บรรยากาศละหมาดอีดฟิตรีย์ 1443 ฮ.​ ณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

เมื่อ(2 พฤษภาคม 2565) ซึ่งเป็นวันฮารีรายออิดิ้ลฟิตรี ประจำปี  ฮ.ศ. 1443 เทศบาลเมืองนราธิวาส โดยนายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ร่วมกับกลุ่มอิสลามนรา จัดพิธีละหมาดอิดิ้ลฟิตรี ณ สนามกีฬาเทศบาลเมืองนราธิวาส  เริ่มตั้งแต่เวลา 07.30 น.  เป็นต้นไปซึ่งก่อนที่จะเข้าสู่พิธีละหมาด นายไพซอล อาแว นายกเทศมนตรี ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมละหมาด  ซึ่งมีจำนวนเกือบ 2,000 คน

.

โดยการละหมาดในครั้งนี้มีอิหม่ามเชค รอมี จากประเทศอียิปต์ เป็นผู้นำละหมาด  โดยอ่านอัลกุรอานตามกิรออาตอัลกิสาอีย์ หนึ่งในกิรออาตที่มีสายรายงานที่ถูกต้องจากนบี และ ผศ.มัสลัน มาหะมะ จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  เป็นผู้อ่านคุฏบะห์ ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำต่อการพัฒนาสังคม” โดยได้ยกบทบาทของผู้นำที่ปรากฏในซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟีเป็นกรณีศึกษา ซึ่งผู้นำในทุกระดับชั้นต้องทำความเข้าใจบททดสอบ 4 ประการ คือ 1) บททดสอบด้านอะกีดะฮ์  ตามเรื่องราวของกลุ่มเยาวชนชาวถ้ำ 2) บททดสอบด้านทรัพย์สินและลูกหลาน ตามเรื่องราวของเจ้าของสวน 2 แก่ง  3) บททดสอบด้านความรู้ ตามเรื่องราวของนบีมูซาและคิฎิร์ และ4) บททดสอบด้านอำนาจและการบริหารตามเรื่องราวของซุลก็อร์นัยน์

สำหรับการละหมาดในวันนี้เทศบาลได้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยให้ผู้ร่วมละหมาดทุกคน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิและลงทะเบียนก่อนเข้างาน เว้นระยะห่าง และใช้ผ้าละหมาดของตนเอง  โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกตลอดงาน ซึ่งหลังจากละหมาดและรับฟังคุฏบะห์แล้ว นายกเทศมนตรีพร้อมคณะได้มอบซากาตและจัดเลี้ยงอาหารให้แก่เด็กๆ  นอกจากนั้นภายในงานยังได้จัดสถานที่จุดเช็คอินเพื่อให้ผู้ร่วมละหมาดได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกด้วย บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างชื่นมื่นต่างก็ได้พบปะ ขอมาอัฟต่อกัน (ให้อภัยกัน) ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

.

ขอบคุณ เทศบาลเมืองนราธิวาส

วิดีโอละหมาดและคุตบะฮฺอีด

https://www.facebook.com/islamnarathiwat/videos/366057342134747


ทีมข่าว theustaz

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ด้านวิชาการ” ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ ศอ.บต.

วานนี้ (9 เมษายน 2565) ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ด้านวิชาการ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)โดยมีนางอารยา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ตามโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be ceo (ภาคใต้)

ในการนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO             ของกระทรวงพาณิชย์ที่ตนได้มอบนโยบายให้ดำเนินการมาโดยต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ปั้น GenZ เป็น CEO ไปแล้วจำนวนมาก ซึ่ง Gen Z ต่างจากรุ่นตนและ Gen X Gen Y เพราะส่วนใหญ่ จบการศึกษาไปแล้วหลายคนอยากเป็นนายตัวเอง ซึ่งก็ต้องมีธุรกิจหรือกิจการของตนเอง จึงเป็นที่มาของนโยบายปั้น Gen Z ให้เป็น CEO จึงตั้งเป้าเตรียมปั้นนักศึกษาชั้นปี 3-4 ที่สนใจ เมื่อจบไปแล้วจะได้ไปเป็นนายตนเองทำธุรกิจเป็น CEO ให้กับกิจการของตัวเองได้ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการร่วมลงนาม MOUกับสถาบันการศึกษาทุกภาคทั่วประเทศ 94 สถาบัน จบหลักสูตรไปแล้ว 21,000 คน และปี 2565 ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 20,000 คน ภายในปีเดียวและในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่เป็น CEO Gen Z ปกติแต่จะปั้นเป็น CEO ฮาลาล ซึ่งจะมีทั้งสินค้าและบริการรวมทั้ง Soft Power ของจังหวัดชายแดนใต้ที่จะเป็นจุดขาย ทำให้ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจการค้าได้ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งเรื่องความมั่นคง การศึกษา เศรษฐกิจ เชื่อว่าจะเป็นโครงการที่ช่วยสนองตอบการช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับพี่น้องโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างตรงประเด็นที่สุดและสนองตอบต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การสมัครเข้าร่วมโครงการ จะมีการอบรมใช้เวลาเต็มวันประมาณ 5 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการฝึกงานจริงหลักสูตรที่เรียน เช่น การบริหารจัดการธุรกิจยุคใหม่ การบริหารจัดการการส่งออก ความรู้การส่งออกเบื้องต้น การวิเคราะห์การตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การบริหารจัดการสตาร์ทอัพ การเอา Soft Power ศิลปะวัฒนธรรมประเพณีของคนจังหวัดชายแดนใต้ผสมผสานเป็นจุดขายให้กับสินค้าและการบริการที่สามารถสร้างความเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงการทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าบริการในแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเรื่องอีคอมเมิร์ซ สินค้าและบริการแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก จะได้มีพื้นความรู้ในการเป็นนายของตัวเองอย่างมีศักยภาพ ถือเป็นการนำรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และประเทศถ้าส่งออกต่อไปได้ โดยตั้งเป้าว่าอย่างน้อยจังหวัดชายแดนใต้ จะทำให้ได้ 1,000 คน” อย่างแน่นอน

สำหรับการดำเนินโครงการ From Gen Z to be CEO กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ สถาบัน NEA (New Economy Academy) จัดทำหลักสูตรเพื่อบ่มเพาะความรู้และสร้าง Mindset ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเจเนอเรชั่นซี(Gen Z) เพื่อสร้างให้เป็นแม่ทัพทางการค้าของประเทศในอนาคตภายใต้โครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศจากทั้งผู้ประกอบ ธุรกิจที่มีประสบการณ์การส่งออกโดยตรง และในปี 2565 สถาบัน NEA ได้ขยายความร่วมมือกับอีก 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี เพื่อขยายโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในส่วนภูมิภาคต่อไป


เครดิตข่าว : เพจข่าว ศอ.บต.

มฟน.เชื่อมสัมพันธ์

21 มีนาคม 2565

เวลา 11.30-12.30 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีและประธานมูนิธิมะดีนะตุสสลาม รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้เยี่ยมคารวะนายอิศอม บินศอลิห์ อัลญาตีลีย์อุปทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยโดยได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการริเริ่มโครงการก่อสร้างศูนย์อิสลามผู้อุปถัมภ์สองมัสยิดอันทรงเกียรติ กษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซิซ อาลซะอูด ณ เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี พร้อมพูดคุยโอกาสและแนวทางการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี หลังจากประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ

และในเวลา 13.30-15.15 น. ในวันเดียวกัน นายกสภามหาวิทยาลัยฟาฏอนีพร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เยี่ยมคารวะนายอะห์มัด อะลี เอ. เจ. อัตตะมีมี เอกอัครราชทูตรัฐกาตาร์ประจำประเทศไทย โดยได้รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลชัยค์ญาซิม บินมุฮัมมัด อาลษานีย์ ณ เมืองมะดีนะตุสสลาม จังหวัดปัตตานี งบซ่อมแซมอาคารกาตาร์ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี พร้อมโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ ตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฟาฏอนี

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา กล่าวว่าประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศกาตาร์ถือเป็นสองสายธารอันไหลรินที่มอบความดีงามแก่สังคมโลกมาโดยตลอดโดยเฉพาะสังคมมุสลิมในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยฟาฏอนี  ในขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ในนามมหาวิทยาลัยและพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยรู้สึกซาบซึ้งในมิตรไมตรีของประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศกาตาร์ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคมในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่จะเป็นกำลังหลักในการค้ำจุนสังคมสันติภาพต่อไป


