ปาเลสไตน์ แผ่นดินไร้ประชาชาชน เพื่อทรชนที่ไร้ดินแดน

ไทม์ไลน์การกำเนิดของรัฐหนึ่ง พร้อมกับการสูญหายของอีกรัฐหนึ่ง ท่ามกลางการรู้เห็นของสหประชาชาติ การเงียบงันของโลกอิสลาม และความทุกข์ทรมานของชาวปาเลสไตน์

ปาเลสไตน์ ต้นกำเนิดแห่งวาทกรรม “แผ่นดินซึ่งผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ มอบให้กับผู้ไม่มีสิทธิครอบครอง”

จากคำประกาศบัลโฟร์ 1917 จนถึง ข้อตกลงแห่งศตวรรษ 2020

มหากาพย์แห่งการปล้นประเทศยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายตามมายาคติ ที่ ระบุว่าอิสราเอล คือ แผ่นดินจากไนล์ถึงยูเฟรทีส

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ให้การต้อนรับ รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มฟน.

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 เวลา 15.00 น. นายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ให้การต้อนรับ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และคณะ ณ ที่ทำการสถานกงสุลใหญ่ฯ

โดยทั้งสองฝ่ายได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับสถานกงสุลใหญ่ฯ ทั้งนี้ กงสุลใหญ่ได้แสดงความขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ที่รับนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษจากศูนย์การเรียน กศน. ณ เมืองเจดดาห์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสถานกงสุลใหญ่ฯ จำนวน 2 คน เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฯ ในระดับอุดมศึกษา

ซึ่งอธิการบดีฯ ได้กล่าวชื่นชมสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่จัดโครงการด้านการศึกษาแก่บุตรหลานและเยาวชนไทยที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศซาอุดีอาระเบีย ทำให้เยาวชนไทยเหล่านี้มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์ของทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ต้องการยกระดับให้เยาวชนไทยมุสลิมได้มีการศึกษาที่สูงและในหลากหลายสาขาวิชามากยิ่งขึ้น

ที่มา : The Royal Thai Consulate-General in Jeddah

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีเยี่ยมมุฟตีซาอุดิอาระเบียและ รมว. ศาสนาซาอุดิอาระเบีย

อังคารที่ 14 มกราคม 2563 (20 ญุมาดั้ลเอาวัล ฮ.ศ.1441) รองศาสตราจารย์ ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในฐานะคณะมนตรีสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League -MWL) เข้าเยี่ยมฯพณฯมุฟตี ชัยค์อับดุลอะซีส บินอับดุลลอฮ์ อาลิชัยค์ สมาชิกสภามนตรีก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมโลก (Constituent Council) และผู้ชี้ขาดศาสนวินิจฉัย (Mufti) ที่สำนักงานใหญ่ดารุลอิฟตาอ์ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย

ในวันเดียวกัน รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้ไปเยี่ยมฯพณฯชัยค์ศอลิห์ อาละชัยค์ รัฐมนตรีประจำสำนักกิจการศาสนา ที่บ้านพัก ณ หมู่บ้านมูฮัมมะดียะฮ์ โดยมีชัยค์อับดุลอาซิส อัมมาร์ อดีตรมช. กระทรวงกิจการศาสนาและศาสนสมบัติร่วมให้การต้อนรับ

ตุรกีดับไฟสงครามกลางเมืองที่ลิเบียสำเร็จ

หลังจากที่รุกหนัก ประกาศยึดเมืองแล้วเมืองเล่า จนเกือบจะประกาศโค่นรัฐบาลอยู่รอมร่อ แต่กลับถูกเบรคหัวทิ่ม นายพลจัตวาอะหมัด มิสมารี โฆษกกองกำลังนายพลจัตวาคอลีฟะฮ์ ฮัฟตาร์ แห่งลิเบีย ออกแถลงการณ์ ระบุกองกำลังนายพลฮัฟตาร์ ประกาศหยุดยิงนับตั้งแต่ วันอาทิตย์ ที่ 12 มกราคม ศกนี้

รัฐบาลลิเบียรอดพ้นจากสถานการณ์คอขาดบาดตายได้อย่างหวุดหวิด

ไม่เช่นนั้นแล้ว กลุ่มอิสลามจะถูกล้างผลาญในลิเบีย ไม่ต่างกับในอียิปต์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา 8/1/2562 ประธานาธิบดีตุรกีและประธานาธิบดีรัสเซีย ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในลิเบียหยุดยิง เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม นี้

