ชัยคุลอิสลามแห่งตูนีเซีย

ท่านคือชัยคุลอิสลามแห่งตูนีเซีย เป็นทั้งอิมามใหญ่ยามิอฺซัยตูนะฮ์ มุฟตีและกอฎีชัรอีย์ (ผู้พิพากษาสูงสุดแห่งกฎหมายอิสลาม) ผู้มีนามว่า มูฮัมมัด ฏอฮิร บินอาชูร (มีชีวิตระหว่างปีค.ศ. 1879-1973) สายตระกูลของท่านเป็นชาวอพยพมาจากอันดาลูเซีย นอกจากนี้ท่านยังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์อิสลามและอุศูลุดดีนของมหาวิทยาลัยซัยตูนะฮ์  มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอิสลาม

ช่วงนั้นรัฐบาลตูนิเซียโดยประธานาธิบดีบูรฆีบาห์ รณรงค์ให้สตรีตูนีเซียถอดฮิญาบ โดยครั้งหนึ่งนายบูรฆีบาห์ ได้ลงจากรถ แล้วไปถอดฮิญาบของสตรีนางหนึ่งในใจกลางเมืองตูนิเซีย พร้อมกล่าวว่า ยุคมืดได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ทำให้ชัยคุลอิสลามมูฮัมมัดฏอฮิร บินอาชูร อ่านคุตบะฮ์สั้นๆด้วยประโยคว่า “สตรีมุสลิมะฮ์นางหนึ่งได้มาร้องเรียนยังข้าพเจ้า” ท่านทวนประโยคนี้ 2 ครั้งแล้วนั่งลง และลุกใหม่ พร้อมกล่าวว่า “ละหมาดของท่านไม่สร้างความดีงามใดๆ ตราบใดที่ภรรยาและลูกสาวของท่านเปลือยกาย(ไม่ใส่ฮิญาบ)” จงละหมาดเถิด

นายบูรฆีบาห์ได้รณรงค์ไม่ให้ชาวตูนิเซียถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเขาถือว่า การถือศีลอดเป็นเหตุให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่ ทำให้ผู้คนเกียจคร้านทำงาน เขาจึงดื่มน้ำและสูบซิการ์ในรัฐสภาช่วงเดือนรอมฎอน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไม่ถือศีลอด

เท่านั้นยังไม่พอ เขาได้ไปหาชัยคุลอิสลามอิบนุอาชูร์ ในฐานะมุฟตีและบุคคลสัญลักษณ์ทางศาสนา ผู้มีบทบาทสูงในขณะนั้น พร้อมขอร้องให้ออกคำฟัตวาเรื่องการถือศีลอดให้เป็นไปตามนโยบายอันชั่วร้ายของเขา ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดีจากท่านมุฟตี โดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลจะต้องเชิญชวนผู้คนมารวมตัวกันเพื่อฟังคำฟัตวานี้

เมื่อถึงเวลาที่กำหนด รัฐบาลได้เกณฑ์ผู้คนจำนวนมากมาย เพื่อฟังคำชี้ขาดทางศาสนาที่มีความสำคัญนี้ หลังจากที่นายบูรฆีบาห์ให้โอวาทเสร็จ ชัยคุลอิสลามจึงถูกเชิญให้คำฟัตวา ชัยค์จึงพูดว่า

โอ้ชาวมุสลิมทั้งหลาย แท้จริงการทานอาหารในกลางวันรอมฎอน โดยไม่ใช่เป็นการผ่อนปรนทางศาสนา ถือเป็นบาปใหญ่ เพราะการถือศีลอดเป็นหลักปฏิบัติตามศาสนบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งในอิสลาม ผู้ใดที่ปฏิเสธหลักศาสนบัญญัติข้อนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นคนตกศาสนาโดยปริยาย พร้อมอ่านอายัตกุรอาน

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (البقرة/١٨٣)

อัลลอฮ์ตรัสจริงเสมอ

บูรฆีบาห์ต่างหากคือจอมโกหก

บูรฆีบาห์ต่างหากคือจอมโกหก

บูรฆีบาห์ต่างหากคือจอมโกหก

นายบูรฆีบาห์หน้าแตกยับเยินชนิดหมอไม่รับเย็บ

หลังจากนั้นท่านจึงถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งที่ท่านดำรงอยู่ รวมทั้งรัฐบาลยังได้สั่งปิดมหาวิทยาลัยซัยตูนะฮ์เป็นเวลาหลายปี

เกือบ 50 ปีแล้วที่ท่านเสียชีวิต แต่ชาวตูนิเซียก็ยังคงกล่าวดูอาให้กับท่านด้วยดีมาโดยตลอด ชีวประวัติของท่านถูกกล่าวขานอย่างสง่างามต่อไป

แต่สำหรับนายบูรฆีบาห์ ทาสผู้ซื่อสัตย์ของกรุงปารีส ถึงแม้เขาจะเถลิงอำนาจอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีตูนิเซียนานถึง 30 ปี และเพิ่งปิดฉากตำนานแห่งความชั่วร้ายในปี 2000 ที่ผ่านมา ในประเทศตูนีเซียปัจจุบัน เชื่อว่าไม่มีใครคนไหนที่สดุดีและชื่นชมเขา นอกจากชาวเซคิวล่าร์ สาวกแห่งกรุงปารีส ผู้ชิงชังต่ออิสลามและประชาชาติมุสลิมเท่านั้น


โดย Mazlan Muhammad

ความรู้ที่ถูกยกไป

มูฮัมมัด อาลี อัศศอบูนีย์

อุละมาอฺผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เกิดเมื่อ 1 มกราคม 1930 ที่เมืองหะลับ ซีเรีย เสียชีวิตแล้ว เมื่อ 19 มีนาคม 2021 ขณะอายุ 91 ปี ถือเป็นการสูญเสียผู้รู้ที่สำคัญในโลกอิสลามโดยเฉพาะด้านตัฟซีร อัลกุรอาน เจ้าของผลงาน مختصر تفسير ابن كثير،  صفوة التفاسير ، تفسير آيات الأحكام และอื่นๆ อีกกว่า 50 เล่ม

เคยได้รับการยกย่องเป็นบุคคลแห่งปีโลกอิสลาม ปี 2007 จาก “รางวัลนานาชาติดูไบเพื่ออัลกุรอาน”

เคยสอนที่คณะชะรีอะฮฺและอิสลามศึกษาที่นครญิดดะห์ร่วม 30 ปี ได้รับการแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยกษัตริย์ อับดุลอะซีซ เมืองญิดดะห์ เป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยที่ศูนย์วิจัยและฟื้นฟูวัฒนธรรมอิสลาม เป็นที่ปรึกษาสันนิบาตโลกมุสลิมโลก เป็นผู้สอนและให้คำวินิจฉัยรายวันที่มัสยิดหะรอม เคยได้รับเชิญเป็นอิมามนำละหมาดตะรอเวี้ยะห์และละหมาดศุบฮิที่มัสยิดหะรอม

ชัยค์อัศศอบูนีย์ได้วิจารณ์นายบัชชาร์ อะสัด ประธานาธิบดีซีเรียว่าเป็น มุสัยลิมะฮ์ อัลกัซซาบ และตักเตือนชัยค์มูฮัมมัด รอมฎอน อัลบูฏีย์ ด้วยคำตักเตือนที่รุนแรงเพราะชัยค์อัลบูฏีย์สนับสนุนนายบัชชาร์ อะสัดและไม่เห็นด้วยกับการลุกขึ้นต่อต้านระบอบบัชชาร์ของประชาชนชาวซีเรีย