โดย Mazlan Muhammad

ศอ.บต. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง โอกาส ศักยภาพและความท้าทาย ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทยภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์

วันที่ (23 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง โอกาส ศักยภาพ และความท้าทาย ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทยภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์ โดยภายในงานมีการกล่าวปาฐกถาจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน video conference ในหัวข้อ “ความสำเร็จของการฟื้นฟูความสัมพันธ์    ไทย-ซาอุดีอาระเบีย โอกาสและศักยภาพของประเทศไทยและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ที่สมบูรณ์”

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในตอนหนึ่งว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจะเป็นทั้งโอกาส ความหวัง และเป็นความท้าทายในการเดินหน้าพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมพร้อมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาในอนาคตโดยความร่วมมือที่สำคัญที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเน้นย้ำในเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดชายแดนใต้ ได้มีส่วนร่วมในการคิดและออกแบบนโยบาย ออกแบบกลไกและแนวทางการพัฒนาภายใต้การเปิดศักราช เชื่อมความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรไทยราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ ข้อเสนอของทุกท่าน ยืนยัน ที่จะให้การสนับสนุนและผลักดันไปเป็นวาระสำคัญการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เพื่อจะได้ดำเนินการเสนอและผลักดันกระบวนการทำงานของที่ประชุมไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นอกจากนี้ภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “โอกาส ศักยภาพและความท้าทายของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียโดยสมบูรณ์” โดย นายอิซอม ซอเละห์ เอช. อัลจีเตลีอุปทูตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย และ นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูตไทยประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย มีการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นในขั้นต้น (Focus Group) ทั้ง 9 ด้าน ซึ่งจัดขึ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และ มีการให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ กล่าวถึงการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การเป็นพื้นที่อาหารฮาลาลโลกว่า มีความพร้อมในการผลักดันจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การเป็นพื้นที่อาหารฮาลาลโลก พร้อมส่งเสริมการทำมาตรฐานฮาลาลที่ทั่วโลกยอมรับ โดยผลิตอาหารตั้งต้น กลางและปลายที่เชื่อมโยงกัน รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อเตรียมสร้างนักเรียน นักศึกษา เข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีศักยภาพ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าสู่ประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ โดยต้องอาศัยศักยภาพแกนนำบุคคลเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์ของไทยและซาอุดีอาระเบีย และพัฒนาทักษะภาษาอาหรับเพื่อให้เข้าสู่ตลาดแรงงานที่สามารถสร้างรายได้ในการดูแลตนเองและครอบครัว

ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การรวบรวมข้อเสนอแนะในครั้งนี้จะเป็นการรวบรวบข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้มิติความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดทำเป็นร่างกรอบและจะปรับปรุง หลังจาก รับคำแนะนำ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในครั้งนี้เพื่อส่งให้กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอต่อที่ประชุม กพต. และเสนอ ครม.ต่อไป เชื่อมั่นว่าจะเป็นทิศทางสำคัญที่จะยกระดับความร่วมมือ 2 ประเทศ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  

นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีการระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Focus Group) อีกครั้ง เพื่อรวบรวบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้มิติความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านจะเป็นประโยชน์สูงสุด กับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่สำคัญในการดำเนินการในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงไปสู่ระดับประเทศต่อไป


เครดิตข่าว: เพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์

มหาวิทยาลัยฟาฏอนีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์แก่เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก

พิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 18 กุมภาพันธ์ 2565 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัยฟอฏอนี ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ ฯพณฯ ดร.มุฮัมมัด บินอับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตโลกมุสลิม ณ ห้องประชุมแกรนด์มิรอจ ชั้น 3 โรงแรมอัลมิรอซ กรุงเทพ โดยมีรศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีร่วมให้การต้อนรับ


คำประกาศเกียรติคุณ

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา

ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์

ประจำปีการศึกษา 2556

………………………………….……..