หลังจากนั้น ฝ่ายนายพลฮัฟตาร์ ก็ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับข้อตกลงระหว่างตุรกีกับรัสเซีย และยืนยันจะโจมตีต่อไปจนพิชิตทริโปลีได้

แต่ต่อมา เมื่อ 12 มกราคม 2563 ฝ่ายนายพลฮัฟตาร์ก็ได้เปลี่ยนจุดยืน ออกแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ประกาศหยุดยิงตามคำเรียกร้องของตุรกีและรัสเซีย

ทั้งนี้ นายพลฮัฟตาร์ ได้รับการสนับสนุนทางทหารและการเงิน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อิยิปต์ ซูดาน และฝรั่งเศส ประกาศเข้ายึดเมืองทริโปลี เมืองหลวงของรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติของลิเบีย ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่รู้ไม่เห็นของสหประชาชาติ ที่ไม่เคยออกมาคัดค้านหรือหาทางหยุดยั้งการโจมตีรัฐบาลที่ตนเองรับรอง

จนกระทั่ง 27 พฤศจิกายน 2562 ตุรกีประกาศข้อตกลงความร่วมมือทางทหาร กับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติของลิเบีย ยืนยันจะไม่ให้รัฐบาลที่ชอบธรรมของลิเบียถูกโค่นเหมือนที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของกลุ่มประเทศอียู และการประณามของสันนิบาตอาหรับ ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และมหาวิทยาลัยอัซฮัร อ้างว่าเป็นการแทรกแซงประเทศอาหรับ และจะทำให้สงครามรุนแรงมากขึ้น

แต่ตุรกีไม่สนใจ ยืนยันคำเดิมและเริ่มส่งทหารเข้าไปยังลิเบีย

จนมาถึงการประกาศหยุดยิงครั้งแรกระหว่างสองฝ่าย

พิสูจน์ให้เห็นว่า เกรวูฟอ่านสถานการณ์ได้ขาดและถูกต้อง มากกว่ากลุ่มประเทศและกลุ่มคนที่คัดค้านและประณามเหล่านั้น

รัฐบาลและปุโรหิตทั้งหลายที่อาศัยอิสลามเกาะกินและประณามตุรกี จะรับผิดชอบในคำพูดอย่างไร เมื่อในวันนี้สังคมโลกต่างออกมายินดีกับผลงานของตุรกี

ทั้งนี้ ฝ่ายนายพลฮัฟตาร์ประกาศว่าได้ยึดหัวเมืองต่างๆในลิเบียได้มากกว่า 80 % ของพื้นที่ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติออกมาปฏิเสธว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะลิเบียเป็นประเทศใหญ่ มีพื้นที่มากกว่าประเทศไทยราวๆ 4 เท่า ประชากรลิเบียมีประมาณ 6.3 ล้าน ราวๆ 2.3 คน ต่อตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของลิเบียเป็นพื้นที่ทะเลทราย ไม่มีประชากรอาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในทริโปลีและเบงกาซี ที่เหลือก็กระจัดกระจายไปในที่ต่างๆ

สถานการณ์ในลิเบียขณะนี้ คลับคล้ายคลับคลากับยุคสุลต่านสุไลมาน กอนูนีย์ เมื่อกษัตริย์ฝรั่งเศสขอความช่วยเหลือจากออตโตมันต่อสู้กับสเปนที่จะเข้ามารุกราน ออตโตมันได้ส่งเครื่องแบบทหารหน่วยรบพิเศษ แค่เห็นชุดหน่วยรบพิเศษของออตโตมัน สเปนก็ถอนทัพกลับทันที

“ทุกครั้งที่พวกเขาจุดไฟสงคราม อัลลอฮ์จะดับไว้ พวกเขาพยายามก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักผู้ก่อความเสียหาย” (64/อัลมาอิดะฮ์)

โดย Ghazali benmad

รัฐบาลซูดานประกาศปิดวิทยุอัลกุรอาน สื่ออิสลามและองค์กรอิสลามสาธารณกุศล

เมื่อซูดานถูกปกครองโดยหมาป่าคลุมหนังแกะ

หลังจากได้ปฏิวัติรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนายโอมาร์ บาชิร ซึ่งมีฐานสนับสนุนจากฝ่ายอิสลามิสต์ บัดนี้รัฐบาลสภาทหารซูดานใฝ่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้ประกาศปิดวิทยุอัลกุรอานนับ 10 สถานี รวมทั้งสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลายฉบับ อีกทั้งสั่งปิดองค์กรสาธารณกุศล 24 องค์กร โดยอ้างว่าอาจมีส่วนพัวพันกับรัฐบาลชุดก่อนและเพื่อป้องกันแนวคิดก่อการร้าย