ด้วยจุดยืนอันดุดันและมั่นคงที่สนับสนุนและเคียงข้างการประท้วงของชาวซีเรีย ทำให้สื่ออาหรับและชาวซีเรียตั้งฉายาท่านว่า “الشيخ الثائر” หรือผู้เฒ่านักปฏิวัติ

غفر الله له ورحمه رحمة واسعة وأدخله فسيح جناته ورزق لأهله وذويه الصبر والسلوان


โดย Mazlan Muhammad

10 ผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ จอมทัพมุสลิมเชิงยุทธศาสตร์

คลิปดีๆ  สุดยอด  10 ผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ จอมทัพมุสลิมเชิงยุทธศาสตร์

1. อบูยะฟัร อัลมันซูร ผู้สร้างอาณาจักรอับบาซียะฮ์ตัวจริง

2. อับดุลเราะห์มาน อัดดาคิล  ผู้พิชิตไอบีเรียและสถาปนาอาณาจักรอิสลามในสเปนกว่า 780 ปี

3. อัลป์ อัรสะลาน เติร์กเซลจู๊กผู้เปิดประตูดินแดนอานาโตเลีย ผู้กรุยทางสู่อาณาจักรเติร์กออตโตมัน

4. นูรุดดีน ซังกี  ผู้พิชิตก๊กอาหรับเผ่าต่างๆ จนเป็นหนึ่งเดียว ทั้งอียิปต์และแคว้นชาม  เพื่อการกอบกู้มัสยิดอักซอ

5. ซอลาหุดดีน  อัยยูบีย์ แม่ทัพของนูรุดดีน ซังกี ผู้พิชิตครูเสดและกอบกู้มัสยิดอักซอ

6. ซัยฟุดดีน  กุตุซ  ผู้หยุดมองโกลในโลกมุสลิม ในสมรภูมิอัยน์จาลูต  อียิปต์

7. ยูซุฟ บินตัชฟีน  ผู้ปกครองดินแดนแอลจีเรีย โมรอคโค  ผู้ปราบครูเสดและปกครองแอนดาลุสเซีย  กว่า 400 ปี ไปจนวันกรานาดาล่มสลาย

8. มุฮัมมัด  ฟาติห์ แห่งออตโตมัน ผู้พิชิตคอนสแตนติโนเปิล

9. สะลีม ที่ 1 แห่งออตโตมัน ผู้พิชิตดินแดนต่างๆ จนออตโตมันมีดินแดนกว้างใหญ่สูงสุด ผู้พิชิตซาฟาวิด และปกครองอียิปต์  ชาม และหิจาซ

10. สุลัยมาน  กอนูนีย์ ผู้วางรากฐานทางกฎหมายของออตโตมัน และปกป้องโลกอาหรับจากการตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคม

#ศัตรูไม่เคยลืมพวกเขาแต่มุสลิมเรากลับลืมเลือน

#ชนใดไร้ประวัติศาสตร์ชนนั้นย่อมไร้อนาคต


โดย Ghazali Benmad

มัลคอล์ม เอกซ์ ชะฮีดผู้มอบชีวิตให้ศาสนา

มัลคอล์ม  เอกซ์  จากเด็กจรจัดสู่นักคิดระดับโลกด้วยการอ่าน ผู้ชักชวนมุฮัมมัดอาลีเข้ารับอิสลาม  ตลอดจนนำคนนับแสนเข้ารับอิสลาม และเสียชีวิตจากการถูกยิงขณะยืนปราศรัยเผยแพร่อิสลาม

นักเผยแพร่อิสลามและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  นักต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคชาวแอฟริกัน-อเมริกัน เข้าร่วมกับกลุ่ม Nation of Islam ในขณะเป็นนักโทษ

● การเกิดและการเลี้ยงดู

มัลคอล์ม  เอกซ์ เดิมชื่อ  มัลคอล์ม  ลิตเติ้ล เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1925 พ่อชื่อ อิรัล ลิตเติ้ล  เป็นบาทหลวงในนิกายแบบติสม์ และเป็นผู้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ มีพี่น้อง  11  คน โดย 4 คนถูกฆ่าในช่วงกลุ่มคลูกลักแคลน -kkk-อาละวาดหนัก บ้านถูกเผาราบเรียบ

ครอบครัวของเขาต้องเปลี่ยนที่อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงแรงกดดันและการคุกคามของกลุ่มคลูคลักแคลน

ต่อมาครอบครัวย้ายในยังแลนซิง รัฐมิชิแกน มัลคอล์ม  เอกซ์  อายุได้ 6 ปี ในปี  1931 พ่อของเขาถูกฆาตกรรมโดยถูกกลุ่มกลูคลักแคลน kkk ทำร้ายจนตายและจับไปให้รถไฟฟ้าเหยียบทับ แต่รัฐบาลประกาศผลการชันสูตรศพระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

หลังจากนั้นแม่ของเขาซึ่งมีอายุ  34  ปี พร้อมลูก 7 คน ต้องทำงานทุกอย่างเลี้ยงลูก จนต้องเข้าสถานบริการสุขภาพจิต ในปี 1936 เนื่องจากเธอทุกข์ทรมานจากการสูญเสียสามีและความเครียดในการหางานทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูเด็กๆ  หลังจากนั้นๆ ลูกๆของนางก็กระจัดกระจายไปยังศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ต่างๆ 

ขณะอยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก มัลคอล์ม  เอกซ์   ใฝ่ฝันที่จะเรียนกฎหมาย แต่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น

การไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงทางสังคมที่เขามองว่าเหยียดผิวและไม่ยุติธรรม  เขาจึงย้ายไปบอสตัน แมสซาชูเซตส์ ทำงานทุกอย่างที่คนผิวดำทำได้ ตั้งแต่ล้างจาน เช็ดรองเท้า  เฝ้ายาม ขายแซนด์วิช และจมดิ่งสู่วงการการพนัน และยาเสพติด  จากนั้นก็ถูกคุมขังในสถานพินิจใน 1946  ในข้อหาลักทรัพย์และปล้น

เรือนจำเป็นสถานีชีวิตที่โดดเด่นในชีวิตของเขา  เขาเริ่มต้นศึกษามัธยมปลาย และศึกษาด้วยตนเองโดยใช้ประโยชน์จากห้องสมุดเรือนจำ และการสนทนาด้านความเชื่อ

ในปี 1948 พี่น้องของเขาจากข้างนอก บอกข่าวว่า พวกเขานับถือศาสนาใหม่ เป็นศาสนาของคนผิวดำ ที่จะปลดปล่อยคนดำออกจากคนขาว เรียกว่า ศาสนาอิสลาม ที่นำโดยกลุ่ม “Nation of Islam” มีศาสดาชื่อ มุฮัมมัด ฟาร๊อจ  โดยมีผู้สืบทอดชื่ออาเลจาห์ มุฮัมมัด มีพระเจ้า 2 องค์ คือพระเจ้าความดี ซึ่งมีผิวดำ และพระเจ้าความชั่ว ซึ่งมีผิวขาว  ละหมาดวันละ 2 เวลา ถือศีลอดปีละ 1 วัน คือในวันคริสต์มาส  ซะกาตจ่ายให้กับศาสดาอาเลจาห์ มุฮัมมัด  ฮัจญ์สำหรับผู้ไร้ความสามารถ ให้ไปเยี่ยมบ้านอาเลจาห์ มุฮัมมัด

เขาเริ่มคุ้นเคยกับงานเขียนขององค์กร “Nation of Islam ประชาชาติอิสลาม” เขาสนใจคำสอนของเอลียาห์ มูฮัมหมัดและงานเขียนของเขาในการวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นชายขอบของชุมชนคนผิวดำและการไม่ให้อำนาจแก่พวกเขา  ทั้งในด้านการเมืองสังคมและเศรษฐกิจ

