สมรภูมิที่ไม่น่าเป็นไปได้ : สงครามมุอ์ตะฮฺ

สงครามมุอ์ตะฮฺเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 8 (ตรงกับค.ศ.629) ที่บริเวณ “มุอ์ตะฮฺ” ในแผ่นดินชาม นี่คือ 1 ในสงครามที่หนักหน่วงที่สุดของประชาชาติอิสลามในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีรายงานบันทึกว่า ท่านคอลิด บินวะลีด ต่อสู้ในสงครามครั้งนี้จนกระทั่งดาบหักไปถึง 9 เล่ม

มันปะทุขึ้นเนื่องจากอัลหาริษ บินอุมัยรฺ ฑูตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกสังหารโดยชุเราะหฺบีล บินอัมรฺ ผู้นำแห่งฆ็อซซานซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ ท่านนบีโกรธมากและได้ออกคำสั่งจัดทัพขนาดใหญ่จำนวน 3,000 นายทันที ท่านนบีไม่เคยจัดทัพขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อนเลยนอกจากในสงครามค็อนดัก (หรือ อัลอะหฺซาบ) เท่านั้น

ท่านนบีได้แต่งตั้งให้ซัยดฺ บินหาริษะฮฺ เป็นแม่ทัพใหญ่ และสั่งเสียว่า “หากซัยดฺถูกฆ่า (แม่ทัพคน) ต่อไปคือญะอฺฟัร (บิน อบีฏอลิบ) และถัดจากนั้นคือ อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ”

เมื่อกองทัพเดินทางถึง “มะอาน” พื้นที่หนึ่งในแผ่นดินชาม ม้าเร็วก็ได้นำข่าวมารายงานว่า เฮราคลิอุสได้นำกองทัพขนาด 100,000 นายเดินทางมาถึงแล้ว และยังได้รับการสมทบกำลังอีก 100,000 นายจากเผ่าอาหรับต่าง ๆ ที่สวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันด้วย รวมจำนวนกองทัพฝ่ายโรมันทั้งสิ้น 200,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายมุสลิมมีเพียง 3,000 นายเท่านั้น (ต่างกันเกือบ 70 เท่า) ลองจินตนาการดูสิว่า เรามีจำนวนน้อยมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับพวกเขา

แล้วกองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายก็มาเจอกันที่บริเวณมุอ์ตะฮฺ กองทัพขนาดเล็กจำนวน 3,000 นาย ประจันหน้ากับกองทัพขนาดมหึมาจำนวน 200,000 นาย กองทัพที่เล็กมากนี้จะต่อสู้กับกองทหารขนาดใหญ่ของพันธมิตรโรมันได้อย่างไร หากไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

ซัยดฺ บินหาริษะอฺ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอิสลามเริ่มจู่โจมเข้าใส่ศัตรูอย่างห้าวหาญ ท่านต่อสู้กระทั่งปลายหอกของศัตรูเข้าแทงบนร่างกายของท่านเหมือนห่าฝน และเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ

ญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ ขึ้นมาบัญชาการแทน ท่านเข้าโจมตีศัตรูอย่างไม่หยุดยั้ง ท่านต่อสู้กระทั่งมือขวาขาดสะบั้น ท่านใช้มือซ้ายถือธงรบเอาไว้ กระทั่งมือข้างนั้นก็ถูกตัดขาดไปด้วย ญะอฺฟัรพยายามใช้ไหล่ทั้ง 2 ข้างพยุงธงอิสลามเอาไว้ และสุดท้ายท่านก็ถูกฆ่าตาย ท่านนบีบอกว่า อัลลอฮฺจะทรงประทานปีก 2 ข้างให้กับญะอฺฟัรในสวรรค์ เป็นของขวัญให้กับมือทั้ง 2 ข้างที่สูญเสียไปในสงครามครั้งนี้

ท่านอิบนุอุมัรรายงานว่า มีรอยแผลจากการฟันและแทงกว่า 50 แผลอยู่บนหลังของญะอฺฟัร ในอีกรายงานหนึ่งระบุประมาณ 90 แผล

เมื่อญะอฺฟัรเสียชีวิต อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ก็ได้รับไม้ต่อชูธงอิสลามขึ้นโบกสะบัด ท่านควบม้าฝ่าเข้าไปในแถวรบของศัตรู กวัดแกว่งดาบ และต่อสู้ กระทั่งกลายเป็นชะฮีด สิ้นชีวิตตามสหาย 2 ท่านที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ในช่วงเวลาที่กองทัพมุสลิมไร้แม่ทัพนำการรบนี้เอง ราชสีย์ก็ได้หยิบธงรบขึ้นโบกสะบัดอีกครั้ง เขาคือ คอลิด บินวะลีด ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมาจากฝัก แม่ทัพคนใหม่ของฝ่ายอิสลาม

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก่อนที่ข่าวคราวจากสนามรบจะมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามรบให้กับผู้คนในเมืองมะดีนะฮฺ ท่านพูดพร้อมน้ำตาว่า “ซัยดฺได้ถือธงเอาไว้ แล้วเขาก็ถูกฆ่าตาย ญะอฺฟัรรับช่วงต่อและถูกฆ่าตายด้วยเช่นกัน จากนั้นก็เป็นอิบนุเราะวาหะฮฺและเขาก็ถูกฆ่าตายตามไปด้วย แล้วดาบเล่มหนึ่งในบรรดาดาบทั้งหลายของอัลลอฮฺ (หมายถึง ท่านคอลิด บินวะลีด) ก็ได้ชูธงขึ้น และอัลลอฮฺจะทรงประทานชัยชนะให้กับพวกเขา”

ความจริงแล้ว ต่อให้มีความกล้าหาญชาญชัยแค่ไหน ความเป็นไปได้ที่จะชนะแทบเป็น 0 หรือเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ กองกำลังเพียงหยิบมือเดียวจะเอาชนะกองทัพขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าเกือบ 70 เท่าได้อย่างไรกัน แต่ในตอนนี้เองที่ท่านคอลิด บินวะลีด ได้สำแดงความสามารถในการรบของท่านออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์

ท่านคอลิดใช้กลยุทธ์การเคลื่อนทัพอย่างชำนาญ ท่านสับเปลี่ยนทหารในแนวหน้าไปไว้ด้านหลัง และเคลื่อนพลจากแนวหลังมาไว้ด้านหน้า ท่านสั่งการให้ทหารปีกซ้ายและขวาสลับตำแหน่งกัน ท่านหลอกฝ่ายศัตรูจนหลงเชื่อว่าฝ่ายมุสลิมมีกองหนุนมาเสริมทัพ ทั้งที่จริงแล้วท่านเพียงแค่สลับตำแหน่งทหารในแนวต่าง ๆ เท่านั้น ทหารโรมันที่ได้เห็นใบหน้าใหม่ ๆ ของฝ่ายมุสลิมก็ตกใจ พวกเขาแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเอง แล้วความหวาดกลัวก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในใจของพวกเขา

ในขณะที่กำลังสู้รบกันนั้น ท่านคอลิดค่อย ๆ ถอยกองทัพมาทางด้านหลังโดยยังคงรักษารูปแบบของกองทัพเอาไว้ ปรากฏว่ากองทัพโรมันไบแซนไทน์ที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ยอมไล่ล่าตามมา พวกเขากลัวว่าจะเป็นกับดักของฝ่ายมุสลิม

ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ผ่านความชาญฉลาดของคอลิด บินวะลีด ทหารมุสลิมหลายพันนายจึงปลอดภัยจากเงื้อมมือของกองทัพโรมันในสมรภูมิมุอ์ตะฮฺครั้งนี้มาได้ เมื่อพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด ปรากฏว่ากองทัพมุสลิมสูญเสียทหารไปเพียงไม่กี่คนเท่านั้น (ประมาณ 12 คน) ในขณะที่กองทัพโรมันเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 3,000 กว่าคน) อัลลอฮุอักบัร!!


อ้างอิง :
1. อัรเราะฮีกุล มัคตูม โดย เชคเศาะฟียุรเราะหฺมาน อัลมุบาร็อกฟูรีย์


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ความพยายาม ​7 ครั้ง ในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

อุมมะฮฺอิสลามได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์หลายครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยเมืองนี้จากการปฏิเสธศรัทธาและความอยุติธรรมทั้งหลาย นี่คือความพยายาม 7 ครั้งสำคัญในการพิชิตเมืองที่สำคัญนี้

1. ฮ.ศ.49 / ค.ศ.669
ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของท่านว่า ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน คือเคาะลีฟะฮฺอิสลามคนแรกที่ได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยแต่งตั้งให้ยะซีด บินมุอาวิยะฮฺ ลูกชายของท่าน เป็นผู้นำกองทัพ 300,000 นายพร้อมเรือ 300 ลำไปยังที่นั่น ความพยายามในครั้งนี้ยังไม่บรรลุผล และท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ เศาะหาบะฮฺอาวุโสคนหนึ่งก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่นด้วย

2. ฮ.ศ.54-60 / ค.ศ.674-680
ความพยายามในครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน อีกเช่นกัน กองทัพอิสลามต่อสู้อย่างต่อเนื่องนาน 6 ปี ภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะหฺมาน บินคอลิด (ลูกชายของท่านคอลิด บินอัลวะลีด) ต้องเข้าใจว่า กรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นคือศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ หากเมืองนี้ถูกพิชิต เมืองอื่นที่เหลือก็จะแตกกระจายไร้เสถียรภาพ มันจะเป็นประตูเปิดไปสู่การพิชิตเมืองอื่น ๆ อีกมากมายในแผ่นดินยุโรป แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ยังไม่บรรลุอีกเช่นกัน

3. ฮ.ศ.98 / ค.ศ.718
เคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บินอับดุลมะลิก แห่งคิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺ ได้แต่งตั้งให้น้องชายคือ มัสละมะฮฺ บินอับดุลมะลิก เป็นแม่ทัพบัญชาการทหารกว่า 200,000 นาย พร้อมเรืออีกประมาณ 5,000 ลำเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลว อีกทั้งยังทำให้คิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺเสียหายและอ่อนแอลงด้วย

Bernard lewis (นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน) กล่าวว่า “ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรอุมัยยะฮฺ งบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อการพิชิตในครั้งนี้ทำให้การคลังของรัฐเกิดความปั่นปวน”

4. ฮ.ศ.165 / ค.ศ.781
ในสมัยคิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอัลมะฮฺดีย์ได้ส่งลูกชายคือ ฮารูน อัรเราะชีด นำกองทัพ 96,000 นาย เข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ แต่ความพยายามในครั้งนี้ก็สร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาณาจักรไบแซนไทน์ จักรพรรดินีไอรีนเสนอให้ทำสัญญาสงบศึก ซึ่งทำให้ไบแซนไทน์เป็นฝ่ายเสียเปรียบเอง

