นักเรียนปอเนาะจะนะเรียกร้องปกป้องสิ่งแวดล้อม

นักเรียนปอเนาะจะนะเรียกร้องปกป้องสิ่งแวดล้อมท่ามกลาง นร.นศ.ส่วนกลางเรียกร้องประชาธิปไตยอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

ผู้ประสานงานกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเนาะ) จะนะ : รายงานจากจะนะ
[email protected]
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

16 สิงหาคม 2563 และก่อนหน้านี้นักเรียน นักศึกษาส่วนกลางกรุงเทพมหานคร กำลังเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อหรือยกระดับ10ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้สู่ประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล และบางเรื่องบางประเด็นที่เป็นเรื่องใต้พรมสู่เวทีสาธารณะจนเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้แกนนำสามคนโดนจับและปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้างจนนำความแตกแยกสองฝากสองฝั่งของคนในชาติ ในขณะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตัวแทนนักเรียน ครู อุสตาส โต๊ะครูและผู้บริหารจาก
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอนาะ)กว่า 1,000 คน ออกมาแสดงพลัง ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งในชุมชนแม้บางฝ่ายมองว่า “เป็นการเมืองเพราะออกมาเคลื่อนไหวตรงกับเวทีนักศึกษาที่กรุงเทพมหานครที่สำคัญการปราศรัยของนักศึกษาชายแดนภาคใต้ที่ปัตตานีและกทม.ก็มีการพูดถึงจะนะเมืองอุตสาหกรรมในข้อเรียกร้องด้วย”
กล่าวคือ

“วันนี้ 16 สค.63 (10.00 น.) .ณที่ว่าการอำเภอจะนะจังหวัดตัวแทนนักเรียน ครู อุสตาส โต๊ะครูและผู้บริหารจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเน๊าะ)กว่า 1,000 คน ออกมาแสดงพลัง ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอจะนะ..ถึงนายกรัฐมนตรี…และเลขาธิการศูนย์อำนายการจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต)…#ให้ทบทวน”#โครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบ”..ที่ ศอ.บต.ผลักดันให้มีนิคมอุตสาหกรรมจะนะขนาดใหญ่.ซึ่งอาจกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรมของประชาชนทุกภาคส่วนในอำเภอจะนะ..

ใน 6 ข้อเสนอแนะโดยเริ่มกระบวนการใหม่อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในอำเภอจะนะ…ตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ..จึงเป็นทางออกที่จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของอำเภอจะนะในที่สุด…

ทำไมต้องออกมาขย่มรัฐนี้ช่วงนี้

โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แห่งที่ 4 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่นำพื้นที่ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มาพัฒนาเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ชุมชน เนื้อที่การพัฒนา 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 18,680 ล้านบาท กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนสร้างความแตกแยกของชุมชนตามปรากฎในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังข่าวโควิดโดยเฉพาะหลังเวที วันที่11 กรกฎาคม 2563
แม้แต่กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ชัด “ศอ.บต.” นำงบฯ ประจำไปจัดเวที 11 ก.ค.ดัน “จะนะเมืองอุตฯ ก้าวหน้าแห่งอนาคต” ต้องการเปลี่ยนสีผังเมืองแบบคลุมเครือ ทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญปี’60 และขัดระเบียบสำนักนายกฯ มากมายเงื่อนงำ ซับซ้อน ความพิลึกพิลั่น ยันประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ส่อเอื้อแต่ “ทีพีไอ” ยักษ์ใหญ่พลังงานและปิโตรเคมี
(โปรดดู >> https://mgronline.com/south/detail/9630000075633)

อะไรคือบทเรียน

อันเนื่องมาจากชาวจะนะได้บทเรียนโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข สถาบันพระปกเกล้าหรือที่เรียกว่า 4 ส รุ่นที่ 8 นำโดยนายแพทย์นันทวัช สิทธิรักษ์ได้สรุป ว่า

1. แก่นหลักที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความแข็งขืนต่อต้านโครงการนี้ในนภาพรวมคือ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (no trust) ประเด็นหลักที่พบได้แก่ ชุดข้อมูลที่ฝ่ายรัฐและแนวร่วมรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการมีอยู่มักถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัด ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจให้ข้อมูลไม่ตรงตามเอกสารจริง ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นองค์กรเอกชนถูกอีกฝ่ายอ้างด้วยเช่นกันว่าข้อมูลด้านตรงกันข้ามรวมทั้งมีการใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยก

2. การไม่ยอมรับผลการประเมิน EIA (Environmental Impact Assessment) คือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” EHIA (Environment and Health Impact Assessment) คือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจากหลายเหตุผล

3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว

4. ความไม่ยืดหยุ่นของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์โครงการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน

5. กระบวนการลดผลกระทบเชิงลบและการเยียวยาของโครงการที่มีต่อประชาชนที่มิได้ศึกษามิติต่างๆ ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งที่สามารถตีค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ (tangible) และมีคุณค่าที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน

6. ไม่มีกระบวนการติดตามโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ในส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันสอนศาสนาอิสลามในอำเภอจะนะ ซึ่งมีผู้เรียนประมาณ 20,000 คน ผู้นำศาสนา ครูศาสนาและสามัญ ประมาณ 2,000 คน กำลังกังวลผลกระทบของสถานศึกษา บุคคากร และผู้เรียน วิถีวัฒนธรรมอิสลามอันดีงาม ซึ่งยังมิได้รับการประเมินรวมทั้งมิสามารถประเมินตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน

ขนาดโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังไม่ลง มีแหล่งบันเทิง และมีการนำมโหรสพวงดนตรี มาแสดงในชุมชนมุสลิม 100%
อะไรคือทางออก
จากเหตุดังกล่าวข้างต้น
หากจะเดินหน้าทำตาม ปณิธาน “จะนะเมืองน่าอยู่ มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ กันความไม่ไว้ใจ
ดังนั้น ทางออกที่วินๆ(ชนะ)ทุกฝ่าย ถ้าจะเชื่อใจ บริสุทธิ์ว่า เพื่อประชาชน จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะดังนี้
1. ให้มีการทบทวนโครงการนี้ (มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ 21 มกราคม 2563 ) เนื่องจากเป็นมติที่อนุมัติโดยรัฐบาล คสช.โดยขาดข้อมูลทางวิชาการ และไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมาก่อน
2. ไม่นำผลของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน(11 กรกฎาคม 2563)เพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมือง อันเนื่องมาจากเวทีดังกล่าว มีข้อครหาในความโปร่งใสในการจัดเวที
3. เปิดพื้นที่กลางปลอดภัยการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
4. ไม่คุกคามผู้เห็นต่างจากรัฐ
5. ไม่นำอบายมุข มโหรสพ เช่นดนตรีและอื่นๆที่หมิ่นแหม่ผิดหลักศาสนาเข้ามาในชุมชนมุสลิมจะนะ
6. เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้นำศาสนา ครูและนักเรียนร่วมออกแบบตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล(ทั้งต้นนำ้ กลางและปลายนำ้)เพื่อพัฒนาจะนะสู่ชุมชนมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอันจะสร้างความชอบธรรมทั้งกระบวนการและกฎหมายซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ช่วงระยะๆ ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการต้องเปิดให้มีส่วนร่วมที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน

ขั้นตอนที่ 2 การร่วมกำหนดเป้าหมายโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความจำเป็นของรัฐ

ขั้นตอนที่ 3 กระบวนการลดผลกระทบโครงการและการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม

ขั้นตอนที่ 4 กระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างมีส่วนร่วม

ปัญหาการประท้วงที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต่อโครงการลักษณะนี้ซึ่งจะกระทบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา วิถีวัฒนธรรมและสิทธิชุมชนจนบานปลายสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถ้าได้รับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไร สังคมในพื้นที่และภายนอกจะยอมรับได้ในกติกานี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือหนุนปัญหาการไม่ยอมกันคงมีแต่อาจจะน้อย การประท้วงหน้าทำเนียบก็คงจะลด หรือถ้ามีประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโล่ให้รัฐเพราะผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน

บาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ ผู้บริหารโรงเรียนศาสนบำรุงและที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดสงขลา ให้ทัศนะว่า “โครงจะนะเมืองอุตสาหกรรม ในการต่อเพื่อสัจจธรรมนั้น ไม่ว่าจะคว้าชัยหรือเเพ้พ่ายทุกอย่างก้าวคือความรับผิดชอบ ทุกดีตัดสินใจคือตำนานให้รุ่นหลังได้เล่าขาน ว่า เราได้เตือนและชี้แนะตามวิถีของเรา และปกป้องสิ่งที่ควรปกป้อง มิได้เป็นเครื่องมือของผู้ใด ไม่มีเรื่องการเมืองแม้เราจะเคลื่อนช่วงนักเรียน นักศึกษา (นร.นศ.)ส่วนกลางเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อควำ่รัฐบาล วันนี้เรามาเยอะก็จริงแต่มาแค่ยื่นหนังสือ และถ่ายภาพเชิงสัญญลักษณ์ประกาศให้สังคมภายนอกได้รู้ได้ประจักษ์”
อย่างไรก็แล้วแต่ปัญหาจะที่ชายแดนภาคใต้หรือส่วนกลางที่กำลังเร้าร้อน และเปลี่ยนผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่มันไม่สามารถปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยว่าด้วยสงครามความคิดกับการจัดการความขัดแย้งโดยเปิดพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองไทย” (Political Space in Thailand ) ซึ่งอาจต้องในวาระต่อไป

ชมคลิป/ภาพที่นี่

แอร์โดอานประกาศการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติมหาศาล

21 สิงหาคม 2563 แอร์โดอานประกาศข่าวดีในวันศุกร์ที่ 1 มุหัรรอม 1442 ซึ่งเป็นวันปีใหม่แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การค้นพบแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมหาศาลในทะเลดำทางตอนเหนือของประเทศ ณ ตำแหน่งTuna-1 Zone โดยเรืออัลฟาติห์ที่มีจำนวนมหาศาลกว่า 3.2 แสนล้านลบ. ม. ซึ่งคาดว่าสามารถเป็นแหล่งพลังงานได้นานถึง 20 ปี

ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่า วินาทีนี้เราขอแสดงความยินดีกับข่าวดีที่สุดที่สามารถค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลในเขตทะเลดำโดยเรืออัลฟาติห์ที่ได้ดำเนินการสำรวจเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาซึ่งสามารถค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติจำนวน 3.2 แสนล้านลบ. ม. โดยถือเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดที่ขุดพบโดยชาวตุรกี

