อเสียงด้านการผลิตเครื่องช่วยหายใจ รุ่น PB 560 ชนิดพกพาได้สะดวกใช้สำหรับเด็กและผู้ใหญ่โดยใช้ได้ทั้งใส่หน้ากากและเจาะคอ มีแบตเตอรี่ในตัวใช้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดนี้เป็นที่ต้องการทั่วโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ แต่เนื่องจากบริษัท Medtronic ถือลิขสิทธิ์ผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้แต่เพียงบริษัทเดียว จึงไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการได้ Omar Ishrak ได้เป็นผู้ผลักดันโครงการถอนลิขสิทธิ์การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์นี้ โดยร่วมมือกับบริษัทต่างๆทั่วโลก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีระดมผลิตเครื่องช่วยหายใจนี้ โดยมีปรัชญาการทำงานว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการรักษาเยียวยาจากอุปกรณ์ที่ทันสมัย
https://daaarb.com/%D8%B9%D9%85%D8%B1-%D8%A5%D8%B4%D8%B1%D8%A7%D9%82-%D9%82%D8%B5%D8%A9-%D8%A7%D9%84%D9%85%D8%AF%D9%8A%D8%B1-%D8%A7%D9%84%D8%B0%D9%8A-%D9%88%D9%82%D9%81-%D9%88%D8%B1%D8%A7%D8%A1-%D9%85%D8%A8%D8%A7/?fbclid=IwAR12xSWyu8ItAxN44At78o3RVH67P1L9sZK_tS5XiUycAaGbT0R2EYT_-Xc
2. บุคลากรทางการแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ 4 คนแรกที่เป็นเหยื่อ COVID-19 ล้วนเป็นมุสลิม กระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษได้รายงานบุคลากรทางการแพทย์ 4 คนแรกได้เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ Amged el-Hawrani(Sudan), Adel el-Tayar(Sudan),Habib Zaidi(Pakistan)และ Alfa Saadu(Nigeria) โดยทั้ง 4 ท่านได้รับสัญชาติอังกฤษ เป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีประวัติการทำงานอันโดดเด่น โดยรัฐบาลอังกฤษประกาศทั้ง 4 ท่านเป็นฮีโร่ของชาติ โดยเฉพาะ นายแพทย์อาดิล ที่ได้เกษียณราชการแล้ว แต่อาสาเป็นทัพหน้ารักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด19 ตามคำประกาศของรัฐบาลเพื่อเป็นกำลังเสริมในภารกิจนี้ (ดูที่
http://www.ypagency.net/248681)
3. Hibah Mustafa สาวมุสลิมะฮ์จากประเทศอิยิปต์ เป็นหัวหน้าทีมวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหาไวรัส COVID-19 ที่มหาวิทยาลัย John Hopkins สหรัฐอเมริกา โดยเธอให้สัมภาษณ์ว่า ภายในเดือนเมษายนนี้ อุปกรณ์ชนิดนี้ มีศักยภาพตรวจหาไวรัสโควิด 19 ได้ 1,000 รายต่อวัน โดยสามารถยืนยันผลภายใน 3 ชั่วโมง
ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.net/news/women/2020/3/19/%d8%b7%d8%a8%d9%8a%d8%a8%d8%a9-%d9%85%d8%b5%d8%b1%d9%8a%d8%a9-%d8%b4%d8%a7%d8%a8%d8%a9-%d8%aa%d8%b4%d8%a7%d8%b1%d9%83-%d9%81%d9%8a-%d8%aa%d8%b7%d9%88%d9%8a%d8%b1-%d9%81%d8%ad%d8%b5-%d9%83%d9%88%d8%b1%d9%88%d9%86%d8%a7-%d8%a8%d8%ac%d8%a7%d9%85%d8%b9%d8%a9-%d8%ac%d9%88%d9%86%d8%b2-%d9%87%d9%88%d8%a8%d9%83%d9%86%d8%b2?fbclid=iwar1aeo7acp0meiukz4ufafqazqclpz_j88pfjgmhwuski5gjialjrpyvcl8
ยังไม่รวมถึงมาตรการการป้องกันโรคระบาดที่อิสลามได้นำเสนอให้ชาวโลกปฏิบัติทั้งมาตรการการกักตัว คนในอย่าออกคนนอกอย่าเข้า มาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคม การรักษาความสะอาด หลักการโภชนาการที่ฮาลาลและมีประโยชน์ การใช้หลักกันดีกว่าแก้ การคำนึงถึงหลักเจตนารมณ์ทางศาสนบัญญัติ การเยียวยารักษา เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่ามุสลิมและอิสลามหาเป็นตัวปัญหาของโลกแต่อย่างใด ทว่ามุสลิมคือพลังหลักในการพัฒนาประชาคมโลกในขณะที่อิสลามคือศาสนาแห่งความโปรดปรานแก่สากลจักรวาล
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ
บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
*****
5. การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายศาสนา
ผู้ที่คัดค้านฟัตวามัสยิดปิดกล่าวว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต อันเป็นหลักการพื้นฐานประการหนึ่งที่อุลามาอ์ประชาชาติอิสลามเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์
ณ จุดนี้ จำเป็นที่จะชี้แจง 3 ประการ
ประการแรก : ไม่เป็นความจริงที่อุลามาอ์อุศูลุลฟิกฮ์เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต
เพราะมีทัศนะจำนวนมากเห็นว่า กว่าการรักษาชีวิตสำคัญกว่าการรักษาศาสนา
อันเป็นทัศนะของนักอุศูลุลฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน เช่น อัลรอซี ,อัลกอรอฟี, อัลบัยฎอวีย์, อิบนุตัยมียะฮ์ , อัลอิสนะวีย์, อัลซัรกะซีย์ ฯลฯ เพราะการรักษาศาสนาเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรักษาชีวิตก่อน และเพราะว่าอัลลอฮ์อนุโลมให้กล่าวคำพูดหลอกๆ ที่บ่งบอกถึงเป็นการสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมเพื่อรักษาชีวิต
ประการที่สอง : สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง การงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ก็ไม่ใช่เป็นการทำลายศาสนา เพราะยังมีการละหมาดที่บ้านและละหมาดซุฮ์รี่แทนละหมาดวันศุกร์
ประการที่สาม สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง แต่เมื่อเป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนา อันได้แก่ การรักษาชีวิต ขัดแย้งกับเป้าหมายเสริม อันได้แก่ การละหมาดญามาอะฮ์ เป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนาในการรักษาชีวิต ต้องมาก่อนเป้าหมายเสริมในการรักษาศาสนา อันเป็นทัศนะของนักวิชาการและผู้มีปัญญาทั่วไป
6. อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล
คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม
จึงมีผู้กล่าวว่า พวกท่านสั่งปิดมัสยิดได้อย่างไร ทั้งๆที่มัสยิดเป็นสถานที่บำบัดรักษาโรคร้าย
และมีผู้กล่าวว่า หลักฐานการห้ามปิดมัสยิดคือ อัลลอฮ์กล่าวว่า
وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ مَنَعَ مَسَاجِدَ اللَّهِ أَنْ يُذْكَرَ فِيهَا اسْمُهُ وَسَعَى فِي خَرَابِهَا
“และผู้ใดที่อธรรมยิ่งกว่าผู้ห้ามการรำลึกถึงนามของอัลลอฮ์ในมัสยิดของอัลลอฮ์ และพยายามทำให้เสื่อมโทรม” (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 114 )
บ้างกล่าวว่า โรคระบาดมีสาเหตุมาจากบาป การรักษาทำโดยการละหมาด ไม่ใช่การปิดมัสยิด
