กษัตริย์ซัลมานทรงบัญชาให้ความช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหวที่อิซมีร์ ประเทศตุรกี

6 พฤศจิกายน 2563

กษัตริย์ซัลมานแห่งซาอุดิอาระเบียทรงบัญชามอบความช่วยเหลือแก่เหยื่อแผ่นดินไหวที่ถล่มจังหวัดอิซมีร์ ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

สำนักข่าวซาอุดิอาระเบีย WAS แถลงว่า ผู้อุปถัมภ์สองแดนหะรอมอันทรงเกียรติกษัตริย์ซัลมาน บินอับดุลอาซีซ อาลซะอูด ได้ทรงบัญชาให้ศูนย์กษัตริย์ซัลมานเพื่อการช่วยเหลือและงานด้านมนุษยธรรม ยื่นมือให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ มนุษยธรรมและที่อยู่อาศัยอย่างเร่งด่วน แก่เหยื่อแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่อิซมีร์ เมื่อ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ถ้อยแถลงดังกล่าว ยังระบุอีกว่าการช่วยเหลือครั้งนี้ สืบเนื่องที่กษัตริย์ซัลมานทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวตุรกีและมุ่งมั่นบรรเทาทุกข์ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยทั่วโลกในทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ

ในโอกาสนี้ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ส่งสารแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลอังการ่า ที่ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้กล่าวขอบคุณมิตรประเทศทั่วโลกที่ยื่นมือให้ความช่วยเหลือและยืนเคียงข้างตุรกีด้วยดีมาโดยตลอด

แหล่งข่าว http://www.turkpress.co/node/75351


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ละหมาดครั้งแรก ในรอบ 75 ปีที่มัสยิด Kariya ที่อิสตันบูล

หลังจากปิดไป 75 ปี จะมีการละหมาดครั้งแรกที่มัสยิดการียา Kariya ในอิสตันบูล เร็วๆนี้

มุสลิมหลายพันคนกำลังเตรียมการเพื่อทำการละหมาดวันศุกร์แรกที่มัสยิด Kariya ในอิสตันบูลประเทศตุรกี ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการเตรียมการซึ่งใช้เวลาประมาณสองเดือนเพื่อเปิดเป็นมัสยิดอีกครั้งหลังจากที่เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในปีค.ศ. 1945

ประธานาธิบดีแอร์โดฆานได้ออกคำสั่งให้เปิดมัสยิดการียาในเขตฟาติห์ กรุงอิสตันบูลเพื่อการละหมาดครั้ง หลังจากรัฐบาลตุรกีตัดสินใจจัดสรรมัสยิดให้กระทรวงศึกษาธิการในปีค.ศ. 1945

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม คำสั่งประธานาธิบดีมีผลบังคับใช้หลังจากมีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐตุรกี ให้ยกเลิกคำตัดสินของคณะรัฐมนตรีตุรกีในปี 1945 และตัดสินใจที่จะส่งมอบอาคารดังกล่าวให้กับประธานฝ่ายศาสนาและเปิดให้เข้าละหมาดอีกครั้ง

คาดว่าประธานาธิบดีแอร์โดกันจะเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์แรกในมัสยิดซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่ชาวมุสลิมและคริสเตียน

อาคารนี้เป็นโบสถ์ในสมัยไบแซนไทน์ที่รู้จักกันในชื่อ “โบสถ์ Chora” และ “โบสถ์แห่งพระผู้ช่วยให้รอด” ประมาณ 50 ปีหลังจากชาวมุสลิมยึดครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล Atiq Ali Pasha อาติก อาลีปาชา รัฐมนตรียุคสุลต่านบายะซีด 2 สั่งให้เปลี่ยนอาคารเป็นมัสยิด

สภาแห่งรัฐตุรกีซึ่งเป็นศาลปกครองที่สูงสุดในประเทศ ได้มีคำสั่งในดือนพฤศจิกายนปี 2019 ให้ยกเลิกคำตัดสินที่ออกในปี 1945 โดยมีเหตุผลว่าอาคารแห่งนี้เป็นหนึ่งในทรัพยฟ์สินวะกัฟของสุลต่านออตโตมัน

มัสยิดจะเปิดให้เข้าละหมาดและให้แก่นักท่องเที่ยวทุกศาสนาเช่นเดียวกับกรณีของสุเหร่าใหญ่แห่งฮาเกียโซเฟีย ในขณะที่ผู้ดูแลการบูรณะมัสยิดได้ดำเนินการโดยใช้ระบบม่านพิเศษเพื่อปกปิดไอคอนบนผนังด้านใน