ประธานาธิบดีตุรกียังกล่าวอีกว่า การค้นพบครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของตุรกี และเราไม่ได้พึ่งพาศักยภาพของชาวต่างชาติแม้แต่น้อย เรามั่นใจว่ายังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและทะเลอีกมากมายที่จะถูกค้นพบในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งทุนพลังงานสำรองเพื่อให้บริการแก่ชาวตุรกีและชาวโลกต่อไป

หนุ่มยูทูเบอร์ชาวอังกฤษรับอิสลาม

Jay Palfrey ยูทูปเบอร์ชาวอังกฤษ ประกาศเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามในมัสยิดแห่งหนึ่งในตุรกี หลังจากเดินทางค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรมมายาวนาน เขากล่าวว่า ชีวิตในประเทศอิสลามทำให้เขาอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนาที่สวยงามและสงบสุขนี้

ดูเพิ่มเติม https://www.facebook.com/103622369714881/posts/3791697677573980/


โดยทีมงานต่างประเทศ

ขอเเสดงความยินดีกับทีม มฟน.ชนะเลิศอันดับ 1 โครงการ Generation Unlimited

ขอเเสดงความยินดีกับทีม Muallim ทีมนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี ซึ่งได้รับการ Incubate จาก Nureen Pakdee และ Muslimah Tohlong จาก #Digital4Peace 

ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ ของการแข่งขันในโครงการ Generation Unlimited เยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม โดย UNICEF Thailand , UNDP Thailand , และ Saturday School

รายชื่อนักศึกษา ได้แก่
1.นิสมา ฆอแด๊ะ สาขาการสอนอิสลาม ปี 3
2.นูรไลลา ดอคา สาขาการสอนภาษาอังกฤษ ปี 3
3.นาดีเราะห์ เวาะแห สาขาการสอนภาษาอาหรับ ปี 3
มี อ. ซูรัยดา สะมะแอ และ อ. มุสลีมะห์ โต๊ะหลง เป็นที่ปรึกษา ( Mentor)

ต่อไปนี้ทีม Muallim จะเป็น 1 ใน 2 ตัวเเทนของประเทศไทยไปแข่งขันบนเวทีระดับโลก

Digital4Peace
#theIncubator
#PeaceIncubator


ที่มา : Digital4Peace ดิจิทัลเพื่อสันติภาพ

Masjid Razaleigh แรงบันดาลใจจากมัสยิดหะรอม มหานครมักกะฮ์

GUA MUSANG : Masjid Razaleigh มูลค่าก่อสร้างกว่า RM28 ล้าน ที่มีโมเดลถอดแบบจากมัสยิดหะรอม มหานครมักกะฮ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ปลายปีนี้และจะเป็นสัญลักษณ์แห่งใหม่ของรัฐกลันตัน ที่มีฉายา Serambi Mekah หรือระเบียงมักกะฮ์ โดยเฉพาะในเขต Gua Musang

มัสยิดแห่งนี้มีเนื้อที่ใช้สอย 70,000 ตารางฟุต ใช้วัสดุการก่อสร้างที่มีมาตรฐาน

สส. Gua Musang , Tengku Razaleigh Hamzah เปิดเผยว่า มัสยิดแห่งนี้จุคนประมาณกว่า 3,500 คน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2016 ได้รับแรงบันดาลใจจากมัสยิดหะรอม มักกะฮ์ ประกอบด้วยหออะซาน 9 หอ ที่มีความสูง 30 ม. และโดม 7 โดม รวมทั้งห้องประชุม ห้องสัมมนา ห้องสมุด ห้องเรียนโรงอาหาร บ้านพักอิมาม บิลาลและเจ้าหน้าที่จัดการศพ 2 คน

ส่วนลานกว้างตรงกลางมัสยิดจะจัดไว้ช่วงอบรมฮัจญ์แก่ผู้ประสงค์จะประกอบ พิธีฮัจญ์ในแต่ละปี

คาดว่าพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นปลายปีนี้ ซึ่งจะกลายเป็น Landmark ที่สำคัญแห่งหนึ่งในรัฐกลันตัน โดยเฉพาะเขต Gua Musang ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่มาชมและจัดกิจกรรมตามความต้องการของชุมชนต่อไป

บ่วงบาศคล้องคอตุรกี

แอร์โดอานรับมรดกบาปจากรัฐเซคิวล่าร์ที่คอยเป็นบ่วงบาศคล้องคอตุรกีมิให้เคลื่อนไหวอย่างสะดวก อย่างน้อย 8 ข้อได้แก่

1. สนธิสัญญาและข้อตกลงกับบรรดาประเทศยุโรปและนาโต้กว่า 600 ฉบับ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯกว่า 10 หน่วยที่ชาวตุรกีไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้แม้กระทั่งนายทหารระดับนายพล รวมทั้งฐานทัพอากาศของสหรัฐที่เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1951 (ก่อนการเข้ามาของแอร์โดอานตั้ง 50 กว่าปี)

2. สถาบันอุดมศึกษาเกือบ 100 แห่งที่ปลูกเมล็ดพันธุ์หลักสูตรความเกลียดชังอิสลามและเฝ้าระวังนักวิชาการที่มีความผูกพันกับศาสนา ในขณะที่หน่วยงานราชการที่ยึดมั่นแนวคิดเซคิวล่าร์ คอมมิวนิสต์และนิยมซ้ายจัด มีหน้าที่สอดส่องพฤติกรรมของประชาชนมิให้เข้าใกล้อิสลามชนิดไม่คลาดสายตา

