โควิด-19 | COVID-19

เมื่อโลกขยับ รับลูก ที่ถูกสั่ง
ส่งมายัง ผืนหล้า ถิ่นอาศัย
เพื่อทดสอบ ทดลอง คัดกรองใจ
โลกหวั่นไหว ลุกลาม ตามไม่ทัน

ชื่อโควิด รุ่น19 เจ้าดุดัน
พุ่งทะยาน โจมจู่ ชาวอู่ฮั่น
เจ้าสำแดง แรงฤทธิ์ ขวิดทุกวัน
ไม่เลือกชั้น ใหญ่โต ในโลกา

เป็นวาระ แห่งชีวิต ลิขิตนี้
ต่างก็มี ตัวตน ให้ค้นหา
โลกจารึก จดจำ ในตำรา
ความศรัทธา ตัวชี้วัด ต้องจัดไป

ขออัลลอฮฺ ปกป้อง คุ้มครองเถิด
ความประเสริฐ เมตตา มาหลั่งไหล
ความทุกข์ร้อน รันทด จงหมดไป
ขออภัย ในผิดพลาด บังอาจเทอญ

Amin Yaena
29-3-2020

อย่าลืมสร้างภูมิให้ตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

# ข้างในก็สำคัญ #

ดุอาอ์ก็แล้ว ใส่หน้ากากก็แล้ว กักตัวในบ้านก็แล้ว
ซื้อของตุนก็แล้ว ล้างมือก็สิบรอบแล้ว
อย่าลืมที่สำคัญมากอีกอย่างนึงเนาะ #ดูแลตัวเองให้แข็งแรง
เราตั้งกำแพงล้อมคอกดิบดี แต่ถ้าทหารของเราอ่อนแอ
ข้าศึกจู่โจมเมื่อไหร่เราก็รอดยาก

อย่าลืมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง อันนี้สำคัญมาก

รู้มั้ย?
อัลลอฮสร้างทหารในร่างกายเรา มีชื่อว่ามิสเตอร์แอนตี้บอดี้
เจ้าทหารกลุ่มนี้มีหน้าที่ดักจับศัตรูที่เรียกว่าเชื้อโรค
และคอยปกป้องไม่ให้ข้าศึกจากภายนอกมารุกราน

ทหารพวกนี้จะมีกลไกสร้างความแข็งแรงให้ตัวเอง
ถ้าเจ้าของประเทศช่วยดูแลแวดล้อมของพวกเค้าให้ดี ด้วยการดูแลตัวเองให้ดี

เพราะฉะนั้น ภารกิจสำคัญไม่แพ้กันตอนนี้คือ
#เราต้องช่วยให้ทหารในร่างกายเราแข็งแรง
ยังไงบ้าง?
ส่วนใหญ่ก็เรื่องเบสิคๆที่ครูสอนตอนอยู่ประถมนั่นล่ะ
หลักพื้นฐานของการกินดีอยู่ดี

#พิถีพิถันเรื่องการกิน กินอาหารดีๆมีประโยชน์ เลี่ยงกินอะไรที่เสี่ยงเกิดโรค
เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน แต่ยังกินอาหารขยะ ชาไข่มุกวันสองแก้วงี้
อันนี้ก็ไม่ไหวป่ะ
ช่วงนี้เป็นไปได้ก็ทานผักผลไม้ให้เยอะหน่อย อาจทานวิตามินเสริมเพิ่มไปสวยๆ
กินวิตซี ฮับบะตุสเซาดาอ์ทุกคืนงี้
บำรุงให้ทหารเราแข็งแรง อินชาอัลลอฮน่าจะช่วยได้

#พิถีพิถันเรื่องการนอน พักผ่อนให้เพียงพอ
เอาเข้าจริง ถ้าจะต้องติดตามข่าวสารเพราะกลัวมาก
ชนิดนอนน้อยตาย้อยเพลีย ก็ไม่ไหวเหมือนกันเนาะ
ถ้าเรานอนน้อยพักผ่อนไม่พอ ร่างกายมันก็อ่อนแอลง
เพราะทหารในร่างกายไม่มีเวลาชาร์จพลังงาน เราก็จะป่วยง่ายขึ้น
รู้ข่าวตั้งเยอะแยะมากมาย แต่ร่างกายกลับอยู่ในโหมดพร้อมโดนจู่โจมงี้
อันนี้ก็ไม่ไหว

#พิถีพิถันเรื่องหัวใจ รู้จักปล่อยวางบ้าง
ถ้าเราเสพข่าวมากจนวิตกกังวล แนะนำให้วางลงบ้างก็ได้เนาะ
จำไว้ว่า fear can do more harm than virus
ความกลัวอันตรายกว่าไวรัสมากมาย
เวลาเสพข่าวเยอะ เราจะกลัวมากขึ้น
พอกลัวมาก เราอาจตระหนกมากขึ้น จนพาลวิตกกังวล
และพอกังวลมากเข้า นอกจากทหารเราจะเพลียแล้ว
ฮอร์โมนความสุขในร่างกายก็หลั่งน้อยลง ความเป็นกรดก็เพิ่มขึ้น
พอร่างกายมีกรดเยอะ เราจะป่วยง่ายขึ้น
ไปๆมาๆ ไอ้คนที่รู้เยอะสุดนี่แหละที่จะเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายสุด
ready school China เรียบร้อยโรงเรียนจีน …

#พิถีพิถันเรื่องความสะอาด ล้างมือบ่อยขึ้น ตั้งใจขึ้น
อันที่จริง ไม่ต้องรอโควิดมาเราก็ต้องอยู่สะอาดเนาะ เพราะอิสลามเราเน้นเรื่องนี้มาก
อัลลอฮรักความสะอาด พระองค์รักบ่าวที่สะอาด
ศาสนาเราจึงมีอะไรครอบคลุมเรื่องการดูแลความสะอาดกายและใจเยอะแยะมากมาย

พวกเราถูกสอนให้ล้างมือล้างหน้ากันทุกวัน
ผ่านการเอาน้ำละหมาด วันละตั้ง 5 เวลาเป็นอย่างน้อย
ถ้าเราจริงจังกับสิ่งที่อัลลอฮสั่งใช้นะ
ชีวิตเราจะสวยปลอดโรคแบบไม่ต้องรอโควิดมาไล่ขวิดเลยอ่ะ อันนี้พูดจริง

