รัฐบาลคูเวตแถลงซาอุดิอาระเบียคืนดีกับกาตาร์แล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวต นายอาห์มัด อัลมุบาร็อค อัศเศาะบาห์ แถลงว่า ซาอุดิอาระเบียประกาศรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับกาตาร์เนื่องในประชุมสุดยอดสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอุลา เมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อยู่ทางตอนเหนือของกรุงมะดีนะฮ์ 300 กม. เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2564

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคูเวตกล่าวยืนยันว่า ได้มีข้อตกลงเปิดน่านฟ้าและพรมแดนทั้งทางบกและทะเลระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564

ก่อนหน้านี้เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต เชคนาวาฟ อัลอะห์มัด อัลญาบิร์ อัศเศาะบาห์ได้ออกแถลงการณ์ว่า ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ความพยายามในการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียและกาตาร์ประสบผลสำเร็จ เราดีใจที่ความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง สามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีและมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและชาติอาหรับต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศตุรกีได้สดุดีต่อความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสองประเทศที่ถือเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องนี้ พร้อมระบุ มติเปิดพรมแดนระหว่างซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ถือเป็นนิมิตหมายอันดีและมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขวิกฤตอ่าวอาหรับต่อไป

กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวจากประเทศต่างๆ ภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบียตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 หลังจากซาอุดีอาระเบียและหลายประเทศในตะวันออกกลางประกาศระงับความสัมพันธ์กับกาตาร์ทุกมิติ พร้อมกับกล่าวหากาตาร์ว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและมีสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน


อ้างอิง

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ปฏิบัติตามสัญญา แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 26 ปี

วารสาร AL-Mujtama แห่งคูเวตเผยแพร่ข่าวการให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีแอร์โดอาน ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอิสตันบูลระหว่างปี ค.ศ. 1994-1998

โดยสำนักข่าวอัลญาซีร่าห์ ได้เผยแพร่ข่าววารสาร AL-Mujtama ฉบับที่ 1097 ประจำวันที่ 26/4/1994 ได้สัมภาษณ์นายแอร์โดอาน ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอิสตันบูลขณะนั้น ซึ่งเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า “ อายาโซเฟีย ไม่มีทางเปลี่ยนเป็นโบสถ์ได้ ถึงแม้จะมีความพยายามมากมายแค่ไหนก็ตาม” เขาย้ำว่า ความคิดนี้เป็นเพียงความเพ้อฝันเท่านั้น พร้อมกล่าวว่าอายาโซเฟีย คือศาสนสมบัติของชาวมุสลิมและจะคงอยู่ในสภาพนี้ตลอดไป”

แอร์โดอานให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเราทุกคนทราบดีว่า กษัตริย์ผู้พิชิตสุลฏอน มูฮัมมัด อัลฟาติห์ ไม่ได้ยึดครองอายาโซเฟีย แต่พระองค์ได้บริจาคทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้ออายาโซเฟียและทรงวากัฟ (บริจาคเป็นศาสนสมบัติให้แก่ชาวมุสลิม) ผู้ใดที่ใช้มันอย่างผิดวัตถุประสงค์นี้ อัลลอฮ์และรอซูลจะสาปแช่งพวกเขา”

แอร์โดอานเสริมว่า “ หัวหน้าพรรครอฟาห์ ศ.ดร. นัจมุดดีน อัรบะกาน (พรรคสังกัดแอร์โดอานขณะนั้น)  ได้ประกาศว่า อายาโซเฟียจะกลับคืนเป็นมัสยิดอีกครั้ง และนี่คือสัญญาแห่งศาสนาที่เป็นภารกิจของพรรคราฟาห์ เราพร้อมปฎิบัติตามสัญญา เมื่อโอกาสมาถึง

เวลาผ่านไป 26 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 10/7/2020 ประธานาธิบดีแอร์โดอาน ได้ลงนามประกาศอายาโซเฟียเป็นมัสยิดอย่างเป็นทางการ โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกิจการศาสนา พร้อมทวิตข้อความว่า ขอให้อัลลอฮ์ทรงประทานความสิริมงคลแก่ท่านทั้งหลาย มัสยิดอายาโซเฟีย

ประกาศฉบับนี้ ถือเป็นการยกเลิกกฎหมายที่เปลี่ยนมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปีค.ศ. 1934 หรือ 86 ปีที่แล้ว และเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่แอร์โดอานได้สัญญากับประชาชนชาวตุรกีและประชาชาติมุสลิมเมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา

และเมื่อวันที่ 3 ซุลหิจญะฮ์ 1441 (24/7/2020) ประธานาธิบดีแอร์โดอานร่วมกับคณะรัฐบาล ประชาชนนับแสนคน ร่วมกันละหมาดวันศุกร์แรกในรอบ 86 ปี ที่มัสยิดอายาโซเฟีย โดยการนำละหมาดของอิมามใหญ่อายาโซเฟีย พร้อมเสียงตักบีรเนื่องในวัน 10 วันแรกของเดือนซุลหิจญะฮ์ที่ดังกระหึ่มทั่วอิสตันบูล และถูกไลฟ์สดไปยังทั่วทุกมุมโลก

ถือเป็นวันยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์อีกวันหนึ่งที่บันดาลความสุขให้แก่ชาวมุสลิมทั่วโลก ถึงแม้บรรดาผู้ปฎิเสธและผู้กลับกลอกจะชิงชังก็ตาม

 بسم الله والحمد لله والله أكبر


โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

อ้างอิงจาก

https://mubasher.aljazeera.net/news/politics/2020/07/11/آيا-صوفيا-مسجدا-كيف-وفى-أردوغان-بوعد?gb=true

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อาเซอร์ไบจาน ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 100 ปี

…………….

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ผู้ถูกกดขี่ ได้รับชัยชนะเหนือผู้กดขี่

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ดินแดนที่ถูกยึดครอง ได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ผู้บุกรุกต้องพ่ายแพ้และประกาศยอมจำนน

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ประชาชนที่ไม่ใช่มุสลิม ต้องระเหระหนกลับบ้านเก่า หลังจากบรรยากาศเช่นนี้กลายเป็นภาพขาประจำของชาวมุสลิม

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่ผลการเจรจาเป็นไปตามความต้องการและเงื่อนไขของชาวมุสลิมทุกประการ และสอนให้โลกรู้ว่าการเจรจาที่ได้ผลจริงคือการเจรจาที่ชี้ขาดในสมรภูมิสงคราม

ครั้งแรกในรอบ 100 ปี ที่มติของสหประชาขาติถูกปฏิบัติจริง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงแค่กระดาษเปื้อนหมึกและคำสัญญาบนโต๊ะเจรจาเท่านั้น

ครั้งแรกในรอบ 100 ปีที่เราสามารถเห็นพฤติกรรมอันป่าเถื่อนของชาติผู้บุกรุกที่เผาอาคารบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรม ก่อนที่จะออกจากพื้นที่ดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า ไม่ยอมให้ชาวมุสลิมใช้ประโยชน์ ทั้งๆที่เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วพวกเขาบังคับมุสลิมนับล้านคนให้ละทิ้งบ้านเรือน โดยที่มุสลิมมีสิทธิ์พากุญแจบ้านติดตัวเท่านั้น

……………………

ทั่วโลกยินดีปรีดากับประเทศที่ชูถ้วยฟุตบอลโลก แม้กระทั่งชาวมุสลิมนับล้านยังเฉลิมฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีกที่เฝ้าฝันมานานหลายสิบปีแต่ชัยชนะของชาวอาเซอร์ไบจานเหนืออาร์เมเนียที่สมรภูมินากอร์โน-คาราบัค ที่ใช้เวลานาน 44 วัน กลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักของโลกเท่าที่ควร

แม้กระทั่งมุสลิมบางคน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คาราบัคอยู่ที่ไหน สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุใด ทำไมธงตุรกีสะบัดพลิ้วพร้อมๆ กับธงอาเซอร์ไบจาน ตุรกีมีบทบาทอะไรในสมรภูมิครั้งนี้ ชาติตุรกีกระหายสงครามจริงหรือ ใครอยู่เบื้องหลังสนับสนุนกองทัพอาร์เมเนีย ด้วยเหตุผลอะไรที่ผู้นำอาร์เมเนียยอมยกธงขาวในสงครามครั้งนี้ ท่ามกลางอารมณ์โกรธแทบลุกเป็นไฟของชาวอาร์เมเนีย หลังพ่ายแพ้สะบักสะบอม ทำไมประธานาธิบดีแห่งอาร์เมเนียต้องวิ่งโร่ไปยังกรุงดูไบ และโลกได้รับรู้ความสถุนถ่อยของชาวอาร์เมเนียอย่างไรบ้าง

หากมีมัสยิดเพียง 1 หลังที่มีอายุ 100 ปี ถูกเปลี่ยนเป็นคอกวัวคอกหมู แล้วชาวมุสลิมสามารถยึดคืน แล้วเสียงอาซานดังก้องกังวาลอีกครั้ง เราจะชุโกร์ต่ออัลลอฮ์อย่างไรบ้าง เราจะกล่าวแก่ผู้สนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้อย่างไร

ที่อาเซอร์ไบจาน มัสยิดและสถานอิบาดัตที่มีอายุร้อยๆปี บางมัสยิดมีอายุเกือบพันปีจำนวนมากมายนับร้อยแห่ง ถูกใช้เป็นคอกวัวคอกหมู แต่ขณะนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากพี่น้องมุสลิมแล้ว

ชาวอาเซอร์ไบจานเฉลิมฉลองกับชัยชนะครั้งนี้ ถึงแม้เสียงตักบีรของพวกเขา ไม่สามารถสร้างกระแสไปยังทั่วโลกก็ตาม


โดย Mazlan Muhammad

ทำไมประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันมีอคติลึกกับอิสลามและมุสลิม ?