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญด้านนิติศาสตร์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายอิสลามเปรียบเทียบ ระดับปริญญาโทและเอกด้านตุลาการศึกษาเปรียบเทียบ และกฎหมายมหาชนเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยอิสลาม อิมาม มูฮัมหมัด บิน ซาอูด ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมายที่โดดเด่นในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย และเคยดำรงตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและองคมนตรี และฯพณฯยังได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามและกฎหมายเปรียบเทียบทั้งในและนอกราชอาณาจักรซาอุดีอารเบีย ฯพณฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในการสร้างความร่วมมือใหม่ๆระหว่างชุมชน ศาสนา และประเทศต่างๆ ฯพณฯ ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย พบปะกับบุคคลสำคัญ สมาชิกรัฐสภาด้านความยุติธรรม กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้นำชุมชนและผู้นำด้านจิตวิญญาณ

ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาได้รับการยกย่องทั้งในซาอุดิอาระเบียและต่างประเทศในการเป็นผู้นำการปฏิรูปด้านกฎหมาย สิทธิสตรี และสิทธิมนุษยชน

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซาเคยได้รับเลือกจากสภารัฐมนตรียุติธรรมอาหรับ (Council of Arab Ministers of Justice) เป็นประธานกิตติมศักดิ์ของกลุ่ม  รวมถึงเข้าร่วมเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ King Saud University และสถาบันตุลาการชั้นสูงของมหาวิทยาลัยอิสลาม อิมามมูฮัมหมัด บิน ซาอูด

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ในฐานะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ได้ดำเนินการสำคัญๆ ดังนี้ ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นประธานคณะกรรมการวิชาการถาวรเพื่ออนุญาโตตุลาการ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการจัดทำระเบียบบริหารระบบรับเรื่องร้องทุกข์

ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา มีผลงานที่โดดเด่นในเรื่องกฎหมายอิสลามเปรียบเทียบ กระบวนการยุติธรรมเปรียบเทียบ กฎหมายมหาชนเปรียบเทียบ และ ฯพณฯ ยังได้เสนอผลงานทางวิชาการด้านกฎหมายในเวทีระดับโลกซึ่งมีผลต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย

นอกจากนี้ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญระดับโลกเกี่ยวกับอิสลามสายกลาง มุ่งมั่นที่จะนำความตระหนักรู้ไปยังทั่วโลกสู่สัจจธรรมที่แท้จริง

ในฐานะเลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา ยังได้พบปะกับผู้นำอาวุโสด้านการเมือง ศาสนา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์แบบองค์รวมที่เน้นการสนทนาและการศึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนของศาสนาต่างๆ จากการคุกคามของลัทธิสุดโต่ง ฯพณฯ ได้เสนอแนวคิดริเริ่มเชิงนโยบายเพื่อจัดการกับคำพูดแสดงความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติที่ยุยงให้เกิดความรุนแรง

จากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวของ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา      สภามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในคราวประชุมครั้งที่ 72(2/2019) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2562 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ฯพณฯ ดร. มุฮัมหมัด บิน อับดุลการิม อัลอีซา ได้รับ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

ทั้งนี้ ดร. มุฮัมหมัด ได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมทั้งมหาวิทยาลัยฟาฏอนีตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทยที่ให้การศึกษาแก่ผู้คนเพราะการศึกษาคือรากฐานของทุกอย่าง ท่านยังชื่นชมประเทศไทยในภาพรวมว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมที่คนต่างศาสนาต่างความเชื่อสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความรักความเมตตาและความเข้าใจระหว่างกันซึ่งเชื่อว่ากรณีของประเทศไทยน่าจะเป็นประโยชน์แก่พื้นที่อื่นๆ ในโลกได้

https://www.facebook.com/FTUtv/videos/1606831066350489


โดย theustaz.com

ชาวจะนะประกาศ “พอใจแต่ยังไม่วางใจ”

ยกแรก ชนะอย่างขาวสะอาด แต่ศึกนี้มี 100 ยก ด้วยเหตุนี้ชาวจะนะประกาศ “พอใจแต่ยังไม่ไว้วางใจ”

เช้านี้มีโอกาสคุยกับอาจารย์อับดุลสุโก ดินอะ  พร้อมถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จของพี่น้องชาวจะนะ ที่คัดค้าน “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอจะนะจังหวัดสงขลาจำนวน 16,752 ไร่ เงินลงทุนกว่า 18,680 ล้านบาท