พูดถึงการเอาน้ำละหมาด มีอย่างนึงที่อยากจะบอกให้เราใคร่ครวญกัน

ถ้าเราตั้งใจเอาน้ำละหมาดจริงๆ
ทำอย่างบรรจงเหมือนตอนนี้ที่เราตั้งใจล้างมือเพราะกลัวเจ้าโควิดนะ
ชีวิตเราคงจะน่ารักขึ้นเยอะเลย
ช่วงนี้เราล้างมือกันอย่างพิถีพิถัน เพราะเรากลัวว่าเจ้าเชื้อโรคจะตกค้าง
แต่ตอนเอาน้ำละหมาด เราจริงจังเบอร์นี้มั้ยนะ?
ทั้งๆน้ำละหมาด มันช่วยกำจัดอะไรได้มากกว่าเชื้อโรคอ่ะ
แต่เรากลับไม่ซีเท่ากลัวโควิด
ถ้าเรากลัวบาปเหมือนที่เราขยะแขยงเชื้อโรคบ้าง คงจะดีเนอะ …
หากเราได้เห็นบาปที่มันร่วงตอนเอาน้ำละหมาด เราคงพิถีพิถันกันทุกคน
บาป..มันสกปรกและอันตรายกว่าเชื้อโรคมากมาย
แต่นั่นล่ะเนาะ..บาปมันเป็นนามธรรมไง เรามองไม่เห็น เราเลยไม่ใส่ใจนัก
แต่กระนั้นเจ้าตัวเชื้อโรคเองเราก็มองไม่เห็นนี่นา
ทำไมเราถึงตั้งใจและกลัวเว่อร์
คงเป็นเพราะเราเชื่ออะเนาะ เราเชื่อว่ามันมีอยู่จริง
ความเชื่อมันมีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์มาก
เราจึงลงมือทำและตั้งใจกลัวโควิดกันมากมาย

ถ้าเราเชื่อและตระหนักว่าบาปบุญมีจริงแม้จะมองไม่เห็น
เชื่อว่าชีวิตเราคงเปลี่ยนไปมากอ่ะ
เราคงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น เธอว่าจริงมั้ย? …

สุดท้าย ท้ายสุด อยากให้จำไว้เสมอเนาะ
ไม่ต้องเครียดและวิตกเกินไป
โควิด powerful แค่ไหน มันก็เป็นแค่มัคลู้กตัวหนึ่งของอัลลอฮ
มีแสนยานุภาพมากแค่ไหน ก็ไม่มีทาง powerful เท่าผู้สร้างมัน
เรามีอัลลอฮ ผู้ทรงอานุภาพเหนือสิ่งอื่นใด วางใจเนาะ
ป้องกันตัวเอง แล้วมอบหมายอย่างหนักแน่น
ให้เชื่อมั่นว่าพระองค์จะดูแลเรา
because Allah loves you more than you love yourself.

แค่อยากให้เธออุ่นใจ
แค่อยากให้เธอปลอดภัย
เมื่อเธอเปลี่ยนจากข้างใน
อะไรข้างนอกก็เปลี่ยนตาม

ด้วยรักและดุอาอ์ให้กันและกันเนาะ ❤️

เขียนโดย ครูฟาร์ Andalas Farr

การปิดมัสยิดเนื่องจากวิกฤตโคโรนาและวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลาม (ตอนที่ 2)

บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)

*****

5. การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายศาสนา

ผู้ที่คัดค้านฟัตวามัสยิดปิดกล่าวว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต อันเป็นหลักการพื้นฐานประการหนึ่งที่อุลามาอ์ประชาชาติอิสลามเห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์

ณ จุดนี้ จำเป็นที่จะชี้แจง 3 ประการ

ประการแรก : ไม่เป็นความจริงที่อุลามาอ์อุศูลุลฟิกฮ์เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์ว่า การรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิต
เพราะมีทัศนะจำนวนมากเห็นว่า กว่าการรักษาชีวิตสำคัญกว่าการรักษาศาสนา

อันเป็นทัศนะของนักอุศูลุลฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายท่าน เช่น อัลรอซี ,อัลกอรอฟี, อัลบัยฎอวีย์, อิบนุตัยมียะฮ์ , อัลอิสนะวีย์, อัลซัรกะซีย์ ฯลฯ เพราะการรักษาศาสนาเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการรักษาชีวิตก่อน และเพราะว่าอัลลอฮ์อนุโลมให้กล่าวคำพูดหลอกๆ ที่บ่งบอกถึงเป็นการสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมเพื่อรักษาชีวิต

ประการที่สอง : สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง การงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ก็ไม่ใช่เป็นการทำลายศาสนา เพราะยังมีการละหมาดที่บ้านและละหมาดซุฮ์รี่แทนละหมาดวันศุกร์

ประการที่สาม สมมติว่าการรักษาศาสนาสำคัญกว่าการรักษาชีวิตเป็นทัศนะที่ถูกต้อง แต่เมื่อเป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนา อันได้แก่ การรักษาชีวิต ขัดแย้งกับเป้าหมายเสริม อันได้แก่ การละหมาดญามาอะฮ์ เป้าหมายหลักที่จำเป็นสูงสุดของศาสนาในการรักษาชีวิต ต้องมาก่อนเป้าหมายเสริมในการรักษาศาสนา อันเป็นทัศนะของนักวิชาการและผู้มีปัญญาทั่วไป

6. อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล

คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม

จึงมีผู้กล่าวว่า พวกท่านสั่งปิดมัสยิดได้อย่างไร ทั้งๆที่มัสยิดเป็นสถานที่บำบัดรักษาโรคร้าย

และมีผู้กล่าวว่า หลักฐานการห้ามปิดมัสยิดคือ อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ مَنَعَ مَسَاجِدَ اللَّهِ أَنْ يُذْكَرَ فِيهَا اسْمُهُ وَسَعَى فِي خَرَابِهَا

“และผู้ใดที่อธรรมยิ่งกว่าผู้ห้ามการรำลึกถึงนามของอัลลอฮ์ในมัสยิดของอัลลอฮ์ และพยายามทำให้เสื่อมโทรม” (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 114 )

บ้างกล่าวว่า โรคระบาดมีสาเหตุมาจากบาป การรักษาทำโดยการละหมาด ไม่ใช่การปิดมัสยิด

บางคนเชื่อมโยงความเชื่อในการลิขิตของอัลลอฮ์กับการเป็นโรคร้าย อีกทั้งยามใดที่เกิดความหวาดกลัว ท่านนบีก็จะไปละหมาด แต่เมื่อเรากลัวไวรัสกลับไปปิดมัสยิด

ตลอดจนหลักฐานที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ ที่ทำให้ศาสนาถูกตั้งข้อสงสัยและข้อกล่าวหาในโลกที่เปิดกว้างนี้

7. การไม่ยอมรับนิติศาสตร์เชิงสร้างสรรค์และคำถามเกี่ยวกับการกระทำของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นก่อนในข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกัน

คำถามที่ผู้ต่อต้านการปิดมัสยิดจำนวนมาก คือ โรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นในยุคของท่านอุมัร บินค๊อตตอบ และคนอื่น ๆ พวกเขาเคยปิดมัสยิดหรือไม่ ? แม้ว่ามัสยิดจะถูกปิดและละหมาดญามาอะฮ์ถูกงดในยุคกาฬโรคระบาด แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า เพียงคำถามก็บ่งบอกถึงปัญหา จำเป็นหรือไม่ที่ทุกประเด็นใหม่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ ต้องมีแบบอย่างในประวัติศาสตร์ของซอฮาบะฮ์และชนรุ่นแรก ปัจจุบันเรามีความรู้ด้านการแพทย์เหมือนที่พวกท่านเหล่านั้นมีในยุคนั้นหรือ ? เราต้องปฏิบัติเกี่ยวกับไวรัสตามความรู้ที่เรามี เหมือนดังที่ท่านเหล่านั้นปฏิบัติต่อการระบาดของกาฬโรคในเมืองอัมมะวาสหรืออื่นๆ ในอดีตหรือ ?