หลังจากก้าวสู่ทำเนียบประธานาธิบดีบาเลเดอลีเซแห่งนครปารีสเมื่อปีพ.ศ. 2560 ดูเหมือนว่า นายเอมานูแอล มาครง ได้ปลุกกระแสความเกลียดชังต่ออิสลามและมุสลิมอย่างต่อเนื่อง

หลังจากใช้วาทกรรม”มุสลิมหัวรุนแรง”ในเวทีต่างๆ ล่าสุดเขาได้ผลิตวาทกรรมใหม่เพื่อตอกย้ำความอคติลึกนี้ด้วยประโยคใหม่ว่า “อิสลามกำลังเผชิญกับวิกฤตทั่วโลก” เขาจึงเสนอร่างกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อรับมือกับความเชื่ออันโสโครกของเขา

นายมาครง มองเลบานอนเหมือนประเทศในอาณัติในอดีตและยังคิดว่า ตูนิเซียและเเอลจีเรียเป็นประเทศในอาณานิคมของตน ได้อ้างว่า เขาสามารถแยกแยะระหว่างอิสลามสายกลางกับอิสลามสุดโต่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เขาเกลียดชังอิสลามทั้งสองสายจนเข้ากระดูกดำด้วยซ้ำ เขาได้เป็นเจ้าภาพผลิตนโยบายสร้าง”ความหวาดกลัว” และลงทุนในธุรกิจการเมืองท่ามกลางสถานการณ์”อิสลาโมโฟเบีย”ที่แพร่กระจายในยุโรปโดยเฉพาะและโลกตะวันตกโดยรวม ด้วยเหตุผลสร้างกระแสนิยมในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในปี 2022 นี้ อย่างน้อยเพื่อสกัดกระแสคะแนนนิยมของกลุ่มขวาจัดที่ได้รับการตอบรับดีวันดีคืนในฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสกำลังร่างกฏหมายต่อต้านมุสลิมรุ่น 2 และ 3 ในฝรั่งเศสที่รัฐบาลมาครงออกมายอมรับว่า รัฐบาล ล้มเหลวในการโน้มน้าวมุสลิมทั้งสองรุ่นนี้ให้หลอมละลายในสังคมฝรั่งเศส

ความจริงอิสลามไม่ใช่เป็นต้นเหตุของวิกฤต มาครงต่างหากที่กำลังจมปลักในวิกฤตความคิดที่อคติเช่นเดียวกันกับอีกหลายประเทศในยุโรป

สหรัฐอเมริกาคงได้บทเรียนราคาแพงในกรณีการเหยียดผิวหลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ซึ่งเสียชีวิตในสภาพที่ถูกใส่กุญแจมือและนอนคว่ำหน้ากับพื้นถนนระหว่างถูกจับกุมโดยตำรวจชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรป ซึ่งใช้เข่ากดคอด้านหลัง ทำให้ฟลอยด์เป็นลม หมดสติและเสียชีวิตอย่างอนาถ

แต่เสียดายที่นายมาครงมองข้ามบทเรียนนี้ และเขากำลังดำเนินนโยบายเหยียดศาสนาอิสลามที่มีชาวฝรั่งเศสกว่า 6 ล้านคน นับถือศาสนานี้ทั่วประเทศ

อิสลามวิกฤตที่นายมาครงหมายถึงน่าจะเป็นอิสลามฉบับถ่ายสำเนาจากสหรัฐอเมริกาที่มีหน่วยข่าวกรอง ซีไอเอและพันธมิตรในยุโรปหนุนหลังอยู่ พวกเขาได้ผลิตและส่งออกอิสลามวิกฤตินี้เข้าไปยังโลกมุสลิมเพื่อปฏิบัติภารกิจความรุนแรงทั้งฆ่าสังหาร ระเบิดพลีชีพและสร้างความปั่นป่วนในสังคมมุสลิมพร้อมสร้างเครือข่ายแห่งความชั่วร้ายอย่างชัดเจนที่สุด

รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฏหมายบังคับให้ชุมชนมุสลิมต้องอาศัยอยู่ในสลัมซึ่งเป็นบริเวณเฉพาะที่ถูกตัดขาดจากสังคมภายนอก ทั้งๆ ที่อาศัยอยู่ในชานเมืองนครปารีสก็ตาม ชาวฝรั่งเศสมองพวกเขาเสมือนเป็นเชื้อโรคและปฏิบัติต่อพวกเขายิ่งกว่าราษฎรชั้น 10 ด้วยซ้ำ โดยที่พวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไรนอกจากมีสีผิวและความเชื่อที่ต่างกันเท่านั้น แต่แล้ว นายมาครงกล่าวหาพวกเขาว่าไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันกับชาวฝรั่งเศส

การเหยียดผิวและความเชื่อที่ทำให้ประชาชนต้องแยกสถานที่อยู่อาศัย โรงเรียนและโรงพยาบาลในลักษณะนี้ เราแทบไม่สามารถพบเจอในประเทศยุโรปโดยส่วนใหญ่ แม้กระทั่งเพื่อนบ้านอย่างประเทศอังกฤษยังสร้างที่อยู่อาศัยคนยากจนท่ามกลางชุมชนเมืองเพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกและมีการเลือกปฏิบัติ แถมอังกฤษยังมีกฎหมายต่อต้านการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นตามโรงเรียนหรือสนามกีฬาต่างๆ ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่รักษาความรู้สึกของบรรดาผู้อพยพเท่านั้น แต่เพื่อรักษาความสงบสันติในสังคมอีกด้วย ที่เรายกประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยกับพฤติกรรมทุกประการของรัฐบาลอังกฤษในกรณีการเหยียดผิว แต่เพียงจะชี้ให้เห็นว่าเพื่อนบ้านของเขาอย่างฝรั่งเศสกำลังนำพาประเทศเข้าคูคลองแห่งความมืดมนและผิดพลาด

พฤติกรรมการเสพติดความโหดร้ายของอิสลามและชาวมุสลิมของนายมาครง ตลอดจนการโหมโรงโจมตีพวกเขาในโอกาสต่างๆถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อความมั่นคงของฝรั่งเศสทัศนคติเชิงลบนี้ทำให้กระแสอิสลาโมโฟเบียและกลุ่มคลั่งลัทธิต่างๆมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาโดยด่วน

กลุ่มมุสลิมสุดโต่งที่เลือกใช้วิธีการรุนแรงในฝรั่งเศส เช่นกลุ่มที่บุกโจมตีสำนักพิมพ์นิตยสารชาร์ลี แอ็บโดในปี 2015 ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกประณามจากทุกฝ่ายและทุกศาสนา ก็ถือเป็นปฏิกิริยาโต้กลับที่สืบเนื่องจากพฤติกรรมอันไร้ศีลธรรมของพวกเขา ที่จงใจเติมเชื้อเพลิงด้วยการเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนนบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم  ซึ่งแทนที่พวกเขาจะหยุดการกระทำอันไร้จรรยาบรรณนี้ พวกเขากลับเผยแพร่ภาพการ์ตูนล้อเลียนอีกครั้งเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาใช้ตรรกะวิบัติในประเด็นอิสรภาพในการจาบจ้วง หาใช่อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด

หากอิสลามตกอยู่ในภาวะวิกฤตจริงสาเหตุหลักคงไม่พ้นการแทรกแซงของชาติตะวันตกต่อกิจการภายในของประเทศอิสลามในรูปแบบการล่าอาณานิคมยุคใหม่ เราลองตั้งชุดคำถามดูว่า

– ใครเล่าที่สนับสนุนรัฐก่อการร้ายอิสราเอล

– ใครเล่าที่คอยเสริมปัจจัยทางวัตถุดิบและเทคโนโลยีให้แก่อิสราเอลเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

– ใครเล่าที่ยึดครองอิรักและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิรักกว่า 2 ล้านคน พร้อมแปลงอิรักทั้งประเทศให้กลายเป็นประเทศที่ล่มสลายจนราบเป็นหน้ากลอง

– ใครเล่าที่คอยฝึกฝนกองกำลังทหารและสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มสุดโต่งที่ซีเรีย

– ใครเล่าที่เปลี่ยนลิเบียให้กลายเป็นรัฐล้มเหลวพร้อมขับไล่ประชากรกว่าครึ่งออกนอกประเทศ อีกทั้งยังปล้นสะดมความร่ำรวยของชาวลิเบียแล้วขนกลับไปยังประเทศของตนราวโจรสลัด

หวังว่านายมาครงจะมาให้คำตอบอย่างกระจ่างในเรื่องนี้ ถึงแม้จะเป็นความหวังที่เป็นไปไม่ได้และไม่มีทางเกิดขึ้นก็ตาม