5. ฮ.ศ.796 / ค.ศ.1393
ในยุคของสุลต่านบะยาซิดที่ 1 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ สุลต่านให้ความสำคัญกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลมาก ถึงกับสร้างกองทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในช่วงเวลานั้น) แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปข้างในคอนสแตนติโนเปิลได้ สุลต่านบะยาซิดที่ 1 สามารถเอาชนะกองทัพคริสเตียนที่นิโคโปลิส (ปัจจุบันคือ ประเทศบัลแกเรีย) ได้ในปี ค.ศ.1396 แต่การพิชิตก็ต้องยุติลง เมื่อท่านพ่ายแพ้ให้กับตีมูร เลงค์ ในศึกอังการ่า ในปี ค.ศ.1402 และถูกกองทัพมองโกลจับตัวไป สุดท้ายสุลต่านก็เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคมของปีต่อมา

6. ฮ.ศ.824-863 / ค.ศ.1421-1451
ภารกิจการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ริเริ่มโดยสุลต่านมุร็อดที่ 2 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ นักประวัติศาสตร์เรียกความพยายามในครั้งนี้ว่าเป็น “การปิดล้อมกรุงคอนแสตนติโนเปิลเต็มรูปแบบ ครั้งที่ 1” แต่สุดท้ายสุลต่านมุร็อดที่ 2 ก็ต้องถอนกำลังออกมา เนื่องจากเกิดกบฏขึ้นที่อะนาโตเลีย นำโดย กุจุก มุศเฏาะฟา น้องชายของสุลต่านเอง

7. ฮ.ศ.857 / ค.ศ.1453
หลังจากความพยายามและการรอคอยที่ยาวนาน สุดท้ายหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็เป็นจริง สุลต่านมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ ในฐานะผู้นำที่ดีที่สุดพร้อมกับกองทัพที่ดีที่สุดของท่าน ได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลนาน 54 วัน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม 1453 สุลต่านอัลฟาติหฺได้เคลื่อนทัพทั้งทางบกและน้ำ ขนปืนใหญ่ ทหารม้า และทหารราบ รวมกว่า 250,000 นาย ออกจากเมืองเอเดอเนไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล กระทั่งสามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ ในวันที่ 29 เมษายน 1453

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยถูกถามว่า “ 2 เมืองนี้เมืองใดจะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก กรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงโรม?” ท่านตอบว่า

‎مَدِيْنَةُهِرَقْلَ تُفْتَحٌ أَوَّلًا يَعْنِى القُسْطَنْطِيْنِيَّة
“เมืองของฮิรอกล์ (จักรพรรดิเฮราคลีอุสแห่งโรมันไบแซนไทน์) จะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล” (บันทึกโดย อะหมัด, อัดดารีมีย์ และอัลฮากิม)

และท่านได้กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทว่า

لَتُفْتَحَنَّ الْقُسْطَنْطِيْنِيَّةُ وَلَنِعْمَ الْأ مِيْرُ أَمِيرُهَاولَنِعْمَ الَجَيْشُ جَيْشُهَا
“แน่นอนคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต และผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำการพิชิตในครั้งนี้ และกองทัพที่ดีที่สุดก็คือกองทัพดังกล่าว” (บันทึกโดย อะหมัดและอัลฮากิม)


อ้างอิง :
1. ตารีค อัฏเฏาะบะรีย์ โดย อิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์
2. อัยยามุนา ลา ตุนซา โดย ตะมีม บัดรฺ
3. The First Arab Siege of Constantinople โดย Marek Jankowiak
4. The Walls of Constantinople, AD 324-1453 โดย Stephen Trunbull
5. บทความเรื่อง “การพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิ้ลจะเกิดขึ้นก่อนการพิชิตกรุงโรม” โดย อ.อาลี เสือสมิง


ที่มา.GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453

วิพากษ์หนังสือ
فتح القسطنطينية 857 هـ/1453م
(การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453)
ผู้เขียน ดร.ฟัยศ็อล อับดุลลอฮฺ อัลกันดะรีย์
สำนักพิมพ์ มักตะบะฮฺ อัลฟะลาหฺ คูเวต

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ โดย ดร.ฟัยศ็อล อัลกันดะรีย์ อาจารย์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคูเวต หน้าปกด้านบนประกอบด้วยภาพวาดส่วนหัวของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง หรือมุหัมมัด อัลฟาติหฺตั้งอยู่ด้านขวาของพยางค์แรกของชื่อหนังสือที่ว่า “ฟัตหุ” ที่แปลว่า “การพิชิต” และตามด้วยพยางค์ที่สองที่ว่า “อัลกุสฏอนฏีนียะฮฺ” ที่แปลว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ซึ่งเท่ากับเป็นการสื่อให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงเนื้อหาโดยรวมของหนังสือว่าสุลต่านมุหัมมัดที่สองคือผู้ที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างแท้จริง ส่วนด้านล่างเป็นภาพมัสยิดอะยาโซเฟียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงอิสตันบูลในปัจจุบัน อันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ เพราะสุลต่านมุหัมมัดได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศสันติภาพแก่บรรดานักบวชคริสต์และชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลทุกคน ซึ่งนับว่าเป็นการบรรยายถึงสภาพของการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้อย่างรวบรัดและดีเยี่ยม เพียงลักษณะของปกนอกผู้อ่านก็สามารถจินตนาการและเข้าถึงเนื้อหาโดยรวมได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือปกแข็ง มีขนาด 18×25 ซม. เนื้อหามีจำนวน 216 หน้า ประกอบด้วย 2 ภาคไม่รวมบทนำ
ผู้เขียนได้ชี้แจงถึงแนวทางการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า จะใช้วิธีนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความพยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของชาวมุสลิมควบคู่กับการวิจารย์ต่อความพยายามแต่ละครั้ง นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 699) จนกระทั่งความพยายามครั้งสุดท้ายที่สามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453)
เนื่อหาโดยสรุปของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายอย่างรวบรัดถึงประวัติความเป็นมาของกรุงคอนสแตนติโนเปิลว่าเดิมทีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก ก่อนที่จะถูกพิชิตลงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลจนกระทั่งปัจจุบัน และสาธยายถึงความสำคัญด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ลำบากยิ่งแก่การบุกโจมตี จนกลายเป็นที่หมายปองของบรรดามหาอำนาจและนักล่าอาณานิคม ถึงขนาดนาโปเลียนกล่าวย้ำว่า “คอนสแตนติโนเปิลเปรียบเสมือนกุญแจโลก ผู้ใดที่สามารถครอบครองมัน เขาก็จะสามารถครอบครองโลกทั้งผอง”

ภาคแรก ผู้เขียนได้แบ่งความพยายามในการพิชิตดังกล่าวออกเป็นสามช่วง คือ
ส่วนแรก เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอะมะวียะฮฺ ซึ่งได้มีการปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 668) ภายใต้การนำทัพของยะซีด บิน มุอาวิยะฮฺ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน ผู้เป็นบิดา มีเศาะหาบะฮฺหลายท่านที่ทำสงครามในครั้งนี้ อาทิ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบร หุเสน บิน อาลี และอบูอัยยูบ อัล-อันศอรีย์ ซึ่งต่อมาท่านได้เสียชีวิตลงที่นี่
การปิดล้อมดังกล่าวได้ยืดเยื้อกินเวลาถึงแปดปีเต็ม จนเป็นที่รู้จักกันในนามของสงครามแปดปี จนสุดท้ายกองทัพมุสลิมจำเป็นต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะหลังจากที่ต้องสูญเสียกำลังพลร่วม 30,000 คน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิกปี ฮ.ศ. 99 (ค.ศ. 717) ภายใต้การนำทัพของมัสละมะฮฺ บิน อับดุลมะลิก โดยได้กรีฑาทัพด้วยจำนวนพลมากกว่า 120,000 นาย แต่หลังจากที่กองทัพมุสลิมได้ปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลเกือบครบหนึ่งปี สุดท้ายกองทัพมุสลิมก็ต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะ เนื่องจากการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของเคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก และมีคำสั่งจากเคาะลีฟะฮฺคนใหม่ (อุมัร บิน อับดุลอะซีซ) ให้ถอนทัพกลับ หลังจากที่พบว่ากองทัพมุสลิมต้องประสบกับโรคระบาดและได้สูญเสียกำลังพลจำนวนมาก

ผู้เขียนได้สรุปถึงสาเหตุและปัญหาที่ทำให้กองทัพมุสลิมที่นำโดยมัสละมะฮฺต้องพ่ายแพ้และถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะว่า
1. กำแพงที่หนาแน่นและแข็งแกร่งที่ปิดล้อมทุกด้านของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่ ทำให้กองทัพมุสลิมไม่สามารถที่จะทลวงเข้าไปได้
2. สภาพที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่รายล้อมด้วยทะเลทั้งสามด้านทำให้ยากต่อการโจมตี
3. อิทธิพลทางทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการทางการทหาร โดยเฉพาะทางทะเล เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมแรงจนไม่สามารถบังคับเรือให้แล่นตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกชุกจนกองทัพไม่สามารถรุกลั้มเข้าไปโจมตีเป้าหมายได้
4. กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากประเทศในแถบยุโรป เช่น บัลแกเรีย ทำให้กองทัพของมัสละมะฮฺต้องสังเวยไปจำนวน 22,000 นาย
5. การเสียชีวิตของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก ทำให้กองทัพเสียขวัญและไม่มีกำลังใจที่จะทำสงครามอีกต่อไป

ส่วนที่สอง เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 165 (ค.ศ. 781) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดี ภายใต้การนำทัพของบุตรชายฮารูน อัรเราะชีด และการปิดล้อมสิ้นสุดด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมจ่ายเงินจำนวน 70,000 หรือ 90,000 ดีนารต่อปีเพื่อแลกกับสันติภาพ
ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 190 (ค.ศ. 805) เป็นการยกทัพของฮารูน อัรเราะชีด ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และได้ทำการปิดล้อมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนสุดท้ายผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมเจรจาและทำหนังสัญญาสงบศึกด้วยการจ่ายส่วยเป็นจำนวนเงิน 50,000 ดีนาร