ในการประชุมคราวหนึ่ง ข้าพเจ้าอยู่กับนักคิดชาวโมร็อกโกศาสตราจารย์อบูซัยด์ อัลอิดรีสีย์ ท่านบอกว่า ช่วงเวลาของความเห็นทางกฏหมายอิสลามไม่ควรเกิน 100 ปี หลังจากนั้นแล้วเราต้องอิจติฮาดใหม่ ข้าพเจ้ากล่าวว่า ท่านจำกัดระยะเวลาจากหะดีษเกี่ยวกับนักปฏิรูปที่อัลลอฮ์ส่งมาช่วงเริ่มต้นของทุก ๆ ร้อยปีหรือ ?

ท่านตอบว่า : ใช่

ข้าพเจ้ากล่าวว่า แต่ความเป็นจริงทางกฎหมายอิสลามบอกว่าระยะเวลาน้อยกว่านั้น ระยะเวลาระหว่างอาบูฮานิฟะฮ์และลูกศิษย์สองคนของท่าน ประมาณสามสิบหรือสามสิบห้าปี แต่ลูกศิษย์ทั้งสองของท่านมีความเห็นต่างจากอบูฮานีฟะฮ์ถึงสามในสี่ของมัซฮับ เหตุผลคือความแตกต่างด้านเวลาและสถานที่ ไม่ใช่ตัวบทหลักฐาน

ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ใหม่ทำให้นักกฎหมายอิสลามต้องวินิจฉัยใหม่จากเจตนารมณ์และเป้าหมายของศาสนา ที่สานต่อมรดกทางวัฒนธรรม และก้าวไปตามกาลเวลาและพัฒนาการใหม่ๆ ที่สะท้อนจิตวิญญาณที่แท้จริงของศาสนา

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 1 : https://www.theustaz.com/?p=3230

อย่าทำเป็นเล่นกับสัญญาณของพระเจ้า

ความดันทุรังของปวงประชา
ความไม่ประสาของรัฐบาล
คือสองพลังแห่งความวิบัติ

จากที่เคยตะเบ็งว่า เอาอยู่
อาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมหมู่

จากที่เคยบายานว่าเราศรัทธา
อาจเห็นโลงศพพร้อมน้ำตา

จากที่เคยมองข้ามไวรัสร้าย
อาจทำให้ทุกอย่างสิ้นมลาย

———
อย่าทำเป็นเล่นกับสัญญาณของพระเจ้า
وما نرسل بالآيات إلا تخويفا
“และเรามิได้ส่งสัญญาณลงมา เว้นแต่เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่มนุษย์เท่านั้น” (อิสรออฺ/59)

اللهم لا تهلكنا بما فعل السفهاء منا
โอ้อัลลอฮ์ อย่าได้ทำลายพวกเรา เนื่องจากผลงานของคนโง่เขลาในหมู่เรา

اللهم أعذنا وأعذ جميع أولادنا وأزواجنا وذرياتنا وإخواننا وأخواتنا ومشايخنا وطلابنا وطالباتنا ومن أوصانا بالدعاء والمسلمين والمسلمات والعباد والبلاد من البرص والجنون والجذام وسيئ الأسقام ووباء كورونا ومن جهد البلاء ودرك الشقاء وسوء القضاء وشماتة الأعداء واشف مرضانا واحفظنا جميعًا بحفظك الحصين من كل سوء ومكروه يا عزيز يا غفار يا ذا الجلال والإكرام

การปิดมัสยิดเนื่องจากวิกฤตโคโรนาและวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลาม (ตอนที่ 1)

บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)

*****

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเนื่องจากไวรัสโคโรนา องค์กรฟัตวาทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการอิสระจากทั่วโลก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสและความสะดวกในการติดเชื้อ ฟัตวาที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการฟัตวาปิดมัสยิดเพื่อปกป้องผู้คนจากไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้คนมีความเห็นแตกต่างกันสุดกู่ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีบางส่วนคัดค้าน โดยอ้างฟัตวาของนักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงและนักสอนศาสนาบางคน บางคนหันไปใช้รูปแบบประหลาดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการฟัตวาปิดมัสยิดและป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การแยกผู้ละหมาดในมัสยิดเพื่อให้อยู่ห่างๆกันระยะหนึ่งเมตร หรือการละหมาดหลายๆญามาอะฮ์ในมัสยิดเดียวกันในวันศุกร์ ภาพเหล่านี้และภาพอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจความเป็นจริงของไวรัส และวิธีการติดต่อ รวมถึงการขาดเจตนารมณ์นิติศาสตร์และความหมายของการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ สิ่งที่ต้องการชี้แจงในบทความนี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลามร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ประจักษ์ดังนี้

1. นักกฎหมายอิสลามเป็นผู้ตามการบัญชาของผู้มีอำนาจทางการเมือง

เป็นที่สังเกตว่าผู้ฟัตวาส่วนใหญ่ที่แนะนำให้งดการชุมนุมและการรวมกลุ่ม มักตัดสินใจตามการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายสาธารณสุขในประเทศ และด้วยเหตุนี้นักฟัตวาจึงจำกัดและขัดขวางการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยอาศัยคำสั่งจากผู้ปกครองในประเทศ ไม่ใช่การฟัตวาที่กำหนดนโยบายทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าบทบาทของนักกฎหมายอิสลามนั้น จำกัดอยู่ในขอบเขตการตัดสินใจของผู้ปกครอง และการหาข้ออ้างทางกฎหมายให้แก่พวกเขา ข้าพเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้มีการปะทะหรือแย้งกันระหว่างนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจ แต่ต้องการปลดปล่อยให้นักกฎหมายมีอิสระในการวินิจฉัย และเพื่อค้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาและพิทักษ์ผลประโยชน์ที่แท้จริง ที่ผู้มีอำนาจต้องทำตาม ไม่ใช่ตรงกันข้าม นอกจากนั้นปฏิกิริยาของประชาชนซึ่งบางครั้งปฏิเสธที่จะปิดมัสยิดก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนักกฎหมายและนักสอนศาสนาในการสร้างแนวคิดและสภาพแวดล้อมที่ยอมรับการตีความใหม่ ที่ทำให้การพิทักษ์ชีวิตเป็นแกนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่อิสลามทำให้มนุษยชาติเสี่ยงชีวิตเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาที่มีรูปแบบหลากหลายและทดแทนกันได้

2. การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตศึกษาและการคาดการณ์

คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม

อิหม่ามซุฟยาน อัลเซารีย์ กล่าวว่า : “เมื่อบททดสอบสิ้นสุดลงทุกคนเข้าใจคำตอบ แต่เมื่อเริ่มมาถึงจะไม่มีผู้ใดเข้าใจยกเว้นผู้รู้เท่านั้น”

ดังนั้น นักกฎหมายอิสลามคือผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้ววินิจฉัยบทบัญญัติตามหลักนิติวิธีก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง และไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยเหมือนคนทั่วๆไป

กรณีโคโรนา นักกฎหมายอิสลามก็เหมือนคนทั่วไป พวกเขาไม่ได้ฟัตวาให้หยุดการชุมนุมทางศาสนา นอกจากหลังจากที่ไวรัสได้แพร่กระจาย และเข้าใกล้เขตอันตรายแล้ว ดังนั้นบทบาทของฟัตวาจึงถูกจำกัดอยู่ในวงที่เล็กและมีอิทธิพลน้อยกว่ากรณีที่พวกเขาสามารถคาดการณ์เท่าทันการวินิจฉัยทางการแพทย์ และศึกษาผลกระทบของไวรัสในประเทศอื่นๆ

นักกฎหมายอิสลามจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจารีตในสังคมที่อ่อนแอและล้าหลังในเรื่องอนาคตศาสตร์ จึงอาศัยอยู่กับปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมของอดีตที่ผ่านมา และน้อยนักที่จะมองถึงการคาดการณ์ในอนาคต

3. การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส

ในการสนทนากับนักกฎหมายอิสลามจำนวนมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาบางคนไม่เชื่อนอกจากสิ่งที่มีตัวตนสัมผัสได้ ต้องการเห็นไวรัสด้วยตาจึงจะเชื่อ หรือต้องแลกชีวิตของคนใกล้ชิดจึงจะเชื่อในอันตรายของไวรัสนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพียงแผนร้ายที่ต้องไม่เชื่อ อย่าว่าแต่ต้องหยุดพิธีกรรมทางศาสนา คนเหล่านี้ต้องการละหมาดวันศุกร์ด้วยคนจำนวนน้อยหรือตามรูปแบบดังกล่าวตอนต้นของบทความ ที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางการแพทย์ขั้นต่ำเกี่ยวกับไวรัส ตลอดจนภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของไวรัสชนิดนี้ รวมถึงความเร็วของการแพร่กระจาย และบุคคลที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆก็ได้ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ พวกเขาไม่ทราบว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวได้แพร่กระจายไวรัสชนิดนี้ในเกาหลีเนื่องจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์แห่งหนึ่ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้ละหมาดในมัสยิดที่มักเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากที่สุด ตลอดจนประเพณีของชาวมุสลิมในมัสยิดที่มักจับมือกัน กอดและสุหยูดในที่ที่มีผู้อื่นสุหยูดแล้ว อันจะทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายอย่างยิ่ง

4. ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลาม

สำหรับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลามเพื่อให้มีการแบ่งความเชี่ยวชาญและเราควรมีนิติเวชอิสลาม นิติเศรษฐกิจอิสลาม … ฯลฯ นิติเวชอิสลามมีการศึกษาทางการแพทย์ มีเครื่องมือในการวิจัยและสามารถประเมินข้อมูลที่อ่านได้

ทั้งนี้ เพราะว่าปัญหาทางการแพทย์และเศรษฐกิจนิติศาสตร์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น บางครั้งมาจากความผิดพลาดในการนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง

ยุคนี้หมดยุคนักสารานุกรมซึ่งเป็นที่รู้ลึกทุกด้าน เพราะโลกปัจจุบันมีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงกัน ระบบของความคิดทางนิติศาสตร์อิสลามจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

อ่านบทความต้นฉบับ
https://blogs.aljazeera.net/…/%D8%A5%D8%BA%D9%84%D8%A7%D9%8…

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านตอนที่ 2 : https://www.theustaz.com/?p=3286

Perjuangan Suci

PERJUANGAN SUCI

Sang mentari melabuhkan cahaya .
Kicauan beburung memecah suasana.
Deru angin menyambut seruan sang bayu.
Begitulah perumpamaan sebuah fitrah.
Keharmonian sebaik- baik umat.

Sejarah keunggulannya.
Diukir dengan tinta emas.
Dipahat ke desar memori.
Membuktikan keikhlasan pengabdian.
Kepada Allah Pencipta alam.

Mereka umpama satu jasad .
Membentuk satu kesatuan yang utuh.
Di bawah satu kepimpinan yang kukuh .

Tetapi
Serpihan kemusnahan makin terasa.
Tatakala manusia lupa pada Pencipta .
Alpa di kala ni’mat melimpah.
Sedangkan kiamat hampir menggamit kita.

Umat ini LEMAH bukan kerana Islam .
Umat ini REBAH bukan kerana Islam .
Umat ini diSANGGAH bukan kerana Islam.
Tetapi umat ini diTINDAS, TEWAS kerana melupakan Islam.

Sedang umat ini dihimpit.
mereka terus berpecah.
Mereka selalu bertikam lidah.
Dengan permasalahan ranting dan Khilafiah.

Mereka bukan lagi jasad yang satu.
Kini masing-masing menyepi.
Demi kepentingan diri sendiri.
Mengapa ini terjadi.
MENGAPA
Kerana kita mula mencintai dunia dan takutkan mati.

Bersama lah kita mengimbas kembali.
Perjuangan mujahid terdahulu.
Yang tidak teragak-agak menghunus pedang.
Apabila seruan jihad memanggil.
Tidak kedekut menyumbang harta.
Tidak jemu mencurah bakti dan jasa.

Tidak takut menyerah nyawa.
Demi Islam tercinta.
Dan menjunjung Kalimah Allah Yang Maha Kuasa.