อ่านเอกสารต้นฉบับ

โดยทีมข่าวต่างประเทศ

ตุรกี & กรีซ มหากาพย์แห่งความขัดแย้ง (ตอนที่ 3)

ถึงแม้ทั้งตุรกีและกรีซเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ แต่ทั้งสองก็มีข้อพิพาทกระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด ชนวนความขัดแย้งสรุปได้ดังนี้

1. เกาะไซปรัส
ไซปรัสเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก อยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกีราว 64 ไมล์ ห่างจากเกาะโรดส์และเกาะคาร์ปาทอสของกรีซราว 240 ไมล์ สมัยยุคกลางเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบเซนไทน์ ต่อมาถูกจักรวรรดิอุสมานียะฮ์เข้ายึดครอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้เข้ายึดครองจนกระทั่งประกาศเอกราชเมื่อปี 1960 แล้วจัดตั้งเป็นประเทศอย่างเป็นทางการชื่อว่าสาธารณรัฐไซปรัส

ถึงเเม้โดยนิตินัย ไซปรัสเป็นประเทศเดียว แต่โดยพฤตินัย ประเทศนี้ถูกแบ่งเป็นไซปรัสส่วนใต้ มีเนื้อที่ 5,895 ตร. กม. หรือ 65%ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกรีซ นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกส์ และไซปรัสเหนือ มีเนื้อที่ 3,355 ตร. กม. หรือ 35%ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เชื้อสายตุรกี

กรีซและสหประชาขาติให้การรับรองกรีซส่วนใต้ ในขณะที่ตุรกีเพียงประเทศเดียวที่ให้การรับรองกรีซส่วนเหนือ

ปัญหาเกาะไซปรัสเป็นปัญหาที่เปราะบางที่สุดระหว่างตุรกีกับกรีซ ซึ่งในอดีตได้เป็นชนวนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองมาแล้ว

2. ปัญหาพรมแดน
ปัญหาพรมแดนระหว่างตุรกีกับกรีซนับเป็นระเบิดเวลาที่กำหนดโดยข้อตกลงในสนธิสัญญาโลซาน ทั้งนี้ในทะเลอีเจียนซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสองประเทศนี้ ประกอบด้วยหมู่เกาะมากมายกว่า 2,000 เกาะ โดยหมู่เกาะเหล่านี้เกือบทั้งหมดตกเป็นของกรีซ ถึงแม้บางเกาะจะอยู่ติดชายฝั่งของตุรกีเพียง 2 กม. ก็ตาม สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด เมื่อกรีซยกประเด็นการครอบครองเขตน่านน้ำห่างจากชายฝั่งของตน 12 ไมล์ แทน 6 ไมล์ตามข้อตกลงสากล ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลอีเจียนเป็นกรรมสิทธิ์ของกรีซโดยปริยาย และทำให้ตุรกีประสบปัญหา ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกเลย ซึ่งตุรกีถือว่า ประเทศอียูโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลี พยายามให้ท้ายกรีซคิดการใหญ่เข่นนี้ ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นการประกาศสงครามในภูมิภาคทีเดียว

3. ปัญหาผู้อพยพ
วิกฤติซีเรียและอิรักทำให้ประชาชนหลั่งไหลอพยพหนีตายเข้าไปในตุรกีกว่า 4 ล้านคน บางส่วนได้อพยพเข้าในประเทศสหภาพยุโรปไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ทำให้ประเทศอียูได้ทำข้อตกลงกับตุรกีว่าให้ระงับการอพยพของชาวซีเรียเข้าไปในยุโรป โดยที่ประเทศอียูให้สัญญาว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่ตุรกี แต่ในความเป็นจริงประเทศอียูไม่เคยปฏิบัติตามสัญญา โดยปล่อยให้เป็นภาระของตุรกีตามลำพัง ทำให้ตุรกีขู่ว่าจะปล่อยผู้อพยพบางส่วนเข้าไปในประเทศยุโรปโดยเฉพาะประเทศกรีซ จนเกิดภาวะความตึงเครียดระหว่างชายแดนของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด

4.มัสยิดอายาโซเฟีย
อายาโซเฟียในอดีตคือโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดยุคจักรวรรดิไบเซนไทน์ นิกาย ออร์โธดอกส์และเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลนานกว่า 900 ปี ต่อมาหลังการล่มสลายของอาณาจักรนี้ ก็ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นมัสยิดเป็นเวลานานเกือบ 500 ปี ในยุคอุสมานียะฮ์ หลังการล่มสลายของอาณาจักรอุสมานียะฮ์ ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์นาน 86 ปี จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เดือนกรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกี ได้ลงนามประกาศอายาโซเฟียเป็นมัสยิดอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสภาคริสตจักรสากลและผู้นำนานาชาติหลายประเทศที่ถือว่าเป็นการสร้างชนวนความขัดแย้งทางศาสนาที่เปราะบางที่สุด แต่ก็ไม่ทำให้ตุรกีเปลี่ยนจุดยืนแม้แต่น้อย พร้อมตอบกลับอย่างเด็ดเดี่ยวว่า นี่คือกิจการภายในของตุรกี ที่มีอิสระตัดสินใจกระทำตามกระบวนการทางกฎหมายต่างชาติไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายกิจการภายในของตุรกี พร้อมยืนยันว่าตุรกียุคใหม่ไม่ใช่ตุรกียุคเก่าที่คอยปฏิบัติตามคำสั่งของชาติตะวันตกอีกแล้ว

จุดยืนของตุรกีครั้งนี้ สร้างความปิติยินดีเเก่ชาวมุสลิมและผู้ใฝ่หาความยุติธรรมทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน ได้ทิ่มแทงแผลเก่าที่เจ็บลึกให้แก่ชาติยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซ

อายาโซเฟียคือคือชีพจรที่เป็นตัวชี้วัดการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างชาติตุรกีกับชาติตะวันตกที่นำโดยประเทศกรีซ

5.ชนกลุ่มน้อย
ตุรกีกล่าวหากรีซว่ารัฐบาลกรีซล้มเหลวในการจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวตุรกีมุสลิมในประเทศกรีซ โดยเฉพาะปัญหาทางการศึกษาและความอิสระในการปฏิบัติตนตามความเชื่อ ประธานาธิบดีแอร์โดอานกล่าวว่า กรุงเอเธนส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงกรีก คือเมืองหลวงแห่งเดียวในสหภาพยุโรปที่ไม่มีมัสยิด ในขณะเดียวกันกรีซก็กดดันตุรกีให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนานิกายออร์โธดอกส์ที่อิสตันบูล นอกเหนือจากโบสถ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตุรกียังไม่อนุญาต

6.รัฐประหารล้มเหลว
ในค่ำคืนรัฐประหารล้มเหลวที่อิสตันบูลเมื่อปี 2016 มีนายพลจำนวน 8 นายที่หลบหนีไปกบดานที่เกาะกรีซที่อยู่เรียงรายชายฝั่งตุรกี ซึ่งรัฐบาลตุรกีได้ทำหนังสือเรียกร้องให้กรีซส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนทั้ง 8 คนมาดำเนินคดีที่ตุรกี แต่จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ได้รับความร่วมมือใดๆจากสมาชิกนาโต้ประเทศนี้เลย

ทั้ง 6 ประเด็นนี้ คือระเบิดเวลาที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจบานปลายนำไปสู่สงครามในภูมิภาคโดยเฉพาะหลังการตรวจพบแหล่งพลังงานอันมหาศาลทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของประเทศตุรกี


โดย Mazlan Muhammad

ดูเพิ่มเติมที่ https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/8/29/تركيا-واليونان-تاريخ-طويل-من

ตุรกี & กรีซ มหากาพย์แห่งความขัดแย้ง (ตอนที่ 2)

وَلَن تَرضَى عَنكَ اليَهُودُ وَلَا النَصَارَى حَتٌَى تَتَّبِعَ مِلَّتَهُم (البقرة/120)

ความว่า : และชาวยิวและชาวคริสต์นั่น จะไม่พึงพอใจเจ้า (มุฮัมมัด) เป็นอันขาด จนกว่าเจ้าจะปฏิบัติตามแนวทางของพวกเขา

ตุรกีและกรีซมีปัญหาความขัดแย้งที่ปะทุมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์หากผู้อ่านย้อนอดีตสมัยสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ บุกพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ค.ศ. 1453 ซึ่งถือเป็นการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิไบเซนไทน์ที่รุ่งเรืองมากกว่า 1,100 ปี ก็สามารถต่อภาพจิ๊กซอว์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งในปัจจุบันคือกรุงอิสตันบูล ถือเป็นเมืองหลวงของอารยธรรมกรีกที่จักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 11 และสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 ครองราชย์และมีอำนาจในเมืองนี้ หลังการล่มสลาย ชาวกรีกก็อพยพไปยังส่วนต่างๆของยุโรปโดยเฉพาะอิตาลีและกรีซในปัจจุบัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือรัฐกรีซในปัจจุบัน ก็คืออาณาจักรไบเซนไทน์ในอดีตนั่นเอง (ดู https://th.m.wikipedia.org/wiki/การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล)