จากการเปลี่ยนศาสนา การชอบโต้แย้ง วิพากษ์ และไม่มีงานอื่น  ทำให้มัลคอล์ม เอกซ์  อุทิศตนให้กับการอ่านหนังสือศาสนา ปรัชญาตะวันตกและตะวันออก วรรณกรรม  กฎหมายและประวัติศาสตร์อย่างบ้าคลั่ง วันละ   15  ชม.  ตลอดจนการโต้เถียงและวิพากษ์สังคมร่วมกับเพื่อนๆในคุก

ด้วยทุนทางความรู้เหล่านั้น ทำให้มัลคอล์ม เอกซ์   กลายเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาใหม่ในคุก จนมีผู้ตามมากมาย 

มัลคอล์ม เอกซ์  สอนนักโทษให้เคร่งครัดในคำสอนศาสนา  และละทิ้งนิสัยไม่ดีทั้งหลาย

จากพฤติกรรมที่ดีเยี่ยมในคุก มัลคอล์ม เอกซ์ ได้รับการปล่อยตัวจากคุกก่อนกำหนดในปี 1952 และกลายเป็น “สมาชิกผู้อุทิศตน” ขององค์กร “Nation of Islam ประชาชาติอิสลาม”

เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกอย่างเป็นทางการขององค์กรและดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการในเขตบอสตัน ฟิลาเดลเฟียและนิวยอร์กเขาก่อตั้งมัสยิดใหม่สำหรับองค์กรในดีทรอยต์และนิวยอร์ก  และในปี 1957 ได้เปิดตัวหนังสือพิมพ์ชื่อ “Elijah Muhammad Talks “ เป็นกระบอกเสียงขององค์กร

ด้วยความสามารถพิเศษ ความกระตือรือร้นและความสามารถในการมีอิทธิพลของเขา  เขาสามารถดึงดูดชาวอเมริกันผิวดำหลายพันคนให้เป็นสมาชิกกลุ่ม สมาชิกของพวกเขาจึงทวีคูณหลายสิบเท่า และมีจำนวนถึงสามหมื่นในปี 1957 หลังจากที่พวกเขาประมาณ 500 คน ในปี  1930

ผลจากการอ่านอย่างบ้าคลั่งในคุก ขณะนี้เขาประสบความสำเร็จในการดึงดูดผู้สนับสนุน และนำเสนอแนวคิดที่โดดเด่น เขาจึงได้ออกรายการในสื่อที่มีชื่อเสียงที่สุด  และเข้าร่วมในการสัมมนาและการอภิปรายในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกาและได้รับการจัดอันดับโดย  นสพ.  New York Times ให้เป็นนักเผยแผ่ศาสนาที่มีอิทธิพลอันดับ 2 ของสหรัฐอเมริกา

ชื่อเสียงของเขาแซงหน้าชื่อเสียงของที่ปรึกษาและที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณของเขา  เอลีจาห์  มูฮัมหมัด  ความขัดแย้งระหว่างพวกเขาเริ่มต้นขึ้น เมื่อมัลคอล์ม เอกซ์ ถูกห้ามพูดในนามของ “ประชาชาติอิสลาม” เป็นเวลา  90 วัน เมื่อเขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลอบสังหารของ ประธานาธิบดีจอห์นเอฟ. เคนเนดี ว่า เป็นเพราะทำตัวเอง

ในเดือนกุมภาพันธ์ 1964 เขาชักชวนให้ แคสเซียส เคลย์ แชมป์มวยโลก ประกาศเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม  และเปลี่ยนชื่อเป็น มูฮัมหมัดอาลี และเข้าร่วมกลุ่มของเขา

ในปี  1964 มัลคอล์ม เอ็กซ์  ไปประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อไปขอบริจาคให้กับกลุ่ม และกลับมาพร้อมกับแนวทางใหม่ในการดำเนินการต่อสู้ในขบวนการสิทธิพลเมือง โดยมีวิสัยทัศน์ทางศาสนาอิสลามที่แตกต่างไปจากแนวทางก่อนหน้าของเขา

ผลกระทบจากการไปเห็นชาวมุสลิมที่อยู่เคียงข้างกันการละหมาดในแถวที่ชิดกัน  การรับประทานอาหารจากจานเดียวกัน และการพูดในการชุมนุมที่เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีความแตกต่างระหว่างสีผิวและเชื้อชาติ  ทำให้มัลคอล์ม เอ็กซ์ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

มัลคอล์ม เอ็กซ์ กล่าวว่า  อเมริกาต้องเรียนรู้อิสลาม  เพราะอิสลามเป็นศาสนาเดียวที่แก้ปัญหาเหยียดผิวได้

เขาเลิกการเหยียดผิวขาว และประกาศเข้ารับอิสลามใหม่ พร้อมเดินทางไปอียิปต์เพื่อศึกษาศาสนาอิสลามกับชัยค์หะสะนัยน์  มัคลู๊ฟ  มุฟตีย์อียิปต์ขณะนั้น รวมถึงอุลามาอ์อื่นๆของอัซฮัร

เขาเพิ่มชื่อแรกของเขาว่า “ฮัจยีมาลิก  ชาบาซ”

กลับจากฮัจญ์  มัลคอล์ม เอ็กซ์ ได้พูดชักชวนเอเลจาห์  มุฮัมมัด ให้แก้ไขกฎเกณฑ์แนวปฏิบัติของกลุ่ม

และชักชวนให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ เพื่อจะได้เห็นศาสนาอิสลามที่แท้จริง แต่เอเลจาห์  มุฮัมมัด ปฏิเสธ

มัลคอล์ม เอ็กซ์  จึงออกมาตั้งกลุ่มใหม่ เป็นกลุ่มอิสลามอะลิซซุนนะฮ์ ไม่ต่อต้านคนผิวขาว และเข้าไปมีส่วนร่วมในการสมัครเลือกตั้งในระดับต่างๆ  ได้ออกปราศรัยทางการเมืองและเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ

เสียงเรียกร้องของเขาก็เริ่มดังขึ้นจากวงล้อมของชาวอเมริกันผิวดำ กระจายออกไปยังเผ่าพันธุ์และส่วนประกอบต่างๆของสังคมอเมริกัน

มัลคอล์ม เอ็กซ์ สนับสนุนและต่อสู้เพื่อจัดตั้ง “องค์กรเอกภาพแห่งแอฟริกันอเมริกัน” ในความพยายามที่จะเชื่อมโยงการต่อสู้ของคนอเมริกันผิวดำกับการต่อสู้ของชาติในแอฟริกาที่กำลังดิ้นรนเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติ

ในช่วงสองปีสุดท้ายของชีวิตเขาทุ่มเทให้กับการเขียนอัตชีวประวัติร่วมกับนักเขียน “อเล็กซ์เฮลีย์” ซึ่งตีพิมพ์ไม่นานหลังจากการฆาตกรรมของเขาภายใต้ชื่อ “อัตชีวประวัติของมัลคอล์ม”

● การเสียชีวิต

มัลคอล์ม เอ็กซ์  ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1965 โดยมือปืนสามคนจาก Nation of Islam ที่กระหน่ำยิงเขาในนิวยอร์ค ขณะที่กำลังปราศรัยเผยแผ่ศาสนาอิสลาม   และถูกฝังไว้ใน Ferncliffe Cemetery ใน Hartsdale, New York

● หลังการเสียชีวิต

ต่อมา วารีษุดดีน  บุตรชายของเอเลจาห์  มุฮัมมัด  ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่ม Nation of Islam หลังการเสียชีวิตของบิดา  วารีษุดดีน  เลื่อมไสในแนวคิดของ มัลคอล์ม เอ็กซ์ ได้นำสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่มีราวๆ 2 แสนคน เข้ารับอิสลามที่ถูกต้องและยกเลิกกลุ่ม Nation of Islam