3. ระบบสื่อสารมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และสื่อโชเชี่ยลที่เผยแพร่ลัทธิบิดเบือน รณรงค์สิ่งลามกอนาจารและคำสอนไร้จริยธรรม ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์เชิงลบของอิสลามมาโดยตลอด

4. กระบวนการทางกฎหมายและยุติธรรมในทุกระดับที่คอยสนับสนุนความชั่วร้ายและสกัดกั้นความดี คอยชี้โพรงให้กระรอกมากัดแทะอิสลามตามอำเภอใจ รวมทั้งเอื้อประโยชน์ให้ผู้มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์และปู้ยี่ปู้ยำทรัพยากรของประเทศเพื่อบำเรอความสุขของตนและพวกพ้อง

5. Operation GLADIO ซึ่งเป็นปฏิบัติการเครือข่ายก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของชาติสมาชิกองค์การนาโต้และ CIA เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอิตาลีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสกัดกั้นการรุกคืบของโซเวียตและคอมมิวนิสต์ วิธีการของปฏิบัติการ Stay-behind ของหน่วยงานนี้คือ สร้างความตึงเครียดในสังคมด้วยการก่อการร้ายทุกรูปแบบ เพื่อสร้างรัฐแห่งความหวาดกลัวในลักษณะ ปาก้อนหินโดยยืมมือของคนอื่น ถึงแม้ยุคสงครามเย็นได้ผ่านพ้นไปแล้วหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต แต่ GLADIO ยังมีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งในตุรกี เพื่อยืนยันว่า วัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานนี้ หาใช่เพื่อคานอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ แต่เฝ้าระวังความเคลื่อนไหวในตุรกีโดยเฉพาะต่างหาก

6. ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่มีทั้งเตอร์ก เคิร์ด อาร์เมเนีย อาหรับและอื่นๆ ตลอดจนความแตกต่างทางศาสนาและความเชื่อที่มีทั้งอิสลาม คริสต์ อาลาวีย์ ยิวและลัทธิอื่นๆที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการจุดชนวนความแตกแยกในสังคม

7. อำนาจทหารที่ค้ำจุนและเป็นเปลือกหอยคอยปกป้องระบอบเซคิวล่าร์ ที่จะยึดอำนาจและก่อรัฐประหารทันทีเมื่อเห็นว่ามีสถานการณ์ที่บั่นทอนเสถียรภาพของระบอบคามาลิสต์

8. บรรดาประเทศอียูที่ฝังความเป็นศัตรูกับตุรกีมาอย่างยาวนานที่ซึมซับมาในประวัติศาสตร์การสร้างชาติในอดีตพวกเขาไม่มีวันปล่อยตุรกีให้หลุดมือและเติบโตอย่างอิสระ พวกเขาเคยปรามาสตุรกีว่าเป็นชายแก่ขี้โรค และเฝ้าฝันให้ตุรกีกลายเป็นชายแก่ขี้โรคตลอดกาล

เหตุการณ์ก่อรัฐประหารล้มเหลวครั้งล่าสุดและท่าทีของประเทศยุโรปกรณีลงประชามติรัฐธรรมนูญตุรกีที่ผ่านมา คือตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้

ทั้ง 8 บ่วงบาศนี้ จะคอยบีบรัดตุรกีทุกครั้งที่ขยับเขยื้อน แต่ภายในระยะเวลา 15 ปี แอร์โดอานสามารถสลัดบ่วงบาศเหล่านี้ทีละชิ้น จนสามารถควบม้าเร็วตุรกีให้พุ่งทะยานได้อย่างน่าทึ่ง แต่ทั้งนี้เราก็ไม่เคยประทับตราว่าท่านคือความสมบูรณ์

รึว่าจะให้แอร์โดอานขึ้นคุตบะฮ์ประกาศตนเองเป็นเคาะลีฟะฮ์ แล้วบังคับให้ประชาชาติมุสลิมและผู้นำมุสลิมทั่วโลกบัยอะฮ์แสดงความภักดี ใครฝ่าฝืนถูกตัดสินเป็นชาวมุรตัดดีน พร้อมแพร่คลิปตัดคอตัดมือเพื่อประกาศว่า ได้ปฏิบัติตามหลักชะรีอะฮ์อย่างสมบูรณ์แล้ว


ข้อมูลอ้างอิง http://www.turkpress.co/node/29821

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 01-07-2017
ถอดความโดย Mazlan Muhammad

ตุรกีกับการกลับสู่อ้อมกอดอิสลาม

เหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายระเบิดพลีชีพไนท์คลับที่นครอิสตันบูล เมื่อกลางดึกในคืนต้อนรับปีใหม่ปี 2017 โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลแอร์โดอานที่เป็นรัฐแซคิวล่าร์ เป็นรัฐบาลนอกรีต นิยมชื่นชอบ(วะลาอฺ)ศัตรูอิสลาม ส่วนพรรคยุติธรรมและพัฒนา(AK) เป็นพรรคที่ไม่มีส่วนใดๆกับอิสลาม อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการเปิดโสเภณีอย่างกว้างขวาง อนุญาตให้ชายหาดเป็นที่เปลือยกายอย่างเสรี ลดภาษีเหล้าและสถานอบายมุข โดยที่พวกเขาไม่เคยนำหลักฐานการใส่ร้ายเหล่านี้มาแสดงต่อสาธารณชนแม้แต่ชิ้นเดียว