กาลเวลาผ่านไปเกือบ 600 ปี ไฟแค้นที่มีต่อลูกหลานของสุลตานมูฮัมมัด อัลฟาติห์ยังคงคุกรุ่นตลอดเวลา

สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ได้รับการบันทึกให้ดูเหมือนว่า เกิดขึ้นเพราะชาติยุโรปมีความขัดแย้งกันเอง ซึ่งอาจมีส่วนถูกบ้างเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้น เพราะอีกกว่า 90% คือต้องการทำลายอาณาจักรอุษมานียะฮ์ล้วนๆ เพราะฝ่ายที่สูญเสียและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 หาใช่ชาติยุโรปที่แพ้สงคราม แต่กลับกลายเป็นอาณาจักรอุษมานียะฮ์ ที่หลังจากถูกเฉือนแบ่งจนแตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว ชาติตะวันตกยังวางบ่วงบาศคล้องคอตุรกีใหม่ให้กลายเป็นรัฐอัมพาตนับร้อยปี (ดู https://www.theustaz.com/?p=4287 ) โดยที่ชาติยุโรปอื่นๆที่แพ้สงครามไม่ได้ถูกลงโทษด้วยมาตรการที่รุนแรงเหมือนตุรกีเลย ยิ่งไปกว่านั้นชาติยุโรปโดยผู้นำหุ่นเชิดที่นำโดยมุสตะฟา เคมาลได้บีบบังคับให้ตุรกีปฏิเสธอิสลาม พร้อมถอดคำสอนศาสนาเหมือนถอดเสื้อโต้บที่สวมใส่

หากผู้อ่านศึกษาชะตากรรมของลูกหลานสุลตานอุษมานียะฮ์ ที่ต้องระเหเร่ร่อนเยี่ยงขอทานทั่วยุโรปแล้ว จะรู้เลยว่าความแค้นของพวกเขา มีความรุนแรงและลุ่มลึกแค่ไหน (ดู https://www.facebook.com/groups/422133821263587/permalink/1451275405016085/)

หากชาติตะวันตกที่นำโดยคริสตจักร มีความบริสุทธิ์ใจต่อศาสนาอิสลามและประชาชาติมุสลิม แม้เพียงวันเดียว อัลกุรอานในซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์/120 จะกลายเป็นโมฆะทันที ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้โดยเด็ดขาด เพราะอัลกุรอานคือพจนารถแห่งอัลลอฮ์ ผู้ตรัสจริงเสมอ


โดย Mazlan Muhammad

ตุรกี & กรีซ มหากาพย์แห่งความขัดแย้ง (ตอนที่ 1)

1. ภาพแรก เป็นการแสดงแผนที่ของทั้ง 2 ประเทศ โดยประเทศกรีซ คือพื้นที่สีเหลืองทั้งหมด ซึ่งมีเกาะเล็กเกาะน้อยนับสิบกว่าเกาะที่ติดชายแดนตุรกีที่มีสีม่วง แต่เกาะดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของประเทศกรีซ ถึงแม้บางเกาะ อยู่ติดชายฝั่งตุรกีเพียง 2 กม. และห่างไกลจากกรีซแผ่นดินใหญ่กว่า 500 กม. สนธิสัญญาโลซานได้วางหมากอัปยศที่เป็นระเบิดเวลานี้ ที่สร้างความเจ็บแค้นแก่ชาวตุรกี ซึ่งมองว่า นอกจากเป็นการตบหน้าชาติตุรกี ด้วยการขีดเส้นพรมแดนที่แปลกประหลาดที่สุดในโลกแล้ว ตะวันตกยังมีเจตนาร้ายที่ต้องการใช้หมู่เกาะเหล่านี้เป็นป้อมยามที่คอยเฝ้าระวังตุรกีทุกฝีก้าวอีกด้วย ชาวตุรกีต้องกัดฟันอย่างอดทนสุดๆมาเกือบร้อยปี

2. ภาพที่ 2 เป็นข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศเรื่องอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตามอนุสัญญาสหประชาขาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากทะเลเอเจี้ยนที่ห่างจากชายฝั่งของตนระยะ 6 ไมล์ ในรูป พื้นที่สีฟ้าคืออาณาเขตทางทะเลของกรีซ และพื้นที่สีส้มเข้มคืออาณาเขตทางทะเลของตุรกี ส่วนพื้นที่สีขาวคือเขตน่านน้ำสากล ที่ตุรกีสามารถใช้ประโยชน์ออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