จึงกล่าวได้ว่า เด็กจรจัดอย่างมัลคอล์ม เอ็กซ์  เป็นผู้นำคนนับแสนเข้ารับอิสลามด้วยประการฉะนี้

ขอให้อัลลอฮ์ตอบแทนความดีงามของท่าน


โดย Ghazali Benmad

12 กุมภาพันธ์ รำลึกวันเสียชีวิตอิหม่ามหะซัน อัลบันนา : เหตุผลของคนรังเกียจหะซัน บันนา

ชัยค์มูฮัมหมัด ฆอซาลี กล่าวในหนังสือ ”  دستور الوحدة الثقافية بين المسلمين   ธรรมนูญแห่งเอกภาพทางวิชาการของสังคมมุสลิม” ว่า

“อิหม่ามหะซัน  บันนา ผู้ซึ่งข้าพเจ้าและใครต่อใครอีกจำนวนมาก เห็นว่า ท่านเป็น “มุจัดดิด-นักปฏิรูป” ในฮิจเราะฮ์ศักราชศตวรรษที่ 14″

“ท่านวางหลักการจำนวนหนึ่ง ที่จะทำให้ความแตกแยกจะกลายเป็นความสามัคคี ทำให้เป้าหมายแจ่มชัดในความขมุกขมัว และนำมุสลิมหวนคืนสู่คัมภีร์ของพระเจ้าและซุนนะฮ์ของท่านศาสดาของพวกเขา”

“หะซัน อัลบันนา ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของบรรดาผู้นำอิสลามในอดีต อัลลอฮ์ได้ให้พรสวรรค์ที่หลายคนมีมารวมกันในตัวท่านคนเดียว ท่านอ่านอัลกุรอานเป็นกิจวัตรด้วยสำเนียงไพเราะเสนาะโสต ทั้งยังสามารถอรรถาธิบายได้ช่ำชองประดุจดั่งอัตตอบารีย์ หรือกุรตุบีย์ และโดดเด่นเป็นพิเศษในการทำความเข้าใจความหมายที่ยากที่สุดและจากนั้นนำเสนอแก่ผู้คนในลักษณะที่ง่ายและเข้าใจได้ทั่วกัน”

“ในขณะเดียวกัน วิธีการอบรมสั่งสอนศิษย์ผู้ติดตามท่าน และการจุดไฟรักต่ออัลลอฮ์ของท่าน ทำให้นึกถึงหาริษ อัลมุหาซิบีย์ หรืออบูฮามิด อัลฆอซาลี”

“อิหม่ามอัลบันนา เข้าใจประวัติศาสตร์อิสลามอย่างครอบคลุมทะลุปรุโปร่ง สามารถเข้าใจปัจจัยความรุ่งเรืองและความตกต่ำ น้ำขึ้นน้ำลง ในยุคต่างๆของอิสลาม และมีความรู้ที่ลึกอย่างที่สุดเกี่ยวกับโลกอิสลามในปัจจุบัน และการสมคบคิดของต่างชาติในการยึดครองโลกมุสลิม”

“ท่านได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อกระทุ้งทำลายอาณานิคมทางวัฒนธรรมและทางทหาร และใส่วิญญาณแห่งชีวิตเข้าสู่เรือนร่างที่ไม่ไหวติง ทำให้อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ส่งเอกอัครราชทูตไปยังรัฐบาลของกษัตริย์ฟารุกเรียกร้องให้ยุบกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในที่สุดกลุ่มก็ถูกยุบ และอิหม่ามหนุ่มก็ถูกสังหาร”

“หะซัน บันนา เริ่มต้นทำงานจากศูนย์  ไร้เสียงโหวกเหวก เพื่อปลุกอิสลามที่หลับใหลอยู่ในหัวใจได้ตื่นฟื้นคืนมา รวมถึงการกำกับทิศทางการทำงาน”

“เกียรติศักดิ์ของท่านเพียงพอแค่เพียงผลงานการสร้างกลุ่มคนหนุ่มที่ทำลายค่ายทหารอังกฤษที่ตั้งอยู่ในแนวคลองสุเอซ และคอยติดตามโจมตีจนกระทั่งอังกฤษถอนตัวออกไปจากอียิปต์”

“เกียรติศักดิ์ของท่านเพียงพอแค่เพียงผลงานการสร้างคนหนุ่มที่รบปะทะกับยิวในทุกสมรภูมิ สามารถยัดเหยียดความปราชัยและทำให้ยิวต้องล่าถอยทุกครั้งไป”

“นี่คือเหตุผลที่ทำให้ลัทธิล่าอาณานิคมยืนยันที่จะต่อต้านสำนักนี้ไม่ว่า ณ ที่ใดๆ ในโลก”


โดย Ghazali Benmad

คำกล่าวแสดงความยินดีแก่บัณฑิตมอย. รุ่นที่ 9/2554

ชีค ดร.อุมัร อุบัยด์ หะสะนะฮฺ

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและอิสลามศึกษาประเทศกาตาร์

เนื่องในโอกาสพิธีประสาทปริญญารุ่นที่ 9 ประจำปีการศึกษา 2554

29 มกราคม 2555

          มวลการสรรเสริญแด่พระผู้ทรงเลือกสรรให้เราอยู่ในฐานะผู้รับมรดกภารกิจของบรรดานบีและสืบทอดเจตนารมณ์แห่งอัลกุรอาน พระองค์กล่าวความว่า : “และเราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกสืบทอดมาแก่บรรดาผู้ที่เราคัดเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางท่านในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเองและบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้เดินสายกลางและบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้รุดหน้าในการทำความดีทั้งหลาย” (ฟาฏิร/32)และเราวอนขอจากอัลลอฮฺได้โปรดทำให้เราเป็นกลุ่มชนที่เป็นรุดหน้าในการทำความดีเพื่อตอบสนองคำสั่งของอัลลอฮฺ ความว่า “ ท่านทั้งหลายจงแข่งขันรุดหน้าทำความดีกันเถิด ” (อัลบาเกาะเราะฮฺ/148)

          ความจำเริญและศานติขอมอบแด่ศาสนทูตผู้เป็นบรมครูซึ่งท่านได้กล่าวความว่า “ แท้จริงฉันถูกส่งมายังโลกนี้ในฐานะบรมครูเท่านั้น ” ส่วนหนึ่งของการวอนดุอาอฺของท่านอยู่เนืองนิจ คือ “ ฉันขอให้พระพระองค์ทรงเพิ่มพูนความรู้แก่ฉันด้วยเถิด ” และท่านขอความคุ้มครองให้รอดพ้นจากความรู้ที่ไม่มีประโยชน์เพราะความรู้ไม่มีคุณค่าจะไม่สามารถสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์ ด้วยเหตุนี้มนุษย์ที่เป็นที่รักที่สุดของอัลลอฮฺคือ ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด

–        ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลามประเทศกาตาร์

–        ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

–        อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

–        กรรมการสภา คณะผู้บริหารและคณาจารย์ แขกผู้มีเกียรติ ผู้ปกครองและลูกหลานบัณฑิตทุกท่าน

Assalamu alaikum warahmatullah wabarakatuh

          อัลลอฮฺกล่าว ความว่า “ จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) “ ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮและด้วยความเมตตาของพระองค์จงดีใจเถิดด้วยสิ่งดังกล่าวนั้น (เพราะความโปรดปรานและความเมตตาของพระองค์)ดียิ่งกว่าสิ่งพวกเขาสะสมไว้ ” (ยูนุส/58)