และส่วนที่สาม เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพเพื่อพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสี่ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 798 (ค.ศ. 1396) ในสมัยการปกครองของสุลต่านบายะซีดที่หนึ่ง แต่กองทัพอุษมานียะฮฺปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ไม่นานก็ต้องถอยทัพกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับกองทัพครูเสดที่ยกทัพมาเพื่อช่วยเหลือกรุงคอนสแตนติโนเปิล
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 825 (ค.ศ. 1422) ในสมัยการปกครองของสุลต่านมุรอดที่สอง ชนวนของเหตุการณ์เกิดจากการที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเขียนหนังสือถึงสุลต่านมุรอดขอร้องไม่ให้โจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่สุลต่านปฏิเสธ ดังนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงมุสตอฟาผู้เป็นอาของสุลต่าน และมอบกองทหารพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่งเพื่อให้ช่วงชิงบัลลังก์มาจากสุลต่านในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเสนอชื่อให้เป็นสุลต่านแทนมุรอด สุดท้ายสุลต่านมุรอดก็สามารถกำราบมุสตอฟาลงด้วยการกรีฑาทัพจำนวน 200,000 นาย
และครั้งที่สามเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง ซึ่งสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453) โดยผู้เขียนได้เน้นรายละเอียดของความพยายามในครั้งสุดท้ายนี้ที่นำทัพโดยสุลต่านมุหัมมัดที่สอง เพื่อให้ได้ประจักษ์ถึงสาเหตุที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ หลังจากชาวมุสลิมได้ล้มเหลวมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง
ก่อนที่จะก้าวไปยังภาคที่สอง ผู้เขียนได้ตบท้ายภาคแรกด้วยภาคผนวกที่ประกอบด้วย 6 ภาคผนวก ทั้งหมดเป็นสารที่สุลต่านมุหัมมัด อัล-ฟาติหฺส่งไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และสารตอบกลับเพื่อแสดงความยินดีกับสุลต่านมุหัมมัดจากเจ้าเมืองต่างๆ อันประกอบด้วย เจ้าเมืองแห่งอียิปต์ เจ้าเมืองแห่งมักกะฮฺ และเจ้าเมืองแห่งอิหร่าน

ส่วนภาคที่สอง ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาที่แปลมาจากบันทึกประจำวันของแพทย์ผ่าตัดชาวอิตาลีท่านหนึ่งมีชื่อว่า นิโคโล บัรบะโร (Nicolo Barbaro) ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในสมัยที่สุลต่านมุหัมมัดที่สองกำลังปิดล้อมและพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่ง ซึ่งได้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์และอยู่ในเหตุการณ์จริง และส่วนหนึ่งที่นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งของบันทึกบัรบาโรคือ รายชื่อต่างๆของผู้ที่ร่วมทำสงครามเพื่อปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิล และรายชื่อของเรือ พร้อมกับกัปตันเรือ
จุดเด่นที่เพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้ ประการหนึ่งคือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ ผู้เขียนมักจะระบุเสมอว่าตรงกับปีใดของคริสต์ศักราช เช่นเดียวกับรายชื่อของเมืองต่างๆ และบุคคลที่ถูกกล่าวถึงผู้เขียนจะกำกับด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ที่สำคัญ ผู้เขียนยังอธิบายคำศัพท์บางคำไว้ที่เชิงอรรถด้วย รวมถึงรายละเอียดโดยย่อของบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึง ว่ามีชื่อเต็มว่าอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ เสียชีวิตปีใด และมีตำแหน่งอะไรเป็นต้น ซึ่งน้อยมากที่เราจะพบหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามที่ได้รับการกำกับอย่างนี้

ส่วนจุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มราศีและความขลังของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนจะสอดแทรกคำอธิบายด้วยภาพประกอบต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ เช่นแผนผังที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แผนผังยุทธวิธีการโจมตีและที่ตั้งของกองทหาร เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ และเพิ่มความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยม
และจุดเด่นที่ผู้วิพากษ์คิดว่าเป็นหน้าตาและมีความสำคัญที่สุดสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์คือการวิพากษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนทำได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มา หรือการจรรโลงข้อมูลเข้าด้วยกันในกรณีที่พบการบันทึกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งเกี่ยวกับจำนวนของกองทัพมุสลิมที่นำทัพโดยมัสละมะฮฺว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่ามีจำนวน 120,000 นาย ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า มีจำนวนถึง 180,000 นาย” แล้วผู้เขียนกล่าวสรุปว่า “ตามที่มีบันทึกในแหล่งอ้างอิงภาษาอาหรับ (หมายถึงหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม) เราสามารถกล่าวได้ว่า จำนวนกองทัพมุสลิมมีมากกว่า 120,000 นาย” เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งอ้างอิง ก็ต้องขอชมเชยผู้เขียนที่ได้ผสมผสานระหว่างแหล่งอ้างอิงที่มาจากหนังสือภาษาอาหรับที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมกับแหล่งอ้างอิงภาษาอื่นๆที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับแล้ว ทำให้เพิ่มคุณค่าและน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากยิ่งขึ้น

จุดเดียวที่ผู้วิพากษ์เห็นว่า เป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ การสร้างเชิงอรรถของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเลือกทำเชิงอรรถในส่วนท้ายหลังจากที่จบภาคไปแล้ว ทำให้เกิดความยุ่งยากและรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ ซึ่งหนังสือทั่วไปมักจะเขียนเชิงอรรถไว้ด้านล่างของของแต่ละหน้าทันที ทำให้สะดวกต่อการติดตาม
ในการปิดท้ายของการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์ขอกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่งที่เรืองด้วยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่หลากหลาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

วิพากษ์โดย Ibn Idris Al Yusof

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 5 ตอนจบ)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

******

● นีโออตโตมัน ออตโตมันใหม่ : ตุรกีจากรัฐกามาลิสต์ สู่การค้นหายุทธศาสตร์เชิงลึก

หลังจากหยุดข้องเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นระยะเวลายาวนาน อันเป็นผลมาจากนโยบายกามาลิสต์ ตุรกีได้ค่อยๆกลับมาเป็นนักแสดงหลักระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรีตุรกุต โอซาล ระหว่าง 1983-1989 และมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่พรรคยุติธรรมและพัฒนา -พรรคเอเค- เข้ามามีอำนาจ ช่วงต้นศตวรรษนี้

ในบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากพรรค AK เข้ารับตำแหน่ง เราสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นโยบายต่างประเทศของตุรกีมีปัจจัยหลัก 4 ประการ 2 ประการเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 และอีก 2 ปัจจัย เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2 นี้

ปัจจัยที่ไม่มีข้อกังขาปัจจัยแรกคือ “วิสัยทัศน์นีโอออตโตมัน” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านนโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุคพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา
ที่มองว่า ตะวันออกกลางเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” ตามคำพูดของอะหมัด ดาวูดอูฆโล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเดียวกัน [23]

ปัจจัยที่สองคือ ความท้าทายของเคิร์ดที่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกภาพทางภูมิศาสตร์ของตุรกี ตามหลักการก่อตั้งประเทศของกามาล อะตาเติร์ก แม้ว่าหลักการนี้จะขัดแย้งกับค่านิยมปรองดองของพรรคเอเคว่าด้วยหลักพหุเชื้อชาติของตุรกี สิ่งนี้บังคับให้นักการเมืองตุรกีปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลระหว่างแนวโน้มและสัญชาตญาณกามาลิสต์กับนโยบายนีโอออตโตมัน [24]

2 ปัจจัยสุดท้ายตามลำดับคือ การแพร่หลายของอาหรับสปริงและการค้นพบปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมหาศาลในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

หลายปีที่ผ่านมา ในระหว่างการพบปะกับ mukhtars (ผู้ปกครองท้องถิ่น) แอร์โดฆานพูดถึงสนธิสัญญาโลซานที่ 2 ในปี 1923 ว่า เป็นบาดแผลลึกในความทรงจำของประวัติศาสตร์ตุรกี และลดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของตุรกี โดยบังคับให้ตุรกีสละสิทธิ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด แอร์โดฆานกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“มีคนต้องการโน้มน้าวเราว่า สนธิสัญญาโลซานเป็นชัยชนะสำหรับตุรกีและชาวเติร์ก โดยที่พวกเขานำสนธิสัญญา Sèvres ปี 1920 มาขู่เข็ญเรา เพื่อให้เรายอมรับสนธิสัญญาโลซาน ปี 1923 พวกเขานำความตายมาขู่ให้เรายอมรับความพิการตลอดชีวิต”

จนถึงวันนี้ ตุรกียังไม่ลืมว่าสนธิสัญญาโลซานน์เป็นบทลงโทษในฐานะฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฉกเช่นสนธิสัญญาแวร์ซายที่ใช้บังคับเยอรมนีหลังสงครามเดียวกัน และสัญญาดังกล่าวได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมันอย่างยับเยิน ตามคำเตือนของ จอร์จ กินซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ในหนังสือ “ผลทางเศรษฐกิจต่อสันติภาพ”

ภายใต้แรงกดดันของความขัดแย้งเรื่องก๊าซเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างตุรกีไซปรัสและกรีซ และหลังจากข้อตกลงที่จะกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติลิเบียและตุรกี ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับสนธิสัญญาโลซาน และหลังจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในซีเรีย อิรักและลิเบีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำถามเดียวกันกำลังถูกถาม ตุรกีกำลังดำเนินการในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยหันหลังให้กับข้อ จำกัดที่กำหนดผ่านสนธิสัญญาโลซานหรือไม่ ?

คำถามนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา อะไรคือราคาที่ตุรกีและตะวันออกกลางจะต้องจ่าย ถ้าตุรกีทอดทิ้งสนธิสัญญาโลซานในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 2024 ตามที่มีการเผยแพร่กันมาเป็นเวลาหลายปีในแวดวงสื่อและชาวตุรกี ตั้งแต่แอร์โดฆานประณามสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ?