ผู้คนที่เสพข่าวลวงประเภทนี้ จะคล้อยตามการโฆษณาชวนเชื่อที่ไร้จรรยาบรรณนี้อย่างหัวปักหัวปำ โดยเฉพาะข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อโชเชี่ยลที่มีเทคนิกการหลอกลวงแพรวพราว หลายคนจึงตกกับดักของแนวคิดตักฟีรีย์(ตัดสินมุสลิมตกเป็นกาฟิร)ชนิดกู่ไม่กลับ هدانا الله جميعا

ตุรกียุคแอร์โดอานและพรรค AK ได้รับมรดกบาปที่สืบทอดจากรัฐบาลเซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในสังคมตุรกีเกือบ 1 ศตวรรษ พวกเขาได้วางกฎเหล็กและรัฐธรรมนูญเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อปราบปรามอิสลามโดยเฉพาะ ในขณะที่ฝ่ายทหารก็ใช้อำนาจก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า

ลองพลิกดูประวัติศาสตร์ของรัฐบาลตุรกีช่วง 1950-1960 ที่นายอัดนาน แมนดรีสเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้พยายามฟื้นฟูและเรียกคืนตัวตนแห่งอิสลามของตุรกีด้วยการอนุญาตอะซานเป็นภาษาอาหรับอีกครั้ง อนุญาตเปิดโรงเรียสอนศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ สร้างมัสยิดจำนวน 10,000 หลัง สร้างโรงเรียนท่องจำอัลกุรอาน 20,000 แห่ง สร้างวิทยาลัยผลิตนักเผยแพร่อิสลาม 22 แห่ง ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับโลกอาหรับ ตลอดจนขับไล่ทูตอิสราเอลเมื่อปี 1957 แต่เขาถูกทหารยึดอำนาจในปี 1960 และถูกตัดสินชีวิตด้วยการแขวนคอพร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 2 ท่าน ด้วยข้อหาเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติและบริหารแผ่นดินที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันเคมาลิสต์

เราไม่เคยลืมโศกนาฏกรรมทางการเมืองของ ศ.ดร.นัจมุดดีน อัรบะกาน บิดาแห่งการเมืองตุรกี ที่ถูกอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญครอบงำและเฝ้าระวังทุกจังหวะก้าว ตลอดระยะเวลาของการโลดเล่นบนถนนทางการเมืองของท่าน

คนฉลาดมักจะใช้คนอื่นเป็นบทเรียน แต่คนโง่มักจะเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนอื่นเสมอ

แอร์โดอานจึงใช้บทเรียนในอดีตเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่พยายามเพาะหน่อไม้ต่างพันธุ์ท่ามกลางกอไผ่ที่หนาทึบ การที่มันจะชูช่อแข่งขันกับดงหนามที่คอยทิ่มแทงและสกัดกั้น ย่อมต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ชาญฉลาด ผ่อนปรน ใจกว้างและมองการณ์ไกล ไม่บุ่มบ่ามใจร้อนหรือสร้างปราสาททราย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์นำเสนอผลงานเชิงประจักษ์ในมิติทางศาสนาและความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมสู่กลิ่นไอแห่งอิสลามอย่างชัาๆแต่มั่นคงภายใต้การบริหารประเทศของพรรค AK โดยไม่พูดถึงความสำเร็จด้านต่างๆทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ระหว่างปี 2002-2013 รัฐบาลตุรกีสร้างมัสยิด 17,000 หลัง และบูรณะซ่อมแซมสถานอิบาดะฮ์ยุคอุษมานียะฮ์หลายพันแห่ง

2. ยกเลิกกฎหมายห้ามมุสลิมะห์แต่งฮิญาบตามสถานราชการและสถานศึกษา โดยกรณีนางมัรวะห์ (Merve Safa Kavakci) สส. หญิงคนแรกที่ใส่ฮิญาบสังกัดพรรคคุณธรรมอิสลามที่ชนะเลือกตั้งเป็น สส. ในปี 1999 สุดท้ายนางถูกขับไล่ออกจากสภาฯในสภาพที่น่าหดหู่ท่ามกลางเสียงโห่ไล่ของสมาชิกสภาฯผู้ทรงเกียรติ ต่อมานางถูกถอนสัญชาติและเนรเทศจนต้องลี้ภัยที่สหรัฐฯ แต่ยุคแอร์โดอาน นางได้รับคืนสัญชาติตุรกีอีกครั้งและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกัวลาลัมเปอร์ ปัจจุบันในสภาตุรกีมีสส. มุสลิมะฮ์ที่ใส่ฮิญาบกว่า 20 ท่าน มีรัฐมนตรีมุสลิมะฮ์ใส่ฮิญาบ 1 ท่าน และผู้พิพากษามุสลิมะฮ์สวมฮิญาบอีก 1 ท่าน

3. จำนวนนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนสอนศาสนา (อิมามคอเต็บ) เพิ่มจาก 65,000 คน เมื่อปี 2002 เป็น 658,000 คนในปี 2013 และปัจจุบันมีนักเรียนที่เรียนในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ทั่วโลก 1 ล้านคน

4. บรรจุหลักสูตรอิสลามศึกษาในโรงเรียนสังกัดรัฐบาลตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งที่ผ่านมาหลักสูตรนี้กลายเป็นหลักสูตรต้องห้าม