อ่านข่าวต้นฉบับ https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/8/21/تركيا-مرسوم-متحف-جامع

โดย Ghazali Benmad

จากโซเฟียแห่งคริสเตียน สู่มัรยัมแห่งอิสลาม ลูกศรที่ปักกลางหัวใจฝรั่งเศส

โซเฟีย เพโทรนีน สตรีเหล็กชาวฝรั่งเศสวัย 75 ปีเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กกำพร้าขององค์กรสาธารณกุศลแห่งหนึ่งของฝรั่งเศสในประเทศมาลี ถูกกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศมาลีจับเป็นตัวประกันตั้งแต่ปลายปี 2016 ทำให้ครอบครัวของนางและรัฐบาลฝรั่งเศสใช้ความพยายามในการเจรจาให้ปล่อยตัวเธอแต่ก็ไร้ผล จนกระทั่งในปี 2018 ได้มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเพื่อยืนยันว่านางปลอดภัยดี สร้างความดีใจแก่ครอบครัวเธอเป็นอย่างยิ่ง แต่หลังจากนั้น ข่าวคราวเกี่ยวกับเธอก็เงียบหายไป และในปี 2019 กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสได้ยินยันว่านางยังมีชีวิตและปลอดภัยดี

หลังจากใช้ความพยายามมาอย่างยาวนานและใช้งบประมาณนับสิบล้านดอลล่าร์ เพื่อช่วยเหลือตัวประกันคนสุดท้ายของฝรั่งเศส ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2020 นางโซเฟียถูกส่งกลับตัวไปแผ่นดินเกิด โดยประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศสได้ไปต้อนรับนางที่สนามบินแห่งหนึ่งในกรุงปารีส หลังจากที่นางใช้เวลาเกือบ 4 ปี ที่มาลีในฐานะตัวประกัน

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือเมื่อ “โซเฟีย เพโทรนิน” เดินทางมาถึงฝรั่งเศส   ผ้าคลุมศีรษะของเธอ ได้จุดประกายความขัดแย้งมากมายในสื่อฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากได้รับการยืนยันว่า เธอเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามและเปลี่ยนชื่อจาก “โซเฟีย” เป็น “มัรยัม” ตามรายงานของนักข่าวทีวีฝรั่งเศส Wasim Al-Ahmar ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา

ตามธรรมเนียม ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะพูดหลังจากตัวประกันได้รับการปล่อยตัว แต่ในกรณีของแมรี่  มาครงได้ยกเลิกกล่าวสุนทรพจน์ต่อสื่อมวลชน

หนังสือพิมพ์อัลชัรก์ ของกาตาร์  กล่าวว่า การที่แมรี่ประกาศอิสลาม ได้สร้างความตกใจให้กับมาครง หลังจากคำพูดฉาวของมาครงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเมื่อไม่กี่วันก่อน  ซึ่งเขากล่าวหาว่า ศาสนาอิสลามกำลังประสบกับวิกฤตทั่วโลก

ในทางกลับกัน หนังสือพิมพ์ของฝ่ายขวาสุดโต่ง  ได้โจมตีนางแมรี่ ว่าเธอเป็นพวกนิยมอิสลามกลุ่มใหม่ในประเทศฝรั่งเศส  ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Figaro

มาครงกล่าวในสุนทรพจน์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า อิสลามกำลังประสบกับวิกฤตทั่วโลกในปัจจุบัน และฝรั่งเศสต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็น “ลัทธิแยกตัวของอิสลามที่พยายามสร้างระบบคู่ขนานและปฏิเสธสาธารณรัฐฝรั่งเศส”

สื่อฝรั่งเศสรายงานภาพถ่ายและวิดีโอของช่วงเวลาการมาถึงของตัวประกันชาวฝรั่งเศสวัย 75 ปี ซึ่งเธอได้พูดคุยกับมาครง เป็นเวลา 2-3 นาที ก่อนที่จะสวมกอดครอบครัวของเธอ ที่มาร่วมต้อนรับที่สนามบินหลังจากพรากจากกันยาวนาน

เครื่องบินที่บรรทุกโซเฟีย เพโทรนิน มาถึงปารีสพร้อมกับแพทย์ ลูกชายของเธอและนักการทูตจำนวนหนึ่ง และการต้อนรับของประธานาธิบดีฝรั่งเศส