ทั้งนี้ การบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายของเยอรมนีนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 การละทิ้งสนธิสัญญาโลซานของตุรกี จะเป็นการโหมโรงสู่สงครามระดับภูมิภาคในตะวันออกกลางหรือไม่ ? สงครามที่อาจขยายไปถึงมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังค้นหาส่วนแบ่งในเค้กทรัพยากรในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งการถอนตัวออกอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้สร้างสุญญากาศทางอำนาจ ล่อตาล่อใจให้หลายๆฝ่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาค้นหาที่ทางของตนในภูมิภาคนี้

(จบตอนที่ 5 ตอนจบ )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127
อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 4)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า


ในบริบทนี้ ไม่เพียงแต่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้นที่กำหนดนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจต่อภูมิภาค
นี้ แต่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อความเป็นปึกแผ่นทางธรรมชาติที่รวบรวมชาวมุสลิมทั้งหมดจากจีน อินโดนีเซีย ตะวันออกไกล ถึงแอฟริกาตะวันตกให้เป็นหนึ่งเดียว

ฝ่ายนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับ “หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลาม” มากกว่า ความเป็น “อาหรับ” “อิหร่าน” หรือ “ตุรกี”

ดังนั้น ลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส จึงพยายามพัฒนาวิชาความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับภูมิภาคภายใต้กรอบนโยบาย”ทำอิสลามให้เป็นลูกไก่ในกำมือ” ในตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การใช้การกดขี่และการบิดเบือนปลอมแปลงอิสลามให้เป็นศาสนาที่มีหน้าที่แคบๆ ในการรับใช้รัฐชาติหรือชาติพันธุ์เท่านั้น [17]

หลังจากการถอนตัวของอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสจากภูมิภาคตะวันออกกลาง สภาพสูญญากาศทางอำนาจสร้างความกังวลให้แก่ฝ่ายการเมืองและยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกลัวต่อสหภาพโซเวียต และกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคจะตกเป็นเป้าหมายสำหรับความทะเยอทะยานของรัสเซียในการแสวงหาน้ำอุ่น ตามทัศนะของอเมริกาการที่อังกฤษสันนิบาตจัดตั้งอาหรับในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 ยังถือว่าไม่เพียงพอ และนั่นเป็นเหตุผลว่าในปี 1950 ทำไมอเมริกันจึงบีบให้ประเทศอาหรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศในระดับภูมิภาคที่จงรักภักดีต่อตะวันตก ดังที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดตั้งสนธิสัญญาแบกแดด ในปี 1955 ประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน ตุรกี ปากีสถาน และอังกฤษ [18]

ความกังวลของอเมริกันบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่มั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับอิหร่านและตุรกี เนื่องจากมีความชัดเจนของตัวตนทางการเมืองในทั้งสองประเทศ แต่เป็นคำที่ใช้ได้กับโลกอาหรับที่ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นกับประเทศตะวันตก แต่ก็ไร้ศักดิ์ศรีและการเคารพให้เกียรติ เฉกเช่นที่ตุรกีได้รับจากตะวันตก ในฐานะสมาชิกหลักในโครงสร้างทางทหารของนาโต้ [19]

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตุรกีและโลกอาหรับในระดับการเมืองและการทหาร เราพิจารณา 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ตุรกีได้ผ่านการทดสอบการแบ่งประเทศ ตุรกีประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ หลังจากที่เติร์กทำให้สนธิสัญญา Sever ล้มเหลว ซึ่งแตกต่างจากโลกอาหรับ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นหลายประเทศผ่านสนธิสัญญา Sykes-Picot

ประการที่สองคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอิสรภาพตุรกีซึ่ง Mustafa Kemal และกองทัพตุรกี ได้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพันธมิตร อันประกอบด้วยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษและกรีซ ในขณะที่กองทัพของประเทศอาหรับที่สำคัญที่สุดรวมกันในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสม์ ในช่วงสงครามปี 1948 และระหว่างสงครามหกวัน ในปี 1967 ที่อิสราเอลสามารถเอาชนะประเทศอาหรับทั้งสาม คือ อียิปต์ ซีเรียและจอร์แดนและครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 3 ได้

ความอ่อนแอทางการเมืองและการทหารที่ชัดเจน เห็นได้จากการที่โครงสร้างของภูมิภาคนี้ยังคงสูญหายไปอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถจัดตั้งสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นผลสำเร็จและเป็นจริงจนถึงวันนี้ [20]

● ค้นหารัฐศูนย์กลางของโลกอิสลาม ตามความเห็นของผู้เขียน “การปะทะทางอารยธรรม”

ในหนังสือดัง “The Clash of Civilizations -การปะทะทางอารยธรรม : การสร้างระเบียบสากล” ซามูเอล เฮนติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นำเสนอวิสัยทัศน์ของอนาคตทางภูมิศาสตร์ของโลกว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจะมีบทบาทสำคัญในรูปแบบกลุ่มประเทศนานาชาติใหม่ในศตวรรษที่ 21

เฮนติงตันเห็นว่า อารยธรรมที่สำคัญ วัฒนธรรมหรือศาสนาหลัก ล้วนมีรัฐหลัก เช่น จีนในอารยธรรม “ขงจื้อ” ที่ทอดยาวจาก ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

รัสเซียในอารยธรรมออร์โธดอกซ์ ตลอดไปจนเบลารุส กรีซ ยูเครน บัลแกเรีย เซอร์เบีย และไซปรัส

“ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ – คาทอลิกตะวันตก” มีอเมริกาเป็นรัฐหลัก

ในขณะที่โลกอิสลามขาดรัฐที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งอย่างที่ฮันติงตันกล่าวว่าเป็นความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ตามทัศนะของเฮนติงตัน


เฮนติงตัน นำเสนอชาติแกนนำ 6 ชาติ ที่พอมีโอกาสเป็น “ชาติผู้นำโลกมุสลิม” ได้แก่ อียิปต์ เนื่องจากจำนวนประชากร และความเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลางและมีอัลอัซฮัร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีประชากรมากที่สุด รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และอิหร่าน และตุรกี [21]

เฮนติงตันประเมินว่า อินโดนีเซียไม่เหมาะสมที่จะเป็นประเทศผู้นำตั้งอยู่ชายแดนโลกมุสลิมและห่างไกลจากศูนย์กลางในโลกอาหรับมากเกินไป ส่วนอียิปต์ไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจ ส่วนซาอุดิอาระเบียก็เพราะประชากรน้อยเกินไป อิหร่านก็มีความต่างทางแนวคิดทางศาสนากับประชาคมมุสลมส่วนใหญ่ ปากีสถานมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมืองไม่มั่นคง

สำหรับตุรกี เฮนติงตันประเมินว่าไม่พร้อมเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบอบเซคคิวลาร์ของอะตาเติร์กมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดโอกาสให้ตุรกีแสดงบทบาทนำโลกมุสลิมได้ ตามข้อเท็จจริงในปี 1996 ที่เขียนหนังสือนี้

ถึงกระนั้น เมื่อเอ่ยถึงตุรกี เทียบกับชาติต่างๆที่กล่าวมา เฮนติงตันกล่าวว่า “ตุรกีเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ ประชากร ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม จารีตทางทหาร และศักยภาพ ที่พร้อมจะเป็นแกนนำโลกมุสลิม” [ 22 ]

เฮนติงตันตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้น หากตุรกีหวนมานิยามตนเองใหม่ สักวันหนึ่งตุรกีเป็นไปได้ที่ตุรกีพร้อมที่จะทิ้งบทบาทที่ไร้อนาคตและอัปยศอดสู จากการพยายามร้องขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมตะวันตก และเริ่มบทบาทในประวัติศาสตร์ของตน ที่มีอิทธิพลมากกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า ในฐานะแกนนำอิสลามและแกนนำในการต่อต้านตะวันตก

เฮนติงตันวางเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ที่จะทำให้ตุรกีทำเช่นนั้นได้ ประการแรกคือการยกเลิกมรดกของอะตาเติร์กอย่างเบ็ดเสร็จดังที่รัสเซียทิ้งมรดกของเลนิน และประการที่สองคือการหาผู้นำระดับเดียวกับอะตาเติร์ก ที่รวมศาสนาและความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อสร้างตุรกีเป็นประเทศศูนย์กลางของโลกมุสลิม

(จบตอนที่ 4 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 3)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

ในบริบทนี้ สาธารณรัฐตุรกีจึงเกิดขึ้นในดินแดนที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิออตโตมันหลังจากพ่ายแพ้ในสงคราม ในฐานะรัฐชาติที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนประชากรและบังคับอพยพชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มุสลิมออกไป อัตลักษณ์ภายนอกของรัฐตุรกีในฐานะรัฐอิสลามนั้นแตกต่างอย่างมากกับอัตลักษณ์ภายในใหม่ ที่มุสตาฟา กามาล อะตาเติร์กต้องการให้ละทิ้งอัตลักษณ์ของอิสลาม ละทิ้งระบอบคอลีฟะฮ์ และบทบาทของศาสนาในชีวิตสาธารณะ ตลอดจนละทิ้งความขัดแย้งกับกองกำลังของระบอบอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันในปี 1924 และเนรเทศสุลต่านออตโตมันและครอบครัวออกจากจากดินแดนตุรกี ทำให้เกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศใหม่ในตะวันออกกลางและสูญญากาศสำหรับความถูกต้องชอบธรรม อันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีทางเลือกบนซากปรักหักพังของออตโตมัน ดังที่ Ahmet Davutoglu ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขา [14]

ในบริบทนี้ มีการกล่าวถึง “ความเป็นไปไม่ได้” ในหลายโอกาส เริ่มต้นด้วยการกล่าวของ George Qurm เกี่ยวกับ “โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนคำกล่าวของวาอิล หัลลาค ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่ American Columbia University, เกี่ยวกับ “รัฐที่เป็นไปไม่ได้” อันหมายความว่า รัฐอิสลามที่มีอำนาจในภูมิภาคนี้ในประวัติศาสตร์ ได้กลายเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความย้อนแย้งกับธรรมชาติของความทันสมัยทางการเมือง ทางกฎหมายและทางสังคมในปัจจุบัน จนเกิดวิกฤติทางศีลธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง ด้วยเหตุนี้มีข้อมูลมากมายยืนยันถึงความเป็นไม่ได้ในระดับต่างๆ มีการกล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ทุกครั้งเมื่อมีการนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อของสังคม เพื่อที่จะเปลี่ยนความเป็นจริงทางการเมืองที่เป็นเรื่องยากและสลับซับซ้อน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสนธิสัญญาโลซานในภูมิภาคนี้ ผ่านการขับเคลื่อนไปสู่การเป็น “เวสต์ฟาเลีย” ในตะวันออกกลาง

● จุดอ่อนของโลก : สูญญากาศอำนาจในตะวันออกกลาง

หลังจากลงนามในสนธิสัญญาโลซานที่ 2 แล้ว ตุรกีใหม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์การป้องกันโดยอาศัยแนวคิดเรื่องความมั่นคงชายแดนสำหรับรัฐชาติที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แคบๆ และมีความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของค่ายตะวันตกที่เจริญแล้ว ไม่ใช่ผู้ที่จะมาแทนที่หรือมาคัดค้าน ในบริบทนี้สาธารณรัฐตุรกีได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ภายใต้ร่มเงาด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ต้องการรับมือภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต ดังนั้นตุรกีจึงได้ผันตัวเองออกจากพื้นที่สำคัญดั้งเดิม และสูญเสียอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มประชาคมมุสลิมที่กว้างไกล จากนั้นก็สูญเสียทางการเงินและภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจของตุรกีก็เพิ่มขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษที่ 7 เนื่องจากความเหินห่างและถูกกีดกันจากการอาศัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอาหรับ [15]

การแยกระหว่างตุรกีและโลกอาหรับ ได้ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติในการกำหนดเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลกนับสิบล้านคน