สรุปได้ดังนี้

 1. การต่อสู้ของชาวบ้านที่ใช้ต้นทุนของความบริสุทธิ์ใจและความเทใจ

 2. การใช้หลักสันติวิธีและหลักการเจรจาต่อรองอันทรงพลัง

 3. การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทุกหมู่เหล่าที่เข้าใจเจตนารมย์ร่วมกัน

 4. การใช้พลังทางวิชาการ สื่อท้องถิ่นและสื่อนานาชาติได้อย่างเข้าถึงและมีประสิทธิภาพ

 5. ปรากฏการณ์ไครียะห์ “ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ” พลังของคนรุ่นใหม่ สร้างความเปลี่ยนแปลง

 6. ความใจกว้างของรัฐบาลที่ยอมประเมินยุทธศาสตร์ SEA อีกครั้ง

อาจารย์อับดุลสุโก ดินอะให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมครม. ได้มีมติดังนี้

 1. การดำเนินการที่ผ่านมาของบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะต้องยุติลง

 2. การพัฒนาจะนะและพื้นที่ใกล้เคียงจะเป็นไปตามการประเมินยุทธศาสตร์ SEAโดยผู้มีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักคือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และไม่เอาคู่ขัดแย้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มาดำเนินการ

 3. ให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ประเมิน SEA

 4. นำข้อเสนอกระบวนการ SEA ของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นมาประกอบการประเมิน

“หัวใจสำคัญของการเจรจากับรัฐบาลครั้งนี้คือนอกจากต้องยุติโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะแล้ว รัฐบาลควรมอบเงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ให้พี่น้องจะนะนำเป็นทุนในการพัฒนาท้องถิ่นที่หลากหลายบนฐานทรัพยากรอันมากมาย เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยังยืนและนำไปสู่การกระจายโอกาสที่เป็นธรรม”

“และที่สำคัญหลังจากนี้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง หมดยุคที่กลุ่มทุนและกลุ่มการเมืองอิงผลประโยชน์จะมาชี้นิ้วสั่งการได้แล้ว” อาจารย์อับดุลสุโก ดินอะ กล่าวทิ้งท้าย


อ่านเพิ่มเติม

https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000021445

โดย Mazlan Muhammad

Tahniah kepada Assoc.Prof.Dr.Ismail Lutfi Japakiya

Tahniah kepada

Assoc.Prof.Dr. Ismail Lutfi Japakiya

(Rektor Universiti Fatoni)

Putera Khalid Al Faisal bin Abdul Aziz Al Saud (Amir Makkah dan juga Presiden Anugerah Raja Faisal  yang mempunyai ibu pejabatnya di Riyadh  Arab Saudi). 

Penghargaan telah di beri kepada Assoc.Prof.Dr.Ismail Lutfi Japakiya dengan memilih beliau sebagai Ahli Jawatankuasa pemilihan calon yang sesuai untuk Anugerah Raja Faisal ketegori Perkhidmatan Islam Tahun 2022 ” Menurut surat pelantikan No. 21110 bertarikh 8 Safar A.D 1443 bersamaan 15 September 2021.

Semoga Allah memberikan pertolongan dan bimbingan kepada Assoc.Prof.Dr. Ismail Lutfi Japaqiya, Rektor Universiti Fatoni dalam melaksanakan tugas yang terpuji ini. 

Hadiah Raja Faisal (Arab: جائزة الملك فيصل, sebelumnya Hadiah Antarabangsa Raja Faisal) ditubuhkan pada 1977 adalah anugerah tahunan yang ditaja oleh King Faisal Foundation, yang diberikan kepada “lelaki dan wanita yang berdedikasi.” Yayasan ini menawarkan anugerah dalam lima kategori: Perkhidmatan untuk Islam, Pengajian Islam, Sastera Arab.Sains dan Perubatan 

. Tiga kategori pertama diiktiraf secara meluas sebagai anugerah paling berprestij di dunia Islam . Semenjak tahun pertama penubuhan sehingga 2019, seramai 265 orang dari 43 negara telah menerima anugerah tersebut.

Penerima pertama Anugerah Raja Faisal untuk Perkhidmatan kepada Islam adalah Abul A”la Almaudoudi, Pemimpin Gerakan Islam Pakistan pada tahun 1979 . Di negara-negara ASEAN, terdapat 5 orang yang telah menerima anugerah ini, iaitu Presiden Muhammad Nasir dari Indonesia pada tahun 1980, Tengku Abdul Rahman Putra 1983, Dr Mahathir Mohamad 1997 dan Tun Abdullah Badawi tahun 2011 dari Malaysia dan Dr Ahmad Domogao Alon Toh, dari Filipina pada tahun 1988. Penerima anugerah ini akan menerima anugerah wang tunai sebanyak RS750,000 dan sijil penghargaan.