สื่อมวลชนทุกแขนงได้แสดงความไม่พอใจและถือว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่เป็นข้ออ้างของการโค่นล้มรัฐบาลชุดที่แล้ว หลายคนวิเคราะห์ว่า มาตรการรัฐบาลสภาทหารชุดนี้พยายามปิดหูปิดตาประชาชนมิให้เข้าถึงเสียงฝ่ายตรงกันข้ามต่างหาก

ฝ่ายรัฐบาลสภาทหารของซูดานอ้างว่าสาเหตุที่ยุบวิทยุและโทรทัศน์รวมทั้งสื่อต่างๆเนื่องจาก สื่อเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในขณะที่เราต้องการส่งคืนให้เป็นการตัดสินของประชาชนอีกครั้ง

นอกจากนี้ รัฐบาลสภาทหารชุดใหม่ ได้สั่งปิดวิชาหะดีษในหลักสูตรอิสลามศึกษาทั่วประเทศอีกด้วย

ซูดานมีการเปลี่ยนแปลงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้สภาทหารหลังจากนายโอมาร์ บะชีร วัย 75 ปี ถูกกองทัพซูดานบีบให้ลาออกเมื่อ 11 เมษายน 2019 หลังครองอำนาจนานกว่า 3 ทศวรรษโดยศาลอาญาระหว่างประเทศชี้มูลความผิดและออกหมายจับข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในภูมิภาคและทุจริตในการบริหารประเทศ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสภาทหารของซูดานได้ส่งกองกำลังหลายพันนาย เข้าไปในลิเบียเพื่อสนับสนุนกองกำลังของนายพลฮัฟตาร์แกนนำใฝ่คอมมิวนิสต์ลิเบียที่สั่นคลอนรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติลิเบียขณะนี้

เหตุการณ์ในซูดานขณะนี้ ทำให้โลกอิสลามต้องหวนคิดย้อนอดีตยุคนายเคมาล มุสตะฟา อะตาร์เติร์กล้มล้างระบอบคิลาฟะฮ์อุสมานียะฮ์เลยทีเดียว เพราะทำให้เรานึกถึงนิทานอีสปเรื่องหมาป่าหุ้มหนังแกะทันที

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม https://bit.ly/2uyhgoX

คำกล่าวในพิธีเปิดประชุม KL Summit 2019 ของนายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ประธานการประชุม

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิด KlSummit 2019 ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพวานนี้ 19 ธันวาคม 2019 ว่า โลกมุสลิมอ่อนแอเกินไปจนไม่สามารถที่จะปกป้องประชาชาติอิสลามได้ และว่าเราไม่ได้มีเจตนาจะทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพียงแต่ในขั้นต้นต้องการเริ่มแบบเล็กๆก่อนเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ต้องการพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของประชาชาติอิสลามในปัจจุบัน ไม่ใช่มาโต้แย้งเรื่องหลักการศาสนา

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด ย้ำว่า เราทั้งหลายต่างรู้ดีว่าเรามุสลิมประสบกับวิกฤติ ชาวมุสลิมต้องทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปยังประเทศที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม

นอกจากนั้น โลกมุสลิมยังประสบกับปัญหาภายใน มีการกดขี่ข่มเหงต่อมุสลิมด้วยกัน ในการประชุมคราวนี้เราต้องการที่จะสร้างความชัดเจนว่าปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราจะรับมือกับสงครามภายในนี้ได้อย่างไร ? จะรับมือกับวิกฤติและเยียวยาแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร? จะรักษาชื่อเสียงเกียรติยศศาสนาของเราได้อย่างไร ? นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าว

ไม่มีประเทศมุสลิมแม้แต่ประเทศเดียวที่เป็นประเทศเจริญแล้ว แม้ว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล แต่ก็ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัดกล่าว