หลังจากการแยกตัวระหว่างโลกตุรกี-ที่ทอดยาวมาจากตุรกิสถานในจีน ผ่านทางเหนือของอนุทวีปอินเดียในภาคตะวันออกตลอดเอเชียกลางจนถึงอนาโตเลีย บอลข่าน และคอเคซัส- กับโลกอาหรับ ทำให้การจำกัดความภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีพรมแดนชัดเจน และการอธิยายอัตลักษณ์ทางมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมือง ทำได้ยาก เพราะมีหมอกที่หนาจัด เว้นแต่จะต้องกลับคืนสู่การอฑิบายคำจำกัดความของคำว่า “โลกอิสลาม”จึงจะสามารถเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นในภูมิภาค ที่เอกสารของนักล่าเมืองขึ้นชาวยุโรปเรียกว่า”ตะวันออกใกล้” หรือ”ตะวันออกกลาง” ตามคำนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในยุคของการบริหารของบุชผู้ลูก

การแยกจากกันระหว่างโลกตุรกีและโลกอาหรับนี้ ได้สร้างวิกฤตในการอธิบายเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้คนหลายสิบล้านคนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลก ที่การยอมรับแนวคิดของรัฐชาติจะกีดกันพวกเขามิให้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ถูกกดทับในอดีตโดยลัทธิล่าอาณานิคม และระบอบเผด็จการที่มีอำนาจมากที่สุดในภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน

ศาสนาอิสลามที่นี่เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ของโลก ซึ่งศาสนาในภูมิภาคนี้มีสมรรถภาพสูงยิ่งในโลกในการก่อตัวของสังคมวิทยาทางการเมือง ในลักษณะที่ศาสนามีความโดดเด่นในด้านการมีอิทธิพลเหนือองค์ประกอบอื่น ๆ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมภูมิศาสตร์และอารยธรรมของภูมิภาคนี้ในอดีต จึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับศาสนา นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ Fernan Broadwell ในหนังสือ “กฎแห่งอารยธรรม” ยอมรับคำว่า “อิสลาม” และ “โลกอิสลาม” ตลอดจนการถือว่าศาสนาเป็นพื้นฐานในการอ้างอิงถึงเอกลักษณ์ของสังคมในภูมิภาคนี้ ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ที่เขาเคยใช้ในการอธิบายสังคมอื่น ๆ [16]

( จบตอน 3 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 2)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

เดวิด ฟรอมกิ้น David Fromkin กล่าวว่า ยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตระหนักถึงการมีอยู่และความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในไม่ช้าผู้นำพันธมิตรก็ได้เริ่มวางแผนที่จะรวมประเทศในตะวันออกกลางเข้ากับประเทศของตน และได้ตระหนักว่าอำนาจของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองในตะวันออกกลาง พวกเขาจึงสร้างคู่แข่งด้านความภักดี (เชื้อชาติ) เพื่อมาทดแทนสถานภาพดังกล่าวของศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตามจาก เดวิด ฟรอมกิ้น เห็นว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของนักการเมืองยุโรปเหล่านี้มีน้อยอย่างยิ่ง เนื่องจากลักษณะเฉพาะของภูมิภาค – หลังจากล่มสลายของออตโตมันอันเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางศาสนาในประวัติศาสตร์ – คือ ไม่มีความรู้สึกถึงความชอบธรรม ไม่มีความศรัทธาหนึ่งเดียวที่นักการเมืองทุกคนมีส่วนร่วม และไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนของเกมส์ทางการเมือง [8]

เหตุผลหลักที่ศาสนาอิสลามมีจุดเด่นในบริบทนี้ ในฐานะปัจจัยสำคัญร่วมกันของอัตลักษณ์ผู้คนและภูมิภาค ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญตะวันตกในกิจการของโลกอิสลาม ได้แก่ อิทธิพลของศาสนาอิสลามต่ออำนาจรัฐและปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ชนิดพิเศษในศาสนาอิสลาม ระหว่างศาสนากับการเมือง ความศรัทธาและอำนาจ ชนิดที่ไม่มีในศาสนาอื่นนอกศาสนาอิสลาม ดังที่เบอร์นาร์ด เลวิส นักบูรพาคดีคนดัง ได้กล่าวไว้ ว่าชาวมุสลิมยังคงมีความตระหนักอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นประชาคมมุสลิม (ที่เหนือกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์) แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในมิติทางการเมือง ดังที่ Claude Kahn นักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ [9]


ในบริบทนี้ อังเดร มิเกล André Miquel หนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในการศึกษาอาหรับและอิสลาม นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่แบ่งแยกไม่ได้ และไม่สามารถแยกความเป็นคำสอนทางศาสนา ออกจากการใช้ชีวิตในสังคม เนื่องจากในสายตาของชาวมุสลิมไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชีวิตประจำวันกับจิตวิญญาณ มิเคลเชื่อว่าปัจจัยทางวัสดุและประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อศาสนาอิสลามน้อยกว่าและตื้นกว่า เมื่อเทียบกับสังคมอื่น และศาสนาอิสลามในระดับวัฒนธรรม เป็นป้อมปราการที่มีอานุภาพอย่างมากในการเผชิญกับการคุกคามจากวัฒนธรรมต่างประเทศ และจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ภายใต้รัฐระบบของสังคม สถานที่และเวลาที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการชี้ชัดถึงหลักการที่มีความเสถียร อันทำให้สามารถกำหนดอัตลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักได้เสมอ [10]

● สนธิสัญญาโลซานน์นำไปสู่การสร้างวิกฤตการณ์เรื้อรังในความชอบธรรมของรัฐใหม่ การสังหารหมู่ และการบังคับให้ย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์

สนธิสัญญาโลซานก็เหมือนสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียในศตวรรษที่ 17 ที่จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในตะวันออกกลาง ตลอดจนกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับอาณาจักรในตุรกีและในโลกอาหรับ ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐคอลีฟะฮ์ที่สิ้นลมหายใจสุดท้ายในตะวันออกกลาง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐคอลีฟะฮ์ยังเป็นผู้เล่นหลักของความขัดแย้งในตะวันออกกลางปัจจุบัน และเป็นเป้าหมายของการต่อต้านในแต่ละปีเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในถนนของกรุงไคโร ชนบทของอเลปโป ดามัสกัส ตรอกซอกซอยเบรุต และริมฝั่งแม่น้ำไทกริส ยูเฟรติสและแม่น้ำจอร์แดน ที่สายตาของตะวันตกไม่ได้คาดคิดไปไกลถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยปัญหาเพื่อวางมาตรการแก้ไข [11]

ตรงกันข้ามกับรัฐชาติฆราวาส ที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลียน” ซึ่งไม่ได้มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ของพลเมือง โดยที่สนธิสัญญาดังกล่าวได้จัดระเบียบอำนาจปกครอง และความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรป เสนอทางออกสุดท้ายที่เป็นไปได้จริงในการรับมือกับปัญหาสงครามศาสนาและนิกาย ระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์และคาทอลิกที่คุกคามอนาคตของสังคมคริสเตียน

สนธิสัญญาโลซานซึ่งถูกบังคับใช้ในดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันอันมีหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ – เป็นตัวแทนของโครงสร้างทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับสังคมยุโรปที่ร้าวฉานเพราะสงครามทางศาสนา – อันจะสร้างวิกฤตเรื้อรังในด้านความชอบธรรม การสังหารหมู่ การบังคับย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนในการแลกเปลี่ยนประชากรจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นความวิตกกังวลโดยรวมทั่วไป ตลอดจนการต่อสู้อย่างถาวรเพื่อหาอัตลักษณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความหลากหลายในทางเชื้อชาติและศาสนา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ คนๆหนึ่งจะรู้สึกว่าอยู่ในดินแดนของตัวเอง ในเวลาเกียวกันเขาเป็นทั้งยิวและอาหรับ เพียงเพราะเขาพูดภาษาอาหรับ หรือเป็นทั้งคริสเตียนและออตโตมัน ในเวลาเดียวกัน เพราะเขาทั้งพูดภาษาอาหรับ กรีกหรือตุรกี [12]

● ผลลัพธ์หลักของข้อตกลงโลซานน์คือการแบ่งจักรวรรดิออตโตมันออกเป็น 2 ส่วนหลัก ตามภาษาหลัก : ภูมิภาคตุรกีทางเหนือและภูมิภาคอาหรับทางใต้

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกี ที่ขบวนการชาตินิยมที่แข็งแกร่งได้ก่อตัวขึ้น และได้หันมาร่วมเชิดชูมุสตาฟาเคมาล อาตาเติร์ก

ภูมิภาคอาหรับที่อ่อนแอ ถูกแบ่งออกเป็นรัฐและเขตปกครองตนเอง ตามที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและตัวแทนท้องถิ่นของพวกเขาเสนอ

ด้วยวิธีนี้ อาณาจักรออตโตมันที่มีอิทธิพลควบคุมโครงสร้างทางการเมืองของตะวันออกกลางเกือบสี่ร้อยปี จึงได้หายไปจากแผนที่โลกดังที่ แมรี่ วิลสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้ [13]

( จบตอน 2 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 1)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง ความขัดแย้งทางความเชื่อและทางชาติพันธุ์ สงครามตัวแทนที่บีบบังคับให้คนย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมากมายมหาศาล และการพลัดถิ่นของผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยหลายสิบล้านคน พื้นที่บ่อเกิดการแบ่งแยกดินแดนและการก่อจลาจลในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่เท่ากับประเทศเช่นอังกฤษ ที่เกิดขึ้นในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือและอิรักตะวันตก

รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ระเบิด การระเบิดพลีชีพ ที่ทำให้คนตายหลักสิบและหลักร้อยทุก ๆ สัปดาห์ และบางครั้งทุกวัน

การเดินขบวนประท้วง การวางเพลิงก่อความไม่สงบและการเผายางที่มีควันดำเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมท้องฟ้าของกรุงแบกแดดและเบรุต

นี่คือความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ หลังจาก 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาและการตั้งถิ่นฐาน ที่นำไปสู่สนธิสัญญาโลซานน์ ครั้งที่ 2 ในปี 1923 ซึ่งรวมถึงข้อตกลง เซค-ปีโกต์ (Sykes-Picot) ระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ในการกำหนดพรมแดนทางการเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ที่เรารู้ในวันนี้

วันนี้ใกล้ครบรอบ 100 ปี ของสนธิสัญญาโลซาน ครั้งที่ 2 ซึ่งได้ทำลายจักรวรรดิออตโตมัน ในวันนี้องค์ประกอบของภูมิภาคตะวันออกกลางได้พังพินาศ ตะวันออกกลางได้กลับคืนสู่สภาพคล้ายกับช่วงสนธิสัญญาโลซานน์ ในขณะที่ตุรกีได้กลับคืนสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่ต้องถอนตัวออกไปภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาโลซาน พร้อมด้วยกองกำลังทหารในสนามรบ ผ่านทางการปฏิบัติการทางทหารหรือข้อตกลงว่าด้วยการใช้กำลังทหาร ดังที่กระทำในลิเบียเมื่อเร็ว ๆ นี้ตามข้อตกลงกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติในตริโปลี ที่นำโดยฟายิซ สัรรอจ