นายมาครงได้โจมตีอิสลามอย่างรุนแรงโดยเฉพาะประเด็นฮิญาบของมุสลิมะฮ์เพื่อสร้างกระแสอิสลาโมโฟเบียในฝรั่งเศส เขายังออกกฎหมายห้ามมุสลิมะฮ์สวมใส่ฮฺิญาบในที่สาธารณะ แต่สุดท้าย เขากลับต้อนรับสตรีชาวฝรั่งเศสที่รัฐบาลต้องลงทุนมหาศาลเพื่อนำกลับตัวเธอ ในสภาพที่ใส่ผ้าคลุมและประกาศตนเป็นมุสลิมะฮ์ในนามมัรยัม

“ พวกเขาได้วางแผนร้าย และอัลลอฮ์ก็วางแผนเพื่อสกัดแผนชั่วของพวกเขา เพราะอัลลอฮ์คือผู้วางแผนที่ดีที่สุด” (อัลอันฟาล/30)


อ้างจาก http://mubasher.aljazeera.net/news/اسمي-مريم-ماكرون-يستقبل-رهينة-فرنسية-محررة-أعلنت-إسلامها-فيديو

โดย ทีมงานต่างประเทศ

รากเหง้าความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจาน

ภูมิภาค “Karabakh” หมายถึง ภูเขาหรือที่ราบสูงของไร่องุ่นสีดำ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศอาเซอร์ไบจาน มีพื้นที่ประมาณ 4,800 ตร. กม. ( ใหญ่กว่าพื้นที่ของจังหวัดยะลาที่มีเนื้อที่ 4,521 ตร. กม. )คิดเป็นประมาณ 20% ของพื้นที่อาเซอร์ไบจาน มีประชากรประมาณ 150,000 คน

ทั้งภูมิภาคตั้งอยู่ในดินแดนของอาเซอร์ไบจาน พลเมืองส่วนใหญ่เป็นเชื้อชาติอาร์เมเนียที่สถาปนาดินแดนของตนเองอย่างผิดกฎหมาย เรียกว่า “สาธารณรัฐอาร์ทซัค”โดยได้รับการสนับสนุนและแทรกแซงโดยตรงจากอาร์เมเนีย ที่ละเมิดมติของสหประชาชาติที่รับรองภูมิภาคนี้เป็นของอาเซอร์ไบจาน และตั้งอยู่ในดินแดนของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องถอนการยึดครองอาร์เมเนียไปในเวลาเดียวกัน

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 และด้วยการสนับสนุนของรัสเซียและอาร์เมเนีย  กลุ่มกบฏอาร์เมเนียในภูมิภาคนี้ ได้กลายเป็นต้นเหตุของการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมจำนวนมากต่อชาวอาเซอร์ไบจาน พวกเขาถูกบังคับอพยพออกจากถิ่นกำเนิด เพื่อหลีกทางให้กับกองกำลังอาร์เมเนียที่เข้ามาใหม่ ซึ่งได้เผาทำลายหมู่บ้านและสังหารผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุ ท่ามกลางสายตาของโลกและสภาความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีที่ดำเนินการโดยกองกำลังหัวรุนแรงเหล่านั้น

การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมนี้ ส่งผลให้ชาวอาเซอร์ไบจานนับล้านคนต้องอพยพออกจากภูมิภาคนี้ แก๊งติดอาวุธหัวรุนแรงของอาร์เมเนีย ใช้ข้ออ้างทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ ในการโจมตีอาเซอร์ไบจานอย่างต่อเนื่องและเป็นครั้งคราว

การโจมตีโดยแก๊งติดอาวุธชาวอาร์เมเนียในภูมิภาค “คาราบัค” ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และภูมิศาสตร์ขึ้นใหม่ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยโดยประมาณกว่า 1.2 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอาเซอร์รี่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในคาราบัค กลายเป็นชาวอาร์เมเนีย

ถือเป็นการปล้นประเทศอีกกรณีหนึ่ง ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ยิวปล้นปาเลสไตน์จัดตั้งรัฐเถื่อนอิสราเอล เพียงแต่ที่ปาเลสไตน์ โลกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของยิว ในขณะที่อาเซอร์ไบจานสหประชาชาตินั่งชมอาร์เมเนีย ซึ่งนับถือคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์จัดตั้งรัฐอันธพาล”สาธารณรัฐอาร์ทซัค” ที่คาราบัค อาเซอร์ไบจาน