SELAMAT BERKHIDMAT UNTUK UMMAH


Ikhlas daripada theustaz.com

Sadaqah Jariah Ramadan 2021

กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน ได้รับการสนับสนุนจาก AL-Khair Foundation ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ ที่ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิตามทะเบียนเลขที่ 1126808 โดยการประสานงานจากองค์กร KEDAMAIAN KEMANUSIAAN BERHAD ,สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ จัดโครงการ Sadaqah Jariah Ramadan 2021 โดยได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 280,000 บาท โดยสามารถจัดทำกล่องบรรจุอาหารละศีลอดจำนวน 350 ลัง ราคาลังละ 700 บาท เป็นเงิน 245,000 บาท ส่วน อีก 35,000 บาทเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการประชาสัมพันธ์ ค่าไวนิล สติกเกอร์ ค่าทำเสื้อให้ทีมงาน ค่าประสานงานและการขนส่ง ตลอดจนการบริหารและการจัดการทั่วไป

ผศ. มัสลัน มาหะมะ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เราได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิ AL – Khair Foundation เพื่อมอบความช่วยเหลือปัจจัยยังชีพข่วงเดือนรอมฎอนแก่ผู้ยากไร้ โดยในปีนี้สามารถจัดสรรมอบความช่วยเหลือจำนวน 350 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2564 แบ่งเป็น จังหวัดยะลา 130 ครัวเรือน จังหวัดปัตตานี 120 ครัวเรือน และจังหวัดนราธิวาส 100 ครัวเรือน

ส่วนสิ่งของบรรจุลังประกอบด้วย 13 รายการได้แก่

1)ข้าวสาร

 2)น้ำมันตราองุ่น

 3) น้ำปลาทิพย์รส

4) เส้นหมี่เล็กตราช้าง 

5) ถั่วเขียว

6)แป้งข้าวเหนียว 

7) น้ำตาลทราย

8) ปลากระป๋อง 3 แม่ครัว

 9) ผลไม้กระป๋อง

 10) น้ำหวานเฮลซ์ บลูบอย

11) นมข้นหวาน

12) อินทผลัมสด

 13) หน้ากากอนามัย

ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงแก่ AL-Khair Foundation และ องค์กร KEDAMAIAN KEMANUSIAAN BERHAD ที่เอื้อเฟื้อโครงการที่มีประโยชน์ยิ่งนี้ รวมทั้งองค์กรภาคีเครือข่ายที่ประสานงานให้โครงการนี้สามารถดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ

الحمد لله الذي بنعمته تتم الصالحات

وجزاكم الله خيرا

ونسألك اللهم  أن يتقبل صيامنا وقيامنا وجميع حسناتنا وأن يجعلنا من عتقائك من النار آمين يا رب العالمين .


โดย ทีมข่าวในประเทศ

โครงการสร้างบ้านให้ผู้ยากไร้ 1/63

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายนิเลาะ อับดุลบุตร ประธานชมรมจิตอาสาฉันและเธอ และผศ. มัสลัน มาหะมะ ที่ปรึกษาชมรมฯ พร้อมคณะ ได้ส่งมอบบ้าน ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านรอแตตาวา  99/2 ม. 7 ต. ลุโบะยือไร อ. มายอ จ. ปัตตานี ให้แก่นางยารอ สือแลแม (43ปี) เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็กทรงโมเดิร์น ขนาด 4×10.5 ม. ประกอบด้วย 1 ห้องน้ำ 1 ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัวพร้อมระบบไฟฟ้าและน้ำประปา มูลค่าก่อสร้าง 176,000 บาท พร้อมเงินสด ถุงยังชีพและของใช้ในครัวมูลค่า 3,000 บาท

นายนิเลาะ อับดุลบุตร กล่าวว่า ชมรมจิตอาสาฉันและเธอและภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพระดมเงินเพื่อสร้างบ้านให้แก่นางยารอ สือแลแม ซึ่งมีลูกชายอายุ 17 ปีเป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตั้งแต่แรกเกิด นางยารอจึงไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากต้องดูแลลูกชายตลอดเวลา โดยสามารถระดมเงินบริจาครวมทั้งสิ้น 178,752 บาท