และก่อนหน้านั้นในซีเรียผ่านปฏิบัติการ “โล่ห์ยูเฟรติส” ในปี 2560 และ “กิ่งมะกอก” ในปี 2561 และ “ต้นน้ำสันติภาพ” ในปี 2562 ตามด้วยปฏิบัติการทางทหารในอิดลิบปัจจุบัน ตลอดจนปฏิบัติการก่อนหน้านี้ในปี 2015 ในพื้นที่บะชีเกาะฮ์ทางเหนือของโมซุล ในอิรัก

ความขัดแย้ง สงครามกลางเมืองและระดับภูมิภาค การลุกฮือและการปฏิวัติ อันนำการแทรกแซงต่างๆ ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สะท้อนถึงความเปราะบางและความตึงเครียดของโครงสร้างในตะวันออกกลาง และแสดงให้เห็นถึงสูญญากาศเรื้อรังในเรื่องอำนาจ และการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่แข็งแกร่งที่สามารถปกป้องโครงสร้างจากการหลุดกร่อน

บทความนี้จะพิจารณาภูมิหลังของสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางร่วมสมัย บางทีเราอาจเข้าใจภูมิหลังเกี่ยวกับการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในภูมิภาคนี้อีกครั้งในประเทศอาหรับหลายๆ ประเทศ หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันเมื่อ 95 ปีก่อน

● จาก สนธิสัญญา“ Sever” ถึงสนธิสัญญาโลซาน

การสร้างรัฐชาติในตะวันออกกลางเกิดขึ้นหลังจาก มุศตอฟา กามาลอะตาเติร์ก ปฏิเสธสนธิสัญญา Sefer ซึ่งจัดทำโดยประเทศที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และบังคับใช้กับตุรกี หลังจากชนเชื้อชาติที่ไม่ใช่ตุรกีส่วนใหญ่ เช่น ชาวเคิร์ดได้รับเอกราช

อะตาเติร์กได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับกรีซและประเทศพันธมิตร จบลงด้วยการลงนามในข้อตกลงใหม่ที่ โรงแรม “Beaurivage Place” ในโลซาน ในภาคใต้ของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1923 ระหว่างตุรกี อังกฤษและฝรั่งเศส แยกออกจากสนธิสัญญาโลซานครั้งแรก หรือข้อตกลง Oshi” ระหว่างอิตาลีและจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1912

สนธิสัญญาโลซานน์ 2 เป็นใบมรณภาพอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิออตโตมันในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ และใบแจ้งเกิดของสาธารณรัฐตุรกีร่วมสมัย ในปี พ. ศ. 2466 ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกการปกครองของคอลีฟะฮ์ในปี 2467

สนธิสัญญาโลซาน มี 143 ข้อ เกี่ยวข้องกับสถานภาพใหม่ของตุรกีในกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรที่ชนะในสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ของตุรกีสมัยใหม่ พรมแดนกับกรีซและบัลแกเรีย การสละสิทธิ์ของตุรกีในเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิทางการเงิน และสิทธิในอธิปไตยในซีเรีย อิรัก อียิปต์ ซูดาน ลิเบียและไซปรัส นอกเหนือจากการจัดระบบควบคุมการใช้ช่องแคบตุรกีในยามสงครามและสันติภาพ

● สนธิสัญญาโลซานมีบทบาททางประวัติศาสตร์แบบเดียวกับบทบาทของสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลีย” ในปี 1648 [1]

หนึ่งในผลทางกฎหมายและการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของสนธิสัญญาโลซานคือการเกิดขึ้นของแนวคิดของรัฐชาติ บนพื้นฐานของแนวคิด “รัฐ-ประชาชน”

สนธิสัญญาโลซานน์ได้กำหนดพรมแดนภูมิรัฐศาสตร์สำหรับทั่วทั้งตะวันออกกลางในช่วงทศวรรษหลังการลงนามในสนธิสัญญานั้น [1]

ในบริบทนี้ตุรกีถือเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาดังกล่าว หลังจากรอดพ้นจากชะตากรรมการแบ่งแยกเขตแดนของกองกำลังที่กระทำโดยมหาอำนาจผ่านสนธิสัญญา Sevres ซึ่งตุรกียังคงเป็นประเทศเอกราชที่แท้จริงเพียงประเทศเดียวในหมู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐอิสระ” ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วยังคงเป็นเมืองขึ้น [2]

สนธิสัญญาโลซานน์กำหนดชะตากรรมของผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ ตามหลัก 2 สองประการ คือหลักกำหนดเขตแดนทางการเมืองของชาติ และหลักการของสัญชาติซึ่งเชื่อมโยงกับ “อัตลักษณ์” ของรัฐใหม่ที่สนธิสัญญาสร้างขึ้น หรือเป็นผลมาจากสัญญานี้

ในบริบทนี้ เลบานอนและซีเรียจึงอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส ปาเลสไตน์และภาคตะวันออกของจอร์แดน ภายใต้อาณัติของอังกฤษ และราชอาณาจักรฮาชิไมซ์แห่งแคว้นหิญาซ ซึ่งปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาถูกโค่นไป หลังจากอังกฤษอนุญาตให้อับดุลอาซิซ อัลซาอุด ยึดครองดินแดนหิญาซ [3]

● โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้ของตะวันออกกลาง : โลกอาหรับหรืออิสลาม?

ในหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการก่อตัวของแผนที่การเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ “Peace Beyond Peace” นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอเมริกัน David Fromkin กล่าวว่า การยึดครองของอังกฤษทุกหนทุกแห่งในโลกได้ทำลายโครงสร้างทางการเมืองของชนพื้นเมืองและแทนที่ด้วยโครงสร้างใหม่ ตามรูปแบบของยุโรป ตามกฎหมายของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรือทะเลทรายแอฟริกา ซึ่งไม่ได้แบ่งตามเผ่าชนอีกต่อไป แต่จะแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ตามลักษณะการปกครองในยุโรป อย่างไรก็ตามDavid Fromkin หยุดอยู่ที่ส่วนหนึ่งของโลก เพราะสงสัยว่าการยึดครองของยุโรปทำให้เกิดผลที่ลึกและยั่งยืนเหมือนในที่อื่น ๆ หรือไม่? [4]

Fromkin กล่าวว่า ตะวันออกกลางได้เป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้เพราะประเทศในยุโรปได้ก่อร่างขึ้นใหม่ หลังจากการปกครองของชาวออตโตมันในตะวันออกกลางที่พูดภาษาอาหรับ และทำลายโครงสร้างเดิมอย่างไม่อาจแก้ไขได้อีก และยุโรป หรือสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ยังได้กำหนดพรมแดนและแต่งตั้งผู้ปกครอง แบบที่พบได้ทั่วโลกในยุคอาณานิคม [5] ตามทัศนะของ Fromkin ในระหว่างช่วงเวลาระหว่าง 2457-2465 ได้มีการกำหนดข้อตกลงหลังสงคราม เพื่อยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลางในหมู่ผู้มีอำนาจในยุโรป แต่มันกลับส่งผลให้เกิดปัญหาตะวันออกกลาง ในหัวใจของตะวันออกกลางเอง

สิ่งที่แตกต่างของ “ปัญหาตะวันออก” ตามสิ่งที่ชาวยุโรปเรียกกันในช่วงก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน หรือปัญหาตะวันออกกลางที่เรารู้ในทุกวันนี้คือ มันแตกต่างจากความแตกต่างแบบดั้งเดิมที่เราพบในสถานที่อื่น ๆ ของโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและเขตแดน

แต่ ณ ที่นี้ ยังมีข้อเรียกร้องที่ยกมาจนถึงทุกวันนี้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดำรงอยู่ของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเชื้อชาติยังคงแสวงหาสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง ดังนั้นตะวันออกกลางจึงยังคงเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงที่สุดในโลกเนื่องจากสงครามบ่อยครั้งเพื่อการดำรงอยู่และสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง . [6]

เบื้องหลังปัญหาทั้งหมดที่ตะวันออกกลางร่วมสมัยกำลังประสบอยู่ เช่น ปัญหาอนาคตทางการเมืองของชาวเคิร์ด หรือชะตากรรมทางการเมืองของชาวปาเลสไตน์ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงแสวงหาคำตอบ : ระบบการเมืองสมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ที่ยุโรปโยกย้ายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หลังสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย จะสามารถดำรงอยู่ในตะวันออกกลางที่แตกต่างจากยุโรป รวมถึงลักษณะของการแบ่งดินแดนออกเป็นรัฐฆราวาสตามสัญชาติของคนในชาติ ซึ่งตรงกันข้ามของฐานรากต่างๆของจักรวรรดิออตโตมันที่กว้างไกลกินเนื้อที่ 3 ทวีป ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดชุมชนพหุเชื้อชาติ [7]

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ
https://midan.aljazeera.net/intellect/history/2020/2/20/%d9%85%d8%a6%d8%a9-%d8%b9%d8%a7%d9%85-%d9%85%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%aa%d9%8a%d9%87-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d9%8a%d8%a7%d8%b3%d9%8a?fbclid=iwar2cfyinwmstoyva1o2rl1t5qbblamx41afvlcrxhmomourfiasw09mzldo

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 7)

“สวนสัตว์มนุษย์” (Human Zoo) มีชื่อเรียกอย่างสวยหรูว่า “นิทรรศการชาติพันธุ์” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นแห่งใดเป็นที่แรก แต่ก็เริ่มมีขึ้นในประเทศแถบตะวันตกนับตั้งแต่ยุคการค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นต้นมา (ราว ค.ศ.1500s) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องเรือสำรวจและล่าอาณานิคม ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมจัดแสดง “มนุษย์” กันอย่างครึกครื้น ในช่วงปี ค.ศ.1870s-1930s ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกทั้งหลาย อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งอเมริกา โดยนำชนพื้นเมืองทั้งผิวเหลืองและผิวสี จากพื้นที่หรือประเทศที่ตัวเองรุกรานยึดครองไว้ได้ ทั้งชาวแอฟริกา บรรดานิโกร ชนพื้นเมืองเอเชีย อาทิ ชาวเกาะชวา ชาวเกาะนิวกินี ฯลฯ ตลอดจนชนพื้นเมืองของอเมริกา มาแสดงโชว์ 

อ้างอิง : https://hilight.kapook.com/view/124501

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 6)