          ในโอกาสพิธีประสาทปริญญา รุ่นที่ 9 มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาในครั้งนี้ ผมใคร่ขอแสดงความความยินดีและเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมที่สุดที่เราต่างปลาบปลื้มเนื่องจากความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่นี้ ที่อัลลอฮฺได้ประทานเตาฟิกให้กำเนิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้และได้ดำเนินภารกิจอย่างสำเร็จลุล่วงและทรงอุปถัมป์สถาบันแห่งนี้ด้วยการให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพัฒนา ดังกรณีกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลามประเทศกาตาร์ที่ได้ยืนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาวิทยาลัยในการเปิดสาขาและศาสตร์ต่างๆที่สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แก่นักศึกษา สร้างความภูมิใจให้กับพวกเขาในการเป็นผู้รับมรดกจากบรรดาศาสนทูตและเสริมสร้างบุคลิกภาพแห่งความเป็นสายกลางและสันติเพื่อสานต่อภารกิจของบรรดานบี รู้จักปฏิสัมพันธ์กับยุคสมัยอย่างรู้เท่าทัน พร้อมเชิญชวนมนุษย์สู่คุณค่าของอิสลามด้วยวิทยปัญญาและการตักเตือนที่ดี เพราะบัณฑิตในวันนี้คือกำลังหลักที่สำคัญของสังคมในอนาคต พวกเขาจะแบกภาระศาสนานี้ในสังคมต่อไป นบีได้กล่าวความว่า “ ความรู้นี้จะถูกรับภาระโดยผู้ทรงความยุติธรรมที่สืบทอดจากบรรพชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า พวกเขาจะปฏิเสธการตีความของคนไม่รู้ จะลบล้างการแอบอ้างของมิจฉาชน และจะยับยั้งการเบี่ยงเบนของบรรดาผู้สุดโต่ง ”  (รายงานโดยบัยหะกีย์)

ผู้มีเกียรติทุกท่าน

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ภราดรภาพอิสลาม ยืนหยัดด้วยฐานแห่งหลักการศรัทธา ดั้งอัลลอฮ กล่าวความว่า “ ศรัทธาชนคือพี่น้องกัน ”  (อัลหุญร็อต/10)  นบีมุหัมมัดกล่าวความว่า   “ จะไม่เป็นผู้ศรัทธาจนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาเสมือนที่เขารักตนเอง ”  (รายงานโดยอัลบุคอรีย์)  ประชาชาติมุสลิมคือประชาชาติเดียวที่ก่อร่างสร้างตัวด้วยอัลกุรอานและสามารถโลดแล่นด้วยพลังแห่งมัสยิด และมัสยิดคือสถาบันแรกที่ค้ำจุนการกำเนิดของสังคมมุสลิม  อิสลามได้กำหนดว่าการแสวงหาความรู้คือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ทั้งนี้เพราะการเรียนการสอน การแสวงหาความรู้และการอ่านถือเป็นกุญแจสำคัญในศาสนานี้ พจนารถแรกที่ถูกประทานลงมายังฟากฟ้า เพื่อกอบกู้มนุษย์บนโลกนี้และสร้างอารยธรรมแห่งความปรานี ผ่านศาสนาทูตคนสุดท้ายคือพจนารถที่เริ่มต้นด้วย “ อิกเราะ ” แปลว่าจงอ่าน

สิ่งเหล่านี้เป็นคำยืนยันถึงอัตลักษณ์สาสน์ของเรา พร้อมปฏิบัติภารกิจบนโลกนี้ทั้งต่อตนเอง สังคม ประเทศชาติและมนุษยชาติทั้งมวล อัลลอฮฺได้กำหนดเป้าหมายสำคัญของการประทานนบีมูฮำมัดคือ การธำรงไว้ซึ่งความปรานีแก่สากลจักรวาล เราต้องถามตัวเองว่า อะไรบ้างที่เป็นบทบาทและผลงานของเราในอารยธรรมแห่งความปรานีนี้ อารยธรรมสายกลางและความสมดุล  ดังที่อัลลอฮฺกล่าว ความว่า “ และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกลาง เพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นสักขีพยานแก่มนุษย์ทั้งหลาย“ (อัลบะเกาะเราะฮฺ / 143)                           

ภารกิจสำคัญของเราขณะนี้คือ ทวงคืนกระบวนการสร้างอารยธรรมแห่งความปรานี  อารยธรรมที่เรียกคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพในความเชื่อและประกอบพิธีทางศาสนาและกำหนดทางเลือกแก่ตนเอง ภายใต้สโลแกน ” ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา”(อัลบะเกาะเราะฮฺ/256)หลังจากที่เราชี้แจงเส้นทางที่ถูกต้องและเส้นทางที่เบี่ยงเบนแก่มนุษย์แล้ว

นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลายึดถือมาโดยตลอด คือการให้เกียรติบุคคลตามโอกาสพิเศษต่าง โดยที่ในปีนี้มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้มีมติ มอบรางวัล โล่เกียรติคุณ ผู้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมดีเด่น(Tokoh Berjasa) แก่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง

เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าพเจ้าในนามคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ใคร่แสดงความยินดีแก่ท่านด้วยความจริงใจ

           แขกผู้มีเกียรติ

           ลูกหลานบัณฑิตทุกท่าน

          สาส์นของท่านยิ่งใหญ่มาก และใหญ่เพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อเทียบกับการที่ท่านอยู่ในประเทศนี้ ภารกิจของท่านถือเป็นการก่อสร้างที่หนักหน่วง ถือเป็นญิฮาดและสัญลักษณ์สำคัญของการญีฮาดทีเดียว

          ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อัลกุรอานใช้คำว่า “ กองกำลังกลุ่มหนึ่ง“ แทนกลุ่มนักศึกษา ดังที่  อัลกุรอานกล่าว ความว่า “ ทำไมแต่ละกลุ่มในหมู่พวกเขาจึงไม่ออกไปเพื่อหาความเข้าใจในศาสนา และเพื่อจะได้ตักเตือนหมู่คณะของพวกเขา เมื่อพวกเขาได้กลับมายังหมู่คณะของพวกเขา โดยหวังว่าหมู่คณะของพวกเขาจะได้ระมัดระวัง “ (อัตเตาบะฮฺ /122)        

ดังกรณีที่ อัลกุรอานใช้คำว่า “ กองกำลังกลุ่มหนึ่ง” กับกองพลในสนามรบ “ พวกเจ้าจงออกไปกันเถิด ทั้งที่ผู้มีสภาพว่องไว และผู้ที่มีสภาพเชื่องช้า (บุคคลทุกประเภทที่สามรถจะเดินทางได้) และจงเสียสละทั้งด้วยทรัพย์ของพวกเจ้า และชีวิตของพวกเจ้าในทางของอัลลอฮฺ นั่นแหละคือสิ่งที่ดียิ่งสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้

          วันนี้เป็นวันแห่งความปลาบปลื้มและปีติยินดี จากความสำเร็จของลูกหลานของเราที่เป็นบัณฑิตใหม่ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการกลับสู่ครอบครัว สังคม และประชาชาติ เราจำเป็นที่จะต้องมอบภารกิจให้กับพวกเขาในการนำศาสตร์ความรู้ที่ถูกต้อง และลบล้างทัศนคติเชิงลบทั้งหลาย พร้อมนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต และตักเตือนพวกเขาให้พ้นจากเส้นทางที่เบี่ยงเบน (หวังว่าหมู่พวกเขาจะได้ระมัดระวัง)

          พี่น้องนักศึกษา

          ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนเข็มทิศ จะนำทางสู่การทำงานและเป็นกุญแจดอกเล็กๆ เพื่อเปิดทางในกระบวนการสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ และปริญญาคือการเริ่มต้น ไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดของการศึกษาหาวิชาความรู้

          ขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺให้เพิ่มพูนความรู้ และขอความคุ้มครองให้รอดพ้นจากความรู้ที่ไม่มีประโยชน์ ภารกิจทุกอย่างขอมอบแด่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงคุ้มครองที่ดีเลิศ และผู้ทรงช่วยเหลือที่ดีเยี่ยม

          สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีให้กับบัณฑิตทุกคน และขอชื่นชมมหาวิทยาลัยอิสลามยะลาและคณะผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างเกียรติประวัติของมุสลิมในภูมิภาคนี้ และได้สร้างหอประภาคารแห่งการเรียนรู้ และแสงสว่างที่นำทางแก่มวลมนุษย์ นำเสนอคุณค่าของศาสนาอิสลาม ที่ปราศจากรุนแรงและสุดโต่ง

Wassalam

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ประจำกาตาร์

Dr. Mahmet Mustafa Goksu

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ล่าสุดประจำกาตาร์ ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มขณะอายุ 11 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ปี 1994  จบปริญญาโทและเอกจาก Sakarya University มหาวิทยาลัยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี เขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านอิสลามศึกษาและธุรกิจ เคยโลดแล่นในแวดวงธุรกิจที่ประเทศเยอรมันและซาอุดิอาระเบีย เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สถานทูตตุรกีประจำซาอุดิอาระเบีย

รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำกรุงโดฮา เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และให้สัมภาษณ์แก่อัลจาซีร่าห์ เผยแพร่โดย aljazeera.net เมื่อวันที่ 25/11/2020 ซึ่งได้พูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

            ⁃          การที่ท่านได้รับตำแหน่งนี้ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อถึงอะไรบ้าง?

ผมมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้มาค่อนข้างนานพอสมควร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาและทำงานในภาคธุรกิจ ตลอดจนเคยรับผิดชอบด้านการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ น่าจะเป็นคุณสมบัติที่เพียงพอที่ทำให้ท่านประธานาธิบดีไว้วางใจผม ให้รับตำแหน่งนี้

            ⁃          หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอันแน่นแฟ้นระหว่างตุรกีกับกาตาร์เป็นความสัมพันธ์ชั่วคราว

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรามีจุดร่วมทางการเมืองและวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน เราอยู่บนแถวเดียวกันเรื่องการผดุงสัจธรรมแล้วยุติธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชาติ และเราได้ถูกทดสอบมากมายบนเส้นทางนี้ แต่เราสามารถผ่านพ้นอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงเกิดรัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกีปี 2016 ซึ่งประเทศกาตาร์ได้แสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐบาลตุรกีตั้งแต่วินาทีแรก และช่วงที่กาตาร์เผชิญวิกฤตรุนแรงที่ถูกปิดล้อมโดยชาติเพื่อนบ้านตุรกีเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธการปิดล้อมครั้งนี้ พร้อมยื่นมือคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

            ⁃          ตุรกีและกาตาร์มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

ปี 2014 ทั้งสองประเทศร่วมก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์สูงสุดแห่งกาตาร์และตุรกีซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในวันที่ 26/11/2020 ที่อังการ่า และมีการประชุมย่อยอีก 28 ครั้ง ได้บรรลุข้อตกลงในด้านต่างๆ กว่า 50 ฉบับ  ในปี 2010 ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าจาก 340 ล้านดอลล่าร์ เป็น 2 พันล้านดอลล่าร์ ในปี 2019

            ⁃          บรรยากาศทางธุรกิจในกาตาร์สอดคล้องกับการลงทุนในตุรกีหรือไม่?

ปัจจุบันมีบริษัทกาตาร์ที่เข้าไปลงทุนในตุรกีจำนวนกว่า 179 บริษัทและมียอดลงทุนมากกว่า 22 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะเดียวกันมีบริษัทตุรกีที่ลงทุนที่กาตาร์มากกว่า 500 บริษัท มียอดการลงทุนตั้งแต่ปี 2002 จำนวนกว่า 18 พันล้านดอลล่าร์ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจ ของทั้งสองประเทศที่ลงตัวที่สุด

            ⁃          ตุรกีไม่เห็นด้วยกับประเทศอาหรับที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล ในขณะเดียวกันตุรกีมีสถานทูตประจำเทลอาวีฟ

รัฐบาลแอร์โดอานบริหารประเทศหลังจากที่ตุรกีเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอิสราเอลนานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว แต่ยุคนี้เราขอยืนยันว่า เราไม่เคยลดบทบาทและหน้าที่ของเราที่มีต่อพี่น้องปาเลสไตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยกับอธรรมที่เกิดขึ้นที่แผ่นดินปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์เป็นพยานในเรื่องนี้ดี ชาวตุรกีเคยสังเวยเลือดและชีวิตบนเรือมาร์มาร่า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปาเลสไตน์มาแล้ว เราต้อนรับกลุ่มฟาตะฮ์และฮามาส เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่อิสตันบูล จุดยืนของตุรกีสอดคล้องกับประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับที่ไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล เพราะเราเขื่อมั่นว่า สิทธิของชาวปาเลสไตน์จะต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์ และไม่มีใครมีสิทธิ์ผ่อนปรนในเรื่องนี้

            ⁃          ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างไรบ้าง?

รัฐบาลตุรกีมีเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงริยาด ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะตอบในประเด็นนี้ แต่ผมขออนุญาตพูดในฐานะประชาชนและสมาชิกหนึ่งในสังคมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมใช้ชีวิตในซาอุดิอาระเบียทั้งในฐานะนักศึกษาและผู้ทำงาน ผมได้ซึมซับธาตุแท้ของชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาต่างๆที่ประสบร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประชาชาติและเป็นสิ่งที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกรอคอยด้วยความหวังดีเสมอมา

            ⁃          ตุรกีปัจจุบันแตกต่างกับตุรกีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง?

เทียบกันไม่ได้เลยครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียง 8.7 พันล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันเป็น 131 พันล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีสร้างเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์ 15 เเห่ง สร้างศูนย์เยาวชนจาก 9 แห่งเป็น 336 แห่งทั่วประเทศ สร้างศูนย์กีฬาจาก 1,575 แห่งเป็น 4,000 แห่ง ในปี 2013 ตุรกีสามารถจ่ายหนี้ IMF มูลค่า 22.5 พันล้านดอลล่าร์  เพิ่มมูลค่า GDP จาก 236 พันล้านดอลล่าร์เป็น 754 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มจาก 3,500 ดอลล่าร์ต่อปี เป็น 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี ปัจจุบันตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพผลิตอาวุธ รถยนต์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศมากมาย จากประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในมากมาย แต่ปัจจุบันตุรกีก้าวขึ้นมีบทบาทในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

บทสัมภาษณ์ยังได้แตะประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอียิปต์ ตุรกีกับปัญหาซีเรียและอิรัก ตุรกีกับสหภาพยุโรป ตุรกีกับสหรัฐอเมริกา และตุรกีกับรัสเซีย ซึ่งบอกได้เลยว่า ชายคนนี้ไม่ธรรมดาและขอย้ำทิ้งท้ายว่าขอให้จำชื่อคนนี้ให้ดี

ไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้ ตุรกีอาจมีประธานาธิบดีที่เคยศึกษาที่เมืองรอซูลุลลอฮ์ที่ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มก็ได้

إن شاء الله


โดย Mazlan Muhammad

อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/news/2020/11/25/%d8%ad%d8%a7%d9%81%d8%b8-%d9%84%d9%84%d9%82%d8%b1%d8%a2%d9%86-%d9%88%d8%aa%d8%ad%d8%af%d8%ab-%d8%b9%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d8%b9%d9%88%d8%af%d8%a8%d8%a9-%d9%88%d9%85%d8%b5%d8%b1

บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

พี่น้องรู้จักบุคคลนี้ไหม
เคยได้ยินชื่อนี้กันบ้างหรือเปล่า

ท่านเป็นหมอนักพัฒนา
ผู้มีฉายาว่า เป็น
– บิดาแห่งชาวแอฟริกา
– หมอคนจน และ
– บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

ท่านเป็นชาวคูเวต เกิดเมื่อปี คศ.1947
จบคณะแพทย์ศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารที่อิรัก แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองลิเวอร์พูล และแคนาดา
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารประจำที่กรุงลอนดอนและคูเวต
เป็นเลขาธิการสภามุสลิมแอฟริกา ปี 1981 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์การนี้เป็น มูลนิธิอัลเอาวน์ อัลมุบาชิร (ให้ความช่วยเหลือสายตรง) และได้รับเลือกเป็นประธานมูลนิธิตั้งแต่นั้นมา
เริ่มเผยแผ่อิสลามในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี 1981 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 15 – 08 – 2013 ขณะที่มีอายุ 66 ปี

กว่า 30 ปี ที่อุทิศตนทำงานดะอฺวะฮฺในทวีปแอฟริกา ได้ผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ถูกจำคุกที่อิรัก 2 ครั้งจนเกือบถูกประหารชีวิต พลัดหลงในทะเลทรายแอฟริกา ถูกช่มขู่เอาชีวิต ติดในดงงูคิงคอบร้าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ใช้ชีวิตในดินแดนหฤโหดและทุรกันดารแอฟริกา ช่วงบั้นปลายชีวิตถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายทั้งหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และกระดูกพรุน แต่ก็ยังบากบั่นทำงานเผยแผ่อิสลามอย่างไม่ย่อท้อ และร้องไห้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงสภาพความเลวร้ายของพี่น้องร่วมโลกที่ประจักษ์ด้วยตาตนเองในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเสียงสะอื้นร่ำไห้ของลูกหลานชาวแอฟริกาที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม พร้อมตั้งคำถามว่า โอ้ชาวอาหรับ ทำไมท่านเพิ่งมาถึงตอนนี้ ท่านต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่ของฉันที่เสียชีวิตในสภาพที่เป็นกาฟิรด้วย ท่านให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า คำถามนี้ยังก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาทของท่านตลอดเวลา

บุรุษผู้นี้ได้สร้างผลงานมากมาย ที่กล่าวกันว่าแม้กระทั่งรัฐบาลคูเวต ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่า ผลงานส่วนหนึ่งของท่านได้แก่
– ทำให้ชาวแอฟริกากว่า 11 ล้านคนรับอิสลาม
– สร้างมัสยิดทั่วแอฟริกาประมาณ 5,700 แห่ง
– ดูแลเด็กกำพร้า 15,000 ชีวิต
– ขุดบ่อบาดาล 9,500 แห่ง
– สร้างโรงเรียน 860 โรง
– สร้างมหาวิทยาลัย 4 แห่ง
– สร้างศูนย์กิจการอิสลาม 204 แห่ง
– สร้างโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ 124 แห่ง
– สร้างโรงเรียนอัลกุรอาน 840 แห่ง
– ให้ทุนการศึกษา 95,000 คน
– พิมพ์และเผยแพร่อัลกุรอานจำนวน 6 ล้านเล่ม
– จัดโครงการอิฟฏอร์เดือนเราะมะฎอน ครอบคลุม 40 ประเทศ มีมุสลิมเข้าร่วมแต่ละปี 2 ล้านคน
– ได้รับรางวัลระดับโลกอิสลามมากมายอาทิ รางวัลกษัตริย์ไฟศ็อลด้านบริการอิสลามและมุสลิมปี 1996 รางวัลสาธารณกุศลแห่งรัฐซาร์จ่าห์ปี 2010 รางวัลงานสาธารณกุศลจากมูลนิธิกาตาร์ปี 2010 ฯลฯ

ท่านมีชื่อว่า
Abdulrahman Al Sumait
عبد الرحمن السميط
พี่น้องครับ
เมื่อสตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต โลกทั้งใบคล้ายตกในอาการภวังค์ สื่อทั่วโลกกระพือข่าวนานเป็นเดือน กลายเป็น talk of the world สรรเสริญอัจฉริยบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล

แต่เมื่อบุคคลผู้อุทิศตนทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามได้จากโลกนี้ไป ชาวโลกพร้อมใจกันไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใครรับรู้คุณูปการของเขาถึงแม้ในแวดวงผู้คร่ำหวอดทำงานในวงการเผยแผ่อิสลามก็ตาม
ไม่มีเสียงชื่นชม แม้เพียงบทดุอา

ตราบใดที่ตายในสภาพกาฟิร
ถึงแม้จะทิ้งผลงานมากมายล้นฟ้าเต็มแผ่นดิน
ก็ไม่มีคุณค่าใดๆ ณ อัลลอฮ และพระองค์จะทำให้การงานเหล่านั้นเป็นผุยผงที่ปลิวว่อน

แต่สำหรับมุอฺมินแล้ว
อะมัลญาริยะฮฺที่เขาได้ทำไว้
คือกุศลทานอันไหลริน
ที่คอยสะสมเพิ่มพูนความดีงามของเขาอย่างไม่ขาดสาย
ความดีงามเล็กน้อยเท่าเมล็ดอินทผาลัม
อัลลอฮฺจะทำให้มันงอกเงยใหญ่โตเท่าภูเขาอุหุด

แล้วหากสร้างคุณูปการมากล้นทั่วทั้งทวีป
อัลลอฮฺจะเพิ่มพูนผลบุญมากมายแค่ไหน

บนโลกนี้ บุรุษผู้นี้อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและชื่นชมท่านมากนัก
แต่ในสวรรค์ ท่านคงอยู่เคียงข้างนบีมูฮัมมัด บรรดานบี ชาวศิดดีกีน ชาวชุฮะดาอฺและศอลิฮีน

ท่านใช้ชีวิตบนโลกนี้เพียง 65 ปีก็จริง
แต่ในความเป็นจริง ท่านมีชีวิตที่ยั่งยืนยาวนาน ซึ่งอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรอบรู้
ส่วนหนึ่งของคำพูดของท่าน

“ฉันจะโยนทิ้งไม้เท้านี้ที่ฉันใช้ในการเดินทางทันที หากมีใครสักคนประกันให้ฉันว่า ฉันจะได้เข้าสวรรค์แน่นอน ตราบใดที่ไม่มีใครมาประกันให้ฉันในเรื่องนี้ ฉันไม่มีวันทอดทิ้งงานนี้เป็นอันขาด จนกว่าชีวิตนี้จะหาไม่ แท้จริงการตรวจสอบของอัลลอฮฺช่างลำบากยากเย็นยิ่งนัก”

เรื่องนี้ขอเพียงแค่กระตุ้นต่อมให้เราสำนึกว่า
แล้วเราได้ฝากผลงานเพื่ออิสลามและสังคมมุสลิมไว้มากน้อยเพียงใด

اللهم كثر من امثاله

اللهم اغفر له وارحمه وعافه واعف عنه واجعل اعماله في ميزان حسناته يوم القيامة وادخله الجنة مع النبيين والصديقين والشهداء والصالحين وحسن اولئك رفيقا

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ ผู้นำพาอิสลามไปยังชาวอุยกูร์

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ นักหะดีษคนสำคัญและเป็นจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม ผู้นำอิสลามไปดินแดนไกลสุดของโลกตะวันออก

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ (อายุ 48 ปี เกิดช่วง ฮ.ศ 48- ฮ.ศ.96 / ค.ศ.669 -ค.ศ.715) จอมทัพของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ผู้สยบจักรพรรดิจีนและนำอิสลามไปยังดินแดนตุรกีสถานตะวันออก (ซินเกียง)และนับเป็นแม่ทัพมุสลิมที่สามารถนำพาอิสลามไปพิชิตดินแดนจีนได้ลึกที่สุด