และว่า น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่ประเทศเหล่านี้ต่างอ่อนแอไม่สามารถปกป้องรักษาประชาชาติอิสลามได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ปัจจุบันนี้อิสลามถูกมองเทียบเท่ากับการก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังกล่าวว่า ในอดีต มุสลิมได้สถาปนาอารยธรรมที่มีความเจริญก้าวหน้า และเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วโลก แต่วันนี้ โลกไม่ได้ยกย่องให้เกียรติเรา เพราะเราไม่ใช่เป็นผู้ส่งออกวิชาความรู้เหมือนในอดีต เราไม่มีบทบาทในอารยธรรมโลกปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า การเสื่อมถอยของอารยธรรมอิสลามเริ่มต้นในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในช่วงเวลานั้น สังคมมุสลิมต่างปฏิเสธที่จะเรียนวิชาความรู้ใดๆ นอกจากความรู้ที่เกี่ยวข้องการทำอิบาดะฮ์เฉพาะเท่านั้น ทำให้นักวิชาการในยุคนั้นมัวแต่โต้แย้งเกี่ยวกับหลักการศาสนาที่มีความเห็นแตกต่างกัน กลายเป็นกลุ่มเป็นพวก จนกลายเป็นสงครามทางความคิด

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวอีกว่า ในอัลกุรอาน อัลเลาะห์บอกว่าจะช่วยมุสลิม ต่อเมื่อมุสลิมทุ่มเทความพยายาม ไม่ใช่งอมืองอเท้าแล้วรอคอยความช่วยเหลือจากอัลเลาะห์อย่างเดียว

และย้ำว่า นวัตกรรมใหม่ๆ ในรอบ 100 ปีนี้ไม่มีสิ่งใดที่นำเสนอคิดค้นโดยมุสลิม เครื่องมือเครื่องใช้ที่เราใช้อยู่ในตอนนี้ทั้งหมดล้วนคิดค้นโดยผู้อื่น ซึ่งหมายความว่า เราต้องพึ่งพิงประเทศที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและการพัฒนา

ทั้งที่เราทราบว่า บางประเทศล่มสลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็สามารถกลับมายืนได้อีกครั้งและพัฒนาตัวเอง ในขณะที่ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถแม้แต่ในด้านบริหาร อย่าว่าแต่ด้านการพัฒนา

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า นี้เป็นสิ่งที่ศาสนาของเราสอนหรือ อิสลามคือต้นเหตุที่ทำให้เราเป็นแบบนี้หรือ

นายแพทย์มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวย้ำว่า นี่คือสิ่งที่เราจะมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันในการประชุมครั้งนี้ เพื่อนำข้อเสนอแนะที่เห็นพ้องต้องกันนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม สู่การริเริ่มที่ยิ่งใหญ่มากกว่าต่อไป

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปาฐกถาพิเศษที่ IIUM,Gombak Campus

20 ธันวาคม 2562 รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกพิเศษที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย IIUM เนื่องในงาน Grand Talk ในหัวข้อ ธาตุแท้ชัยฏอน ที่ Experimental Hall,Level 3 , IIUM, Gombak Campus เวลา 09.00-12.00 น.

หัวข้อดังกล่าวคือผลงานหนังสือล่าสุดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่เขียนในภาษามลายูภายใต้ชื่อเรื่อง : Hakikat As-Syaitan Ar-rajeem : penipuannya dan cara memusuhinya menurut ajaran Allah dan Rasul صلى الله عليه وسلم ซึ่งได้รับแปลเป็นภาษาไทยขื่อ รู้จักชัยฏอน ธาตุแท้ กลอุบาย วิธีต่อสู้ โดย ซุฟอัม อุษมาน เป็นบรรณาธิการแปล

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี กล่าวตอนหนึ่งว่า เรายังไม่เพียงพอที่จะเพียงรับรู้ว่า ชัยฏอนคือศัตรูของเรา แต่ในขณะเดียวกันเราต้องประกาศอย่างชัดเจนว่ามันคือศัตรูตัวฉกาจของเราด้วย เพราะปลายทางสุดท้ายของชัยฏอนคือนรก มันจะใช้เล่เหลี่ยมทุกวิถีทางเพื่อฉุดกระชากเราสู่นรกให้จงได้ ขออัลลอฮ์คุ้มครอง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยังได้เชิญชวนทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักศึกษาและคณาจารย์ ศึกษาเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับชัยฏอน เพราะหากเราไม่สนใจศึกษาเรื่องนี้ แสดงว่าเราคือหนึ่งในบรรดาเหยื่อของชัยฏอนอย่างแน่นอน เราขอความคุ้มครองด้วยอัลลอฮ์จากชัยฏอนที่ถูกสาปแช่ง