บางคนเชื่อมโยงความเชื่อในการลิขิตของอัลลอฮ์กับการเป็นโรคร้าย อีกทั้งยามใดที่เกิดความหวาดกลัว ท่านนบีก็จะไปละหมาด แต่เมื่อเรากลัวไวรัสกลับไปปิดมัสยิด
ตลอดจนหลักฐานที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ ที่ทำให้ศาสนาถูกตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหาในโลกที่เปิดกว้างนี้
7. การไม่ยอมรับนิติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์และคำถามเกี่ยวกับการกระทำของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นก่อนในข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกัน
คำถามที่ผู้ต่อต้านการปิดมัสยิดจำนวนมาก คือ โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านอุมัร บินค๊อตตอบ และคนอื่น ๆ พวกเขาเคยปิดมัสยิดหรือไม่ ? แม้ว่ามัสยิดจะถูกปิดและละหมาดญามาอะฮ์ถูกงดในยุคกาฬโรคระบาด แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เพียงคำถามก็บ่งบอกถึงปัญหา จำเป็นหรือไม่ที่ทุกประเด็นใหม่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ ต้องมีแบบอย่างในประวัติศาสตร์ของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นแรก ปัจจุบันเรามีความรู้ด้านการแพทย์เหมือนที่พวกท่านเหล่านั้นมีในยุคนั้นหรือ ? เราต้องปฏิบัติเกี่ยวกับไวรัสตามความรู้ที่เรามี เหมือนดังที่ท่านเหล่านั้นปฏิบัติต่อการระบาดของกาฬโรคในเมืองอัมมะวาสหรืออื่นๆ ในอดีตหรือ ?
ในการประชุมคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่กับนักคิดชาวโมร็อกโกศาสตราจารย์อบูซัยด์ อัลอิดรีสีย์ ท่านบอกว่า ช่วงเวลาของความเห็นทางกฏหมายอิสลามไม่ควรเกิน 100 ปี หลังจากนั้นแล้วเราต้องอิจติฮาดใหม่ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ท่านจำกัดระยะเวลาจากหะดีษเกี่ยวกับนักปฏิรูปที่อัลลอฮ์ส่งมาช่วงเริ่มต้นของทุก ๆ ร้อยปีหรือ ?
ท่านตอบว่า : ใช่
ข้าพเจ้ากล่าวว่า แต่ความเป็นจริงทางกฎหมายอิสลามบอกว่าระยะเวลาน้อยกว่านั้น ระยะเวลาระหว่างอาบูฮานิฟะฮ์และลูกศิษย์สองคนของท่าน ประมาณสามสิบหรือสามสิบห้าปี แต่ลูกศิษย์ทั้งสองของท่านมีความเห็นต่างจากอบูฮานีฟะฮ์ถึงสามในสี่ของมัซฮับ เหตุผลคือความแตกต่างด้านเวลาและสถานที่ ไม่ใช่ตัวบทหลักฐาน
ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ใหม่ทำให้นักกฎหมายอิสลามต้องวินิจฉัยใหม่จากเจตนารมณ์และเป้าหมายของศาสนา ที่สานต่อมรดกทางวัฒนธรรม และก้าวไปตามกาลเวลาและพัฒนาการใหม่ๆ ที่สะท้อนจิตวิญญาณที่แท้จริงของศาสนา
เขียนโดย Ghazali Benmad
อ่านตอนที่ 1 : https://www.theustaz.com/?p=3230
ความดันทุรังของปวงประชา
ความไม่ประสาของรัฐบาล
คือสองพลังแห่งความวิบัติ
จากที่เคยตะเบ็งว่า เอาอยู่
อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมหมู่
จากที่เคยบายานว่าเราศรัทธา
อาจเห็นโลงศพพร้อมน้ำตา
จากที่เคยมองข้ามไวรัสร้าย
อาจทำให้ทุกอย่างสิ้นมลาย
———
อย่าทำเป็นเล่นกับสัญญาณของพระเจ้า
وما نرسل بالآيات إلا تخويفا
“และเรามิได้ส่งสัญญาณลงมา เว้นแต่เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่มนุษย์เท่านั้น” (อิสรออฺ/59)
اللهم لا تهلكنا بما فعل السفهاء منا
โอ้อัลลอฮ์ อย่าได้ทำลายพวกเรา เนื่องจากผลงานของคนโง่เขลาในหมู่เรา
اللهم أعذنا وأعذ جميع أولادنا وأزواجنا وذرياتنا وإخواننا وأخواتنا ومشايخنا وطلابنا وطالباتنا ومن أوصانا بالدعاء والمسلمين والمسلمات والعباد والبلاد من البرص والجنون والجذام وسيئ الأسقام ووباء كورونا ومن جهد البلاء ودرك الشقاء وسوء القضاء وشماتة الأعداء واشف مرضانا واحفظنا جميعًا بحفظك الحصين من كل سوء ومكروه يا عزيز يا غفار يا ذا الجلال والإكرام
บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
*****
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเนื่องจากไวรัสโคโรนา องค์กรฟัตวาทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการอิสระจากทั่วโลก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสและความสะดวกในการติดเชื้อ ฟัตวาที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการฟัตวาปิดมัสยิดเพื่อปกป้องผู้คนจากไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้คนมีความเห็นแตกต่างกันสุดกู่ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีบางส่วนคัดค้าน โดยอ้างฟัตวาของนักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงและนักสอนศาสนาบางคน บางคนหันไปใช้รูปแบบประหลาดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการฟัตวาปิดมัสยิดและป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การแยกผู้ละหมาดในมัสยิดเพื่อให้อยู่ห่างๆกันระยะหนึ่งเมตร หรือการละหมาดหลายๆญามาอะฮ์ในมัสยิดเดียวกันในวันศุกร์ ภาพเหล่านี้และภาพอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจความเป็นจริงของไวรัส และวิธีการติดต่อ รวมถึงการขาดเจตนารมณ์นิติศาสตร์และความหมายของการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ สิ่งที่ต้องการชี้แจงในบทความนี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลามร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ประจักษ์ดังนี้
1. นักกฎหมายอิสลามเป็นผู้ตามการบัญชาของผู้มีอำนาจทางการเมือง
เป็นที่สังเกตว่าผู้ฟัตวาส่วนใหญ่ที่แนะนำให้งดการชุมนุมและการรวมกลุ่ม มักตัดสินใจตามการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายสาธารณสุขในประเทศ และด้วยเหตุนี้นักฟัตวาจึงจำกัดและขัดขวางการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยอาศัยคำสั่งจากผู้ปกครองในประเทศ ไม่ใช่การฟัตวาที่กำหนดนโยบายทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าบทบาทของนักกฎหมายอิสลามนั้น จำกัดอยู่ในขอบเขตการตัดสินใจของผู้ปกครอง และการหาข้ออ้างทางกฎหมายให้แก่พวกเขา ข้าพเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้มีการปะทะหรือแย้งกันระหว่างนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจ แต่ต้องการปลดปล่อยให้นักกฎหมายมีอิสระในการวินิจฉัย และเพื่อค้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาและพิทักษ์ผลประโยชน์ที่แท้จริง ที่ผู้มีอำนาจต้องทำตาม ไม่ใช่ตรงกันข้าม นอกจากนั้นปฏิกิริยาของประชาชนซึ่งบางครั้งปฏิเสธที่จะปิดมัสยิดก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนักกฎหมายและนักสอนศาสนาในการสร้างแนวคิดและสภาพแวดล้อมที่ยอมรับการตีความใหม่ ที่ทำให้การพิทักษ์ชีวิตเป็นแกนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่อิสลามทำให้มนุษยชาติเสี่ยงชีวิตเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาที่มีรูปแบบหลากหลายและทดแทนกันได้
2. การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตศึกษาและการคาดการณ์
คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม
อิหม่ามซุฟยาน อัลเซารีย์ กล่าวว่า : “เมื่อบททดสอบสิ้นสุดลงทุกคนเข้าใจคำตอบ แต่เมื่อเริ่มมาถึงจะไม่มีผู้ใดเข้าใจยกเว้นผู้รู้เท่านั้น”
ดังนั้น นักกฎหมายอิสลามคือผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้ววินิจฉัยบทบัญญัติตามหลักนิติวิธีก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง และไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยเหมือนคนทั่วๆไป
กรณีโคโรนา นักกฎหมายอิสลามก็เหมือนคนทั่วไป พวกเขาไม่ได้ฟัตวาให้หยุดการชุมนุมทางศาสนา นอกจากหลังจากที่ไวรัสได้แพร่กระจาย และเข้าใกล้เขตอันตรายแล้ว ดังนั้นบทบาทของฟัตวาจึงถูกจำกัดอยู่ในวงที่เล็กและมีอิทธิพลน้อยกว่ากรณีที่พวกเขาสามารถคาดการณ์เท่าทันการวินิจฉัยทางการแพทย์ และศึกษาผลกระทบของไวรัสในประเทศอื่นๆ
นักกฎหมายอิสลามจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจารีตในสังคมที่อ่อนแอและล้าหลังในเรื่องอนาคตศาสตร์ จึงอาศัยอยู่กับปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมของอดีตที่ผ่านมา และน้อยนักที่จะมองถึงการคาดการณ์ในอนาคต
3. การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส
ในการสนทนากับนักกฎหมายอิสลามจำนวนมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาบางคนไม่เชื่อนอกจากสิ่งที่มีตัวตนสัมผัสได้ ต้องการเห็นไวรัสด้วยตาจึงจะเชื่อ หรือต้องแลกชีวิตของคนใกล้ชิดจึงจะเชื่อในอันตรายของไวรัสนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพียงแผนร้ายที่ต้องไม่เชื่อ อย่าว่าแต่ต้องหยุดพิธีกรรมทางศาสนา คนเหล่านี้ต้องการละหมาดวันศุกร์ด้วยคนจำนวนน้อยหรือตามรูปแบบดังกล่าวตอนต้นของบทความ ที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางการแพทย์ขั้นต่ำเกี่ยวกับไวรัส ตลอดจนภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของไวรัสชนิดนี้ รวมถึงความเร็วของการแพร่กระจาย และบุคคลที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆก็ได้ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ พวกเขาไม่ทราบว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวได้แพร่กระจายไวรัสชนิดนี้ในเกาหลีเนื่องจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์แห่งหนึ่ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้ละหมาดในมัสยิดที่มักเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากที่สุด ตลอดจนประเพณีของชาวมุสลิมในมัสยิดที่มักจับมือกัน กอดและสุหยูดในที่ที่มีผู้อื่นสุหยูดแล้ว อันจะทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายอย่างยิ่ง
4. ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลาม
สำหรับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลามเพื่อให้มีการแบ่งความเชี่ยวชาญและเราควรมีนิติเวชอิสลาม นิติเศรษฐกิจอิสลาม … ฯลฯ นิติเวชอิสลามมีการศึกษาทางการแพทย์ มีเครื่องมือในการวิจัยและสามารถประเมินข้อมูลที่อ่านได้
ทั้งนี้ เพราะว่าปัญหาทางการแพทย์และเศรษฐกิจนิติศาสตร์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น บางครั้งมาจากความผิดพลาดในการนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง
ยุคนี้หมดยุคนักสารานุกรมซึ่งเป็นที่รู้ลึกทุกด้าน เพราะโลกปัจจุบันมีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงกัน ระบบของความคิดทางนิติศาสตร์อิสลามจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
อ่านบทความต้นฉบับ
https://blogs.aljazeera.net/…/%D8%A5%D8%BA%D9%84%D8%A7%D9%8…
เขียนโดย Ghazali Benmad
อ่านตอนที่ 2 : https://www.theustaz.com/?p=3286
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายพื้นที่การแพร่ระบาดไปยังทั่วทวีปในทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้ theustaz.com จึงใคร่ถือโอกาสถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวสรุปได้ดังนี้
1. ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ชาวโลกเชื่อว่ามันมีจริง เพราะพิสูจน์ได้และผลร้ายของมันก็เป็นที่ประจักษ์ชัด ในขณะที่ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่เชื่อพระเจ้า เพราะเหตุผลว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งๆที่สัญญาณการมีอยู่ของพระองค์ มีทั่วท้องฟ้าและแผ่นดิน เพื่อย้ำเตือนว่าสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หาใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มีจริง
2. ทั่วโลกพากันหวาดกลัวไวรัสโควิด-19 ซึ่งมันเป็นเพียงสิ่งถูกสร้างแต่กลับหลงลืมและไม่เกรงกลัวพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ความเกรียงไกรของกองทัพทั่วโลกไม่สามารถต้านทานการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อย้ำเตือนว่ามนุษย์ช่างอ่อนแอต่อหน้าพระเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า
3. ชาวโลกหวาดผวาไวรัสร้ายนี้ที่ได้คร่าชีวิตทั่วโลกไปแล้ว 5,000 กว่าราย แต่ไม่ค่อยใส่ใจกับจอมเผด็จการบางประเทศที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์นับแสนนับล้านคน
4. ก่อนเกิดโรคระบาดนี้ที่ประเทศจีนผู้นำจีนเคยประกาศศักดาอย่างทรนงในวันชาติจีนว่า “ไม่มีอำนาจใดที่สามารถสั่นคลอนฐานอันมั่นคงของจีนได้” คล้อยหลังเพียงเดือนกว่า จีนทั้งประเทศต้องสะเทือนด้วยไวรัสชนิดใหม่นี้ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อนบนโลกนี้ ทำให้จีนต้องปิดประเทศ เมืองใหญ่ๆกลายเป็นเมืองร้าง มีการประกาศยกเลิกงานเฉลิมฉลองตรุษจีนโดยที่ทุกคนต้องขังตัวเองเพียงแต่ในบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น ตามด้วยผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้นับพันราย และยังติดเชื้อนับแสน จนทำให้จีนทั้งประเทศเกิดภาวะปั่นป่วนโกลาหลและลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากได้อย่างไร ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ โดยไม่มีผู้ที่สั่งการมัน
5. ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ Fussilat 15-16 ได้กล่าวถึงกลุ่มชนอ้าดในยุคสมัยนบีฮู้ดที่ได้ประกาศศักดาอย่างเหิมเกริมว่า “มีชนชาติใดเล่าที่เข้มแข็งและเกรียงไกรยิ่งกว่าพวกเรา” อัลลอฮ์ได้ลงโทษพวกเขาด้วยการส่งพายุถล่มบ้านเรือนเสียหายยับเยินจนไม่มีผู้ใดรอดชีวิต นอกจากนบีฮู้ดและศรัทธาชนเท่านั้น เพื่อย้ำเตือนว่าการกระทำบาป อบายมุข ความอยุติธรรม การกดขี่ และความจองหองคือสาเหตุสำคัญของการล่มสลายของประชาชาติในทุกยุคทุกสมัย
6. การบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า เพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์และความเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ สุดท้ายกลายเป็นพาหะแห่งความตาย เพื่อตอกย้ำคำสอนอิสลามว่าด้วยหลักโภชนาการที่ต้องทานอาหารที่ฮาลาลและมีคุณประโยชน์เท่านั้น พึงทราบว่าไม่มีผู้ใดที่สะสมสิ่งของในภาชนะที่เลวร้ายยิ่งกว่าท้องของเขา
7. โรคระบาดร้ายแรงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในสมัยเศาะฮาบะฮ์ ยุคเคาะลีฟะฮ์อุมัรบินอัลค็อฏฏอบในปีที่ 18 ฮ.ศ. จุดกำเนิดโรคระบาดนี้เกิดที่เมืองอัมวาส ปาเลสไตน์ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิต จำนวน 25,000-30,000 คน ในจำนวนนี้มี อบูอุบัยดะฮ์ บินญัรรอห์ มุอ้าซบินญะบัล บิลาลบินรอบ้าห์และศอฮาบะฮฺอีกหลายคนที่เสียชีวิต เพื่อยืนยันว่า โรคระบาดเกิดขึ้นได้ในทุกชุมชนไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและพรมแดน ส่วนความเชื่อที่ว่าโรคระบาดไม่เกิดในชุมชนมุสลิมนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ควรเชื่ออย่างยิ่ง
8. โลกใบนี้คือสนามทดสอบ ในขณะที่โลกอาคิเราะฮ์คือสถานแห่งการตอบแทนอันนิรันดร์และยุติธรรมที่สุด ดังนั้นประโยคที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จึงไม่สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์บนโลกนี้ อัลลอฮ์ทรงทดสอบบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อต้องการชำระล้างบาปของเขาทั้งมวล เพิ่มพูนผลบุญ ยกฐานะเขาในวันอาคิเราะฮ์และเป็นสัญญาณความรักของพระองค์ที่มีต่อบรรดาผู้ศรัทธา หากพวกเขายอมรับด้วยจิตใจที่สวามิภักดิ์ อดทนและหวังดีต่อพระองค์ แต่อัลลอฮ์ทรงทดสอบบรรดาผู้ปฏิเสธ เพื่อเป็นการลงโทษ เป็นอุทาหรณ์และเพื่อให้พวกเขาลิ้มรสการทรมานบนโลกนี้ ก่อนที่จะได้รับการทรมานอันแสนสาหัสในโลกอาคิเราะฮ์
9. อิสลามสอนวิธีรับมือกับโรคระบาดด้วยมาตรการของนบีที่กำชับให้ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” มาตั้งแต่กว่า 1,400 ปีมาแล้ว ในยุคที่ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เหมือนปัจจุบัน อับดุลเราะห์มานบินเอาฟ ได้บอกความรู้ใหม่ที่ท่านได้ยินจากนบีหากเกิดโรคระบาดว่า “หากท่านทราบข่าวมีโรคระบาดเกิด ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ท่านอย่าเข้าไปในบริเวณนั้น และหากท่านอยู่ในบริเวณที่เกิดโรคระบาด ท่านอย่าได้ออกจากบริเวณนั้น” มาตรการของนบีนี้ สอนให้เรารู้ว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่ครอบคลุมและให้คำตอบต่อปัญหาของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วนที่สุด เพราะอิสลามไม่ใช่เป็นคำสอนที่มาจากการจินตนาการของนบีมูฮัมมัด แต่เป็นวิถีดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกที่ออกแบบโดยพระเจ้าผู้ทรงบริหารสากลจักรวาล นบีมูฮัมมัดจะเสนอมาตรการนี้ได้อย่างไร หากไม่ใช่เป็นวะห์ยู(วิวรณ์) จากอัลลอฮ์ตะอาลา
10. โรคระบาดอัมวาสที่ปาเลสไตน์ ทำให้คาราวานของเคาะลีฟะฮ์อุมัรตัดสินใจกลับสู่อัลมะดีนะฮฺ ทั้งๆ ที่ใกล้ถึงจุดหมายแล้ว อบูอุบัยดะฮ์จึงทักท้วงว่าโอ้อะมีรุลมุมินีน ท่านจะหนีไปจากตักดีร(การกำหนด)ของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ท่านอุมัรตอบว่า เราหนีจากตักดีรของอัลลอฮ์สู่ตักดีรใหม่ของพระองค์ ท่านอุมัรสอนให้เรารู้ว่า มุสลิมไม่สามารถเป็นคนที่ยอมจำนนต่ออุปสรรค ยึดปรัชญาตายดาบหน้า รับตักดีรของอัลลอฮ์ โดยไม่ใช้ความพยายามใดๆ ความเชื่อในลักษณะนี้ เป็นความเชื่อของคนสิ้นคิดและไม่เข้าใจศาสนาที่ถูกต้องมุสลิมต้องตื่นรู้เกี่ยวกับโรคระบาดและต้องหามาตรการยับยั้งการแพร่ขยายของมันด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มีทิฐิมานะที่จะต่อสู้กับบททดสอบ ใช้วิธีการป้องกันดีกว่าการแก้ไข ต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก ทุกโรคย่อมมียารักษายกเว้นความตาย การกระทำใดๆที่ก่ออันตรายทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและฝ่าฝืนกับหลักการอิสลาม
11. การดุอา อิสติฆฟาร์และซิกิร์ตามนบี ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและยุติความเลวร้ายทั้งปวง จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องมุสลิมใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการใกล้ชิดอัลลอฮ์ ด้วยการดุอาและซิกิร์จากนบีให้คลาดแคล้วจากเภทภัยทั้งมวล
12. โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่อันตรายที่สุดยุคนี้ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 100,000 คนแล้ว แต่มีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ระบาดไปทั่วโลกที่อาจกล่าวได้ว่าประชากรโลกทั้ง 7,300 ล้านคนจะโดนโรคร้ายชนิดนี้ – เว้นแต่ผู้ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ- โรคที่ว่านี้คืออัลวะฮนู الوهن ซึ่งหมายถึงโรคหลงใหลโลกดุนยาและกลัวความตาย อัลลอฮุลมุสตะอาน
13. การที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ประกาศระงับออกวีซ่าอุมเราะฮ์และห้ามเข้าในสองมัสยิดอันทรงเกียรติในบางช่วงเวลา ถือเป็นมาตรการที่มุสลิมทั่วโลกต้องให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกันกับบางประเทศและบางพื้นที่ ที่ได้ประกาศยกเลิกละหมาดวันศุกร์และญะมาอะฮ์ 5 เวลา รวมทั้งมาตรการปิดประเทศของหลายประเทศ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์หลักชะรีอะฮ์ที่กำชับให้รักษาชีวิตเท่าที่มีความสามารถ เราต้องดุอาให้สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด
14. ถึงแม้ไวรัสร้ายนี้จะส่งผลกระทบอันตรายมากแค่ไหน แต่สุนนะฮ์ไม่ได้สอนให้มุสลิมอ่านกุนูตนาซิละฮ์ในขณะละหมาด เหมือนกรณีที่สังคมโลกอยู่ในสถานการณ์หวาดกลัวเนื่องจากภัยสงครามหรือถูกคุกคามจากฝ่ายที่รุกราน ดังนั้นจึงไม่มีการอ่านกุนูตนาซิละฮ์ในกรณีนี้ แต่รณรงค์ให้ทุกคนร่วมดุอาด้วยบทดุอาที่นบีสอนไว้ เช่น
