บทความ บทความวิชาการ

ขุดโคตรรอฟิเฎาะฮฺ ตอนที่ 7

ชีอะฮฺอิสมาอีลียะฮฺได้ไปตั้งรกรากที่มอร็อกโค โดยการเผยแผ่คำสอนของ อะบูอับดุลลอฮฺ อัชชีอีย์พวกเขาได้รับอิทธิพลจากรุสตัม บินหุเซ็น ผู้สถาปนาอาณาจักรเกาะรอมิเฏาะฮฺที่เยเมน ทั้งอิสมาอีลียะฮฺและเกาะรอมิเฏาะฮฺ ต่างถือว่า อิสมาอีล บินญะฟัรอัศศอดิก เป็นอิมาม หาใช่มูซา อัลกาซิม อิมามคนที่ 7 ตามความเชื่อของชีอะฮฺอิมาม 12

ลูกหลานของมัยมูน อัลก็อดดาหฺ (ยิวจากเมืองกูฟะฮฺ) ชื่อว่า อุบัยดิลลาฮฺ บินหุเซ็น บินอะหฺมัด บินอับดุลลอฮฺ บินมัยมูนอัลก็อดดาหฺ ได้สถาปนารัฐอิสมาอีลียะฮฺที่มอร็อกโคพร้อมอ้างตนเองเป็นอิมามมะฮฺดี เขายังแอบอ้างว่า ตนเองเป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากอิสมาอีล บินญะฟัรอัศศอดิก

เพื่อให้การเผยแผ่ลัทธินี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป เขาจึงเรียกอาณาจักรตนเองว่า ฟาฏิมียะฮฺ ทั้งๆที่เขาสืบเชื้อสายยิว แต่ก็ได้รับการตอบรับจากผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มมุสลิมที่ไม่ค่อยได้รับการศึกษาทางศาสนา ลัทธินี้ได้ขยายอิทธิพลไปยังแอฟริกาเหนือ จนกระทั่งสามารถยึดครองอิยิปต์ในปีฮ.ศ. 359 ภายใต้การนำของอัลมุอิซ ลิดีนิลลาฮฺ อัลอุบัยดี และกลายเป็นต้นกำเนิดของ
อาณาจักรอุบัยดิยูน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบูรณะและพัฒนาเมืองไคโรและสร้างมัสยิดอัลอัซฮัร

ในช่วงดังกล่าว พวกเขาได้เผยแพร่หลักคำสอนอันบิดเบือน การด่าทอเศาะฮาบะฮฺ อุตริกรรม จนกระทั่งสิ่งอบายมุขและพฤติกรรมไร้จริยธรรมทั้งหลายได้แพร่กระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า นอกจากนี้ พวกเขายังเข่นฆ่าอุละมาอฺซุนนะฮฺ มีผู้นำบางคนของพวกเขาแอบอ้างตนเองเป็นพระเจ้า

เพื่อสนับสนุนการเผยแผ่ของลัทธินี้ พวกเขาได้สร้างมัสยิดมากมาย ลัทธินี้สามารถปกครองอิยิปต์ แผ่ขยายไปถึงเมืองชามและดินแดนส่วนหนึ่งในหิญาซนาน 200 ปี จนกระทั่งจอมทัพเศาะลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์สามารถปราบปรามลัทธินี้ได้สำเร็จเมื่อปี ฮ.ศ. 567 อิยิปต์จึงปลอดจากเชื้อร้ายของลัทธิชีอะฮฺอิสมาอีลิยะฮฺนับแต่นั้นมา

ส่วนลัทธิที่ 3 คือชีอะฮฺอิมาม 12 พวกเขาได้สร้างสิ่งอุตริกรรมทางศาสนาที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชีอะฮฺทั้ง 2 ลัทธิที่ได้กล่าวมา เพียงแต่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เราะซูล และการฟื้นคืนชีพ แต่ก็ได้ต่อเติมเสริมแต่งคำสอนอิสลามไว้อย่างมากมายจนไม่หลงเหลือเคัาเดิมของศาสนา ส่วนหนึ่งของบรรดาแกนนำของพวกเขาได้สร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับชนชั้นปกครองของเปอร์เซียและอิรัก ด้วยวิธีนี้ พวกเขาจึงสามารถครองอำนาจแถบเปอร์เซียระหว่าง ฮ.ศ. 261- ฮ.ศ.389 (128ปี) มีอำนาจในแผ่นดินอิรักระหว่าง ฮ.ศ. 317 – ฮ.ศ 369 (52 ปี) และครองอำนาจแถบเมืองหะลับ (เมืองชาม) ระหว่างปี ฮ.ศ. 333 – ฮ.ศ. 392 (59 ปี)

ชีอะฮฺกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังสำคัญที่ทำให้อาณาจักรอับบาสียะฮฺล่มสลายในปี ฮ.ศ. 334 และสามารถยึดกรุงแบกแดดนานนับ 100 ปี จนกระทั่งในปี ฮ.ศ. 447 ชาวซะลาญิเกาะฮฺสายซุนนะฮฺสามารถยึดคืนอิรักจากการปกครองของชีอะฮฺ และเมืองอิรักถูกปกครองโดยชาวซุนนะฮฺอีกครั้ง