5. ในปีการศึกษา 2014 กระทรวงศึกษาธิการตุรกีได้บรรจุวิขา ภาษาอุษมานีย์ (ภาษาตุรกีเขียนด้วยอักขระอาหรับ) เป็นวิชาบังคับ อนูญาตให้นักเรียนที่จบ ป. 4 ขึ้นไปสามารถลาเรียน 2 ปี เพื่อเข้าหลักสูตรท่องจำกุรอาน และยกเลิกหลักสูตรภาคปฏิบัติวิธีการเสิร์ฟเหล้าในวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรการท่องเที่ยว

6. ยกเลิกการกำหนดอายุ 12 ปี สำหรับนักเรียนที่ต้องการท่องจำอัลกุรอาน โดยที่รัฐบาลประกาศในปี 2013 ให้โอกาสเด็กก่อนวัยเรียนสามารถเรียนอัลกุรอานในโครงการ Qur’an Courses for Preschoolers

7. ปี 2013 รัฐบาลตุรกีออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเหล้าและธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 ทุกวัน โดยไม่จำกัดวันและสถานที่ พร้อมห้ามโฆษณาเหล้าตามสื่อต่างๆทั่วประเทศ จนทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ที่อิสตันบูล

8. รัฐบาลพรรค AK ได้มีมาตรการเปลี่ยนผับบาร์จำนวนหลายแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวปลอดเหล้า

9. แอร์โดอานถูกสื่อฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีว่าต้องการทำให้อิสตันบูลกลายเป็นเมืองอิสลามและละทิ้งเซคิวล่าร์ หลังจากที่ท่านพูดคุยแก้ปัญหาโสเภณีในระยะยาว ท่านยังถูกกล่าวหาเป็นคนล้าหลัง คร่ำครึเนื่องจากจัดโครงการละหมาดขอฝน แต่ภายหลังไม่กี่ชั่วโมง ฝนได้เทลงมาอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายต่อต้านต้องปิดปากเงียบ

10. ภายในปี 2018 ตุรกีกำหนดเปิดสถาบันทางการเงินอิสลามจำนวน 170 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้สถาบันในลักษณะนี้เป็นสถาบันผิดกฎหมาย

11. ปี 2013 รัฐบาลประกาศจัดระเบียบหอพัก ด้วยการห้ามนักศึกษาที่เรียนในสังกัดรัฐบาล เข้าพักรวมกันระหว่างหญิงชาย โดยตั้งเป้าว่าในปี 2014 จะไม่มีสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนใช้ห้องพักปนกันระหว่างชายหญิง

12. ปี 2016 แอร์โดอานเรียกร้องให้มีผู้แทนของประเทศมุสลิมเข้าเป็นสมาชิกในประเทศสมาชิกถาวรสหประชาขาติ เพราะทั้ง 5 ประเทศในปัจจุบันถือเป็นผู้แทนของกลุ่มประเทศคริสเตียนและคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้อำนาจวีโต้อย่างอิสระเสรี

13. แอร์โดอานเคยถูกจับเข้าคุกในปี 1997 ฐานอ่านกลอนต้องห้ามที่ถูกตัดสินว่าสร้างความขัดแย้งในสังคม ทั้งๆที่กลอนดังกล่าวปรากฏในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งต่อมาแอร์โดอานได้อ่านกลอนดังกล่าวในรัฐสภาอีกครั้ง ข้อความส่วนหนึ่งได้แก่
– มัสยิดคือค่ายทหารของเรา
– โดมคือหมวกของนักรบ
– หออะซานคือหอกทวน
– ศรัทธาชนคือพลทหารกล้า
– นี่คือทหารอันบริสุทธิ์ที่จะปกป้องศาสนาของเรา

14. รัฐบาลตุรกีจัดขบวนยุวชนที่มีอายุ 7 ขวบ นับหมื่นคน เดินถือป้ายตามท้องถนนอิสตันบูล พร้อมข้อความว่า “เรามีอายุ 7 ขวบแล้ว เราพร้อมจะรักษาละหมาดและท่องจำอัลกุรอาน” พร้อมจัดรางวัลทั่วประเทศสำหรับยุวชนที่ปฏิบัติตามโครงการนี้ โดยเฉพาะละหมาดศุบฮิโดยญะมาอะฮ์ที่มัสยิด


นี่คือส่วนหนึ่งของผลงานรัฐบาลแอร์โดอานที่บางกลุ่มได้ฟัตวาท่านว่าเป็นมุนาฟิก นอกรีต ฏอฆูตและใฝ่เซคิวล่าร์
ถามว่า
เราเคยมีผู้นำเซคิวล่าร์คลั่งประชาธิปไตยคนไหนบ้างในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำสิ่งดังกล่าว แม้เพียงข้อเดียวก็ตาม

ในเวลาเที่ยงวันอันสดใส ไร้เมฆหมอก
ยังมีบางคน ที่กระวนกระวายท่ามกลางความมืดมน
เราจะโทษดวงอาทิตย์
หรือดวงตาอันมืดบอดกันแน่


บทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 07-01-2017 http://www.turkpress.co/node/29821

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

ทำไมชาติตะวันตกชิงชังแอร์โดอาน

Eric S.Margolis (77ปี) นักเขียนและนักข่าวชาวอเมริกันได้อธิบายเหตุผลที่ทำให้ชาติตะวันตกเกลียดชังประธานาธิปดีแอร์โดอาน นอกเหนือจากการเป็นคู่อริทางการเมืองในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในอดีตระหว่างชาติตะวันตกกับชาวเซลจุกและเตอร์กออตโตมาน