اللهم إني أعوذ بك من البرص والجنون والجذام ومن سيئ الأسقام
และดุอาบทอื่นๆ โดยเฉพาะการอ่านอัซการ์นะบะวียะฮ์เช้าเย็นอย่างสม่ำเสมอ
15. ในโลกยุคโซเชียลปัจจุบัน สิ่งที่เราควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือ การหลั่งไหลของข้อมูลอันมากมาย ดังนั้นอิสลามจึงสอนให้เรารู้จักคัดแยก ไตร่ตรองและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รู้จักบริโภคสื่ออย่างรู้เท่าทัน ชัวร์ก่อนแชร์และรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ถูกต้องเท่านั้นโดยเฉพาะข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนจำนวน 20 ล้านคนรับอิสลาม เนื่องจากพบว่าไวรัสร้ายนี้ไม่มีระบาดในชุมชนมุสลิม ซึ่งถือเป็นข่าวลวงและไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
16. กลัวจนเกินเหตุเป็นบ่อเกิดของชิริก กล้าจนเกินลิมิต คือพฤติกรรมของคนโง่เขลา ดังนั้นทุกคนต้องศรัทธาอย่างมีสติและใช้สติด้วยความศรัทธา ตะวักกัล(มอบตน)ที่ตามด้วยความพยายามอุตสาหะและใช้ความอุตสาหะที่นำโดยตะวักกัล อย่าให้เหตุการณ์นี้บั่นทอนสุขภาพจิตและอารมณ์จนทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน
17. สำหรับผู้ศรัทธา ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วเป็นผลบวกสำหรับเขาเสมอและไม่มีผู้ใดที่ได้รับอานิสงส์นี้นอกจากผู้ศรัทธาเท่านั้น หากพบกับความดีเขาจะขอบคุณ(ชุโกร์)ต่ออัลลอฮ์ ซึ่งการชุโกร์ จะสร้างผลบวกสำหรับชีวิตเขา หากเขาพบกับสิ่งเลวร้าย เขาจะอดทนซึ่งความอดทน จะก่อผลบวกต่อชีวิตเขาเช่นกัน พร้อมศรัทธามั่นว่า ไม่มีสิ่งใดที่ประสบกับเรา เว้นแต่สิ่งนั้น อัลลอฮ์ได้กำหนดให้ประสบแก่เราแล้ว นบีได้สอนว่าผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากโรคระบาด เขาจะมีผลบุญเหมือนคนเสียชีวิตในฐานะชะฮีดทีเดียว
18. สำหรับอัลลอฮ์ พระองค์จะไม่ถูกสอบสวนในสิ่งที่พระองค์ได้กระทำแต่มนุษย์ต่างหากที่จะต้องถูกสอบสวนและให้คำชี้แจง
19. ขอให้ทุกคนยำเกรงอัลลอฮ์ ไม่ว่าในช่วงดีหรือในสภาพอันเลวร้าย เข้าหาพระองค์ด้วยความนอบน้อมและสำนึกผิด หยุดการกระทำที่พระองค์ทรงโกรธกริ้ว ยึดมั่นในคำสอนของอิสลามทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการและการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รำลึกถึงความตายและวันสุดท้ายด้วยการเพิ่มพูนความดี ละทิ้งบาปและสิ่งอบายมุขทั้งปวง
อัลลอฮ์กล่าวในอัลกุรอานว่า
وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَىٰ آمَنُوا وَاتَّقَوْا لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ وَلَٰكِن كَذَّبُوا فَأَخَذْنَاهُم بِمَا كَانُوا يَكْسِبُونَ (الأعراف/96)
ความว่า หากชาวเมืองศรัทธาและมีความยำเกรง เราจะเปิดความจำเริญจากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขา แต่พวกเขาพากันปฏิเสธ เราจึงลงโทษพวกเขาด้วยสาเหตุที่พวกเขาได้กระทำ
ด้วยความปรารถนาดี
ครอบครัว theustaz.com
บทความนี้จะกล่าวถึงแนวคิดเบื้องต้นในอิสลามที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งถึงแม้อิสลามไม่ได้ร่างปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นการเฉพาะ แต่อิสลามได้ก้าวล้ำประชาคมโลกและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนที่ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกและการศรัทธาพร้อมการประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่ออัลลอฮ์ และเป็นดัชนีชี้วัดของการเป็นมุสลิมที่ดี
แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนได้กำเนิดเป็นทางการครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 13 (หลังจากการเผยแผ่ศาสนาอิสลามนานถึง 7 ศตวรรษ) อันสืบเนื่องจากการปฏิรูปชนชั้นในยุโรป ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการในสหรัฐอเมริกา ในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการป้องกันการเหยียดผิว การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการป้องกันความอยุติธรรมในสังคม จนได้มีการยกย่องว่า ศตวรรษที่ 18 คือ ศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน
องค์กรสิทธิมนุษยชนได้ก่อตั้งครั้งแรกโดยสหประชาชาติในปี ค.ศ.1945 และในปี ค.ศ.1948 ได้มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลังจากประชาคมโลกตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่สมัชชาสหประชาชาติได้ให้การรับรองและประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1948 ซึ่งถือเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากลของทุกปี ประกอบด้วยข้อความ 30 ข้อ เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ส่วนได้แก่
ส่วนแรก เป็นคำปรารภที่กล่าวถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ที่ว่ามนุษย์มีสิทธิในตนเอง มีศักดิ์ศรี มีความเสมอภาค ดังนั้นจึงห้ามเลือกปฏิบัติ และควรปฏิบัติต่อกันเสมือนเป็นพี่น้อง สิทธิมนุษยชนนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่จะสร้างหลักประกันแก่ทุกชีวิตด้วยการ เคารพหลักสิทธิเสรีภาพที่ปรากฏในปฏิญญานี้ เพื่อให้สิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานร่วมกันสำหรับการปฏิบัติของผู้คนในสังคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ อันเป็นพื้นฐานแห่งเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก
ส่วนที่สอง กล่าวถึงสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Civil and Political Rights) ประกอบด้วย สิทธิในชีวิต เสรีภาพและความมั่นคง สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เสรีภาพในการเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก เสรีภาพสื่อมวลชน ในการชุมนุม การสมาคมรวมกลุ่ม และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเข้าถึงบริการสาธารณะ
ส่วนที่สาม กล่าวถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (Economic Social and Cultural Rights) สิทธิดังกล่าวได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ และได้รับผลทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง สิทธิในการศึกษา สิทธิในด้านแรงงาน สิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ สิทธิในสวัสดิการสังคม การคุ้มครองแม่และเด็ก สิทธิในการได้รับความคุ้มครองทางวัฒนธรรม ศิลป ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