นอกจากนี้ กองกำลังกบฏอาร์เมเนียที่ยึดครองภูมิภาคนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยตรงและอย่างมีนัยสำคัญจากประเทศอาร์เมเนียและชุมชนชาวอาร์เมเนียพลัดถิ่น เนื่องจากการล็อบบี้ในสหรัฐอเมริกาทำให้อาร์เมเนียเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือของอเมริกาเป็นอันดับสองของโลก รองจากรัฐบาลยิวไซออนิสต์ ยังไม่รวมรัสเซียที่มีความผูกพันทางศาสนาอย่างแนบแน่นกับชาวอาร์เมเนีย

นี่คือสถานีประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดสำหรับภูมิภาคนากอร์โนคาราบัค

● 1922 อดีตสหภาพโซเวียตได้ประกาศให้เอกราชแก่คาราบัค แต่ยังคงยึดครองอาเซอร์ไบจาน

● 1988 กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนที่ผนวกคาราบัคเข้ากับอาร์เมเนีย และเรียกร้องเอกราชจากอาเซอร์ไบจานพร้อมดำเนินการโจมตีอาเซอร์ไบจานอย่างต่อเนื่อง

● 1991 การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและเอกราชของอาเซอร์ไบจานกระตุ้นให้อาร์เมเนียสนับสนุนการเป็นอิสระของภูมิภาคคาราบัคจากอาเซอร์ไบจาน โดยจุดชนวนสงครามด้วยการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อาร์เมเนีย

● 1992  อาร์เมเนียโจมตีอาเซอร์ไบจานและประกาศสงครามเพื่อยึดครองภูมิภาคนี้ ซึ่งสงครามดำเนินต่อไปจนถึงปี 1994 คร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 30,000 คน

● 2001 สหรัฐอเมริกาประกาศข้อตกลงสันติภาพระหว่างอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเกี่ยวกับดินแดน “คาราบัค”

● 2008 การโจมตีซ้ำของอาร์เมเนียต่ออาเซอร์ไบจาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บและเกือบจะกลายเป็นสงครามที่ยืดเยื้อครอบคลุม ซึ่งมีการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งสงครามดังกล่าว

● 2014 อาร์เมเนียโจมตีอาเซอร์ไบจานอีกครั้ง

● 2016 อาร์เมเนียโจมตีอาเซอร์ไบจานซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บและความพยายามของสหประชาชาติในการหยุดยิง

● ล่าสุด เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2020 ทั้ง 2 ชาติที่เคยเป็นดินแดนบริวารของอดีตสหภาพโซเวียตในภูมิภาคเอเชียกลางนี้ ได้ก่อสงครามอีกครั้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเคลื่อนย้ายอาวุธหนักระดมยิงใส่รวมถึงใช้ปฏิบัติการทางอากาศจากฝูงบินรบต่างๆ ส่งผลให้ทางอาร์เมเนียเรียกร้องให้บรรลุข้อตกลงหยุดยิง แต่นายอิลฮาม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน ยืนกรานว่าสัญญาหยุดยิงจะกระทำได้ต่อเมื่ออาร์เมเนียถอนกำลังออกจากคาราบัคเท่านั้นและจะต้องมีตารางเวลาที่ชัดเจนเพื่อบีบบังคับให้อาร์เมเนียออกจากดินแดนที่ตนยึดครอง

ในขณะที่ นายนิโคล ปาชินยาน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย ได้กระตุ้นต่อชาติตะวันตกให้ระดมช่วยเหลืออาร์เมเนียขัดขวางตุรกีที่เข้าแทรกแซงสนับสนุนอาเซอร์ไบจานว่า

“หากโลกไม่แสดงจุดยืนบางอย่างที่จำเป็นต่อตุรกี ก็รอพวกเขาที่จะบุกเข้าประตูเวียนนาอีกครั้งในไม่ช้านี้  เนื่องจากอาร์เมเนียเป็นป้อมปราการสุดท้ายที่ต่อต้านตุรกี  เออร์โดอานสนับสนุนอาเซอร์ไบจานต่อต้านเรา ในความพยายามที่จะฟื้นอาณาจักรบรรพบุรุษของพวกเขา”


สรุปโดย

ทีมข่าวต่างประเทศ

ชีคห์ ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวตสิ้นพระชนม์ พระชนมายุ 91 พรรษา

สำนักพระราชวังคูเวต ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 กันยายน ระบุว่า ชีคห์ ซาบาห์ อัล-อาหมัด อัล-ซาบาห์ เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้วด้วยพระชนมายุ 91 พรรษา

ชีคห์ ซาบาห์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สถาปนานโยบายต่างประเทศยุคใหม่ของคูเวต มีจุดยืนอันแน่วแน่ในกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคปกป้องมัสยิดอัลอักศอและสิทธิประโยชน์ของชาวปาเลสไตน์ ต้นแบบของการให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณกุศลและมนุษยชนทั่วโลก

ขออัลลอฮ์ทรงโปรดปรานพระองค์ท่าน ทรงอภัยโทษและให้พำนักพระองค์ท่านในสวรรค์ฟิรเดาวส์

إنا لله وإنا إليه راجعون

สรุปความขัดแย้งอาเซอร์ไบจาน – อาร์เมเนีย

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าความขัดแย้งของอาเซอร์ไบจัน – อาร์เมเนีย เป็นความขัดแย้งเรื่องการยึดครองหรือความขัดแย้งด้านพรมแดน

นี่เป็นเพียงความจริงผิวเผินเท่านั้น

และสำหรับผู้ที่ไม่รู้จัก พึงรู้ว่าอาร์เมเนียนั้น ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน การทหารและเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ – ยุโรปมากที่สุดลำดับที่สอง รองจากอิสราเอล แม้ว่าจะอยู่ในอิทธิพลของรัสเซีย โดยที่ล็อบบี้ของอาร์เมเนียมีอิทธิพลมากที่สุดในอเมริกาและยุโรปรองจากล็อบบี้ไซออนิสต์

อาร์เมเนียถูกสถาปนาขึ้นในแถบเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้เพื่อเป็นอิสราเอลอีกประเทศหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งภูมิศาสตร์ของโลกมุสลิมสุหนี่ และป้องกันการสื่อสารใด ๆ ระหว่างชนชาติมุสลิมในอนาโตเลีย ตะวันออกกลาง และชนชาติของโลกอิสลามในเอเชียกลางและคอเคซัส

ภัยคุกคามของอาร์เมเนียจึงไม่น้อยไปกว่าอันตรายของอิสราเอล และแม้ว่าจะเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีผู้อยู่อาศัยเพียงไม่กี่คน และเป็นประเทศรอบนอกก็ตาม

อาร์เมเนียเป็นเสมอเหมือนหอกข้างแคร่ไซออนิสต์อีกเล่มหนึ่งที่ถูกปักลงในใจกลางโลกอิสลามของเรา โดยมีประเทศรัสเซีย อเมริกา อิสราเอล ยุโรปและอิหร่าน อยู่เบื้องหลัง

สาเหตุและจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างทั้งสองรัฐ ย้อนกลับไปที่ช่วงเวลาการยึดครองของรัสเซียในช่วงยุคของโซเวียต ในปี 2461 โซเวียตได้กำหนดพรมแดนของทั้งสองประเทศ และอพยพชาวอาเซอไบจานบางส่วนออกจากพื้นที่ รวมถึงฆ่าคนหลายพันคน แล้วส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กับกองทหารอาร์เมเนียที่เป็นพันธมิตรกับพวกเขา พร้อมกับนำชาวอาร์เมเนียเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในเวลาเดียวกันพื้นที่เหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในเขตแดนของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไปตลอดช่วงการปกครองของสหภาพโซเวียตที่ยึดครองและปราบปรามชาวอาเซอร์ไบจันที่เรียกร้องเอกราชและห้ามให้อาวุธทุกชนิดแก่พวกเขา

ในทางกลับกันโซเวียตสนับสนุนอาร์เมเนีย ทั้งทางการเงิน ทางทหารและได้ฝึกฝนกองทหารของพวกเขา

หลังจากได้รับเอกราชในปี 1991 รัสเซียได้ส่งมอบดินแดนทั้งหมดที่ชาวอาเซอไบจานอพยพออกไปให้แก่อาร์เมเนีย และตั้งรกรากในที่ของพวกเขา และชาวอาร์เมเนียส่งมอบดินแดนเหล่านั้นให้แก่ประเทศอาร์เมเนียที่เพิ่งตั้งไข่ รวมทั้งภูมิภาคคาราบัค

พร้อมๆการเรียกร้องของอาเซอร์ไบจานในการขอคืนดินแดนที่ถูกแย่งชิงในคาราบัค กองทหารชาวอาร์เมเนียซึ่งประกาศให้ภูมิภาคนี้เป็นรัฐเอกราชโดยการสนับสนุนของประเทศอาร์เมเนียปฏิเสธที่จะคืนพื้นที่ และทำสงครามที่ครอบคลุมกับอาเซอร์ไบจานโดยร่วมกับอาร์เมเนีย พวกเขาได้ฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปหลายพันคน และไร้ที่อยู่อีกหลายหมื่นคน ตลอดจนยึดครองดินแดนอาเซอร์ไบจานประมาณ 20% ของพื้นที่ โดยได้ตั้งเงื่อนไขการคืนดินแดนดังกล่าวแลกกับการที่อาเซอร์ไบจานสละกรรมสิทธิ์ในภูมิภาคคาราบัค