Margolis เล่าว่า ตุรกีเป็น 1 ในกลุ่มสมาชิกนาโต้มาตั้งแต่ปีค.ศ.1952 โดยที่สหรัฐอเมริกาได้สยายปีกคุมอำนาจเหนือตะวันออกกลาง กองกำลังตุรกีที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มนาโต้รองจากสหรัฐอเมริกา บรรดานายพลตุรกีจับมือกับทหารอเมริกันบังคับพวงมาลัยกำหนดทิศทางของตุรกีมาโดยตลอด กลุ่มแกนนำตุรกีจำนวนหนึ่งที่ได้กลายพันธุ์ คอยรับคำสั่งจากวอชิงตันอย่างว่านอนสอนง่ายเสมอมา พร้อมคอยคุมกำเนิดการขยายตัวของอิสลามอย่างเข้มงวดและปล่อยให้อิสลามแคระแกร็นอยู่ในพื้นที่ชนบทอันทุระกันดารเท่านั้น

Margolis วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 1994 เมื่อมีชายตุรกีอายุ 40 ปีชื่อเราะญับ ฏอยยิบ แอร์โดอาน ก้าวขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีกรุงอิสตันบูลพร้อมจัดการทำ5 ส. ในการบริหารบ้านเมือง แต่เขาถูกตัดสินจำคุกเนื่องจากไปอ่านบทกลอนอิสลามท่อนหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นกลอนที่ปรากฏในตำราเรียนตามโรงเรียนต่างๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

หลังจากพ้นโทษ เขาได้ก่อตั้งพรรคยุติธรรมและพัฒนาที่เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยและภาคภูมิใจในความเป็นชาติพันธุ์ตุรกี บริหารประเทศที่ให้ความสำคัญกับการบริการประชาชน ให้สิทธิ์แก่คนยากจนและผู้สูงอายุ จัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ช่วยเหลือชาวมุสลิมทั่วโลกและปลูกฝังค่านิยมการใช้ชีวิตที่ดำรงไว้บนหลักการยุติธรรม

ไม่มีอะไรที่สามารถสกัดกั้นดาวจรัสแสงของอดีตนักฟุตบอลคนนี้ได้ ในปี 2003 เขาได้รับการคัดเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากชาวตุรกีที่มีประชากรมากถึง 81 ล้านคน เขากลายเป็นขวัญใจชาวตุรกีอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีชาวเตอร์กกลายพันธุ์ที่มองเขาเเละพรรคพวกด้วยสายตาแห่งความเกลียดชังเสมอ

Margolis วิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มนี้คิดร้ายต่อแอร์โดอานคือยุคก่อนแอร์โดอาน กลุ่มเตอร์กกลายพันธุ์และกลุ่มทหารต่างมีบทบาทและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือแผ่นดินตุรกีในทุกด้าน ไม่ว่าด้านการสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา ด้านการพิพากษา วงการทูตและการต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ใต้โอวาทของสหรัฐอเมริกา

ก่อนยุคแอร์โดอานระบบรัฐสภาตุรกีและการบริหารทางการเงินของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำสุดขีด

การเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเเอร์โดอานบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พังทลาย สร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ ยุติปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังกับชาวเคิร์ด สร้างสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดแถวนายทหารจำนวน 600,000 นาย ให้กลับสู่กรมกองตามภารกิจเดิม และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เตอร์กกลายพันธุ์และชาวเซคิวล่าร์เกลียดชังแอร์โดอาน ซึ่งพวกเขาอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติรัฐประหารตุรกีจำนวน 16 ครั้งนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

จึงไม่ใช่เป็นเหตุการณ์บังเอิญที่พวกเขาได้ก่อรัฐประหารล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายน 2016 ที่ผ่านมา พวกเขาเกือบสังหารแอร์โดอานสำเร็จแล้ว แต่ด้วยพลังประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้อย่างกล้าหาญ ทำให้แผนการต้องพังทลาย

หลังรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้ เเอร์โดอานได้จับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นักวิชาการและนักข่าวกว่า 10,000 คนที่มีหลักฐานผูกมัดว่าพัวพันกับคดีประวัติศาสตร์นี้ และยังมีหลักฐานมัดตัวว่าฐานทัพอากาศ Incirlink ที่เป็นฐานทัพร่วมสหรัฐอเมริกาและตุรกีคือศูนย์บัญชาการของรัฐประหารล้มเหลวครั้งนี้

เเอร์โดอานจึงเป็นเด็กดื้อในสายตาสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะกรณีวิกฤตซีเรียและปาเลสไตน์ ที่สหรัฐอเมริการู้สึกว่าเเอร์โดอานอยู่เหนือการควบคุมในขณะที่อิสราเอลก็ไม่พอใจแอร์โดอานที่แสดงจุดยืนเข้าข้างการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ และแสดงอาการล้ำเส้นมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจึงเกลียดชังแอร์โดอาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนิทชิดเชื้อกับรัสเซียมากเกินเหตุ ก็เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่พอใจแอร์โดอาน สื่อสหรัฐได้ทีโหมโรงใส่ร้ายแอร์โดอานอย่างบ้าคลั่ง ในขณะเดียวกัน กลับเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ต่อหน้าผลงานเถื่อนถ่อยของจอมเผด็จการอย่างซีซีย์ ผู้นำกระหายเลือดแห่งอียิปต์เพราะซีซีย์เป็นเด็กในคาถาของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