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เป็นหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการและนักคิด 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลกที่ร่วมประชุม KL_Summit_2019 ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

สามารถรับชมเทปบรรยาย ได้ด้านล่างนี้

ผู้นำโลกมุสลิมตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม

ดร.อะหมัด มันซูร ผู้สื่อข่าวอาวุโสของสถานีอัลจาซีรา ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ครั้งนี้ รายงาน เบื้องหลังสถานการณ์การประชุมครั้งนี้ผ่านเว็บไซต์ ว่า เจตนารมณ์ของผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ให้ความสำคัญกับการ เฟ้นหาผู้นำโลกมุสลิมที่ตระหนักถึงความทุกข์ร้อนของประชาชาติอิสลาม และตั้งใจจริงในการกอบกู้สถานภาพของประชาชาติอิสลาม และสังคมโลกมุสลิม ตลอดจนสร้างความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของโลกมุสลิมให้มีบทบาท ในสังคมโลก ไม่ใช่อยู่อย่างเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

ดร.อะหมัด มันซูร บอกว่า นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด กล่าวว่า ในตอนแรกมีประเทศที่ตอบรับการประชุม 5 ประเทศ อันได้แก่ มาเลเซีย ตุรกี กาตาร์ ปากีสถานและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความพร้อม ทั้งในด้าน ภูมิศาสตร์ ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ การทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นสูง และเทคโนโลยี ไม่รวมถึงอิหร่านที่ประธานาธิบดีอิหร่าน เพิ่งตัดสินใจในภายหลัง ถึงไม่ได้ถูกนำเข้ามาในรายชื่อของผู้เข้าร่วมในตอนแรก ตลอดจนได้ส่งคำเชิญไปยังประเทศสมาชิกโอไอซีจำนวนมาก

ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลความตึงเตรียดระหว่างตุรกีและกาตาร์ เจ้าภาพหลักของการประชุมครั้งนี้ฝ่ายหนึ่ง กับอิมิเรตและซาอุดิอาระเบียฝ่ายหนึ่ง จึงส่งผลต่อการตัดสินใจของประเทศใกล้ชิด กระทั่งสุดท้ายแล้ว ทำให้ปากีสถานและอินโดนีเซีย ที่เศรษฐกิจของประเทศ มีความเกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบียและ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างมหาศาล จึงจำเป็นต้องถอนตัว คงเหลือตัวแทนของรัฐในระดับต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพียง 18 ประเทศ และระดับประมุขสูงสุด เพียง 3 คน ประเทศ คือ ตุรกี กาตาร์ และอิหร่าน

เขียนโดย Ghazali Benmad

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019

อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019
ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และ อ. ซอและห์ ตาเละ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ เข้าร่วมประชุมสุดยอด Kuala Lumpur Summit 2019 ที่จัดขึ้นที่ KL Convention Centre ระหว่างวันที่ 18-21 ธันวาคม 2562

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีผู้นำสูงสุด 3 ประเทศ นอกจากประเทศเจ้าภาพมาเลเซียคือ กาตาร์ ตุรกี และอิหร่าน เข้าร่วมถกปัญหาและร่วมมือแก้ไขวิกฤติโลกอิสลามในปัจจุบัน อีกทั้งสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะการพัฒนาเยาวชนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม

ในการประชุมครั้งนี้มีนักวิชาการ นักคิดทั่วโลกเกือบ 500 คนจากกว่า 40 ประเทศเข้าร่วม ในโอกาสนี้อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ได้มีโอกาสพบปะและทักทายผู้นำประเทศตุรกี นายรอยับ ตอยยิบแอร์โดอาน และตุน ดร. มหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกด้วย

เอื้อเฟื้อรูปภาพโดย Muslim Bin Ismail Lutfi
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ทิศทางใหม่ของโลกอิสลามที่ไม่ขึ้นกับแรงกดดันของมหาอำนาจ

“การจัดตั้งตลาดร่วม” และ “จัดตั้งสกุลเงินเดียวกัน” มิติด้านเศรษฐกิจร้อนฉ่า ที่จะมีการนำเข้าพิจารณาในการประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 พรุ่งนี้