ในความขัดแย้งครั้งนี้ รัสเซียยืนหยัดเคียงข้างอาร์เมเนียและสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง ในอาร์เมเนียมีฐานทัพรัสเซียที่ใหญ่ที่สุดนอกอาณาเขตของตน รวมถึงอิหร่านที่สนับสนุนทางการเงินแก่อาร์เมเนีย ตลอดจนน้ำมัน ก๊าซและอาวุธ ในการต่อสู้กับอาเซอร์ไบจาน แม้ว่าอาเซอร์ไบจานจะเป็นรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชีอะห์ แต่เนื่องจากปฏิเสธที่จะให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อระบบวิลายะตุลฟะกีห์ จึงยืนหยัดต่อต้านอิหร่าน

และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศอาหรับที่ต่อต้านตุรกีหลายประเทศก็เข้าร่วมความขัดแย้งด้วยการสนับสนุนอาร์เมเนียในการต่อสู้กับอาเซอร์ไบจาน


เขียนโดย Ghazali Benmad

จับตาการเมืองมาเลเซีย (ตอนที่ 1)

หลังจากนายมุห์ยิดดีน ยาซีน (72ปี) ประธานพรรคเบอร์ซาตู รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ภายหลังที่ตุนมหาธีร์ โมฮัมมัด (94ปี) ซึ่งตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างกระทันหันเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วิกฤติการเมืองมาเลเซียยังไม่มีวี่แววจะจบท่ามกลางกระแสไม่พอใจบนโลกออนไลน์ในมาเลเซียโดยชาวเน็ตแห่ติด #NotMyPM และมีชาวมาเลเซียกว่า 100,000 คนร่วมลงชื่อออนไลน์เรียกร้องว่าการรับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีของนายมุห์ยิดดีน คือ “การทรยศเสียงของประชาชน” จากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ที่พรรคอัมโนพ่ายแพ้ขาดลอย ในขณะที่นายมหาธีร์เรียกรัฐบาลนี้ว่ารัฐบาลประตูหลัง

ล่าสุดมาเลเซียกลับมาอยู่ในสายตาชาวโลกอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 เมื่อนายอันวาร์ อิบรอฮีม หัวหน้าพรรค PKR ได้แถลงข่าวที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ตนมีเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นและเข้มแข็งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พร้อมเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยตนเองพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของมาเลเซีย

“ ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังให้เข้าเฝ้าฯในวันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา11.00 น. แต่เนื่องจากพระองค์ทรงพระประชวรและขณะนี้ทรงรักษาพระอาการที่สถาบันรักษาโรคหัวใจแห่งชาติ ทำให้กำหนดการเข้าเฝ้าฯ ต้องเลื่อนโดยกระทันหัน”  นายอันวาร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอันวาร์ยังไม่เปิดเผยตัวเลขว่ารวบรวมเสียงได้เท่าใด ซึ่งการจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้ต้องอาศัยเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียถึง 112 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 222 ที่นั่ง

ขณะนี้แนวร่วมแห่งความหวัง ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรคการเมือง 3 พรรค และที่มีนายอันวาร์เป็นผู้นำอยู่นั้น มีเสียงอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซีย 91 เสียง ประกอบด้วยพรรคยุติธรรมประชาชนของนายอันวาร์ 38 เสียง พรรคปฏิบัติการประชาธิปไตย 42 เสียง และพรรคศรัทธาแห่งชาติ 11 เสียง

นอกจากนี้ นายอันวาร์ยังเปิดเผยอีกว่า ตนยังได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. กลุ่มอื่นอีกหลายคน ซึ่งรวมถึง ส.ส. จากแนวร่วมพันธมิตรแห่งชาติ ที่เป็นฝ่ายรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ และตนจะเปิดเผยจำนวน ส.ส. ให้สาธารณชนทราบหลังจากเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียแล้ว

ส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาล นายมุห์ยิดดีน ยาซีน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันว่า ตนยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีจนกว่านายอันวาร์ อิบรอฮีมจะแสดงหลักฐานว่ามีเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกรัฐสภา พร้อมกล่าวว่ามีหลายฝ่ายที่ต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล

ทางด้านตุนมหาธีร์ โมฮัมมัด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายอันวาร์ อิบรอฮีม ประกาศว่าตนได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากส.ส. ในรัฐสภา เพราะในปี 2008 เขาเคยประกาศในทำนองนี้มาก่อนแล้ว แต่ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

ส่วนนายอันวาร์ มูซา แกนนำคนสำคัญของพรรคอัมโนและเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ได้เรียกร้องให้มีการยุบสภาพร้อมคืนอำนาจให้แก่ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้นำผ่านสนามเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

แอร์โดอานประกาศการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติมหาศาล

21 สิงหาคม 2563 แอร์โดอานประกาศข่าวดีในวันศุกร์ที่ 1 มุหัรรอม 1442 ซึ่งเป็นวันปีใหม่แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การค้นพบแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมหาศาลในทะเลดำทางตอนเหนือของประเทศ ณ ตำแหน่งTuna-1 Zone โดยเรืออัลฟาติห์ที่มีจำนวนมหาศาลกว่า 3.2 แสนล้านลบ. ม. ซึ่งคาดว่าสามารถเป็นแหล่งพลังงานได้นานถึง 20 ปี

ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า วินาทีนี้เราขอแสดงความยินดีกับข่าวดีที่สุดที่สามารถค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลในเขตทะเลดำโดยเรืออัลฟาติห์ที่ได้ดำเนินการสำรวจเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งสามารถค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 3.2 แสนล้านลบ. ม. โดยถือเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดที่ขุดพบโดยชาวตุรกี

ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวอีกว่า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของตุรกี และเราไม่ได้พึ่งพาศักยภาพของชาวต่างชาติแม้แต่น้อย เรามั่นใจว่ายังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและทะเลอีกมากมายที่จะถูกค้นพบในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งทุนพลังงานสำรองเพื่อให้บริการแก่ชาวตุรกีและชาวโลกต่อไป

Masjid Razaleigh แรงบันดาลใจจากมัสยิดหะรอม มหานครมักกะฮ์

GUA MUSANG : Masjid Razaleigh มูลค่าก่อสร้างกว่า RM28 ล้าน ที่มีโมเดลถอดแบบจากมัสยิดหะรอม มหานครมักกะฮ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ปลายปีนี้และจะเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ของรัฐกลันตัน ที่มีฉายา Serambi Mekah หรือระเบียงมักกะฮ์ โดยเฉพาะในเขต Gua Musang

มัสยิดแห่งนี้มีเนื้อที่ใช้สอย 70,000 ตารางฟุต ใช้วัสดุการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน

สส. Gua Musang , Tengku Razaleigh Hamzah เปิดเผยว่า มัสยิดแห่งนี้จุคนประมาณกว่า 3,500 คน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2016 ได้รับแรงบันดาลใจจากมัสยิดหะรอม มักกะฮ์ ประกอบด้วยหออะซาน 9 หอ ที่มีความสูง 30 ม. และโดม 7 โดม รวมทั้งห้องประชุม ห้องสัมมนา ห้องสมุด ห้องเรียนโรงอาหาร บ้านพักอิมาม บิลาลและเจ้าหน้าที่จัดการศพ 2 คน

ส่วนลานกว้างตรงกลางมัสยิดจะจัดไว้ช่วงอบรมฮัจญ์แก่ผู้ประสงค์จะประกอบ พิธีฮัจญ์ในแต่ละปี

คาดว่าพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็น Landmark ที่สำคัญแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะเขต Gua Musang ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่มาชมและจัดกิจกรรมตามความต้องการของชุมชนต่อไป

บ่วงบาศคล้องคอตุรกี

แอร์โดอานรับมรดกบาปจากรัฐเซคิวล่าร์ที่คอยเป็นบ่วงบาศคล้องคอตุรกีมิให้เคลื่อนไหวอย่างสะดวก อย่างน้อย 8 ข้อได้แก่

1. สนธิสัญญาและข้อตกลงกับบรรดาประเทศยุโรปและนาโต้กว่า 600 ฉบับ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯกว่า 10 หน่วยที่ชาวตุรกีไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้แม้กระทั่งนายทหารระดับนายพล รวมทั้งฐานทัพอากาศของสหรัฐที่เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1951 (ก่อนการเข้ามาของแอร์โดอานตั้ง 50 กว่าปี)