Nukilan : Ibnu Desa

บทเรียน 19 ข้อ ว่าด้วยไวรัสโควิด-19

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายพื้นที่การแพร่ระบาดไปยังทั่วทวีปในทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้ theustaz.com จึงใคร่ถือโอกาสถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

1. ‏ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่ชาวโลกเชื่อว่ามันมีจริง เพราะพิสูจน์ได้และผลร้ายของมันก็เป็นที่ประจักษ์ชัด ในขณะที่ชาวโลกส่วนใหญ่ไม่เชื่อพระเจ้า เพราะเหตุผลว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ทั้งๆที่สัญญาณการมีอยู่ของพระองค์ มีทั่วท้องฟ้าและแผ่นดิน เพื่อย้ำเตือนว่าสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า หาใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มีจริง

2. ทั่วโลกพากันหวาดกลัวไวรัสโควิด-19 ซึ่งมันเป็นเพียงสิ่งถูกสร้างแต่กลับหลงลืมและไม่เกรงกลัวพระเจ้าผู้ทรงสร้าง ความเกรียงไกรของกองทัพทั่วโลกไม่สามารถต้านทานการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ที่มีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อย้ำเตือนว่ามนุษย์ช่างอ่อนแอต่อหน้าพระเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

3. ชาวโลกหวาดผวาไวรัสร้ายนี้ที่ได้คร่าชีวิตทั่วโลกไปแล้ว 5,000 กว่าราย แต่ไม่ค่อยใส่ใจกับจอมเผด็จการบางประเทศที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์นับแสนนับล้านคน

4. ก่อนเกิดโรคระบาดนี้ที่ประเทศจีนผู้นำจีนเคยประกาศศักดาอย่างทรนงในวันชาติจีนว่า “ไม่มีอำนาจใดที่สามารถสั่นคลอนฐานอันมั่นคงของจีนได้” คล้อยหลังเพียงเดือนกว่า จีนทั้งประเทศต้องสะเทือนด้วยไวรัสชนิดใหม่นี้ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อนบนโลกนี้ ทำให้จีนต้องปิดประเทศ เมืองใหญ่ๆกลายเป็นเมืองร้าง มีการประกาศยกเลิกงานเฉลิมฉลองตรุษจีนโดยที่ทุกคนต้องขังตัวเองเพียงแต่ในบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้น ตามด้วยผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้นับพันราย และยังติดเชื้อนับแสน จนทำให้จีนทั้งประเทศเกิดภาวะปั่นป่วนโกลาหลและลุกลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากได้อย่างไร ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ โดยไม่มีผู้ที่สั่งการมัน

5. ในอัลกุรอานซูเราะฮ์ Fussilat 15-16 ได้กล่าวถึงกลุ่มชนอ้าดในยุคสมัยนบีฮู้ดที่ได้ประกาศศักดาอย่างเหิมเกริมว่า “มีชนชาติใดเล่าที่เข้มแข็งและเกรียงไกรยิ่งกว่าพวกเรา” อัลลอฮ์ได้ลงโทษพวกเขาด้วยการส่งพายุถล่มบ้านเรือนเสียหายยับเยินจนไม่มีผู้ใดรอดชีวิต นอกจากนบีฮู้ดและศรัทธาชนเท่านั้น เพื่อย้ำเตือนว่าการกระทำบาป อบายมุข ความอยุติธรรม การกดขี่ และความจองหองคือสาเหตุสำคัญของการล่มสลายของประชาชาติในทุกยุคทุกสมัย

6. การบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ขวางหน้า เพียงเพื่อตอบสนองอารมณ์และความเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ สุดท้ายกลายเป็นพาหะแห่งความตาย เพื่อตอกย้ำคำสอนอิสลามว่าด้วยหลักโภชนาการที่ต้องทานอาหารที่ฮาลาลและมีคุณประโยชน์เท่านั้น พึงทราบว่าไม่มีผู้ใดที่สะสมสิ่งของในภาชนะที่เลวร้ายยิ่งกว่าท้องของเขา

7. โรคระบาดร้ายแรงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในสมัยเศาะฮาบะฮ์ ยุคเคาะลีฟะฮ์อุมัรบินอัลค็อฏฏอบในปีที่ 18 ฮ.ศ. จุดกำเนิดโรคระบาดนี้เกิดที่เมืองอัมวาส ปาเลสไตน์ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิต จำนวน 25,000-30,000 คน ในจำนวนนี้มี อบูอุบัยดะฮ์ บินญัรรอห์ มุอ้าซบินญะบัล บิลาลบินรอบ้าห์และศอฮาบะฮฺอีกหลายคนที่เสียชีวิต เพื่อยืนยันว่า โรคระบาดเกิดขึ้นได้ในทุกชุมชนไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและพรมแดน ส่วนความเชื่อที่ว่าโรคระบาดไม่เกิดในชุมชนมุสลิมนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ควรเชื่ออย่างยิ่ง

8. โลกใบนี้คือสนามทดสอบ ในขณะที่โลกอาคิเราะฮ์คือสถานแห่งการตอบแทนอันนิรันดร์และยุติธรรมที่สุด ดังนั้นประโยคที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จึงไม่สามารถใช้ได้อย่างสมบูรณ์บนโลกนี้ อัลลอฮ์ทรงทดสอบบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อต้องการชำระล้างบาปของเขาทั้งมวล เพิ่มพูนผลบุญ ยกฐานะเขาในวันอาคิเราะฮ์และเป็นสัญญาณความรักของพระองค์ที่มีต่อบรรดาผู้ศรัทธา หากพวกเขายอมรับด้วยจิตใจที่สวามิภักดิ์ อดทนและหวังดีต่อพระองค์ แต่อัลลอฮ์ทรงทดสอบบรรดาผู้ปฏิเสธ เพื่อเป็นการลงโทษ เป็นอุทาหรณ์และเพื่อให้พวกเขาลิ้มรสการทรมานบนโลกนี้ ก่อนที่จะได้รับการทรมานอันแสนสาหัสในโลกอาคิเราะฮ์

9. อิสลามสอนวิธีรับมือกับโรคระบาดด้วยมาตรการของนบีที่กำชับให้ “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” มาตั้งแต่กว่า 1,400 ปีมาแล้ว ในยุคที่ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์เหมือนปัจจุบัน อับดุลเราะห์มานบินเอาฟ ได้บอกความรู้ใหม่ที่ท่านได้ยินจากนบีหากเกิดโรคระบาดว่า “หากท่านทราบข่าวมีโรคระบาดเกิด ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ท่านอย่าเข้าไปในบริเวณนั้น และหากท่านอยู่ในบริเวณที่เกิดโรคระบาด ท่านอย่าได้ออกจากบริเวณนั้น” มาตรการของนบีนี้ สอนให้เรารู้ว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่ครอบคลุมและให้คำตอบต่อปัญหาของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วนที่สุด เพราะอิสลามไม่ใช่เป็นคำสอนที่มาจากการจินตนาการของนบีมูฮัมมัด แต่เป็นวิถีดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกที่ออกแบบโดยพระเจ้าผู้ทรงบริหารสากลจักรวาล นบีมูฮัมมัดจะเสนอมาตรการนี้ได้อย่างไร หากไม่ใช่เป็นวะห์ยู(วิวรณ์) จากอัลลอฮ์ตะอาลา