นี่คือข้อตกลงตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

แต่วันดีคืนดี กรีซเรียกร้องว่าตนมีสิทธิ์ครอบครองอาณาเขตทางทะเลที่ห่างจากฝั่งของตนยาว 12 ไมล์ อาศัยที่กรีซมีเกาะมากมายเรียงรายประชิดชายฝั่งตุรกี ทำให้กรีซมีอาณาเขตทางทะเลเพิ่มขึ้นมากมาย จนไปทับเขตน่านน้ำสากล ทั่วทะเลเอเจี้ยน จึงมีสีฟ้าเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตุรกีไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยปริยาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือต้องการปิดกั้นตุรกีไม่ให้ออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เนียนนั่นเอง

ตุรกีประกาศอยู่ตลอดเวลาว่าพร้อมเจรจาโดยสันติ และพร้อมกางแผนที่แสดงอาณาเขตทางทะเลตามข้อตกลง ตุรกีไม่เคยมีเจตนารุกล้ำเขตเพื่อนบ้านนอกจากปกป้องสิทธิของตนเท่านั้น

แต่ในขณะเดียวกัน ตุรกีพร้อมทำสงครามเพื่อปกป้องอธิปไตยเหนือทะเลเอเจี้ยน และประกาศอย่างดุดันว่า ตุรกีในปัจจุบันไม่ใช่ตุรกีในอดีตที่ชาติตะวันตกสามารถลูบศีรษะได้ตามอำเภอใจ ยุคแห่งการปล้นสะดมของชาติตะวันตกที่มีต่อชาติที่อ่อนแอกว่าได้หมดไปแล้ว

หากคุณเป็นชาติตุรกี
ถามว่าคุณจะมอบกระเช้าดอกไม้ แสดงความยินดีกับประเทศกรีซหรือ


โดย Mazlan Muhammad

น้ำใจจากซาอุฯสู่เลบานอน

ศูนย์บรรเทาทุกข์กษัตริย์ซัลมานได้มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และยาเวชภัณฑ์แก่โรงพยาบาลในเลบานอนจำนวน 8 แห่ง พร้อมให้การบริการฟรีแก่ผู้มารับบริการ

ประเทศซาอุดิอาระเบียถือเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเลบานอนเนื่องจากเหตุระเบิดถล่มเบรุตเมื่อ 4 สิงหาคม 2563

แหล่งข่าว
سفارة المملكة العربية السعودية ، عمان
Royal Embassy of Saidi Arabia,Amman

หนุ่มยูทูเบอร์ชาวอังกฤษรับอิสลาม

Jay Palfrey ยูทูปเบอร์ชาวอังกฤษ ประกาศเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในมัสยิดแห่งหนึ่งในตุรกี หลังจากเดินทางค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมมายาวนาน เขากล่าวว่า ชีวิตในประเทศอิสลามทำให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนาที่สวยงามและสงบสุขนี้

ดูเพิ่มเติม https://www.facebook.com/103622369714881/posts/3791697677573980/


โดยทีมงานต่างประเทศ

ชาวปาเลสไตน์ได้รับเนื้อกุรบานจากพี่น้องเมืองไทย

ตามที่กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันและภาคีองค์กรได้แก่ มัสยิดอัตตะอาวุน Jaringan Badan-Badan Islam dan Masjid Wilayah Jala -JABIM มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชนและ theustaz.com ซึ่งเป็นองค์กรในภาคีเครือข่ายสภาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีได้ดำเนินโครงการกุรบาน ณ เมืองชาม ซึ่งสามารถเก็บยอดเงินบริจาคจำนวน 415,880 บาท โดยส่วนหนึ่งได้มอบให้แก่ AL-Quds Foundation Malaysia จำนวน 195,900 บาท นั้น

ในช่วงอิดิลอัฎฮา 1441 ที่ผ่านมา AL-Quds Foundation Malaysia ได้เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวไทยเชือดกุรบานที่เขตเวสต์แบงค์ ชานเมืองบัยตุลมักดิสและเมืองกาซ่าโดยสามารถเชือดแกะจำนวน 45 ตัวและสามารถจ่ายเนื้อกุรบานไปยังครอบครัวยากจนในปาเลสไตน์กว่า 150 ครอบครัว

Dr. Sharif Abu Shammala ผู้อำนวยการ AL-Quds Foundation Malaysia กล่าวว่า ในนามพี่น้องชาวปาเลสไตน์ ต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมครั้งนี้ จุดยืนของท่านที่มีต่อแผ่นดินอันจำเริญนี้ ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่สะท้อนถึงเอกภาพของประชาชาติมุสลิม ซึ่งพี่น้องจากประเทศไทยได้ยืนหยัดเคียงข้างกับปัญหาปาเลสไตน์ด้วยดีเสมอมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อัลลอฮ์จะทรงตอบรับการงานที่ดีของท่านและสะสมในสมุดบันทึกแห่งความดีงาม

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