เส้นทางแห่งธารน้ำตา

  • หลังจากการปฏิวัติอเมริกา ชีวิตของชาวอเมริกันพื้นเมืองจำนวนมากถูกกลืนหายไป โดยเฉพาะชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกา) ในปี ค.ศ. 1830 พระราชบัญญัติของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “The remove of the Five Civilized Tribes” (การเนรเทศ ‘ห้าอารยะชนเผ่า) 
  • 1.เผ่า Cherokee 21,500 คน
  • 2.เผ่า Chickasaw 5,000 คน
  • 3.เผ่า Choctaw 12,500 คน
  • 4.เผ่า Creek. 19,600 คน
  • 5.เผ่า Seminole 22,700 คน
  • ในระหว่าง ปี ค.ศ.1830 – ค.ศ.1838 เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลางทำงานในนาม ของ “Cotton Growers” นอกจากนี้ยังมีชนเผ่าต่างๆ เช่น Odawa / Meskwaki / Shawnee/ และอื่นๆ รัฐบาลกลางได้ทำการบังคับให้ ชนเผ่าพื้นเมืองอินเดียน ร่วม 300,000 คน ออกจากบ้านเกิดของพวกเขา การเดินทางที่อันตรายจากรัฐทางใต้ ไปยังโอคลาโฮมา ปัจจุบันเรียกว่า”เส้นทางแห่งธารน้ำตา” ชนพื้นเมืองอเมริกัน ต้องเสียชีวิต ด้วยความหิวโหย ความหนาวเย็น และโรคภัย ในขณะที่อเมริกันผิวขาว ได้รุกร้ำขยายตัวไปทางทิศตะวันตก ด้วยความขัดแย้งที่รุนแรงบนแผ่นดินแม่ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของพวกเขา (ชาวพื้นเมืองอเมริกัน)
  • เส้นทางแห่งธารน้ำตา (อังกฤษ: Trail of Tears) หมายถึงการบังคับการโยกย้ายถิ่นฐานของชนพื้นเมืองในสหรัฐอเมริกาที่รวมทั้งเชอโรคี, ชอคทอว์และอื่นๆ จากดินแดนบ้านเกิดไปตั้งถิ่นฐานยังเขตสงวนอินเดียน (Indian Territory) ใหม่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาที่ในปัจจุบันคือโอคลาโฮมา “เส้นทางธารน้ำตา” มาจากคำบรรยายการโยกย้ายของชนเผ่าชอคทอว์ (Choctaw)ในปี ค.ศ. 1831ชนพื้นเมืองอเมริกันที่ถูกโยกย้าย ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศ เชื้อโรค และความอดอยากระหว่างการเดินทางไปยังจุดหมาย อันเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ที่รวมทั้งจำนวน 4,000 ผู้เสียชีวิต ของเผ่าเชอโรคีที่ต้องย้ายถิ่นฐาน
  • ในปี ค.ศ. 1831 เชอโรคี, ชิคาซอว์, ชอคทอว์, มัสคีกี (ครีค) และ เซมินโนล (Seminole) (บางครั้งรวมกันเรียกว่าเผ่าวัฒนธรรมห้าเผ่า (Five Civilized Tribes) ตั้งถิ่นฐานเป็นชาติอิสระในบริเวณที่เรียกว่าดีพเซาธ์ (Deep South) ของสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (เสนอโดยจอร์จ วอชิงตัน และ เฮนรี น็อกซ์) ได้รับการสนับสนุนอย่างแพร่หลายขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มเชอโรคีและชอคทอว์ แอนดรูว์ แจ็คสัน เป็นประธานาธิบดีคนแรก ของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้วิธีการโยกย้ายชาวพื้นเมืองอเมริกันตามรัฐบัญญัติ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ของชาวอเมริกันอินเดียน(Indian Removal Act of 1830) ในปี ค.ศ. 1831ชอคทอว์เป็นชนกลุ่มแรกที่ถูกโยกย้ายและกลายเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการโยกย้ายกลุ่มอื่นๆ ต่อมา หลังจากเผ่าชอคทอว์แล้ว 
    • เผ่าเซมินโนล ก็เป็นกลุ่มต่อมาที่ถูกโยกย้าย ในปี ค.ศ. 1832, 
    • มัสคีกี (ครีค)ในปี ค.ศ. 1834,
    • ชิคาซอว์ ในปี ค.ศ. 1837 
    • เชอโรคี ในปีค.ศ. 1838
  • เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1837 ชาวพื้นเมืองอเมริกัน ก็ถูกโยกย้ายจากถิ่นฐานเดิมทางตอนใต้ที่ทำให้ที่ดินทั้งหมด 25 ล้านเอเคอร์กลายเป็นดินแดนสำหรับ การตั้งถิ่นฐานของชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป ที่เข้ามาใหม่
  • การเพิ่มจำนวนและกระจายตัวของคนขาว ไปทางทิศตะวันตกของประเทศ หลังจากการปฏิวัติอเมริกา ส่งผลในการเพิ่มความกดดันในดินแดน ของชนพื้นเมืองอเมริกันสงคราม และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ในปี ค.ศ. 1830 สภาคองเกรส สหรัฐฯ ผ่านพระราชบัญญัติการกำจัดอินเดีย, อำนาจของรัฐบาล ที่จะย้ายชาวอเมริกันพื้นเมืองออกจากบ้านเกิดของพวกเขา ภายในรัฐที่จัดตั้งขึ้น ในความต้องการดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เพื่อรองรับการขยายตัวของคนขาว นั้นส่งผลในการล้างเผ่าพันธุ์ ของหลายชนเผ่า ด้วยความโหดร้าย
  • (กรณีตัวอย่าง ความโหดร้ายของคนขาว ในระหว่างฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1838 ชนเผ่าเชอโรคี ก็เริ่มเดินทางพันไมล์ด้วยเครื่องนุ่งห่มที่บางไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศอันหนาวเย็น การเดินทางโยกย้ายเริ่มขึ้นจาก เรดเคลย์ ในเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้ง ของเมืองหลวงทางตะวันออกสุดของเผ่าเชอโรคี เผ่าเชอโรคีได้รับผ้าห่มจากโรงพยาบาล ในเทนเนสซี ที่ก่อนหน้านั้นเกิดการระบาดของโรคฝีดาษ ชาวอินเดียนจึงติดเชื้อโรคตามไปด้วย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปในเมือง หรือหมู่บ้านตลอดทางที่เดินทางผ่าน และทำให้การเดินทางต้องเดินไกลไปกว่าที่จำเป็น เพราะต้องเดินอ้อมเมืองไปแทนที่จะลัดตรงได้
  • หลังจากที่ข้ามเทนเนสซี และเคนทักกี แล้วก็มาถึงกอลคอนดา ใน อิลลินอยส์เมื่อราววันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1838 ชาวอินเดียนแต่ละคนโดนเรียกเก็บค่าข้ามท่าโดย “เรือเบอร์รี” เป็นจำนวนหนึ่งเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตามปกติแล้วราคาเพียงสิบสองเซ็นต์ และไม่ได้รับการอนุญาติ ให้ข้ามจนกระทั่งลูกค้าอื่นข้ามกันไปหมดแล้ว ชาวอินเดียนจึงต้องไปหลบกันอยู่ภายใต้ “แมนเทิลร็อค” ทางด้านเคนทักกี ชาวอินเดียนหลายคนเสียชีวิตไปกับการคอยเรือข้ามฟากที่ “แมนเทิลร็อค” และอีกหลายคนถูกสังหารโดยผู้คนในท้องถิ่น ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เมื่อฆาตกรหันไปยื่นเรื่องฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ที่ศาลเมืองเวียนนา ในรัฐอิลลินอยส์ เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าฝัง อินเดียนที่ถูกฆาตกรรมหัวละ $35 เหรียญ. ชาวเชอโรคีที่ถูกขับไล่ ก็เริ่มก็ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ทาห์เลควาห์ ในโอคลาโฮมา ความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่มีสาเหตุมาจาก สนธิสัญญานิวอีโคตา และเส้นทางน้ำตา เป็นผลทำให้มีผู้นำของชาวอินเดียนที่ไปลงนามถูกลอบสังหารไปหลายคน ที่รวมทั้งเมเจอร์ริดจ์, จอห์น ริดจ์ และ อีไลอัส บูดิโนต์ นั่นคือความโหดร้ายของคนขาว ในเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์)
  • ขณะที่การขยายตัวของคนขาว ได้นำมาซึ่ง การอพยพของคนงานเหมืองมา เพิ่มความขัดแย้ง ทำให้ชนเผ่าพื้นเมือง(หลายชนเผ่า) เหล่านี้ ต้องเร่ร่อน และถูกสังหาร สงครามระหว่างชนพื้นเมือง กับ คนขาว ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
  • ควาย Bison เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชนพื้นเมืองอเมริกัน พวกเขามีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับ Bison ที่ราบอินเดียน วัฒนธรรมของพวกเขาล้วนเกี่ยวข้องกับควายไบซัน ชนพื้นเมืองได้ประโยชน์ จาก ควายไบซัน ใน 52 วิธีที่แตกต่างกัน สำหรับอาหาร, อุปกรณ์สงครามและการดำเนินการดำเนินชีวิต ส่วนหนึ่งของควาย ใช้สำหรับการทำโล่ และ กลอง บางส่วนสำหรับการทำ เป็นกาว ได้อีกด้วย ควายจึงเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ของชนพื้นเมืองอินเดียน
  • การที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานของคนขาว กลายเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า อินเดียนและคนขาว มองดูควายจากจุดที่แตกต่างกัน ในมุมมองของอินเดียนแดงได้เรียนรู้ที่จะล่าควายด้วยความชำนาญกับคันธนูและลูกศร และล่าเพื่อประทังชีวิตโดยไม่ส่งผลกระทบกับจำนวนของ ควายไบซัน ในขณะที่คนขาวล่าไบซัน ไปในเเนวทางเพื่อธุรกิจการค้า แสวงหากำไรจากไบซัน เป็นผลให้ควายถูกล่าและลดจำนวนลงอย่างมาก ผลกระทบจากจำนวนควายไบซันที่ลดลงจนเกือบสูญพันธ์นั้น รุนแรงต่อชนพื้นเมือง เพราะควายไบซัน คืออาหาร คืออุปกรณ์ดำรงชีพ และวิถีชีวิต (ในขณะที่การล่าเพื่อการกีฬา เพื่อความบันเทิงในกิจกรรมกลางแจ้ง โดยนักล่ามืออาชีพ ก็ได้เกิดขึ้นอีกด้วย) ในทางตรงกันข้ามอินเดียน กับควายไบซัน นั้นเป็นศูนย์กลางของชีวิต การหายไปของไบซัน ส่งผบให้อินเดียนมากมาย ต้องอดอยาก มีการประเมินว่าควายไบซันมีจำนวนมากถึง 60 ล้านตัว ก่อนการมาถึงของคนขาว ในตอนท้ายของยุค ควายไบซัน กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ ไบซัน มีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจ จำนวนของไบซันเหลือเพียง 100 กว่าตัว ในปี ค.ศ. 1870 เพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของคนขาว เรากำลังพูดถึงสัตว์ที่เกือบจะถูกลบออกจากโลกนี้
  • การตั้งถิ่นฐานของคนขาว เป็นตัวแทนของสาเหตุที่สำคัญสำหรับการทำลายควายไบซัน และอินเดียนได้รับผลกระทบโดยตรง ปัจจัยเหล่านี้ได้เกิดขึ้น และการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า การขยายตัวของคนขาว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงความสมดุลย์ ของธรรมชาติอย่างถาวร.
  • (ในปัจจุบัน มีควายไบซันเหลืออยู่ราว 400,000 – 500,000 ตัวในสองประเทศ จากการออกกฏหมายคุ้มครอง โดยรัฐบาลสหรัฐและแคนาดา)
  • ในปี ค.ศ.1848 รัฐแคลิฟอร์เนีย เกิดการตื่นทอง ทำให้อินเดียน 300,000 คน จะถูกขับไล่จาก แคลิฟอร์เนีย ไป ซานฟรานซิสโก นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า ครั้งหนึ่ง รัฐแคลิฟอร์เนีย เคยเป็นพื้นที่หนาแน่นที่สุดของประชากรพื้นเมือง ด้วยชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองที่หลากหลาย ในดินแดนของสหรัฐ แต่การตื่นทองมีผลกระทบอย่างมากกับชีวิตของชนพื้นเมืองอเมริกัน ในด้านการดำรงชีวิตของชาวพื้นเมือง การล่าสัตว์แบบดั้งเดิม และการทำเกษตรกรรม ที่ไม่สามารถทำได้ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป มีผลทำให้อินเดียนจำนวนมาก ต้องขาดแคลนอาหารและอดอยาก
  • ระหว่างการขยายตัวของคนขาว ที่รุกร้ำเข้าไปในชายแดนตะวันตก ของรัฐแคลิฟอร์เนีย หนึ่งในความพยายามที่จะทำลายหลักวิธีชีวิต ของอินเดียน ที่เป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐ ที่จะกีดกันชนพื้นเมืองออกไป หนึ่งในวิธีการที่สำคัญที่สุดคือการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า ในการกีดกันความเป็นเจ้าของ ทั้งพืชไร่ พืชผล ต่างๆ เเละสิทธิเหนือที่ดิน และใช้วิธีการอื่นๆ ในการกีดกันอินเดียน ออกไป การหลั่งไหลของคนขาว จำนวนมากมาย ที่เข้าไปใน รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยแรงจูงใจจากที่ดินและทองคำ คลื่นมวลชนของผู้มาใหม่ ได้ถูกถาโถมเข้าไปในแคลิฟอร์เนียเข้าไปในหุบเขาที่ห่างไกลที่สุดและพื้นที่ของชนพื้นเมือง เพื่อหาทองคำ เพื่อตัดไม้และครอบงำที่ดินของคนพื้นเมือง ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนขาว กับชนพื้นเมือง คนขาวมีการกระทำที่น่ารังเกียจและโหดร้าย ต่อชนพื้นเมือง ชาวพื้นเมืองที่ตกเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมที่นึกไม่ถึง ด้วยความอดอยาก และการเผชิญหน้าที่รุนแรง การค้าทาสค้าแรงงาน ส่งผลเกือบล้างเผ่าพันธ์ ประชากรอินเดียนแทบทั้งหมดในแคลิฟอร์เนีย อินเดียนลดลงจาก 300,000 คน เหลือเพียง 160,00 คน การจัดซื้อที่ดินและทรัพย์สิน สวม “สิทธิ” ของคนผิวขาว การทำเหมืองแร่และสิ่งปนเปื้อนที่เข้าสู่ระบบ ของชาวพื้นเมือง พื้นที่แหล่งน้ำปนเปื้อน และพืชพื้นเมืองเหี่ยวเฉา หนองน้ำที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่สำคัญที่เป็นอาหารของชนพื้นเมือง ได้กลายเป็นระบบชลประทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกของคนขาว

กฏหมาย โดยรัฐบาลสหรัฐ ปี ค.ศ. 1862

  • -กฏหมาย homestead 
  • -กฏหมายการตั้งรกราก Ambitious (ไร่โฉนด) 
  • -กฏหมายที่ดิน Morrill (ลงนามในกฏหมายโดย ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอร์น 1862) และอื่นๆ
  • ทั้งหมดของกฎหมาย ต่างๆที่ออกมาบังคับใช้ มีไว้เพื่อประโยชน์ ในการตั้งถิ่นฐานของคนขาว ด้วยเหตุผลคือ
    • 1. ประชาชนแคลิฟอร์เนีย (คนขาว) ต้องการลบ ชนพื้นเมือง ออกจากแคลิฟอร์เนียได้โดยเร็วที่สุด 
    • 2. คนขาว ต้องการกีดกันชนพื้นเมืองออกจากพื้นที่ เพื่อการป้องกันการตั้งถิ่นฐานของคนขาว และคนงาน จากการถูกโจมตี จากพวกอินเดียน การปกป้องทรัพย์สินของคนขาวจากการสูญเสียหรือการโจมตีอินเดียน 
    • 3. รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายด้วยกฏหมาย ที่แตกต่างกัน ที่ชาวอเมริกันในทุกรัฐ ใช้จัดการกับพวกอินเดียนแดง : กฎหมายภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ปี ค.ศ.1787 มาตราของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ว่า การพาณิชย์และ การค้าของอินเดียน 

การกระทำของสนธิ ค.ศ. 1890

  • พระราชกฤษฎีกาภาคตะวันตกเฉียงเหนือค.ศ.1787 ที่กำหนดไว้ในลักษณะที่รัฐบาลสหรัฐจะจัดการกับอินเดียน มาตรา 14 มาตรา 3 ของกฎหมายประกาศว่า “ที่ดินและทรัพย์สินของพวกเขาจะไม่มีวันถูกพรากไปจากพวกเขา โดยปราศจากความยินยอมของพวกเขา และ ทรัพย์สินของพวกเขา สิทธิและเสรีภาพที่พวกเขา จะไม่สามารถบุกเข้าไปรบกวนได้ เว้นแต่เพียงในเวลาสงคราม ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายโดยรัฐสภา **แต่กฎหมายที่ก่อตั้งขึ้นในความยุติธรรมและความเป็นมนุษย์นั้น จะมีเป็นครั้งคราวสำหรับการป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด กับพวกเขา (ชนพื้นเมือง)ในการรักษาสันติภาพและมิตรภาพกับพวกเขา***
  • นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของแคลิฟอร์เนีย, Hubert Howe Bancroft สรุปการเมืองของรัฐบาล ที่มีต่ออินเดียน ในไม่กี่ประโยคสั้นๆ แต่แฝงไว้ด้วยความน่ากลัว: 
  • “นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ ในช่วงต้น ระหว่างชาวอเมริกันพื้นเมืองและคนขาว (อเมริกันยุโรป) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นไปในเวลาสั้นๆ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย คนงานเหมืองเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยความโลภ และใจร้อน มันเป็นหนึ่งในการล่าของมนุษย์ ของอารยธรรมคนขาว และความรุนแรง และพวกเขาทั้งหมดส่วนใหญ่โหดร้าย “
  • ( Hubert Howe Bancroft นักประวัติศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย 1963: 474)

สรุปเนื้อหาสำคัญ ของคนขาว กับ ชนพื้นเมืองอเมริกา

  • 1. รัฐบาลสหรัฐ อเมริกา ตัดสินใจที่จะแก้ปัญหา “อินเดียน” ด้วยนโยบายของการบังคับใช้แรงงานทาส และ อาสาสมัครศาลเตี้ยที่มีหน้าที่ คือการฆ่าชาวอินเดียนท้องถิ่น
  • 2. นโยบายของรัฐ เกี่ยวกับอินเดียนแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ถูกดำเนินงานโดยนโยบายของรัฐบาลกลาง และสำหรับอินเดียนทั้งหมดของอเมริกาเหนือ: การทำสนธิสัญญาการลบอินเดียน จากบ้านเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา
  • 3. ทัศนคติของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับ “ปัญหาอินเดียน” ส่งผลให้นโยบายและ การกระทำที่มีผลกระทบอย่างมากสำหรับชาวอินเดียน :
    • -อินเดียนหลายชนเผ่า ส่วนใหญ่ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลสหรัฐ ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
    • -อินเดียนแคลิฟอร์เนีย ตกเป็นเหยื่อของนโยบาย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนใหญ่ของชาวอินเดียน ที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ถูกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะบังคับให้ออกจากพื้นที่ของพวกเขา หรือพวกเขาก็ถูกฆ่าตาย
    • -ประชากรของอินเดียนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ.1850 จากจำนวน 100,000 คน ลดลงเหลือ 30,000 โดย ค.ศ. 1870 ตามการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติ ปี ค.ศ. 1900 เหลือเพียง 16,000 อินเดียนแดงที่ถูกบันทึกไว้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
  • 4. ประชาชนแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ ตอบสนองต่อการบุกอินเดียน, ฆ่าอินเดียน และ แข่งขันทางเศรษฐกิจกับอินเดียน ด้วยการกระทำที่รุนแรงของศาลเตี้ย – โดยไม่มีใคร(คนขาว) ที่ถูกลงโทษโดยรัฐท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐบาลกลาง
  • สรุปผลที่ได้คือ หลายร้อยปี ที่ผลของความขัดแย้งจากสงคราม ความรุนแรงของอาณานิคม โดยการเข้าแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งนโยบายเลือกปฏิบัติของคนขาว ที่มีต่อชาวอเมริกันพื้นเมือง ได้ทำลายประชากรชาวอเมริกันพื้นเมืองจาก 18 ล้านชีวิต เหลือเพียง 16,000 ชีวิต (ในปี ค.ศ.1900)
  • ชาวพื้นเมืองเสียชีวิตจากความขัดแย้ง ความรุนแรง และความไร้เมตตา ที่ได้คร่าชีวิตชนพื้นเมืองอเมริกัน จนทั้งหมดเกือบจะสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์. หากผมจะเรียกคนขาวที่เข้าไปยังแผ่นดินอเมริกาว่า Genocide คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง!

ป.ล. ในปัจจุบันนี้ประชากรอเมริกันพื้นเมือง คิดเป็น 1.37% ของ ประชากรสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง https://menu-58.blogspot.com/2015/11/4_28.html?m=1&fbclid=IwAR3xztAnEavoTCW__nuIR8kxgKLdTV5mYULkLFX-v0UqN8UHbR0s93zMnIw

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