ส่วนที่สี่ กล่าวถึงหน้าที่ของบุคคล สังคมและรัฐ โดยที่จะต้องดำเนินการสร้างหลักประกันให้มีการคุ้มครองปรากฏในปฏิญญานี้ ให้ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ห้ามรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน และจำกัดสิทธิของบุคคล มิให้ใช้สิทธิมนุษยชนละเมิดสิทธิของผู้อื่น สังคมและโลก
สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ประเทศไทยได้เป็นภาคีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 199 และมาตรา 200 และ พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีคณะกรรมการ 11 ท่าน ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำการไกล่เกลี่ย เสนอมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ทั้งยังมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย และข้อเสนอในการปรับปรุงกฎมายต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน
ในปัจจุบันมีองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาชนในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำงานช่วยเหลือประชาชนทั้งการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ ทั้งในระดับนโยบายและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหาทางแก้ไขปัญหาเท่าที่สามารถกระทำได้ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า ในสังคมไทยจะปลอดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรายังต้องอาศัยพลังจากประชาชนเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของตนเองและชุมชน จึงจะเป็นการสร้างความสงบสุขในสังคมได้
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
อิสลามได้ให้เกียรติแก่มนุษย์ และยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์ คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาติญาณดั้งเดิม โดยที่อัลลอฮ์ ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
อัลลอฮ์ได้กำหนดบทบัญญัติให้ยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ พระองค์ได้ประทานคัมภีร์เพื่อเป็นธรรมนูญชีวิตและส่งศาสนทูตเพื่อเป็นแบบอย่างในการนำคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิติประจำวัน บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง 5 ประการ คือ การคุ้มครองศาสนา การคุ้มครองชีวิต การคุ้มครองสติปัญญา การคุ้มครองพันธุ์กรรมหรือศักดิ์ศรี และการคุ้มครองทรัพย์สิน
สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงมีคุณลักษณะเฉพาะที่พอสรุปได้ดังนี้
1) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อในอิสลาม มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่พึงมีต่อพระเจ้า ต่อตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อม
2) สิทธิมนุษยชนในอิสลามเป็นพรอันประเสริฐและความกรุณาของพระเจ้าที่มอบให้แก่มนุษย์ เป็นคำวิวรณ์จากพระเจ้าผ่านศาสนทูตแห่งพระองค์ สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นการเรียกร้องเพื่อตอบสนองกระแสสังคม หรือเสียงสะท้อนของผู้ที่เสียเปรียบหรือได้เปรียบจากความขัดแย้งในสังคม
3) สิทธิมนุษยชนในอิสลามมีขอบเขตครอบคลุมมนุษยชาติทั้งมวล โดยไม่กำหนดเส้นแบ่งด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือประเทศใดเป็นการเฉพาะ แต่มีเนื้อหาขอบเขตกว้างขวาง ตั้งแต่การศรัทธาในระดับจิตสำนึกไปจนถึงโครงสร้างทางสังคม และกำหนดนโยบายในระดับประเทศและนานาชาติที่ครอบคลุมมนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย
4) สิทธิมนุษยชนในอิสลาม คือ พฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่ซึมซับอยู่ในจิตสำนึกและพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจกฏหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้
Dr.Ibrahim Madkur ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอาหรับ กรุงไคโรกล่าวว่า
สิทธิมนุษยชนที่มีการละเมิดในทุกวันนี้ ทั้งๆที่เรามีหน้าที่ต้องส่งเสริมและคุ้มครองไว้ ความจริงแล้วอิสลามได้วางกฏเกณฑ์และให้มวลมนุษย์ดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ 14 ศตวรรษแล้ว อิสลามได้วางรากฐานสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายใน ศตวรรษที่ 18 ที่ถือว่าเป็นศตวรรษแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป อิสลามได้ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของบทบัญญัติทางศาสนา และสิ่งที่พึงปฏิบัติในโลกดุนยาพร้อมกับได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งเสริมจริยธรรมและจิตวิญญาณ
อัลกุรอาน คือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติ
อัลกุรอาน คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ ประเด็นหลักที่บรรจุในอัลกุรอานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น อัลกุรอานได้เรียกร้องมนุษย์ว่าيأيهاالناس (โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย) โดยที่คำนี้จะถูกเรียกซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้งในขณะที่คำว่าالناس (มนุษย์)ได้ถูกใช้ในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง คำว่าإنسان (คำเอกพจน์ของมนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอาน 63 ครั้ง และคำว่า بني ادم (ลูกหลานอาดัม) ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานถึง 6 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะสังเกตได้จากโองการแรกที่ถูกประทานลงมายัง นะบีมุฮัมมัด ที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า إنسان (มนุษย์) ถึง 2 ครั้งทีเดียว ในขณะที่ซูเราะฮ์ลำดับสุดท้ายในอัลกุรอานคือ ซูเราะฮ์ อันนาส ซึ่งหมายถึงมนุษย์เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและต้นกำเนิดอันแท้จริงของตน รับทราบคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย เชิญชวนมนุษย์ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอยู่บนโลกนี้ ชี้แนะให้รู้จักและยึดมั่นบนเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งให้รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษยชาติโดยแท้จริง