Margolis อธิบายเพิ่มเติมว่าดีกรีความเกลียดชังของชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเเอร์โดอานได้ถึงจุดเดือด เมื่อแอร์โดอานได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นประธานาธิบดี พร้อมอำนาจล้นฟ้าภายใต้ระบอบประธานาธิบดี ที่กล่าวได้ว่าเเอร์โดอานกลายเป็นผู้นำตุรกีที่มีความโดดเด่นที่สุดหลังยุคอะตาร์เตอร์ก

Margolis กล่าวทิ้งท้ายบทวิเคราะห์ของเขาว่า “หากตุรกีสามารถครอบครองแหล่งน้ำมันดังเช่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตุรกีจะกลายเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความสำคัญยิ่ง”


บทความนี้เผยแพร่ในภาษาอาหรับเมื่อวันที่ 04-07-2018

ถอดความโดย Mazlan Muhammad

อ่านต้นฉบับภาษาอาหรับ https://www.turkpress.co/node/50839

ชาวปาเลสไตน์ได้รับเนื้อกุรบานจากพี่น้องเมืองไทย

ตามที่กลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันและภาคีองค์กรได้แก่ มัสยิดอัตตะอาวุน Jaringan Badan-Badan Islam dan Masjid Wilayah Jala -JABIM มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชนและ theustaz.com ซึ่งเป็นองค์กรในภาคีเครือข่ายสภาช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีได้ดำเนินโครงการกุรบาน ณ เมืองชาม ซึ่งสามารถเก็บยอดเงินบริจาคจำนวน 415,880 บาท โดยส่วนหนึ่งได้มอบให้แก่ AL-Quds Foundation Malaysia จำนวน 195,900 บาท นั้น

ในช่วงอิดิลอัฎฮา 1441 ที่ผ่านมา AL-Quds Foundation Malaysia ได้เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวไทยเชือดกุรบานที่เขตเวสต์แบงค์ ชานเมืองบัยตุลมักดิสและเมืองกาซ่าโดยสามารถเชือดแกะจำนวน 45 ตัวและสามารถจ่ายเนื้อกุรบานไปยังครอบครัวยากจนในปาเลสไตน์กว่า 150 ครอบครัว

Dr. Sharif Abu Shammala ผู้อำนวยการ AL-Quds Foundation Malaysia กล่าวว่า ในนามพี่น้องชาวปาเลสไตน์ ต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวไทยทุกท่านที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมครั้งนี้ จุดยืนของท่านที่มีต่อแผ่นดินอันจำเริญนี้ ถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่สะท้อนถึงเอกภาพของประชาชาติมุสลิม ซึ่งพี่น้องจากประเทศไทยได้ยืนหยัดเคียงข้างกับปัญหาปาเลสไตน์ด้วยดีเสมอมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อัลลอฮ์จะทรงตอบรับการงานที่ดีของท่านและสะสมในสมุดบันทึกแห่งความดีงาม

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

โครงการกุรบาน ณ เมืองชาม 1441 ได้เงินบริจาคทะลุเป้า

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ตรงกับวันที่ 9 ซุลฮิจญะฮ์ 1441 ถือเป็นวันอะเราะฟะฮ์ที่มีความประเสริฐยิ่ง เวลาประมาณ 11.30 น. ทีมงานเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกันนำโดย ผศ. มัสลัน มาหะมะ นำเงินบริจาคของพี่น้องชาวไทยจำนวน 415,880 บาท เพื่อจัดโครงการกุรบาน ณ เมืองชาม โดยมี 2 องค์กรภาคีได้แก่ AL-Amal For Development & Social Care และ AL-Quds Foundation Malaysia รับดำเนินการจัดทำกุรบานในพื้นที่ที่ครอบคลุมประเทศเลบานอน ปาเลสไตน์และซีเรีย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากภัยสงครามและถูกปิดล้อมประเทศ

ผศ. มัสลัน มาหะมะ ในฐานะผู้ประสานกลุ่มเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน เปิดเผยว่า จากการที่องค์กรภาคเอกชนในพื้นที่ที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้แก่ JABIM มัสยิดตะอาวุนบางปู มูลนิธิอัสสลามเพื่อเยาวชน theustaz.com และเพราะเราคือเรือนร่างเดียวกัน ซึ่งเป็นองค์กรภาคีเครือข่ายที่อยู่ภายใต้สังกัดสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ระดมเงินบริจาคตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 15-29 กรกฎาคม 2563 โดยสามารถเก็บยอดบริจาคได้จำนวน 415,880 บาท ซึ่งเกินเป้าที่ได้กำหนดไว้ โดยเงินจำนวนดังกล่าวได้โอนเข้าบัญชีของ 2 องค์กรภาคีแล้วตามวัตถุประสงค์ทุกประการผ่านธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยสาขายะลา 2 ยะลา ผลการดำเนินงานจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

ในโอกาสนี้ จึงใคร่ขอขอบคุณพี่น้องทุกท่านที่ร่วมบริจาคและอำนวยความสะดวกให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามที่ได้ปฏิบัติในวันอันประเสริฐนี้ เเละทรงบันทึกในแฟ้มสะสมความดีในวันอาคิเราะฮ์

ربنا تقبل منا إنك أنت السميع العليم وتب علينا إنك أنت التواب الرحيم واجعل هذه الأعمال في سجلات حسناتنا يوم القيامه آمين يا رب العالمين