2. สถาบันอุดมศึกษาเกือบ 100 แห่งที่ปลูกเมล็ดพันธุ์หลักสูตรความเกลียดชังอิสลามและเฝ้าระวังนักวิชาการที่มีความผูกพันกับศาสนา ในขณะที่หน่วยงานราชการที่ยึดมั่นแนวคิดเซคิวล่าร์ คอมมิวนิสต์และนิยมซ้ายจัด มีหน้าที่สอดส่องพฤติกรรมของประชาชนมิให้เข้าใกล้อิสลามชนิดไม่คลาดสายตา

3. ระบบสื่อสารมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และสื่อโชเชี่ยลที่เผยแพร่ลัทธิบิดเบือน รณรงค์สิ่งลามกอนาจารและคำสอนไร้จริยธรรม ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์เชิงลบของอิสลามมาโดยตลอด

4. กระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมในทุกระดับที่คอยสนับสนุนความชั่วร้ายและสกัดกั้นความดี คอยชี้โพรงให้กระรอกมากัดแทะอิสลามตามอำเภอใจ รวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์และปู้ยี่ปู้ยำทรัพยากรของประเทศเพื่อบำเรอความสุขของตนและพวกพ้อง

5. Operation GLADIO ซึ่งเป็นปฏิบัติการเครือข่ายก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของชาติสมาชิกองค์การนาโต้และ CIA เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของโซเวียตและคอมมิวนิสต์ วิธีการของปฏิบัติการ Stay-behind ของหน่วยงานนี้คือ สร้างความตึงเครียดในสังคมด้วยการก่อการร้ายทุกรูปแบบ เพื่อสร้างรัฐแห่งความหวาดกลัวในลักษณะ ปาก้อนหินโดยยืมมือของคนอื่น ถึงแม้ยุคสงครามเย็นได้ผ่านพ้นไปแล้วหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต แต่ GLADIO ยังมีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในตุรกี เพื่อยืนยันว่า วัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานนี้ หาใช่เพื่อคานอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ แต่เฝ้าระวังความเคลื่อนไหวในตุรกีโดยเฉพาะต่างหาก

6. ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่มีทั้งเตอร์ก เคิร์ด อาร์เมเนีย อาหรับและอื่นๆ ตลอดจนความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อที่มีทั้งอิสลาม คริสต์ อาลาวีย์ ยิวและลัทธิอื่นๆที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการจุดชนวนความแตกแยกในสังคม

7. อำนาจทหารที่ค้ำจุนและเป็นเปลือกหอยคอยปกป้องระบอบเซคิวล่าร์ ที่จะยึดอำนาจและก่อรัฐประหารทันทีเมื่อเห็นว่ามีสถานการณ์ที่บั่นทอนเสถียรภาพของระบอบคามาลิสต์

8. บรรดาประเทศอียูที่ฝังความเป็นศัตรูกับตุรกีมาอย่างยาวนานที่ซึมซับมาในประวัติศาสตร์การสร้างชาติในอดีตพวกเขาไม่มีวันปล่อยตุรกีให้หลุดมือและเติบโตอย่างอิสระ พวกเขาเคยปรามาสตุรกีว่าเป็นชายแก่ขี้โรค และเฝ้าฝันให้ตุรกีกลายเป็นชายแก่ขี้โรคตลอดกาล

เหตุการณ์ก่อรัฐประหารล้มเหลวครั้งล่าสุดและท่าทีของประเทศยุโรปกรณีลงประชามติรัฐธรรมนูญตุรกีที่ผ่านมา คือตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้

ทั้ง 8 บ่วงบาศนี้ จะคอยบีบรัดตุรกีทุกครั้งที่ขยับเขยื้อน แต่ภายในระยะเวลา 15 ปี แอร์โดอานสามารถสลัดบ่วงบาศเหล่านี้ทีละชิ้น จนสามารถควบม้าเร็วตุรกีให้พุ่งทะยานได้อย่างน่าทึ่ง แต่ทั้งนี้เราก็ไม่เคยประทับตราว่าท่านคือความสมบูรณ์

รึว่าจะให้แอร์โดอานขึ้นคุตบะฮ์ประกาศตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์ แล้วบังคับให้ประชาชาติมุสลิมและผู้นำมุสลิมทั่วโลกบัยอะฮ์แสดงความภักดี ใครฝ่าฝืนถูกตัดสินเป็นชาวมุรตัดดีน พร้อมแพร่คลิปตัดคอตัดมือเพื่อประกาศว่า ได้ปฏิบัติตามหลักชะรีอะฮ์อย่างสมบูรณ์แล้ว


ข้อมูลอ้างอิง http://www.turkpress.co/node/29821

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 01-07-2017
ถอดความโดย Mazlan Muhammad