คุตบะฮ์วะดาอฺ (เทศนาธรรมอำลาของท่านศานทูต) คือ การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของมนุษยชาติ
ในปีที่ 10 ฮศ. นะบีมุฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีหัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์ในวันที่เปี่ยมด้วยความศานติ นะบีมุฮัมมัดได้กล่าวคำสุนทรพจน์ที่ถือเป็นบทปัจฉิมนิเทศในอิสลาม และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่สามารถรวบรวมพลโลกนับแสนที่หลากหลาย ด้านภาษา สีผิว วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ คลื่นมหาชนได้รวมตัว ณ สถานที่เดียวกัน วันเวลาเดียวกัน มีเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์เดียวกัน การปฏิบัติศาสนกิจที่พร้อมเพรียงกัน ด้วยการแต่งกายที่เหมือนกัน ภายใต้การนำโดยผู้นำสูงสุดคนเดียว เนื้อหาหลักของ คุตบะฮ์วะดาอฺ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต เลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของคุตบะฮ์ ความว่า
โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเลือด ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้ เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้
เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ
รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นลายลักษณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีเชื่อว่า เป็นอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอิสลาม
วัตถุประสงค์หลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ วางรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตที่สันติ สานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายโดยเฉพาะชาวมุฮาญิรีน อันศ็อร ชาวยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชาชน ผู้นำและรัฐในการสร้างสังคมสันติภาพ ตลอดจนประกาศความเป็นรัฐเอกราชและความเป็นผู้นำสูงสุดของนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)
นักบูรพาคดีชาวโรมาเนียชื่อ Constant Jeor Jeo ได้กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วย 52 มาตรา ทุกมาตราเป็นความคิดที่สร้างสรรค์โดยนบีมุฮัมมัด ในจำนวนนี้มี 25 มาตราที่พูดถึงชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะ และอีก 27 มาตราได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิกโดยเฉพาะยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่อนุญาตให้ชนต่างศาสนิกสามารถดำรงชีวิตกับสังคมมุสลิมอย่างอิสระ สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละชุมชนอย่างเสรี แต่ละชุมชนไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนหรือก่อความไม่สงบแก่ชุมชนอื่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในปีแรกของการฮิจเราะฮฺหรือปี 623 ค.ศ. แต่ทุกครั้งที่เมืองอัลมะดีนะฮฺถูกคุกคามจากศัตรูพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องลุกขึ้นปกป้องจากภัยคุกคามนี้”
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺสรุปได้ดังนี้
1. ประชาชาติมุสลิมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าการติดยึดในเรื่องเผ่าพันธุ์และสีผิว
“แท้จริงพวกเขาคือประชาชาติเดียวกันที่แตกต่างจากชาวพลเมืองอื่น”
นัยตามมาตรานี้ ทำให้ชาวมุสลิมถึงแม้จะมาจากเผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและภาษาที่ต่างกัน แต่พวกเขามีความผูกพันกับสายใยอันเดียวกัน นั่นคือ อิสลาม และด้วยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด ได้ทลายกำแพงความเป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม ภาษานิยมและชาตินิยมอย่างสิ้นซาก พร้อมสร้างชาติพันธุ์ใหม่คือชาติพันธุ์อิสลาม ทุกคนกลายเป็นประชาชาติเดียวกันคือประชาชาติอิสลาม
2. การสร้างหลักประกันสังคมร่วมกันระหว่างพลเมือง
“แท้จริงศรัทธาชนไม่สามารถปล่อยให้ปัญหาของมุสลิมถูกแก้ไขตามลำพัง แต่เขาต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แก้ปัญหาด้วยคุณธรรมโดยเฉพาะเรื่องการไถ่ตัวมุสลิมจากการถูกจองจำ”
มาตรานี้ได้ส่งสัญญาณแก่มุสลิมทุกคนว่า พวกเขาคือพี่น้องกัน จำเป็นต้องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน พวกเขาคือเรือนร่างอันเดียวกัน อวัยวะส่วนไหนเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นเจ็บปวดไปด้วย
3. การลงโทษผู้บิดพลิ้วสัญญา
“ศรัทธาชนต้องลุกขึ้นต่อต้านโดยพร้อมเพรียงกันต่อทุกพฤติกรรมที่ส่อถึงการทรยศหักหลัง การสร้างศัตรูหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคมมุสลิม ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อต้านกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ถึงแม้จะเป็นลูกหลานใครก็ตาม”
อาศัยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด ได้สั่งประหารชีวิตยิวเผ่ากุร็อยเศาะฮฺกลุ่มหนึ่งหลังสงครามอัลอะหฺซาบ(สงครามพลพรรค) ซึ่งยิวกลุ่มนี้ได้เป็นไส้ศึกร่วมมือกับศัตรูในการโจมตีเมืองอัลมะดีนะฮฺ ถึงแม้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอัลมะดีนะฮฺก็ตาม
4. การให้เกียรติแก่ทุกคนที่มุสลิมประกันความปลอดภัย
“แท้จริงอัลลอฮฺจะประกันความปลอดภัยแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดก็ได้รับสิทธินี้อย่างเสมอภาค ศรัทธาชนจะต้องร่วมมือประกันความปลอดภัยซึ่งกันและกัน”
มุสลิมทุกคนสามารถประกันความปลอดภัยแก่ใครก็ได้ที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม และทุกคนในสังคมต้องเคารพการประกันความปลอดภัยนี้ ถึงแม้ผู้ประกันจะมาจากประชาชนธรรมดาผู้ต่ำต้อยก็ตาม และแม้กระทั่งผู้ประกันจะเป็นผู้หญิงก็ตาม ดังหะดีษหนึ่งที่นบีมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่อุมมุฮานิว่า
“แท้จริง ฉันจะประกันความปลอดภัย แก่ผู้ที่ท่านประกันความปลอดภัยแก่เขาโอ้ อุมมุฮานิ”
(อัลบุคอรีย์/6158 และมุสลิม/336)
5. การปกป้องประชาชนต่างศาสนิกและชนกลุ่มน้อย
“ผู้ใดก็ตามที่ตามเราจากชาวยิว พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาจะไม่ถูกอธรรมและไม่มีใครสามารถคุกคามพวกเขาได้”
มาตรานี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า ชนต่างศาสนิกจะไม่ถูกคุกคามจากรัฐหรือสังคมมุสลิม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มุสลิมหรือรัฐอิสลามไม่สามารถเอาประเด็นศาสนาเพื่อทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ตราบใดที่เขาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข
6. หลักประกันความปลอดภัยในสังคมและประกันให้ค่าสินไหมทดแทน
“ผู้ใดที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยปราศจากเหตุผลที่เป็นที่อนุญาต เขาจะถูกตัดสินด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นทายาทที่ถูกฆ่ายินยอมรับค่าสินไหมทดแทน ศรัทธาชนทั้งหลายต้องลุกขึ้นประณามฆาตกรรมนี้ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์กระทำการอื่นใด ยกเว้นลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น”
มาตรานี้เป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพที่สามารถลบล้างวัฒนธรรมแห่งการล้างแค้นที่บานปลายและไม่มีวันสิ้นสุดในสังคมญาฮีลียะฮฺในอดีต รัฐธรรมนูญยังได้ระบุว่า การลงโทษใดๆ สามารถกระทำได้แก่ผู้กระทำผิดเท่านั้น และบุคคลอื่นจะไม่ถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดของสหายของเขา
7. แหล่งคำตัดสินสุดท้ายคือชะรีอะฮฺอิสลาม
“หากมีข้อพิพาทใดๆ ในระหว่างท่าน จงหันกลับไปสู่การตัดสินของอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด ”
มาตรานี้เป็นการประกาศว่า การตัดสินของอัลลอฮฺ และเราะซูล ถือเป็นที่สิ้นสุดและทุกคนต้องเชื่อฟังคำตัดสินนี้
8. เสรีภาพด้านการนับถือศาสนา
ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่กลุ่มชนต่างๆ ในการนับถือศาสนาและสามารถปฏิบัติคำสอนศาสนาตามความเชื่อของแต่ละคน ดังที่ได้ระบุในมาตราหนึ่งว่า
“ยิวบะนีเอาว์ฟ เป็นประชาชาติหนึ่งร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา ยิวมีศาสนาประจำของพวกเขา และมุสลิมีนก็มีศาสนาประจำของพวกเขาเช่นกัน”
9. การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อปกป้องรัฐถือเป็นหน้าที่ของทุกคน
“ชาวยิวมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินพร้อมๆ กับผู้ศรัทธาตราบใดที่พวกเขาร่วมทำสงครามพร้อมกับชาวมุสลิม”
เพราะอัลมะดีนะฮฺเป็นรัฐของคนทุกคน ดังนั้นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนและปกป้องรัฐจากภัยคุกคามอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
10. ทุกเผ่าพันธุ์ได้รับอิสรภาพในการจัดการเรื่องเงินและรายได้ของตน
“ชาวยิวมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขา และชาวมุสลิมมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขาเช่นกัน”
ในเมื่อแต่ละกลุ่มชนมีหน้าที่ใช้จ่ายเพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นแต่ละกลุ่มชนในสังคมต่างมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพของตนโดยที่รัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพียงผู้เดียว
11. การปกป้องรัฐอัลมะดีนะฮฺจากภัยคุกคามเป็นสิ่งวาญิบสำหรับทุกคน
“ในระหว่างพวกเขา ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อต้านผู้รุกรานพลเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
มาตรการนี้ถือเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้แก่ทุกคนที่เป็นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺในการปกป้องจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกที่สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล
12. การให้คำตักเตือน การทำความดีระหว่างมุสลิมด้วยกันและชนต่างศาสนิก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน
“ในระหว่างพวกเขาต้องดำรงไว้ซึ่งการตักเตือนและการทำความดี ไม่ใช่กระทำบาปทั้งหลาย”
สถานะดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คือ การให้คำตักเตือน เสนอแนะสิ่งดี ประกอบคุณงามความดีให้แก่กัน ไม่ใช่สร้างความบาดหมางระหว่างกัน
13. พลเมืองทุกคนสามารถทำสัญญากับฝ่ายใดก็ได้ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ
มาตรานี้เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนแข่งขันทำความดี สรรค์สร้างสิ่งประโยชน์และพัฒนาสังคมอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อให้สามารถดำเนินไปอย่างสำเร็จสูงสุด รัฐจึงให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายทำสัญญาสร้างความร่วมมือทำคุณประโยชน์ ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ
14. วาญิบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรม
“แท้จริงการยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรมเป็นสิ่งวาญิบ”
ดังนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมและต้องปลดปล่อยอธรรมให้หมดไปจากสังคมมุสลิม ไม่ว่าผู้ถูกอธรรมจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
15. การประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองทุกคน เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐ
รัฐจะต้องประกันความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนาและเผ่าพันธุ์
นี่คือสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับอัลมะดีนะฮฺที่สามารถสร้างสังคมปรองดองที่แท้จริง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรีและเกิดสันติสุขที่แท้จริง เพราะความหายนะและความปั่นป่วนในสังคม เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์พยายามใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตราบใดที่ไม่สามารถยับยั้งสกัดกั้นการบีบบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนปฏิเสธการนับถือพระเจ้าอันจอมปลอม และตราบใดที่ไม่สามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้มีความอิสระในการเลือกทางเดินชีวิตและความต้องการอันแท้จริงของตนเองแล้ว มนุษย์จะต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจสำคัญของนบีมุฮัมมัด และผู้ที่เจริญรอยตามท่าน คือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการการเคารพบูชามนุษย์ด้วยกัน สู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ ปล่อยอิสรภาพมวลมนุษย์จากห่วงโซ่อันคับแคบของโลกดุนยาสู่ความไพศาลของดุนยาและอาคิเราะฮฺ ทำให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากกรงเล็บแห่งความอธรรมทางศาสนาสู่ความยุติธรรมของอัลอิสลาม
ส่วนหนึ่งในคุตบะฮ์ อีดิ้ลอัฏฮา 1433
โดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