ในช่วงชีอะฮฺเรืองอำนาจ พวกเขาได้แสดงความเกลียดชังต่ออุละมาอฺซุนนะฮฺอย่างเข้ากระดูกดำ มีการเขียนข้อความด่าทอบรรดาเศาะฮาบะฮฺตามผนังมัสยิด โดยเฉพาะการสาปแช่งท่านอะบูบักร์และอุมัร์ในคุตบะฮฺ

อาจกล่าวได้ว่า ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 4 ถือได้ว่าเป็นศตวรรษแห่งการเรืองอำนาจของชีอะฮฺโดยแท้จริง

ชีอะฮฺอิมาม 12 เถลิงอำนาจแถบอิหร่านและอิรัก ส่วนหนึ่งก็ยึดครองประเทศทางตอนเหนือของอิหร่านและอัฟกานิสถาน ส่วนหนึ่งมีอำนาจแถบเมืองหะลับ (ซีเรีย) ส่วนชีอะฮฺเกาะรอมิเฏาะฮฺ ก็สถาปนารัฐชีอะฮฺแถบภาคเหนือของคาบสมุทรอาหรับ ดินแดนหิญาซ ดามัสกัสและเยเมน ในขณะที่อาณาจักรอุบัยดิยูนหรือฟาฏิมียะฮฺ ก็ปกครองประเทศอิสลามแถบแอฟริกา รวมทั้งบางส่วนในฟิลัสฏีน ซีเรียและเลบานอน

ในปลายศตวรรษที่ 4 ฮิจเราะฮฺ อาณาจักรชีอะฮฺเกาะรอมิเฏาะฮฺก็ถึงคราวอวสาน และกลางศตวรรษที่ 5 ฮิจเราะฮฺ (ปี 447) อาณาจักรบะนีบูวัยฮฺที่ปกครองอิรักก็สิ้นอำนาจลง ในขณะที่ชีอะฮฺอิสมาอีลียะฮฺก็เสื่อมอำนาจในช่วงกลางศตวรรษที่ 6 (567ฮ.ศ.) โลกอิสลามได้กลับเข้าสู่อ้อมอกของชาวซุนนะฮฺอีกครั้ง ถึงแม้ชีอะฮฺอิมาม 12 ยังแผ่อิทธิพลในอิหร่านและอิรัก แต่ก็อ่อนกำลังมากและไม่สามารถสถาปนาเป็นรัฐอิสระได้

เรื่องราวทำท่าจะไปด้วยดี จนกระทั่งในปี ฮ.ศ. 907 (ต้นฮิจเราะฮฺศักราชที่ 10) มีชายชาวเปอร์เซียนามว่า อิสมาอีล อัศเศาะฟะวีย์ ได้ประกาศสถาปนารัฐอัศเศาะฟะวียะฮฺในอิหร่าน ท่ามกลางหยาดเลือดและซากศพของพี่น้องชาวซุนนะฮฺ เขาได้สร้างรัฐอันธพาลนี้ด้วยอำนาจเผด็จการ รัฐนี้ได้กลายเป็นหอกข้างแคร่ที่สร้างความเดือดร้อนแก่อาณาจักรอุษมานียะฮฺและประเทศอิสลามใกล้เคียงอย่างมาก พวกเขาได้ทำสัญญาลับกับกองทัพโปรตุเกสเพื่อโจมตีอาณาจักรอุษมานียะฮฺ จนกระทั่งสามารถยึดครองส่วนหนึ่งของอิรักและได้เผยแพร่อะกีดะฮฺชีอะฮฺเข้าไปยังดินแดนแถบนี้

ความขัดแย้งและสงครามระหว่างเศาะฟะวียะฮฺและอาณาจักรอุษมานียะฮฺได้ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ศตวรรษ จนกระทั่งอาณาจักรเศาะฟะวียะฮฺสิ้นอำนาจลงเมื่อปี ฮ.ศ. 1148

หลังจากนั้น ถึงคราวอาณาจักรอุษมานียะฮฺประสบกับความอ่อนแอ ดินแดนแถบอิหร่านก็มีการผลัดเปลี่ยนผู้นำที่สืบเชื้อสายมาจากเปอร์เซีย แต่ผู้นำทุกคนต่างก็จงรักภักดีต่อประเทศมหาอำนาจจากยุโรปขณะนั้น โดยเฉพาะอังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย

ในปีฮ.ศ. 1193 อิหร่านถูกปกครองโดยกษัตริย์ชีอะฮฺ เชื้อสายเปอร์เซียนามว่า มุฮัมมัด ฟาญาร์ ถึงแม้พระองค์เป็นชีอะฮฺอิมาม 12 แต่ก็เป็นบุคคลที่ไม่ยึดมั่นกับคำสอนชีอะฮฺมากนัก ราชวงศ์นี้มีอำนาจสืบทอดกันมาจนถึงปี ฮ.ศ. 1343 ก็ถูก ริฎอ ปาห์เลวียึดอำนาจด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษ เขาได้สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์พร้อมขนานนามตนเองว่า ชาห์แห่งอิหร่าน ต่อมาพระองค์เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลอังกฤษ เป็นเหตุให้ นายมุฮัมมัด บินริฎอ ปาห์เลวี ซึ่งเป็นพระโอรสได้ยึดอำนาจและสถาปนาตนเองเป็นชาห์แห่งอิหร่านแทนเมื่อ ปี ฮ.ศ. 1359 (ค.ศ. 1941)

ชาห์ปาเลวี คนที่ 2 ได้ครองราชย์และเป็นกษัตริย์แห่งอิหร่านเรื่อยมาจนกระทั่งปี ฮ.ศ. 1399 (ค.ศ.1979) อิหม่ามโคไมนี่ได้นำคลื่นมหาชนปฏิวัติระบอบนี้ได้สำเร็จ ภายใต้การปฏิวัติที่(แอบ)ใช้ชื่อว่า การปฏิวัติอิสลามอิหร่าน พร้อมสถาปนาประเทศเป็น สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ท่ามกลางแสดงความยินดีจากมุสลิมทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะผู้มีวิญญาณของนักเคลื่อนไหวอิสลามที่ใฝ่ฝันการหวนกลับของระบบคิลาฟะฮฺและรัฐอิสลามที่ยึดเจตนารมณ์อิสลามเป็นหลักในการปกครองและบริหารจัดการประเทศ

นี่คือภาพย่อเรื่องราวของชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺจากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งปัจจุบัน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ลัทธินี้ไม่มีภารกิจหลักอื่นใดนอกจากเป็นพลังปฏิปักษ์ที่สั่นคลอนอาณาจักรอิสลามเท่านั้น ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ พวกเขาไม่เคยสร้างปัญหาใดๆ กับศัตรูอิสลาม ไม่ว่ากองทัพครูเสด รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส หรือแม้กระทั่งกองทัพตาตาร์และมองโกเลีย สิ่งที่เราพบเห็นมาโดยตลอดคือ ลัทธินี้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นและสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอริราชศัตรูของประเทศอิสลามมาโดยตลอด

ผู้เขียนกล้าฟันธงเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า เราจะเอาโทษรุ่นลูกรุ่นหลาน เนื่องจากความผิดพลาดของบรรพบุรุษ เราไม่ได้เหมารวมว่า ในเมื่อบรรพบุรุษทำผิดแล้ว บรรดาลูกหลานก็ทำผิดเช่นกัน แต่สิ่งที่อยากให้ท่านผู้อ่านคิดตามก็คือ การวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เราจำเป็นต้องมองที่รากเหง้าของปัญหานั้นๆ และรากเหง้าของแต่ละปัญหาคือหลักอะกีดะฮฺ แนวคิดและหลักสูตร หากประเด็นเหล่านี้มีความเหมือนกัน ต่อให้ฉายซ้ำเป็นร้อยๆ ภาคและใช้ระยะเวลานานนับศตวรรษ สุดท้ายก็มีฉากอวสานและบทสรุปที่ใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกันกับรอฟิเฎาะฮฺยุคนี้กับยุคก่อน ซึ่งต่างก็มีหลักอะกีดะฮฺ แนวคิดและหลักสูตรที่มาจากแหล่งเดียวกัน ตราบใดที่ลัทธินี้ยังมีความเชื่อว่าอิมามจะต้องมาจากวงศ์ตระกูลเฉพาะ อิมามเป็นบุคคลพิเศษที่ไม่กระทำบาป(มะอฺศูม) ตราบใดที่ยังมีความเชื่อว่าเศาะฮาบะฮฺเป็นผู้ทรยศหักหลังและเป็นกลุ่มชนที่ชั่วร้ายที่สุด ตราบใดที่ยังด่าทอเศาะฮาบะฮฺและสาปแช่งภรรยานบีซึ่งเป็นมารดาของบรรดาผู้ศรัทธา ตราบใดที่ยังมีความเชื่อว่าอัลกุรอานในปัจจุบันและซุนนะฮฺยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่ยังมีความเชื่อมั่นในหลักตะกียะฮฺ และเชื่อว่าการโกหกปลิ้นปล้อนเป็นเก้าในสิบส่วนของศาสนา ตราบนั้นเราก็ไม่สามารถหวังดีและคิดเชิงบวกกับลัทธินี้ ประโยคเดียวที่เป็นข้อสรุปในเรื่องนี้ก็คือ บรรพบุรุษเป็นยังไง บรรดาลูกหลานก็เป็นยังงั้น สำนวนไทยๆ มักพูดสั้นๆ ว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นั่นเองครับ

(ต่อ) อันตรายของรอฟิเฎาะฮฺ