“ บ้านหลังนี้ถือเป็นเคสแรก เราเริ่มวางศิลารากฐานสร้างบ้านเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ระหว่างก่อสร้าง เป็นช่วงฤดูฝนและเกิดน้ำท่วม ทำให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากทีมงานบางส่วนต้องระดมให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อน้ำท่วมในจังหวัดปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง แต่ด้วยเตาฟิกจากอัลลอฮ์ โครงการแรกนี้สำเร็จไปด้วยดี สามารถส่งมอบบ้านเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2564 จึงใคร่ถือโอกาสนี้ขอบคุณชาวมือบนทุกท่านที่ช่วยกันสานฝันให้ครอบครัวนางยารอ สือแลแม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจ Mazlan Muhammad และเว็บไซต์ theustaz.com ที่ช่วยประชาสัมพันธ์รณรงค์การระดมทุนโครงการนี้ จนสำเร็จลุล่วงด้วยเตาฟิกจากอัลลอฮ์ “ นายนิเลาะ กล่าว

“ ชมรมจิตอาสาฉันและเธอ ยังมีโครงการสร้างบ้านแก่ผู้ยากไร้อีกหลายโครงการซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งมอบทุนช่วยเหลือเเก่ครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยติดเตียง จึงขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้ชาวมือบนทุกท่านสมทบทุนโครงการต่างๆของชมรมโดยสามารถติดตามได้ตาม fb : Niloh Abdulbut” นายนิเลาะ กล่าวทิ้งท้าย


โดย Mazlan Muhammad

รินน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม 3 จังหวัดภาคใต้ ปี 2564

วันพุธที่ 13 มกราคม 2564 เวลา 11.00 น. มูลนิธิเด็กกำพร้าและการกุศล สื่อออนไลน์ theustaz.com กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน JABIM สมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข Ron Construction และเครือข่าย พร้อมคณะครูและนักเรียนโรงเรียนยะลาวิทยปัญญานุสรณ์ บือนังบุโย อ. เมือง จ. ยะลา ได้ระดมกำลังแจกถุงปันสุขแก่ผู้ประสบอุทกภัยในชุมชนหมู่บ้านปากาลือซง ม.6 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

นายอัชอะรีย์ เจะเลาะ ประธานโครงการรินน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม 3 จังหวัดภาคใต้ปี 2564 มูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศลและภาคีเครือข่ายฯกล่าวว่า ในวันนี้ทีมงานให้ความช่วยเหลือได้เตรียมถุงปันสุขจำนวน 250 ถุง (50,000 บาท) น้ำดื่ม 150 โหล ( 5,000 บาท) พร้อมยาเวชภัณฑ์ (60,000 บาท) มูลค่ารวม 115,000 บาท มอบให้แก่ชุมชนหมู่บ้านปากาลือซง ม.6 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานีจำนวน 250 ครัวเรือน โดยมีอิหม่ามมัสยิด ผู้ใหญ่บ้าน สมาขิกอบต. และอสม. ประจำหมู่บ้านคอยอำนวยความสะดวกในการแบ่งปันความข่วยเหลือ

นายอับดุลร็อบ สะอะ ประธานมูลนิธิเด็กกำพร้าและการกุศล กล่าวว่า ตามที่มูลนิธิฯร่วมกับกลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน และสื่อออนไลน์ theustaz.com ประกาศระดมความช่วยเหลือให้แก่เหยื่ออุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ปี 2564 มีพี่น้องบริจาคผ่านบัญชีมูลนิธิฯ จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2564 เป็นเงินจำนวน 229,280 บาท และเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย ประกอบด้วยบางพื้นที่ ประชาชนผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมยังไม่ได้รับความข่วยเหลืออย่างทั่วถึง มูลนิธิฯจึงเห็นควรขยายเวลาการรับบริจาคจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2564 ในโอกาสนี้ ขอขอบคุณทุกท่าน บริษัท ห้างร้านและองค์กรที่กรุณามอบความไว้วางใจแก่มูลนิธิฯในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครั้งนี้