ในทางวิชาการ ได้รายงานหะดีษจากอิมรอน บินหุศ็อยน์ และอบูสะอีด อัลคุดรีย์

ในทางทหาร เป็นแม่ทัพใหญ่ของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ยุคคอลีฟะฮ์วะลีด บินอับดุลมาลิก ผู้กล้าหาญเด็ดเดี่ยว เจ้ากลยุทธ์ ผู้พิชิตเมืองคอวาริซม์ บุคอรอ สะมัรกันด์ ฟัรกอนะฮ์ และดินแดนของเติร์ก ปี ฮ.ศ. 95

แม้ว่าดินแดนเปอร์เซียจะเข้ารับอิสลามในยุคคอลีฟะฮ์รอชิดีน แต่ชนชาติเติร์กเผ่าต่างๆ ที่มีจำนวนมากกว่าชาวเปอร์เซียเข้ารับอิสลามในยุคของกุตัยบะฮ์

เป็นผู้ว่าการเมืองคอรอซาน 10 ปี

ใน 10 ปีนี้ สามารถพิชิตดินแดนได้กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ผู้คนมากมายเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ไปจนกระทั่งถึงเมืองกัชการ์ ดินแดนตุรกีสถานตะวันออกหรือซินเกียงในปัจจุบัน

ขณะเดินทางไปพิชิตดินแดนจีน ได้ทราบข่าวว่า คอลีฟะห์วะลีด บินอับดุลมาลิก เสียชีวิต แต่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปจนกระทั่งพิชิตได้

ชาวเติร์กเผ่าต่างๆ ต่างประทับใจในบุคลิกภาพด้านการทหารของท่าน จึงเข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมหาศาล กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เป็นสะพานเชื่อมที่ทำให้ชาวเติร์กได้เห็นสัญลักษณ์ความดีงามที่แท้จริงรวมถึงความกล้าหาญและความเป็นลูกผู้ชาย ตลอดจนคุณธรรมอิสลามอันสูงส่งที่ปรากฏอยู่ในบุคลิกของท่าน

การที่ชนชาติเติร์กเข้ารับอิสลาม ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เพราะชนชาติเติร์กมีบทบาทสูงในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ไปทั่วทวีปเอเชีย ทั้งชนชาติเติร์กเผ่าซัลจู๊ก เผ่าออตโตมัน เผ่าอุซเบก และมัมลู้ก บุคคลเหล่านี้มีผลงานรับใช้อิสลามอันยิ่งใหญ่ รวมถึงชนชาติเติร์กในดาเกสถาน เชชเนีย กอซันวี และกูรีย์ ผู้พิชิตอินเดีย ผลงานอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เมล็ดพันธุ์เม็ดแรกมาจากกุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์

ความยิ่งใหญ่ที่ศัตรูทั่วทั้งเอเชียกลางทุกแว่นแคว้น ต่างพรั่นพรึงและไม่อาจรับมือได้ กลับต้องพ่ายแพ้กลเกมการชิงอำนาจในราชสำนักแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์

คนดีที่โลกลืม กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ ถูกล้อมฆ่าโดยมุสลิมด้วยกัน แต่แนวคิดทางการเมืองต่างกัน

ครอบครัว ลูกเมียถูกล้อมฆ่าในบ้านวีรบุรุษอิสลามผู้ยิ่งใหญ่ ถูกตัดหัวส่งให้ผู้นำทางการเมืองที่แย่งชิงบัลลังก์อำนาจ ร่างของท่านถูกฝังทางภาคตะวันออกของประเทศอุซเบกิสถานในปัจจุบัน

ปิดฉากความยิ่งใหญ่ทั้งปวงในโลกนี้ หลังจากสามารถยาตราทัพอิสลามไปถึงดินแดนตุรกีสถานตะวันออก เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีแม่ทัพมุสลิมคนใดสามารถไปไกลกว่านั้นได้อีก ตราบถึงวันนี้

นี่คือสิ่งที่วีรบุรุษอิสลามผู้สร้างผลงานยิ่งใหญ่ได้รับการตอบแทนในวันนั้น

และการสาปแช่งจากชนรุ่นหลังที่ไม่รู้จักบุญคุณคน

วีรบุรุษอิสลามมากมายได้รับผลตอบแทนเฉกเช่นนี้

จากประชาชาติที่โง่งมงาย ไม่รู้ถูกผิด

จะทำฉันใดได้อีก

นอกจากร้องทุกข์ต่อองค์อภิบาล

ในวันที่ชาวอุยกูร์นับสิบล้านในดินแดนนี้ กำลังถูกกดขี่บังคับให้ละทิ้งศาสนาอิสลาม กลับคืนศาสนาเดิม โดยที่ไร้วีรบุรุษเฉกเช่นท่านกุตัยบะฮ์คอยปกป้องคุ้มครอง

เขียนโดย Ghazali Benmad

เราเป็นทั้งพี่น้อง สหายร่วมเดินทาง และเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

ด้วยการเสนอของอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา (ขณะนั้น) ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในคราวประชุมครั้งที่ 37(2/2010) วันที่ 13/2/2011 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติอย่างเอกฉันท์มอบ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ Y.A. Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศ มาเลเซีย (ในขณะนั้น) ด้วยเห็นว่า Y.A.Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad (ในขณะนั้น) ได้สร้างคุณประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างอเนกอนันต์

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสองตำนานที่ยังมีชีวิตที่คนหนึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ของประเทศมาเลเซียกับอีกคนในฐานะนักวิชาการศาสนาตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ในวัย 94 ปี ท่านกุมบังเหียนประเทศมาเลเซียอีกครั้งชนิดหักปากกาเซียนทั้งโลก Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดกัวลาลัมเปอร์ ซัมมิต 2019 ระหว่าง 18-31 ธันวาคม 2562 จึงเรียนเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เข้าร่วมประชุมร่วมกับนักวิชาการ 400 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติตลอดระยะเวลาของการประชุม

“ในฐานะเพื่อนบ้าน ถ้าหากเขาเชิญเราไปเยี่ยมบ้านเขา แล้วเราปฏิเสธ ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรง เพราะอิสลามสอนให้เราให้เกียรติกับเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะเป็นชนศาสนิกก็ตาม” อธิการบดีหรืออบีของชาว มฟน. กล่าวเบื้องหลังของการเข้าร่วมประชุมเคแอลซัมมิตในครั้งนี้

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด” สิ่งที่อบีย้ำอยู่เสมอ

Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสถาปนาเมืองการบริหารจัดการยุคใหม่ครบวงจรที่ Putra Jaya ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในนามรัฐบาล

ในขณะที่ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญสร้างมะดีนะตุสสลาม ภายใต้โครงการปัตตานี จายา ซึ่งกำลังดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง บางโครงการก็ได้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญคือเป็นโครงการวากัฟที่อาสาโดยเอกชนเป็นหลัก

ความเหมือนที่ต่างกันระหว่างทั้งสองท่านคือ การแข่งขันทำความดีในฐานะผู้บุกเบิก และความมุ่งมั่นที่จะเห็นสังคมเจริญไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยอาศัยทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะพลังเยาวชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนสู่สังคมสันติอย่างแท้จริงตลอดไป

เพียงแต่คนหนึ่ง มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ในขณะที่อีกคน เป็นเพียงปุถุชนที่ระดมสรรพกำลังความรู้และความสามารถทางวิชาการ นำเสนอความดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด”

ขออัลลอฮ์ตอบแทนท่านทั้งสองด้วยความดีงาม

เขียนโดย : ผศ.มัสลัน มาหะมะ