การประชุมกัวลาลัมเปอร์ซัมมิต 2019 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-21 ธันวาคมนี้ ภายใต้แนวคิด THE ROLE OF DEVELOPMENT IN ACHIEVING NATIONAL SOVEREIGNTY “บทบาทของการพัฒนาต่อการมีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง”


นพ.มหาธีร์ มุฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของการบำบัดรักษาโรคร้ายที่เกาะกินโลกมุสลิม พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนเพื่อให้สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมที่วางไว้

วาระหลักของการประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับกรณีการลี้ภัยของมุสลิมทั่วโลกอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองหรือความตกต่ำทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น จะมีการพิจารณาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของโลกมุสลิม รวมถึงอัตลักษณ์ประจำชาติต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรม และอิสลามโมโฟเบียที่กำลัง เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงและอื่นๆ

รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีเพื่อเผยแพร่หลักคำสอนอิสลามที่แท้จริงแก่สังคมโลก ตลอดจนการแก้ปัญหาเกี่ยวกับแนวคิดตกขอบและอิสลามโมโฟเบีย

แนวคิดของการประชุมครั้งนี้ ต้องการที่จะประมวลเจตนารมณ์ ทรัพยากรและเศรษฐกิจความมั่งคั่ง เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางของประเทศต่างๆ อันจะทำให้มีอิสรภาพและมีอำนาจในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายด้วยตนเองอย่างแท้จริง ไม่ขึ้นอยู่กับการกดดันหรือการบีบบังคับของประเทศมหาอำนาจใดๆ

การประชุมระดับประมุขสูงสุดของประเทศมุสลิมเพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ตลอดจนการนำเสนอผลการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโลกมุสลิมที่มีความพร้อมเป็นอย่างสูง ทำให้จะต้องมีการคิดอย่างจริงจังเพื่อการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและทรัพยากรของประเทศมุสลิมในการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ ความมั่นคงทางการเมือง และเสรีภาพด้านนโยบายการเมืองและความมั่นคงตามความประสงค์

รวมถึงจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศมุสลิม 5 ประเทศ อันประกอบด้วยตุรกี กาตาร์ อินโดนีเซีย ปากีสถานและมาเลเซีย ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างชัดเจนในระยะหลังนี้ ตลอดจนการแสวงหาตลาด และการให้ความสะดวกต่อกัน การกำหนดสถานที่และตลาดเสรี ในลักษณะเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียนและ ตลาดร่วมของ สหภาพยุโร

5 ประเทศหลักดังกล่าวมีเป้าหมายและความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและจัดทำโครงการทางเศรษฐกิจร่วมกัน

เพราะประเทศดังกล่าว นี้มีทรัพยากรบุคคลมหาศาล มีประสบการณ์ทางเทคนิคชั้นสูงที่เพียงพอ รวมถึงลักษณะพิเศษอื่นๆที่มีอยู่ในประเทศเหล่านี้ เช่นการเป็นศูนย์รวมของโลกธุรกิจ เป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมระดับโลกซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกโลก กลุ่มประเทศตอนเหนือและโลกตอนใต้ ตลอดจนมีความพร้อมทางเศรษฐกิจอย่างสูง มีโครงการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จและมีวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

ซึ่งเป้าหมายระยะแรกของกลุ่มประเทศดังกล่าว ได้แก่ การจัดตั้งตลาดร่วม และการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในระดับที่สามารถสร้างโรงงาน สร้างเมือง สร้างท่าเรือและเรือใหญ่ได้

นอกจากนั้น การจัดตั้งสกุลเงินเดียว สำหรับกลุ่มประเทศมุสลิม ยังเป็นหัวข้อหลักที่คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ คณะกรรมการวิจัยด้านการเงิน จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากการที่หลายๆประเทศต้องการที่จะสลัดพ้นจากอิทธิพลการครอบงำของดอลลาร์อเมริกา

หัวข้อที่ทางเศรษฐกิจที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวดเหล่านี้ รวมถึงหัวข้ออื่นๆ จะเป็นวาระของการพิจารณาของกลุ่ม 5 ประเทศดังกล่าวและประเทศอื่นที่อาจจะเข้าร่วมภายหลัง เพื่อความสำเร็จในการจัดตั้งตลาดสำหรับโลกมุสลิมที่มีปัจจัยความสำเร็จอย่างครบถ้วนแล้ว หากมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะดำเนินการ

อ้างอิง https://www.turkpress.co/node/67035
เขียนโดย Ghazali Benmad