10. โรคระบาดอัมวาสที่ปาเลสไตน์ ทำให้คาราวานของเคาะลีฟะฮ์อุมัรตัดสินใจกลับสู่อัลมะดีนะฮฺ ทั้งๆ ที่ใกล้ถึงจุดหมายแล้ว อบูอุบัยดะฮ์จึงทักท้วงว่าโอ้อะมีรุลมุมินีน ท่านจะหนีไปจากตักดีร(การกำหนด)ของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ท่านอุมัรตอบว่า เราหนีจากตักดีรของอัลลอฮ์สู่ตักดีรใหม่ของพระองค์ ท่านอุมัรสอนให้เรารู้ว่า มุสลิมไม่สามารถเป็นคนที่ยอมจำนนต่ออุปสรรค ยึดปรัชญาตายดาบหน้า รับตักดีรของอัลลอฮ์ โดยไม่ใช้ความพยายามใดๆ ความเชื่อในลักษณะนี้ เป็นความเชื่อของคนสิ้นคิดและไม่เข้าใจศาสนาที่ถูกต้องมุสลิมต้องตื่นรู้เกี่ยวกับโรคระบาดและต้องหามาตรการยับยั้งการแพร่ขยายของมันด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มีทิฐิมานะที่จะต่อสู้กับบททดสอบ ใช้วิธีการป้องกันดีกว่าการแก้ไข ต้องตระหนักแต่ไม่ตระหนก ทุกโรคย่อมมียารักษายกเว้นความตาย การกระทำใดๆที่ก่ออันตรายทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง ถือเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและฝ่าฝืนกับหลักการอิสลาม

11. การดุอา อิสติฆฟาร์และซิกิร์ตามนบี ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและยุติความเลวร้ายทั้งปวง จึงขอเชิญชวนให้พี่น้องมุสลิมใช้วิกฤตินี้เป็นโอกาสในการใกล้ชิดอัลลอฮ์ ด้วยการดุอาและซิกิร์จากนบีให้คลาดแคล้วจากเภทภัยทั้งมวล

12. โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่อันตรายที่สุดยุคนี้ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 100,000 คนแล้ว แต่มีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ระบาดไปทั่วโลกที่อาจกล่าวได้ว่าประชากรโลกทั้ง 7,300 ล้านคนจะโดนโรคร้ายชนิดนี้ – เว้นแต่ผู้ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ- โรคที่ว่านี้คืออัลวะฮนู الوهن ซึ่งหมายถึงโรคหลงใหลโลกดุนยาและกลัวความตาย อัลลอฮุลมุสตะอาน

13. การที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ประกาศระงับออกวีซ่าอุมเราะฮ์และห้ามเข้าในสองมัสยิดอันทรงเกียรติในบางช่วงเวลา ถือเป็นมาตรการที่มุสลิมทั่วโลกต้องให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกันกับบางประเทศและบางพื้นที่ ที่ได้ประกาศยกเลิกละหมาดวันศุกร์และญะมาอะฮ์ 5 เวลา รวมทั้งมาตรการปิดประเทศของหลายประเทศ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้องสอดคล้องกับเจตนารมณ์หลักชะรีอะฮ์ที่กำชับให้รักษาชีวิตเท่าที่มีความสามารถ เราต้องดุอาให้สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด

14. ถึงแม้ไวรัสร้ายนี้จะส่งผลกระทบอันตรายมากแค่ไหน แต่สุนนะฮ์ไม่ได้สอนให้มุสลิมอ่านกุนูตนาซิละฮ์ในขณะละหมาด เหมือนกรณีที่สังคมโลกอยู่ในสถานการณ์หวาดกลัวเนื่องจากภัยสงครามหรือถูกคุกคามจากฝ่ายที่รุกราน ดังนั้นจึงไม่มีการอ่านกุนูตนาซิละฮ์ในกรณีนี้ แต่รณรงค์ให้ทุกคนร่วมดุอาด้วยบทดุอาที่นบีสอนไว้ เช่น
‎‏اللهم إني أعوذ بك من البرص والجنون والجذام ومن سيئ الأسقام
และดุอาบทอื่นๆ โดยเฉพาะการอ่านอัซการ์นะบะวียะฮ์เช้าเย็นอย่างสม่ำเสมอ

15. ในโลกยุคโซเชียลปัจจุบัน สิ่งที่เราควรระมัดระวังเป็นพิเศษคือ การหลั่งไหลของข้อมูลอันมากมาย ดังนั้นอิสลามจึงสอนให้เรารู้จักคัดแยก ไตร่ตรองและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รู้จักบริโภคสื่ออย่างรู้เท่าทัน ชัวร์ก่อนแชร์และรับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ถูกต้องเท่านั้นโดยเฉพาะข่าวคราวที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนจำนวน 20 ล้านคนรับอิสลาม เนื่องจากพบว่าไวรัสร้ายนี้ไม่มีระบาดในชุมชนมุสลิม ซึ่งถือเป็นข่าวลวงและไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

16. กลัวจนเกินเหตุเป็นบ่อเกิดของชิริก กล้าจนเกินลิมิต คือพฤติกรรมของคนโง่เขลา ดังนั้นทุกคนต้องศรัทธาอย่างมีสติและใช้สติด้วยความศรัทธา ตะวักกัล(มอบตน)ที่ตามด้วยความพยายามอุตสาหะและใช้ความอุตสาหะที่นำโดยตะวักกัล อย่าให้เหตุการณ์นี้บั่นทอนสุขภาพจิตและอารมณ์จนทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน

17. สำหรับผู้ศรัทธา ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วเป็นผลบวกสำหรับเขาเสมอและไม่มีผู้ใดที่ได้รับอานิสงส์นี้นอกจากผู้ศรัทธาเท่านั้น หากพบกับความดีเขาจะขอบคุณ(ชุโกร์)ต่ออัลลอฮ์ ซึ่งการชุโกร์ จะสร้างผลบวกสำหรับชีวิตเขา หากเขาพบกับสิ่งเลวร้าย เขาจะอดทนซึ่งความอดทน จะก่อผลบวกต่อชีวิตเขาเช่นกัน พร้อมศรัทธามั่นว่า ไม่มีสิ่งใดที่ประสบกับเรา เว้นแต่สิ่งนั้น อัลลอฮ์ได้กำหนดให้ประสบแก่เราแล้ว นบีได้สอนว่าผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากโรคระบาด เขาจะมีผลบุญเหมือนคนเสียชีวิตในฐานะชะฮีดทีเดียว

18. สำหรับอัลลอฮ์ พระองค์จะไม่ถูกสอบสวนในสิ่งที่พระองค์ได้กระทำแต่มนุษย์ต่างหากที่จะต้องถูกสอบสวนและให้คำชี้แจง

19. ขอให้ทุกคนยำเกรงอัลลอฮ์ ไม่ว่าในช่วงดีหรือในสภาพอันเลวร้าย เข้าหาพระองค์ด้วยความนอบน้อมและสำนึกผิด หยุดการกระทำที่พระองค์ทรงโกรธกริ้ว ยึดมั่นในคำสอนของอิสลามทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องโภชนาการและการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รำลึกถึงความตายและวันสุดท้ายด้วยการเพิ่มพูนความดี ละทิ้งบาปและสิ่งอบายมุขทั้งปวง
อัลลอฮ์กล่าวในอัลกุรอานว่า

وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَىٰ آمَنُوا وَاتَّقَوْا لَفَتَحْنَا عَلَيْهِم بَرَكَاتٍ مِّنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ وَلَٰكِن كَذَّبُوا فَأَخَذْنَاهُم بِمَا كَانُوا يَكْسِبُونَ (الأعراف/96)

ความว่า หากชาวเมืองศรัทธาและมีความยำเกรง เราจะเปิดความจำเริญจากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขา แต่พวกเขาพากันปฏิเสธ เราจึงลงโทษพวกเขาด้วยสาเหตุที่พวกเขาได้กระทำ

ด้วยความปรารถนาดี
ครอบครัว theustaz.com

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 5 ตอนจบ)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

******

● นีโออตโตมัน ออตโตมันใหม่ : ตุรกีจากรัฐกามาลิสต์ สู่การค้นหายุทธศาสตร์เชิงลึก

หลังจากหยุดข้องเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นระยะเวลายาวนาน อันเป็นผลมาจากนโยบายกามาลิสต์ ตุรกีได้ค่อยๆกลับมาเป็นนักแสดงหลักระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรีตุรกุต โอซาล ระหว่าง 1983-1989 และมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่พรรคยุติธรรมและพัฒนา -พรรคเอเค- เข้ามามีอำนาจ ช่วงต้นศตวรรษนี้

ในบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากพรรค AK เข้ารับตำแหน่ง เราสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นโยบายต่างประเทศของตุรกีมีปัจจัยหลัก 4 ประการ 2 ประการเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 และอีก 2 ปัจจัย เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2 นี้

ปัจจัยที่ไม่มีข้อกังขาปัจจัยแรกคือ “วิสัยทัศน์นีโอออตโตมัน” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านนโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุคพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา
ที่มองว่า ตะวันออกกลางเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” ตามคำพูดของอะหมัด ดาวูดอูฆโล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเดียวกัน [23]

ปัจจัยที่สองคือ ความท้าทายของเคิร์ดที่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกภาพทางภูมิศาสตร์ของตุรกี ตามหลักการก่อตั้งประเทศของกามาล อะตาเติร์ก แม้ว่าหลักการนี้จะขัดแย้งกับค่านิยมปรองดองของพรรคเอเคว่าด้วยหลักพหุเชื้อชาติของตุรกี สิ่งนี้บังคับให้นักการเมืองตุรกีปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลระหว่างแนวโน้มและสัญชาตญาณกามาลิสต์กับนโยบายนีโอออตโตมัน [24]

2 ปัจจัยสุดท้ายตามลำดับคือ การแพร่หลายของอาหรับสปริงและการค้นพบปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมหาศาลในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

หลายปีที่ผ่านมา ในระหว่างการพบปะกับ mukhtars (ผู้ปกครองท้องถิ่น) แอร์โดฆานพูดถึงสนธิสัญญาโลซานที่ 2 ในปี 1923 ว่า เป็นบาดแผลลึกในความทรงจำของประวัติศาสตร์ตุรกี และลดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของตุรกี โดยบังคับให้ตุรกีสละสิทธิ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด แอร์โดฆานกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“มีคนต้องการโน้มน้าวเราว่า สนธิสัญญาโลซานเป็นชัยชนะสำหรับตุรกีและชาวเติร์ก โดยที่พวกเขานำสนธิสัญญา Sèvres ปี 1920 มาขู่เข็ญเรา เพื่อให้เรายอมรับสนธิสัญญาโลซาน ปี 1923 พวกเขานำความตายมาขู่ให้เรายอมรับความพิการตลอดชีวิต”

จนถึงวันนี้ ตุรกียังไม่ลืมว่าสนธิสัญญาโลซานน์เป็นบทลงโทษในฐานะฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฉกเช่นสนธิสัญญาแวร์ซายที่ใช้บังคับเยอรมนีหลังสงครามเดียวกัน และสัญญาดังกล่าวได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมันอย่างยับเยิน ตามคำเตือนของ จอร์จ กินซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ในหนังสือ “ผลทางเศรษฐกิจต่อสันติภาพ”

ภายใต้แรงกดดันของความขัดแย้งเรื่องก๊าซเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างตุรกีไซปรัสและกรีซ และหลังจากข้อตกลงที่จะกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติลิเบียและตุรกี ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับสนธิสัญญาโลซาน และหลังจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในซีเรีย อิรักและลิเบีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำถามเดียวกันกำลังถูกถาม ตุรกีกำลังดำเนินการในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยหันหลังให้กับข้อ จำกัดที่กำหนดผ่านสนธิสัญญาโลซานหรือไม่ ?

คำถามนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา อะไรคือราคาที่ตุรกีและตะวันออกกลางจะต้องจ่าย ถ้าตุรกีทอดทิ้งสนธิสัญญาโลซานในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 2024 ตามที่มีการเผยแพร่กันมาเป็นเวลาหลายปีในแวดวงสื่อและชาวตุรกี ตั้งแต่แอร์โดฆานประณามสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ?

ทั้งนี้ การบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายของเยอรมนีนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 การละทิ้งสนธิสัญญาโลซานของตุรกี จะเป็นการโหมโรงสู่สงครามระดับภูมิภาคในตะวันออกกลางหรือไม่ ? สงครามที่อาจขยายไปถึงมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังค้นหาส่วนแบ่งในเค้กทรัพยากรในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งการถอนตัวออกอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้สร้างสุญญากาศทางอำนาจ ล่อตาล่อใจให้หลายๆฝ่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาค้นหาที่ทางของตนในภูมิภาคนี้

(จบตอนที่ 5 ตอนจบ )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127
อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 4)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า


ในบริบทนี้ ไม่เพียงแต่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้นที่กำหนดนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจต่อภูมิภาค
นี้ แต่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อความเป็นปึกแผ่นทางธรรมชาติที่รวบรวมชาวมุสลิมทั้งหมดจากจีน อินโดนีเซีย ตะวันออกไกล ถึงแอฟริกาตะวันตกให้เป็นหนึ่งเดียว

ฝ่ายนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับ “หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลาม” มากกว่า ความเป็น “อาหรับ” “อิหร่าน” หรือ “ตุรกี”

ดังนั้น ลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส จึงพยายามพัฒนาวิชาความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับภูมิภาคภายใต้กรอบนโยบาย”ทำอิสลามให้เป็นลูกไก่ในกำมือ” ในตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การใช้การกดขี่และการบิดเบือนปลอมแปลงอิสลามให้เป็นศาสนาที่มีหน้าที่แคบๆ ในการรับใช้รัฐชาติหรือชาติพันธุ์เท่านั้น [17]

หลังจากการถอนตัวของอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสจากภูมิภาคตะวันออกกลาง สภาพสูญญากาศทางอำนาจสร้างความกังวลให้แก่ฝ่ายการเมืองและยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกลัวต่อสหภาพโซเวียต และกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคจะตกเป็นเป้าหมายสำหรับความทะเยอทะยานของรัสเซียในการแสวงหาน้ำอุ่น ตามทัศนะของอเมริกาการที่อังกฤษสันนิบาตจัดตั้งอาหรับในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 ยังถือว่าไม่เพียงพอ และนั่นเป็นเหตุผลว่าในปี 1950 ทำไมอเมริกันจึงบีบให้ประเทศอาหรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศในระดับภูมิภาคที่จงรักภักดีต่อตะวันตก ดังที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดตั้งสนธิสัญญาแบกแดด ในปี 1955 ประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน ตุรกี ปากีสถาน และอังกฤษ [18]

ความกังวลของอเมริกันบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่มั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับอิหร่านและตุรกี เนื่องจากมีความชัดเจนของตัวตนทางการเมืองในทั้งสองประเทศ แต่เป็นคำที่ใช้ได้กับโลกอาหรับที่ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นกับประเทศตะวันตก แต่ก็ไร้ศักดิ์ศรีและการเคารพให้เกียรติ เฉกเช่นที่ตุรกีได้รับจากตะวันตก ในฐานะสมาชิกหลักในโครงสร้างทางทหารของนาโต้ [19]

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตุรกีและโลกอาหรับในระดับการเมืองและการทหาร เราพิจารณา 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ตุรกีได้ผ่านการทดสอบการแบ่งประเทศ ตุรกีประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ หลังจากที่เติร์กทำให้สนธิสัญญา Sever ล้มเหลว ซึ่งแตกต่างจากโลกอาหรับ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นหลายประเทศผ่านสนธิสัญญา Sykes-Picot

ประการที่สองคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอิสรภาพตุรกีซึ่ง Mustafa Kemal และกองทัพตุรกี ได้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพันธมิตร อันประกอบด้วยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษและกรีซ ในขณะที่กองทัพของประเทศอาหรับที่สำคัญที่สุดรวมกันในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสม์ ในช่วงสงครามปี 1948 และระหว่างสงครามหกวัน ในปี 1967 ที่อิสราเอลสามารถเอาชนะประเทศอาหรับทั้งสาม คือ อียิปต์ ซีเรียและจอร์แดนและครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 3 ได้

ความอ่อนแอทางการเมืองและการทหารที่ชัดเจน เห็นได้จากการที่โครงสร้างของภูมิภาคนี้ยังคงสูญหายไปอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถจัดตั้งสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นผลสำเร็จและเป็นจริงจนถึงวันนี้ [20]

● ค้นหารัฐศูนย์กลางของโลกอิสลาม ตามความเห็นของผู้เขียน “การปะทะทางอารยธรรม”

ในหนังสือดัง “The Clash of Civilizations -การปะทะทางอารยธรรม : การสร้างระเบียบสากล” ซามูเอล เฮนติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นำเสนอวิสัยทัศน์ของอนาคตทางภูมิศาสตร์ของโลกว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจะมีบทบาทสำคัญในรูปแบบกลุ่มประเทศนานาชาติใหม่ในศตวรรษที่ 21

เฮนติงตันเห็นว่า อารยธรรมที่สำคัญ วัฒนธรรมหรือศาสนาหลัก ล้วนมีรัฐหลัก เช่น จีนในอารยธรรม “ขงจื้อ” ที่ทอดยาวจาก ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

รัสเซียในอารยธรรมออร์โธดอกซ์ ตลอดไปจนเบลารุส กรีซ ยูเครน บัลแกเรีย เซอร์เบีย และไซปรัส

“ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ – คาทอลิกตะวันตก” มีอเมริกาเป็นรัฐหลัก

ในขณะที่โลกอิสลามขาดรัฐที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งอย่างที่ฮันติงตันกล่าวว่าเป็นความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ตามทัศนะของเฮนติงตัน


เฮนติงตัน นำเสนอชาติแกนนำ 6 ชาติ ที่พอมีโอกาสเป็น “ชาติผู้นำโลกมุสลิม” ได้แก่ อียิปต์ เนื่องจากจำนวนประชากร และความเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลางและมีอัลอัซฮัร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีประชากรมากที่สุด รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และอิหร่าน และตุรกี [21]

เฮนติงตันประเมินว่า อินโดนีเซียไม่เหมาะสมที่จะเป็นประเทศผู้นำตั้งอยู่ชายแดนโลกมุสลิมและห่างไกลจากศูนย์กลางในโลกอาหรับมากเกินไป ส่วนอียิปต์ไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจ ส่วนซาอุดิอาระเบียก็เพราะประชากรน้อยเกินไป อิหร่านก็มีความต่างทางแนวคิดทางศาสนากับประชาคมมุสลมส่วนใหญ่ ปากีสถานมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมืองไม่มั่นคง

สำหรับตุรกี เฮนติงตันประเมินว่าไม่พร้อมเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบอบเซคคิวลาร์ของอะตาเติร์กมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดโอกาสให้ตุรกีแสดงบทบาทนำโลกมุสลิมได้ ตามข้อเท็จจริงในปี 1996 ที่เขียนหนังสือนี้

ถึงกระนั้น เมื่อเอ่ยถึงตุรกี เทียบกับชาติต่างๆที่กล่าวมา เฮนติงตันกล่าวว่า “ตุรกีเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ ประชากร ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม จารีตทางทหาร และศักยภาพ ที่พร้อมจะเป็นแกนนำโลกมุสลิม” [ 22 ]

เฮนติงตันตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้น หากตุรกีหวนมานิยามตนเองใหม่ สักวันหนึ่งตุรกีเป็นไปได้ที่ตุรกีพร้อมที่จะทิ้งบทบาทที่ไร้อนาคตและอัปยศอดสู จากการพยายามร้องขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมตะวันตก และเริ่มบทบาทในประวัติศาสตร์ของตน ที่มีอิทธิพลมากกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า ในฐานะแกนนำอิสลามและแกนนำในการต่อต้านตะวันตก

เฮนติงตันวางเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ที่จะทำให้ตุรกีทำเช่นนั้นได้ ประการแรกคือการยกเลิกมรดกของอะตาเติร์กอย่างเบ็ดเสร็จดังที่รัสเซียทิ้งมรดกของเลนิน และประการที่สองคือการหาผู้นำระดับเดียวกับอะตาเติร์ก ที่รวมศาสนาและความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อสร้างตุรกีเป็นประเทศศูนย์กลางของโลกมุสลิม

(จบตอนที่ 4 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…